การศึกษา / ดีเดย์…หลักสูตรครู 4 ปี เริ่ม ’62 แค่…เหล้าเก่าในขวดใหม่??

การศึกษา

ดีเดย์…หลักสูตรครู 4 ปี เริ่ม ’62

แค่…เหล้าเก่าในขวดใหม่??

 

กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในแวดวงแม่พิมพ์ไทย หลังที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบเรื่องการสอบเพื่อขอรับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” จากเดิมที่คณะกรรมการคุรุสภาเคยมีมติให้นักศึกษาที่เข้าเรียนคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ หรือหลักสูตรครู 5 ปี ที่เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ โดยจะสอบครั้งแรกในปีการศึกษา 2562 นั้น

จะได้รับใบอนุญาตฯ โดยอัตโนมัติเหมือนเดิม!!

แต่นักศึกษาหลักสูตรครู 4 ปี ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้สถาบันผลิตครูกลับมาใช้หลักสูตรครู 4 ปี จะต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ แทน โดยสอบครั้งแรกในปีการศึกษา 2566

นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา และปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ระบุว่าเป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการสอบ เพราะเห็นว่าหลักสูตรครู 5 ปีมีกระบวนการจัดการสอนและการประเมินผู้เรียนที่เข้มข้น สามารถนำข้อมูลมาพิจารณาเพื่อรับใบอนุญาตฯ ได้เช่นเดิม

และเห็นว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านมาใช้หลักสูตรครู 4 ปี จึงควรเริ่มสอบกับผู้ที่เรียนหลักสูตรครู 4 ปี ซึ่งคุรุสภาจะต้องประกาศหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่เรียนในหลักสูตรครู 5 ปี ใช้ผลประเมินจากสถาบันผู้ผลิต ขอรับใบอนุญาตฯ ได้

โดยขณะนี้สถาบันผลิตครู ทั้งมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง กำลังเร่งปรับจากหลักสูตรครู 5 ปี เป็นหลักสูตรครู 4 ปี…

เพื่อเปิดรับนักศึกษาให้ทันในปีการศึกษา 2562!!

 

นายเอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) แจกแจงถึงแนวทางดังกล่าวว่า ที่ประชุม กมว.เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เนื่องจาก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ยืนยันว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์จะหยุดผลิตหลักสูตรครู 5 ปี ทั้ง 100% และในปีการศึกษา 2562 จะเริ่มผลิตหลักสูตรครู 4 ปี

ดังนั้น เพื่อไม่ให้นักศึกษาหลักสูตรครู 5 ปี เสียโอกาสและเสียประโยชน์ที่ต้องใช้เวลาเรียนถึง 5 ปี

จึงเห็นตรงกันว่า นักศึกษาหลักสูตรครู 5 ปี ไม่ต้องสอบรับใบอนุญาตฯ

ปัจจุบัน นักศึกษาหลักสูตรครู 5 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ผู้ที่เรียนหลักสูตรครู 5 ปี ก่อนปีการศึกษา 2557 และหลักสูตรปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ที่เดิมผู้เรียนหลักสูตรปีการศึกษา 2557 จะต้องสอบรับใบอนุญาตฯ เป็นได้รับใบอนุญาตฯ โดยอัตโนมัติ…

แต่ต้อง “ผ่าน” การประเมินตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัย “รับรอง” ว่าผ่านการประเมิน คุรุสภาจึงจะอนุมัติใบอนุญาตฯ ให้อัตโนมัติ

แนวทางนี้ จะทำให้นักศึกษาหลักสูตรครู 5 ปี ไม่รู้สึกว่าเสียเวลาหรือเสียโอกาส เพราะไม่ต้องสอบรับใบอนุญาตฯ และหากสอบบรรจุได้ จะได้รับเงินเดือน 15,800 บาท มากกว่าหลักสูตรครู 4 ปี 750 บาท

ส่วนแนวทางการจัดสอบรับใบอนุญาตฯ ของหลักสูตรครู 4 ปีนั้น เบื้องต้นคุรุสภาจะจัดสอบพร้อมกันปีละ 1 ครั้ง แบ่งการสอบเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก นักศึกษาเรียนชั้นปีที่ 2 สอบความรู้พื้นฐานวิชาชีพความเป็นครู ถ้าสอบช่วงแรกไม่ผ่าน จะกลับมาสอบแก้ตัวในชั้นปีที่ 3 และช่วงที่ 2 นักศึกษาเรียนชั้นปีที่ 4 ทดสอบความรู้ในการปฏิบัติการสอน

สาเหตุที่ต้องจัดสอบเป็น 2 ช่วง นายเอกชัยระบุว่า เพื่อไม่ให้นักศึกษาเครียดเกินไป โดยคณะอนุกรรมการจัดสอบของคุรุสภาจะเป็นผู้ออกข้อสอบโดยตรง

โดยเตรียมเสนอที่ประชุม กมว.ในวันที่ 11 มกราคม ให้มีมติเห็นชอบ และออกเป็นประกาศคุรุสภา เสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงนามประกาศใช้!!

