จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (20)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
the scenery at the Ming Dynasty Tombs in Changping District, on the outskirt of Beijing. AFP PHOTO / STR

สำนักนิตินิยมกับหานเฟยจื่อ (ต่อ)

หลักคิดของหานเฟยจื่อจากที่กล่าวมานี้ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกตั้งคำถามขึ้นมา ว่า อะไรคือมูลเหตุที่ทำให้หานเฟยจื่อมีหลักคิดเช่นนั้น ทั้งที่เขาเองก็เป็นศิษย์ของสวินจื่อแห่งสำนักหญู?

เกี่ยวกับประเด็นนี้มีผู้วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจว่า หากศึกษาหลักคิดของหานเฟยจื่อผ่านปกรณ์ หานเฟยจื่อ และเอกสารโบราณอย่างเช่น สื่อจี้ เป็นต้น ประกอบเข้าด้วยกันแล้วก็จะพบว่า หลักคิดของหานเฟยจื่อมีหลักคิดของสำนักอื่นปรากฏให้เห็นอยู่เช่นกัน เพียงแต่เขานำมาอธิบายในลักษณะประยุกต์หรือปรับใช้ให้เข้ากับหลักคิดนิตินิยมเท่านั้น

แต่กระนั้น ตัวเขาเองก็เฉกเช่นเดียวกับสาวกคนอื่นของสำนักปรัชญาต่างๆ ที่แม้จะสืบทอดหลักคิดนิตินิยมก็ตาม แต่ก็มีอรรถาธิบายหลักคิดเฉพาะของตนเองอยู่ด้วย และทั้งหลักคิดของสำนักอื่นที่เขานำมาประยุกต์หรือที่เป็นอรรถาธิบายของเขาเองอาจสรุปได้

ดังนี้

ในประการแรก สื่อจี้ ระบุว่าเขามีพื้นฐานความคิดส่วนหนึ่งของสำนัก “ฮว๋างเหล่า”¹ ซึ่งก็คือสำนักเต้าอยู่ด้วย โดยเฉพาะหลักคิด เต้า ซึ่งบท “จู่เต้า” (วิถีทัศน์) ใน หานเฟยจื่อ ได้ให้อรรถาธิบายว่า

“วิถีมิอาจพบ ช่วงใช้มิอาจรู้ สงบดายไร้เรื่องราว แม้นมืดมิดกลับพบรอยด่างพร้อย”

ความหมายคือ หลักการปกครองที่ดีของกษัตริย์คือการที่ไม่ให้ขุนนางล่วงรู้จุดประสงค์และเป้าหมายของตน หากทำได้การปกครองของกษัตริย์ก็จะราบรื่นและเรียบร้อย เสมือนสำรวจความผิดพลาดของขุนนางได้ในท่ามกลางความมืด เฉกเช่นกษัตริย์เห็นโดยไม่ต้องมอง ได้ยินโดยไม่ต้องฟัง รู้โดยไม่ต้องรับ เช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องกระทำการหรือเปลี่ยนแปลงอันใดอีก เนื่องเพราะความรู้สึกนึกคิดของขุนนางล้วนถูกตรวจสอบและพิสูจน์ทราบอยู่ทุกระยะ

โดยสรุปแล้วก็คือหลักคิด “ทำโดยมิได้ทำ” นั้นเอง แต่ที่ต่างออกไปก็คือ ในขณะที่หลักคิดเต้า ของสำนักเต้าแนบแน่นกับธรรมชาติ แต่ เต้า ของหานเฟยจื่อกลับแนบแน่นกับกฎหมายและรัฐประศาสนะ ซึ่งเป็นวิถี (เต้า) ในทางโลกโดยแท้

ประการต่อมา หานเฟยจื่อเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเลว ซึ่งคิดเหมือนสวินจื่อผู้เป็นอาจารย์ของเขา ความคิดความเชื่อนี้อาจดูได้จากบท “ลิ่วฝ่าน” (ษัฏปฏิภาค) ใน หานเฟยจื่อ ที่ให้อรรถาธิบายว่า

