มุกดา สุวรรณชาติ : การอุดหนุนด้านการเกษตร เส้นทางที่พลเอกประยุทธ์ต้องเดิน (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

ตอน 1 2

จำนำยุ้งฉาง คือทางเก่า
ชาวนาบางคนไม่เดิน

สองตอนที่ผ่านมาได้พูดถึงความเป็นมาของโครงการจำนำข้าวและจำนำยุ้งฉาง การสร้างมาตรการป้องกันปัญหาการทุจริตและความเสียหายในอดีต ซึ่งที่จริงแล้วยังกล่าวไม่หมด ความละเอียดของการป้องกันนั้นลงลึกไปถึงสัญญาเช่าคลังเก็บสินค้าซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไปเช่าที่เก็บข้าวสาร

เช่น รายละเอียดจะระบุว่า ลักษณะของโกดังเป็นอย่างไร พื้นเป็นอย่างไร ผนัง เสา โครงหลังคา เป็นอย่างไร ประตูกว้างยาวเท่าไร รวมแล้วจะเก็บข้าวสารได้มากน้อยเท่าใด

ทั้งยังระบุเงื่อนไข การต้องชดใช้ค่าเสียหายถ้าข้าวหายไป หรือข้าวเสื่อมคุณภาพ เงื่อนไขการประกันข้าวที่เก็บไว้ในโกดัง

มาตรการต่างๆ เหมือนถนนลาดยางที่ซ่อมแล้วซ่อมอีก มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากประสบการณ์เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่ได้เห็นปัญหาตั้งแต่ปี 2529 จนเมื่อถึงการจำนำข้าวในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงมีเงื่อนไข และสัญญามากมาย แต่ก็ยังโดนฟ้อง

ดังนั้น ยุ้งฉางชาวบ้านธรรมดา จะมีกรรมการที่ไหนรับรองให้เป็นที่เก็บข้าว

ชาวนาเล็กๆ จะมาร่วมได้หรือ ต้องมาดูตอนปฏิบัติจริงว่าจะแก้ไขกันอย่างไร

ทำไมต้องทำโครงการจำนำยุ้งฉางตอนนี้

มีคำถามว่า เมื่อรู้ว่ามีจุดอ่อนหลายเรื่อง ทำไมรัฐบาลชุดนี้ที่เคยโจมตีนโยบายจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังจะฝืนเปิดโครงการจำนำยุ้งฉาง

คำตอบคือ นี่เป็นความจำเป็น เป็นเส้นทางบังคับให้เดิน ราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี 14 ปี จะนั่งเฉยได้อย่างไร เพราะจะมีข้าวออกมาอีก 25 ล้านตัน เป็นหอมมะลิ เกือบ 10 ล้านตัน เรื่องแบบนี้ไม่มีรัฐบาลใดอยากทำ แต่เมื่อเกิดภาวะราคาตกต่ำ โครงการจำนำยุ้งฉางจึงต้องเกิดขึ้น จะไปใช้แบบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็น่าเกลียดเกินไป เพราะเพิ่งฟ้องเขาไปหยกๆ

รัฐบาลหวังผลจากโครงการ 3 อย่างดังนี้

1. เหตุผลที่เหมือนกันในทุกรัฐบาลคือเพื่อลดแรงกดดันจากชาวนาหรือเกษตรกรที่ประสบกับภาวะขาดทุน และเป็นการบอกเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศว่ารัฐเห็นใจเกษตรกรและพยายามช่วยเหลือแล้ว

2. รัฐหวังว่า เงินที่อัดเข้าไปในโครงการแบบนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าซึ่งจะมีส่วนในการผลักดันให้เกิดกำลังซื้อเพราะชาวนาชาวบ้านส่วนใหญ่เมื่อได้เงินก็ต้องนำไปใช้จ่าย คนเหล่านี้ไม่มีเงินไปเก็บ เมื่อเกิดการใช้จ่ายก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนหลายรอบ นี่จึงเป็นความหวังของรัฐบาลในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาว่าจะช่วยผลักดันให้กระตุ้นกำลังซื้อในระดับล่างจากภาคเกษตรกรรมจะขยายไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมได้บ้าง ผู้ผลิตสินค้ารายย่อย และคนค้าขายระดับล่างจะได้รับผลประโยชน์ในการผลิตสินค้าออกมาขายด้วย

3. ถ้ามองการเมืองในอนาคตก็เป็นเรื่องจำเป็นถ้าหากจะมีการเลือกตั้งในอีกประมาณปีหรือปีกว่าข้างหน้า หมายความว่าโครงการนี้น่าจะทำได้อีกครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น การกระทำที่เป็นโครงการจริงย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลยเพราะจะถูกกล่าวหาว่าไม่สนใจชาวนาชาวไร่ คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น จะไปประกาศนโยบายแบบนี้ตอนหาเสียงคนก็ไม่เชื่อ