 

อย่างไรก็ตาม ที่ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาตัดสินใจให้จัดสอบรับใบอนุญาตฯ สำหรับหลักสูตรครู 4 ปี เนื่องจาก กมว.รายงานว่า ในปีการศึกษา 2562 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ แบ่งเป็น กลุ่มสถาบันเก่าแก่ 17 แห่ง และกลุ่ม มรภ. 38 แห่ง จะเปิดสอนหลักสูตรครู 4 ปี

นอกจากนี้ ได้จัดทำร่างมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) 1 ระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 4 ปี) และระดับบัณฑิตศึกษา สาขาครุศาสตร์ และสาขาศึกษาศาสตร์ ใกล้เสร็จแล้ว เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันผลิตครูนำไปพัฒนาหลักสูตรให้ทันการเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรครู 4 ปี ในระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2562

ขณะที่ กมว.ได้พัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้สอดคล้องกับการผลิตหลักสูตรครู 4 ปี ซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน เห็นชอบแล้ว โดยมาตรฐานใหม่เหลือเพียง 4 ด้าน ซึ่ง กมว.ได้เร่งจัดทำร่างข้อบังคับที่กำหนดรายละเอียดแต่ละมาตรฐานให้เสร็จ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณา และประกาศใช้

อีกทั้งยังหยิบยก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2546 ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าผู้เรียนครูจะต้องเรียนกี่ปี เพียงแต่กำหนดว่าผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ต้องมีวุฒิทางการศึกษา หมายความว่าจะเรียนหลักสูตรครู 4 ปี หรือหลักสูตรครู 5 ปีก็ได้

สอดรับกับข้อเสนอของสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ครุศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า การผลิตครูไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับจำนวนปี แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต และนโยบายที่รัฐต้องการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เรียนหลักสูตร 4 ปีอื่นๆ มาเป็นครูได้

บวกกับปัจจัย “ชี้ขาด” ของระดับนโยบายอย่าง นพ.ธีระเกียรติ และ นพ.อุดม แม้จะยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่า “ไม่บังคับ” หากสถาบันใดยังคงยืนยันจะผลิตครูหลักสูตร 5 ปี ก็ทำได้

แต่ ศธ.จะจัดสรร “งบประมาณ” ให้กับสถาบันที่ผลิตครูหลักสูตร 4 ปีเท่านั้น?!?!

 

การฟื้นหลักสูตรครู 4 ปี จริงๆ แล้วไม่ต่างจาก “เหล้าเก่าในขวดใหม่”

ซึ่งมีมุมมองที่หลากหลายจากนักวิชาการ อาทิ นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า เรื่องนี้เป็นแนวปฏิบัติเดิมที่นักศึกษาหลักสูตรครู 5 ปีจะได้รับใบอนุญาตฯ โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่เพราะเกณฑ์ที่ออกมาใหม่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรครู 4 ปี ผู้ออกนโยบายจึงต้อง “ลดแรงต้านทาน” แต่การสอบรับใบอนุญาตฯ ก็ยังไม่มีแนวทางชัดเจน เพราะไทยไม่เคยจัดการสอบรับใบอนุญาตฯ และไม่มีประสบการณ์เลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะต้องมีรุ่น “หนูทดลอง”

และถ้าการสอบครั้งนี้เกิดความเสียหาย จะรับผิดชอบอย่างไร??

ขณะที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มองว่า การให้หลักสูตรครู 5 ปี ได้รับใบอนุญาตฯ อัตโนมัติ เพื่อแก้ปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบในเบื้องต้น และเพื่อเตรียมปรับมาใช้หลักสูตรครู 4 ปี ซึ่งเห็นด้วยกับวิธีนี้ แม้ต่อไปอาจไม่ดึงดูดเด็กเก่งให้มาเรียนครูเช่นเดิม แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ถ้านักศึกษาจบแล้ว แต่สอบรับใบอนุญาตฯ ไม่ได้ ปัญหาก็จะวนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน

ส่วนนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มองอีกมุมว่า ไม่ว่าจะเรียนหลักสูตรครู 4 ปี หรือหลักสูตรครู 5 ปี ก็ไม่แตกต่างกัน จึงควรต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ทั้ง 2 หลักสูตร โดยเฉพาะจะเป็นการการันตีคุณภาพหลักสูตรครู 5 ปี ที่กำลังจะยกเลิก

ปิดท้ายที่นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ที่ตั้งคำถามถึงความพยายามในการเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรครู 4 ปี ของ นพ.ธีระเกียรติให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยการชงของ ส.ค.ศ.ท. ว่ามาจากสาเหตุใด…

    เพราะยิ่งรัฐบาลเร่งรีบดำเนินการ หากผิดพลาดขึ้นมา “ใคร” จะรับผิดชอบ!!