เกษียร เตชะพีระ : บนบานศาลกล่าว

เกษียร เตชะพีระ

เช้ามืดวันนี้ ฐานที่มั่นของผมถูกปิดล้อม เข้าไปไม่ได้…

ผมหมายถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ Apple Imax หลักอายุ 6-7 ปีของผม จู่ๆ มันก็รวน เปิดเครื่องสตาร์ตอัพสักพักแล้วก็ไม่ติด ดับไปเฉยๆ อาการวนเวียนซ้ำอยู่อย่างนั้น ไม่อาจเปิดเครื่องเข้าถึงข้อมูลหลักและงานทั้งหมดที่ผมเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ 1 เทราไบต์ในนั้นได้ ไม่ว่าไฟล์เตรียมสอน ไฟล์ต้นฉบับคอลัมน์ ไฟล์ข้อมูล ฯลฯ ฯลฯ

จะทำงานเร่งด่วนทั้งเขียนทั้งสอนเฉพาะหน้าต่อไปยังไง?

ผมใจเสียงุ่นง่าน ต้องรีบออกจากบ้านไปสอนที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตั้งใจว่าคืนนี้กลับบ้านจะมาลองเปิดใหม่เผื่อมันจะติดขึ้นมา

ระหว่างนี้เมื่อจนด้วยแต้ม ก็ขอบนบานศาลกล่าวไปก่อนว่า ถ้าเกิดเปิดเครื่องคอมพ์ติด ผมจะ…

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช อดีตลูกศิษย์ของผมที่เอ่ยอย่างขันขื่นไว้ในงานเกษียณอายุราชการของผมปลายเดือนตุลาคมศกนี้ที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า ประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกที่รัฐศาสตร์นั้น เธอต้องเสียทั้งเลือดและน้ำตา ในช่วงสอบ เธอถึงกับเคยไปบนไว้ว่า ถ้าสอบผ่าน จะไปบริจาคเลือดนู่นนี่นั่น…

ผมฉุกคิดถึงเรื่องบนบานศาลกล่าวที่ตัวเองกำลังทำและ ดร.เจษฎาพัญเล่าถึงนี้ และเกิดอยากคิดว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร? ในภาวะความคิดจิตใจเช่นไร?

ผมคิดว่าเราบนบานศาลกล่าวเมื่อเรากำลังเผชิญกับภารกิจอะไรบางอย่างที่ทำได้ยาก ยากขนาดที่เราเองก็ไม่เชื่อ ไม่มั่นใจเสียทีเดียวว่าเราจะทำได้สำเร็จ

และในยามไม่เชื่อมั่นลังเลเช่นนั้น คนที่เราจะต้องทำให้ปักใจเชื่อว่าเราทำได้ ก่อนใครอื่นก็คือตัวของเราเอง

แล้วเราจะทำให้ตัวเราเองเชื่อว่าเราทำได้อย่างไร?

ผมคิดว่าการบนบานศาลกล่าวคือกุศโลบายดังกล่าว พูดให้ถึงที่สุดมันคือการสร้าง the supposedly almighty or omnipotent other ขึ้นมาในจินตนาการ หรือนัยหนึ่งสมมุติสร้าง “คนอื่น” หรือ “สิ่งอื่น” ที่ทรงอิทธิฤทธิ์มหิทธานุภาพจะดลบันดาลการใดๆ ให้สำเร็จได้ขึ้นมาต่างหากจากเรา

แล้วให้ศาลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือนัยหนึ่ง the supposedly almighty or omnipotent other นั้นให้สัญญา (promise) กับเราว่า ถ้าเราทำนู่นนี่นั่นให้ท่าน ท่านจะดลบันดาลให้เราทำได้สำเร็จ…

เกี่ยวกับเรื่องสัญญาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ ฮันนาห์ อาเรนต์ (Hannah Arendt) นักทฤษฎีและปรัชญาการเมืองหญิงชาวเยอรมัน (ค.ศ.1906-1975) ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Human Condition (มนุษยภาพ, ค.ศ.1958) ตอน “Unpredictability and the Power of Promise” (ความคาดทำนายไม่ได้กับอำนาจของคำมั่นสัญญา) ว่า :

“อับราฮัม ชายจากเมืองอูร์ ซึ่งเรื่องราวของเขาทั้งหมดตามที่พระคริสตธรรมคัมภีร์เล่าไว้นั้น แสดงให้เห็นถึงแรงขับดันด้วยความรู้สึกอันแรงกล้าที่จะทำพันธสัญญาให้จงได้ถึงขั้นที่ราวกับว่าเขาจากภูมิลำเนาของตนไปก็หาใช่ด้วยเหตุผลอื่นใดไม่ นอกจากไปทดลองพลังอำนาจของคำมั่นสัญญาซึ่งกันและกันในโลกอันเถื่อนร้างนั้น กระทั่งในที่สุดพระผู้เป็นเจ้าก็ทรงยินยอมที่จะทำพันธสัญญากับเขานั่นเอง”

…ด้วยคำมั่นสัญญาเชิงแลกเปลี่ยนผ่านการบนบานดังกล่าว เราก็ได้สร้างสิ่งสมมุติอื่นที่ให้สัญญาแก่เราว่าเราจะทำภารกิจอันยากนั้นได้สำเร็จขึ้นมา

มันไม่ใช่การสู้คนเดียว ปลุกปลอบใจตัวเองให้เชื่อโดยโดดเดี่ยวลำพังอีกต่อไป (ซึ่งย่อมยากยิ่ง)

แต่มี “คน (สมมุติ) อื่น” “สิ่ง (สมมุติ) อื่น” ช่วยให้เราเชื่อมั่นในตัวเราเองด้วย “คำสัญญา” ดังกล่าว

และเมื่อเรา “เชื่อ” ว่าตัวเองจะทำได้โดยผ่านการบนหรือผ่านคำสัญญาของคนอื่น/สิ่งอื่น ที่ทรงอิทธิฤทธิ์มหิทธานุภาพที่เราติ๊งต่างขึ้นมา เราก็มั่นใจพอที่จะไปลงมือทำมัน

ผมกลับบ้านตอนกลางคืน บนบานศาลกล่าวเสร็จก็ลองเปิดเครื่อง Imax ดูอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง…

ปรากฏว่ามันไม่ติดครับ ติดแล้วก็กลับดับอีกเหมือนตอนเช้า เฮ้อออ…

สรุปคือ ผมตัดสินใจสั่งซื้อ Apple Imax เครื่องใหม่โดยวางมัดจำไว้เลย แล้วจะส่งเครื่องเก่าที่เสียเข้าโรงซ่อมพรุ่งนี้…

Alas, the supposedly almighty or omnipotent other is not always so. Mind you.