เพราะจะมองว่าตอนที่มีอำนาจไม่รู้จักทำอะไรเลย

วัตถุประสงค์ของโครงการ
ต่างกับผลที่จะเกิดขึ้นจริง

1.ชาวนาจำนวนมากไม่สามารถเข้าร่วมได้…การย้อนกลับมาใช้มาตรการจำนำยุ้งฉางแต่เมื่อปี 2529 แม้มองว่าจะลดค่าใช้จ่ายจากค่าเช่าคลังสินค้า แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาจะมากน้อยเท่าใด ก็คาดเดาไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะไม่เกิดขึ้นเยอะก็ได้เพราะชาวนาที่มียุ้งฉางอยู่ในมาตรฐานที่จัดเก็บข้าวซึ่งจำนำไว้กับรัฐบาลอาจมีไม่กี่ราย ที่บอกว่ามีสองแสนยุ้งฉาง ในความเป็นจริง รัฐบาลจะยอมรับให้เก็บข้าวได้จริงสักกี่ราย ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีน้อยมาก

2. ชาวนาขายสด…วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อทางทีมงานได้ออกไปคุยกับชาวนา ในพื้นที่อยุธยาพบว่าพวกเขาไม่มีทั้งที่อบข้าว ที่ตากข้าว และไม่มียุ้งฉาง เมื่อถามว่าจะทำยังไง เขาก็บอกว่า ต้องเกี่ยวสดและขายสดทันที…โดยยอมรับราคาที่ผู้ซื้อจ่ายให้โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน ตอนนี้ไถและเตรียมจะปลูกใหม่ ไม่มีเวลามาเตรียมทำข้าวให้แห้งตากและเก็บไว้

3. เมื่อเงินที่รัฐบาลจัดเตรียมมาจำนำข้าวคิดเป็นปริมาณไม่มาก และการเข้าร่วมโครงการของชาวนามีไม่มาก เนื่องจากความจำกัด ถ้าทำได้ 2-4 ล้านตันก็เก่งแล้ว ในขณะที่โรงสี และผู้ส่งออก ทำราคาขายสูงไม่ได้ ก็ต้องรับซื้อถูก ราคาข้าวเปลือกจะไม่ถูกดันให้สูงตามเป้าหมาย ด้วยมาตรการนี้ ถ้าจะรับจำนำทั้งหมด รัฐก็ต้องหาเงินอีกไม่น้อยกว่า 100,000 ล้าน อีก 2-3 เดือนก็คงประเมินผลโครงการได้

4. ผลของการทำงานตามโครงการจะมีข้อบกพร่องจากการที่ข้าวหาย ข้าวเสื่อม ซึ่งจะเกิดขึ้นตามปกติเช่นเดียวกับโครงการจำนำข้าวในอดีตที่ผ่านมา แต่การอ้างตัวเลขกำไรขาดทุนถ้าไม่นับเงินที่ให้ชาวนา ในชื่อของค่าเช่ายุ้งฉางหรือโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การตัดขาดทุนหรือกำไรจะขึ้นอยู่กับราคาข้าวที่ขายว่า ได้ราคาสูงหรือต่ำ ถ้าคิดเป็นกำไรขาดทุน คาดไว้ล่วงหน้าได้ว่าต้องขาดทุนแน่นอน แต่จะยกความผิดให้ใครๆ จะเรียกค่าเสียหายเท่าไร

5. ผลทางการเมืองเมื่อราคาข้าวไม่สามารถถูกดันให้สูงขึ้น หรือมีชาวนาร่วมโครงการน้อยก็จะถูกกล่าวหาว่าทำงานไม่เป็น เอาเงินไปละลายแม่น้ำ ผลที่เกิดขึ้นจริงจากโครงการจำนำยุ้งฉางจะเป็นอย่างไรคงต้องคอยดูกันต่อไป แต่มีผู้ประเมินไว้ว่า

โครงการจำนำยุ้งฉางจะทำให้คนที่กินข้าวเข้าใจโครงการจำนำข้าวมากขึ้น

ผลต่อคดีโครงการรับจำนำข้าว
ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์

โครงการรับจำนำยุ้งฉางน่าจะเป็นบทเรียนและมีผลเปรียบเทียบในอนาคตกับโครงการรับจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และจะทำให้ประชาชนมองเห็นความจำเป็นของการทำโครงการเหล่านี้ ข้อบกพร่องใดเป็นข้อบกพร่องที่จะต้องเกิดขึ้นโดยปกติ และสิ่งใดคือสิ่งที่ควรอุดรูรั่วได้ สิ่งใดที่ทำไปแล้วหรือมีมาตรการดีแล้ว

เพียงแต่คดีรับจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีลักษณะเป็นคดีการเมืองมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องความบกพร่องทางการปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นได้จากการบีบคั้นด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเมื่อถึงวันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็หมดสิทธิ์ลงไปเล่นการเมืองอีกนาน เพราะดูจากวิธีการต่างๆ ที่ดำเนินการ ล้วนมีเป้าหมายไม่ให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เพียงแต่ยังแปลงกายไปเป็นแม่ค้าขายข้าวสารได้

