ในประเทศ / ครางชื่อ ‘ตู่’ แน อุ๋ย อุ๋ย อุ๋ย อุ๋ย โอ๊ย โอ๊ย โอ๊ย โอ๊ย

ในประเทศ

ครางชื่อ ‘ตู่’ แน

อุ๋ย อุ๋ย อุ๋ย อุ๋ย

โอ๊ย โอ๊ย โอ๊ย โอ๊ย

 

“ผมจึงไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย”

คือบรรทัดสุดท้ายของบทความที่ ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ระบุ 8 เหตุผล คัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีก!

 

  1. ในระยะเวลา 3 ปีหลังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ขาดวินัยทางการคลังอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันมีการผูกพันงบประมาณไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าถึง 1,178,275 ล้านบาท

สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

สูงที่สุดเป็นของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่พอยอมรับได้

แต่งบฯ ผูกพันที่สูงเป็นอันดับสองเป็นของกระทรวงกลาโหม จำนวนสูงถึง 177,294 ล้านบาท (ในขณะที่งบฯ ประจำปีเป็นเพียง 227,000 ล้านบาท) เป็นเรื่องที่ดูแล้วขาดวินัยการคลังอย่างน่าเกลียด

  1. พล.อ.ประยุทธ์และเพื่อนร่วมรุ่น 6-7 คน กระทำการที่ไม่โปร่งใส เพื่อจะแอบตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาในการพิจารณาพระราชบัญญัติปิโตรเลียม วาระที่ 2

ผมได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้

จน สนช. หยุดยั้งเรื่องนี้ไว้ได้แล้ว

แต่กลุ่มบุคคลนี้ก็ยังไม่หยุดยั้ง และยังหาจังหวะทางการเมืองที่จะผลักดันเรื่องนี้อีก

หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง อาจจะผลักดันเรื่องนี้จนเป็นผลสำเร็จได้

 

3.ไทยเคยมีนโยบายต่างประเทศที่ถ่วงดุลกับฝ่ายที่มีอำนาจในโลกได้เป็นอย่างดีเสมอมา

แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กลับดำเนินนโยบายที่เอาใจประเทศจีนมากกว่าประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา อียู และญี่ปุ่น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-หนองคาย รัฐบาลกำหนดให้ใช้รถไฟความเร็วสูงของจีน โดยไม่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นเข้าเสนอโครงการ ทั้งที่จีนก็มิได้มีเงื่อนไขใดที่ให้ประโยชน์แก่ไทยเป็นพิเศษแต่อย่างใด

อีกเรื่องหนึ่งคือ การสอดไส้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการบรรจุข้อความที่เปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้คนจีนเข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทยได้โดยง่าย

โดยผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีคือรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษ

เดชะบุญที่สมาชิก สนช. คัดค้านเรื่องนี้ จึงทำให้รอดพ้นจากภัยคุกคามเรื่องนี้ไปได้

หาก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะอนุญาตให้นำผู้อยู่อาศัยชาวจีนเข้ามาถือครองที่ดินได้อีก

  1. ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ทำให้คนไทยโดยทั่วไปเห็นว่าทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือน เช่น กรณีโครงการราชภักดิ์ที่หัวหิน ที่ตรวจพบว่ามีความไม่ถูกต้องหลายประการ ก็ถูกแรงกดดันจากรัฐบาลให้หัวหน้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชี้แจงเสมือนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่หากเป็นหน่วยราชการอื่นคงจะถูกเปิดโปงและมีการลงโทษกันไปแล้ว

หรือกรณีรายงานทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ครบถ้วน ป.ป.ช.ช่วยถ่วงเวลานานกว่าที่ควรจะเป็นมาก หากบุคคลนั้นเป็นพลเรือน ป.ป.ช.ก็คงตัดสินไปนานแล้ว

 

  1. พล.อ.ประยุทธ์สนิทสนมและใกล้ชิดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่บางราย