“ท่าทีของบุพการีต่อบุตรธิดาคือ แม้นได้บุตรก็จักอวยชัย แม้นได้ธิดาก็จักเข่นฆ่า ทั้งที่ครรภ์แห่งบุตรและธิดาล้วนมาจากบุพการีโดยแท้ ที่อวยบุตรฆ่าธิดาก็ด้วยเหตุแห่งการดำรงชีพอันพิจารณาจากประโยชน์ที่นานไกล เนื่องเพราะบุพการีปฏิบัติต่อธิดาด้วยจิตที่คิดคำนวณผลดีผลเสีย เช่นนี้แล้วจักมีความกรุณาดังบิดากับบุตรในสายสัมพันธ์ของกษัตริย์กับราษฎรได้เยี่ยงไรเล่า?”

จากตัวอย่างนี้ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าหานเฟยจื่อเห็นถึงธรรมชาติที่เลวแต่เกิดของมนุษย์อย่างไร แต่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ เขาเห็นถึงสายสัมพันธ์ที่ไม่น่าไว้วางใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นสายสัมพันธ์ที่อันตรายและปราศจากความรักที่แท้²

และจากหลักคิดธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่หานเฟยจื่อจะคิดอ่านเรื่องการปกครองที่ชูกฎหมายที่แข็งกร้าวและเด็ดขาด

ในประการที่สาม หานเฟยจื่อเชื่อว่าสังคมย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเชื่อว่าการเมืองการปกครองย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทัศนะเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการมองพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เขาแบ่งออกเป็น 3 ยุค

ยุคแรก คือยุคต้นโบราณ ยุคนี้มนุษย์มีธรรมชาติเป็นต้นแบบในการดำรงชีวิต

ยุคสอง คือยุคกลางโบราณ ยุคนี้มีเหยาและซุ่น เป็นอาทิ เป็นต้นแบบ

ยุคสาม คือยุคร่วมสมัย ซึ่งก็คือยุคสมัยที่หานเฟยจื่อมีชีวิตอยู่ทันเห็นหรือรับรู้เรื่องราวต่างๆ

ทั้งสามยุคนี้ หานเฟยจื่อได้แยกให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านบท “อู่ตู้” (เบญจกีฏะ) ใน หานเฟยจื่อ ว่า “ยุคต้นโบราณ มนุษย์ต่างปฏิบัติคุณธรรมต่อกันและกัน ยุคกลางโบราณ มนุษย์ต่างใช้ปัญญาวางแผนเพื่อให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของกันและกัน ยุคร่วมสมัย มนุษย์ต่างใช้กำลังเข้าแย่งชิงต่อกันและกัน”

จะเห็นได้ว่า ยุคต้นโบราณจะถูกอ้างอิงโดยสำนักเต้า ยุคกลางโบราณจะถูกอ้างอิงโดยสำนักหญู แต่กับยุคร่วมสมัยที่เป็นวิกฤตแล้วกลับไร้ทางออก บางสำนักจึงได้แต่เสนอให้ฟื้นฟูชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ มีคุณธรรม และสติปัญญาที่สร้างสรรค์ดังสองยุคแรก ซึ่งสำนักนิตินิยมไม่เห็นด้วย

จากเหตุนี้ ข้อเสนอของสำนักนี้ในยุคของหานเฟยจื่อจึงคือหลักคิด ซื่อ ซู่ ฝ่า ด้วยเห็นว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มนุษย์ต่างใช้กำลังเข้าแย่งชิงกันและกัน