ทำไมจึงบอกว่า
คดีมีลักษณะเป็นการเมือง

1.อัยการบอกว่าจะส่งฟ้องศาลการเมือง…วันที่ 23 มกราคม 2558 เวลา 09.00 น. สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เรื่องละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ตามที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

พอแถลงจบ สดๆ ร้อนๆ เวลา 10.20 น. สนช. ซึ่ง คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ก็เปิดประชุมลงมติถอดถอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว 12.00 น. ถอดถอนเรียบร้อย

ถอดจากอะไร ตำแหน่งนายกฯ ก็ลาออกแล้ว? …ถอดจากผู้มีสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

2. แต่ยังไม่ทันไปขึ้นศาล ก็มีผู้คิดค้นวิธีเล่นงานทางลัด โดยตั้งกรรมการตัดสินตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

4 กันยายน 2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว จากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่าเกี่ยวข้อง เพราะเป็นผู้ให้นโยบาย ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะไม่ใช้วิธีฟ้องแพ่งต่อศาล แต่จะใช้อำนาจตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับเอกชนจะต้องฟ้องทางแพ่งต่อศาล ทำอย่างอื่นไม่ได้ แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี เราเลือกใช้ช่องทางที่ 3 โดยตนได้ตรวจสอบแล้วสมัย นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรณีก่อให้เกิดความเสียหายจากการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ในการปกป้องค่าเงินบาทในช่วงระหว่างปี 2539-2540 และคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ก็ใช้วิธีการเดียวกัน

หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก ต้องการอุทธรณ์คำสั่ง ก็ให้ร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นว่า คำสั่งของกระทรวงการคลังชอบแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก ต้องชดใช้ค่าเสียหายในทันที หากไม่นำเงินมาชำระภายในเวลาที่กำหนดให้ เจ้าพนักงานสามารถดำเนินการยึดทรัพย์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องข้าวทำต่อกันมาหลายรัฐบาล จะต้องเอาผิดด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องแยกกันเป็นคดีๆ เวลานี้ถ้าตั้งต้นด้วยเรื่องจำนำข้าวต้องเอาเฉพาะช่วงเวลานั้น เรื่องอื่นค่อยว่ากัน หากจะทำต้องตั้งเป็นคดีใหม่ เพราะช่วงเวลาผิดกัน กฎหมายผิดกัน อำนาจผิดกัน และคนผิดกัน

3. เพียง 1 ปีต่อมา วันที่ 24 กันยายน 2559 นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้สรุปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความประมาทร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายในการรับจำนำข้าว ต้องชดใช้เงิน 35,717 ล้านบาท

10 วันต่อมา วันที่ 5 ตุลาคม 2559 คดี นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง โดยเห็นว่าการกระทำของอดีตผู้ว่าการ ธปท. ไม่ได้เป็นการกระทำละเมิด และไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 1.8 แสนล้านบาท ถือว่าผลคดีเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกา

การละเว้นปฏิบัติหน้าที่
หรือทำให้เสียหาย เกิดได้ทุกยุคสมัย

ยังไม่แน่ว่าโครงการไหนจะมีข้อบกพร่องมากกว่ากันในการดำเนินการพยุงราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดจะมีระเบียบและวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับรูปแบบ เมื่อย้อนมาสำรวจเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐร่างไว้เพื่อควบคุมให้นโยบายจำนำข้าวให้ดำเนินไปตามกระบวนการตั้งแต่การเริ่มรับจำนำ เก็บรักษา จนไปถึงจัดจำหน่าย พบว่ามีรายละเอียดมากมายที่เตรียมไว้เพื่อป้องกันการทุจริตป้องกันข้าวเน่า ป้องกันการขโมย แต่มิได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นเลย แต่จะปรับมาใช้กับจำนำยุ้งฉางได้บางส่วนเท่านั้น

โครงการจำนำยุ้งฉาง เป็นเส้นทางที่รัฐบาลนี้ต้องเดิน…เดินตามรัฐบาลในอดีต แม้จะเคยแสดงความไม่เห็นด้วย แต่เมื่อยึดครองอำนาจรัฐ และอยากจะอยู่ต่อก็ต้องทำไปตามคำแนะนำของผู้รู้ ตอนนี้ ถ้าโรงสีไม่ช่วยกันซื้อ ถึงปีใหม่ 2560 ก็ยังจะมีข้าวล้นเหลืออยู่ในตลาดมากเกิน 15 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งจะฉุดราคาลง ถ้ารัฐจะรับจำนำทั้งหมด รัฐก็ต้องหาเงินอีกไม่น้อยกว่า 100,000 ล้าน

ทั้งชาวนาและรัฐบาลต้องตัดสินใจ