แต่งตั้งบุคคลที่สนิทสนมกับกลุ่มธุรกิจปลอดภาษีเป็นประธานของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

แต่งตั้งให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจใหญ่กลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งช่วยให้สามารถรู้ข้อมูลด้านการลงทุนที่ยังไม่เปิดเผยก่อนผู้อื่น

เคยเชิญนักธุรกิจคนหนึ่งให้เข้าไปร่วมแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งก็เป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่นักธุรกิจผู้นั้นโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังเคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กลุ่มธุรกิจกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยไม่ต้องมีการประมูล

เคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในเขตทหารบริเวณกาญจนบุรี ให้เอกชนรายหนึ่งเช่าโดยให้คิดค่าเช่าในราคาถูก

  1. พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม

เรื่องใดที่รัฐบาลต้องอนุมัติเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อปฏิรูป หากมีผู้คัดค้านใน Social Media บ่อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ก็สั่งให้ถอยเสมอ

เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าผลิตจากถ่านหิน

 

  1. ในปีหน้าไทยจะเป็นประธานของการประชุม ASEAN หาก พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม มีความเสี่ยงที่คนไทยจะต้องอับอายขายหน้าประเทศสมาชิกอื่น

ดังที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2558 ระหว่างการประชุมประเทศกำลังพัฒนา G77 ของสหประชาชาติที่สิงคโปร์ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดนอกบท ด่าทอสื่อมวลชน นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการในประเทศ ให้คนต่างชาติจาก 130 ประเทศฟัง

นอกจากนี้ เมื่อคราวที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าพบ President Donald Trump ของสหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์เป็นไก่รองบ่อนอย่างเห็นได้ชัด แต่ความที่อยากจะอวดว่าพูดภาษาอังกฤษเป็น (ทั้งๆ ที่ภาษาอังกฤษใช้ไม่ได้เลย) จึงทำให้กลายเป็นไก่รองบ่อน น่าขายหน้าอีกครั้งหนึ่ง

  1. ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทุกคนได้เห็นถึงการพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว มีลักษณะที่ก้าวร้าว และบางครั้งก็ใช้คำหยาบคายที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะออกมาจากปากของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ

ซึ่งอาจกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีที่เยาวชนจะทำตาม

 

ต้องถือว่านี่เป็นการเอาไม้หน้า 3 ฟาดเข้าใส่หน้าผู้นำประเทศอย่างจังๆ

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของคุณชายอุ๋ย “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร”

หากแต่เป็นครั้งที่สอง

โดยครั้งแรกก็อย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุไว้ในบทความข้างต้น

คือการออกมาแฉโพยการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ถูกยัดไส้ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. …

ซึ่งครั้งนั้นได้สร้างผลสะเทือนต่อรัฐบาล-ทหาร ไม่น้อย

เพราะ “เป้า” อยู่ที่การเปิดโปงผู้ล็อบบี้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ 6 ใน 7 คน เป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน

โดยระบุว่า หากตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติสำเร็จ กิจการน้ำมันของประเทศจะถอยหลังไป 50 ปีก่อน

ผลแห่งการคัดค้านครั้งนั้น ควรแก่การยกย่อง

แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกลับถูกบางฝ่ายมองว่า มุ่งชำระแค้น

โดยย้อนกลับไปพิจารณาประวัติทางการเมืองของ “ท่านชาย” ผู้นี้

พบว่ามีบาดแผลกับรัฐบาล “ทหาร” มาแล้วสองครั้งด้วยกัน

 

ครั้งแรก เป็นรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่แตกหน่อมาจากการปฏิวัติของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

โดยหม่อมอุ๋ยได้เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

แต่จู่ๆ พล.อ.สุรยุทธ์ลงนามแต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เพื่อทำหน้าที่สร้างความเข้าใจกับนานาชาติเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง

โดยมิได้หารือกับ “หม่อมอุ๋ย” ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ถือเป็นการฉีกหน้า “หม่อมอุ๋ย”