ประการที่สี่ หานเฟยจื่อให้ความสำคัญกับการเกษตรและการศึกมากกว่าการค้า โดยในบท “อู่ตู้” (เบญจกีฏะ) ให้อรรถาธิบายว่า “กษัตริย์ผู้ปรีชาชาญพึงใช้นานามาตรการทางการเมืองเข้าจัดการกับเหล่านายวาณิช ช่างหัตถกรรม และพวกกเฬวรากที่ไร้หัวนอนปลายตีน ด้วยคนเหล่านี้หาได้มีส่วนในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการค้าของรัฐไม่”

ความข้อนี้ทำให้เห็นว่า หานเฟยจื่อให้ความสำคัญกับราษฎรที่อุทิศตนให้กับรัฐ มากกว่าเสรีชนและผู้มีอาชีพที่เป็นอิสระจากรัฐ

จากทัศนะเช่นนี้ทำให้นักปรัชญาจีนในปัจจุบันเห็นว่า เสรีชนในสายตาของหานเฟยจื่อจึงคือเหล่าพ่อค้าวาณิช ปัญญาชน นักวาทศิลป์ นักสู้พเนจร และพวกกเฬวรากทั้งปวง แล้วรวมเรียกคนเหล่านี้ว่า เบญจกีฏะหรือหนอนทั้งห้า (อู่ตู้) ที่เป็นอันตรายต่อรัฐ

ที่ถ้าหากไม่กำจัดออกไปแล้วก็ยากที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับรัฐได้

ประการสุดท้าย เป็นที่ชัดเจนว่า หานเฟยจื่อคัดค้านสำนักหญูและสำนักม่ออย่างยิ่ง โดยในบท “เสี่ยนเสีว์ย” (เรืองสิกขา) จากปกรณ์ หานเฟยจื่อ นั้นเขาได้วิพากษ์สำนักทั้งสองด้วยถ้อยภาษาที่รุนแรง

ดังจะเห็นได้จากในย่อหน้าแรกของบทนี้ที่เริ่มจากการสาธยายว่า ภายหลังจากที่ขงจื่อและม่อจื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ทั้งสองต่างมีสาวกที่มีชื่อเสียงและตั้งเป็นสำนักขึ้นมาอยู่จำนวนหนึ่ง อนุสำนักเหล่านี้ต่างก็สืบทอดและต่อยอดหลักคำสอนของทั้งสอง

จากนั้นหานเฟยจื่อก็ระบุว่า อนุสำนักของทั้งสองต่างก็ตีความหลักคำสอนไปต่างๆ นานา และการตีความในหลายเรื่องมักแอบอิงเหยาและซุ่นผู้เป็นหนึ่ง “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” อยู่เสมอ ทั้งที่เหยาและซุ่นเป็นบุคคลเมื่อกว่าสามพันปีก่อน (หมายถึงสามพันปีนับจากยุคของหานเฟยจื่อถอยกลับไป)

การตีความตามลักษณ์นี้ทำให้หานเฟยจื่อสรุปว่า ทั้งขงจื่อและม่อจื่อ ตลอดจนสาวกที่ตั้งอนุสำนักขึ้นมาเพื่อสืบทอดต่างก็ “ไม่ใช้ข้อเท็จจริงตรวจสอบเรื่องราวก็วินิจฉัยชี้ขาด นี่ย่อมเป็นเรื่องที่ขลาดเขลา มิอาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างแม่นยำก็สักแต่ลากไปหาที่แอบอิง (หมายถึงแอบอิงเหยาและซุ่น) นี่ย่อมเป็นเรื่องที่หลอกลวง”

ในเมื่อขงจื่อมีหลักคิดที่เน้นคุณธรรมและจริยธรรม และม่อจื่อมีหลักคิดที่เน้นสันติภาพ การที่หานเฟยจื่อวิพากษ์ทั้งสองว่า “ขลาดเขลา” และ “หลอกลวง” จึงเท่ากับว่าหานเฟยจื่อมิได้ให้ความสำคัญกับคุณธรรม จริยธรรม หรือสันติภาพไปโดยปริยาย และเมื่อดูจากการปฏิบัติตามหลักคิดของเขาแล้ว ความจริงก็เป็นเช่นนั้น