และแม้นายสมคิดจะถอนตัวในเวลาต่อมา

แต่ก็กลายเป็น “บาดแผล” ที่ลบไม่ออกไปแล้ว

ประกอบกับ “หม่อมอุ๋ย” ได้แสดงความไม่พอใจนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลกรมประชาสัมพันธ์ขณะนั้น

ไฟเขียวให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 โจมตี “หม่อมอุ๋ย” อย่างรุนแรงบ่อยครั้ง

ที่สุด “หม่อมอุ๋ย” ได้ประกาศลาออก ด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีกับ “รัฐบาลทหาร” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550

 

ครั้งที่สอง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหาร และจัดตั้งรัฐบาล ได้ดึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอีกครั้ง

แต่ยังต้องมาเผชิญกับตัวละครเดิมอีก

นั่นคือนายสมคิด ที่เป็น 1 ใน 15 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปรากฏว่าเกิด “เหตุการณ์ซ้ำสอง” ขึ้นอีก

นั่นคือเกาเหลาระหว่างทีม ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกับทีมของนายสมคิด

จน พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558

โละทีมเศรษฐกิจของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรออก และให้ทีมของนายสมคิดมาแทน

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามเยียวยาความรู้สึก ด้วยการตั้งให้หม่อมอุ๋ยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

แต่หม่อมอุ๋ยก็ไม่ไยดี

ถือเป็นการจบไม่สวยทางการเมืองของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคำรบสอง

และถูกมองว่านี่คือดับเบิลแค้น ที่ “รอ” วันเอาคืน

 

ซึ่ง ม.ร.ว.ปริดิยาธรก็ได้โชว์ให้เห็นแล้ว กรณีคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. …

และเมื่อมาถึงภาวะเข้าด้ายเข้าเข็ม

ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

8 เหตุผลฉกรรจ์ก็ถูกส่งเข้ามาสกัดทาง ด้วยฝีมือ ม.ร.ว.ปริดิยาธรอีกครั้ง

ซึ่งไม่ธรรมดา ด้วยเพราะมีลักษณะการเปิดโปงที่ร้ายแรง ไม่ต่างจากที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวหา “คนอื่น” มาแล้ว

เมื่อมาถูกชี้หน้าว่าเป็น “อิเหนา” เสียเอง ย่อมยอมรับได้ยาก

 

แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์คงต้องยอมกลืนเลือด

เพราะการทำศึกซ้อนศึก ย่อมไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะกับคุณชายอุ๋ยที่มีต้นทุนทางสังคมสูง

อาจไม่คุ้มกับการเข้าไปแลก จึงเลือกที่จะนิ่งเฉย

บอกเพียงว่า ให้ไปถามเขาเองทำเพราะอะไร ไม่มีความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

ปล่อยให้พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะ “เซนต์คาเบรียล” คอนเน็กชั่นร่วมกับหม่อมอุ๋ย ออกมาทำสงครามตัวแทนให้ว่า

“พูดส่งเดช พูดไปเรื่อย คนไม่ชอบกันส่วนตัว”

ถือเป็นความพยายามของพี่ใหญ่ ที่จะพยายาม “กด” ความขัดแย้งครั้งนี้ให้เป็นเรื่อง “ความไม่ชอบส่วนตัว”

แต่กระนั้น ประเด็นความไม่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรโยนออกมา

เป็นประเด็นสาธารณะ-ส่วนรวม และเกี่ยวพันถึง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่สังคมชะเง้อหูฟังด้วย

นี่จึงถือเป็นวิบากกรรม “สำคัญ” ต่อการก้าวไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ที่ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่คาดหมายว่าจะเจอ

แต่ก็เจอ และคงไม่หมดเพียงแค่นี้

คงจะมีอีกหลายยก

   โดยเฉพาะจากคนกันเองที่เคยเป็นแนวร่วมกันมา