จากเหตุดังกล่าว หลักคิดของหานเฟยจื่อจึงย่อมเป็นที่นิยมชมชอบของผู้มีใจไปในทางอำนาจนิยม ดังจะเห็นได้จากแนวทางการปกครองของกษัตริย์เจิ้งแห่งฉิน เป็นต้น

และคงด้วยสำนักนิตินิยมมีหลักคิดที่อิงกับความเป็นจริงของสถานการณ์ และเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ว่ามิได้ดีมาแต่เกิด ดังนั้น เมื่อกษัตริย์เจิ้งนำมาใช้จนประสพผลสำเร็จและสร้างจักรวรรดิขึ้นมาได้ สำนักนิตินิยมจึงมีความสำคัญขึ้นมา

แต่ก็ด้วยเหตุจากพื้นฐานอำนาจนิยมเช่นกัน ที่เมื่อเวลาผ่านไปรัฐฉินก็พบกับความล้มเหลวหลังจากตั้งจักรวรรดิได้สิบกว่าปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็มาจากการใช้อำนาจที่เด็ดขาดอำมหิตของกษัตริย์เจิ้งเอง

ที่ซึ่งตอนนั้นได้ตั้งตนเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งฉินแล้ว


¹ คำว่า “ฮว๋างเหล่า” โดยทั่วไปมักหมายถึงปรัชญาสำนักเต้า เป็นคำที่ใช้แพร่หลายอยู่ช่วงหนึ่งในสมัยราชวงศ์ฮั่น และมีการนำมาใช้เป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง แต่ในแง่เนื้อหาสาระไม่สู้จะชัดเจนนัก ทราบแต่เพียงว่า ฮว๋าง หมายถึง ฮว๋างตี้ ผู้เป็นหนึ่งใน “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” และคำว่า เหล่า หมายถึง เหลาจื่อ เมื่อคำทั้งสองมารวมกันเป็น ฮว๋างเหล่า ก็อาจหมายถึงปรัชญาอีกสายหนึ่งของสำนักเต้าก็ได้

² ควรกล่าวด้วยว่า พฤติกรรมรักบุตรมากกว่าธิดาของชาวจีนนี้มาจากพื้นฐานความคิดเรื่องการสืบทอดวงศ์ตระกูลที่ใช้เพศชายเป็นหลัก เมื่อบุตรโตขึ้นและแต่งงาน สะใภ้จะแต่งเข้าบ้านฝ่ายชาย ทำให้บุตรสามารถดูแลบุพการีในยามชราได้ ในขณะที่ธิดาเมื่อแต่งงานจะถูกแต่งออกไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ทำให้มิอาจดูแลบุพการีได้ บุตรหรือเพศชายจึงเป็นฐานสำคัญทางด้านความมั่นคงทางจิตใจของบุพการี และทำให้ได้รับการยกย่องหรือความรักที่มากกว่าธิดา (รักลำเอียง) อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่บุพการีเข่นฆ่าธิดาแรกเกิด (ส่วนใหญ่ใช้วิธีกดน้ำจนหมดลมหายใจ) ใช่แต่จะเกิดในยุคโบราณหรือยุคของหานเฟยจื่อเท่านั้น แม้ปัจจุบันก็ยังเคยปรากฏเป็นข่าวอยู่ในสังคมจีน โดยเฉพาะในเขตชนบท ทั้งนี้ ยังมินับกรณีทำแท้งเมื่อรู้ว่าเป็นเด็กในครรภ์เป็นหญิง ซึ่งกฎหมายและนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลอนุญาตให้ทำได้ จากกรณีนี้ทำให้สัดส่วนประชากรชายจึงมีมากกว่าหญิง จนส่งผลกระทบต่อการหาคู่ครองของฝ่ายชาย เมื่อฝ่ายหญิงมีสัดส่วนในจำนวนที่น้อยกว่า