วงค์ ตาวัน : ข้ออ้างซื้อเสียงเพื่อรัฐประหาร

วงค์ ตาวัน

ปัญหาปากท้องประชาชนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร ทำให้มุมมองของชาวบ้านต่อกระบวนการก่อม็อบชัตดาวน์ เปิดทางให้รถถังออกมาในปี 2557 นั้น เริ่มเห็นแต่ด้านที่เป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งเมื่อประจักษ์ชัดว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อยังไม่ยอมให้มีเลือกตั้งนั้น ลงเอยก็แทบจะไม่เห็นการปฏิรูปอะไรที่เป็นลักษณะเปลี่ยนโครงสร้างให้ก้าวไปข้างหน้า

จึงเริ่มตรงกับคำอธิบายของนักคิดนักวิชาการที่มองว่า ทั้งหลายทั้งปวงก็แค่เกมชิงอำนาจการเมือง จากที่เคยอยู่ในมือนักการเมือง ให้กลับมาอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจเก่าหรือฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองเท่านั้นเอง

“4 ปีที่ผ่านมา จึงกลายเป็นความรู้สึกเสียเวลา ทำให้ประเทศสะดุดและถอยหลัง สร้างความเสียหายด้านการพัฒนาหลายด้าน”

แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีคนพยายามออกมาอธิบายถึงการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ทำนองว่า จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการซื้อเสียง

เพราะการซื้อเสียงนี่แหละ ทำให้เราได้ผู้แทนราษฎรที่ไม่ใช่ตัวแทนของชาวบ้านจริง จากนั้นพวกนี้ก็จะเข้ามาถอนทุน และเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร

“ปัดฝุ่นความเชื่อล้าหลังออกมาใช้กันอีกแล้ว!”

ทั้งที่วันนี้ คนจำนวนไม่น้อยเชื่อแล้วว่าการรัฐประหารไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง มีแต่จะฉุดประเทศให้ถอยหลังย้อนยุคกลับไป

เพราะประเทศในยุครัฐประหาร จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แล้วสะท้อนมาถึงปากท้องของประชาชน

รวมถึงความไร้เสรีภาพในการคิดเห็นหรือแสดงอออก ทำให้กลุ่มผู้กุมอำนาจทำอะไรก็ได้ โดยปราศจากการท้วงติงและตรวจสอบ

“ในยุครัฐบาลเลือกตั้ง ยังถูกภาคประชาชนตรวจสอบได้ ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านซักฟอกในสภาได้ ซึ่งระบบตรวจสอบทุกระบบ ไม่เกิดขึ้นเลยในยุครัฐบาลรัฐประหาร”

ประเด็นต่อมานักการเมืองซื้อเสียง หรือฉ้อโกง จนเป็นเหตุให้ต้องมีการรัฐประหารจริงหรือไม่

คำตอบคือ นักการเมืองฉ้อโกงมีแน่นอน แต่ถ้าแก้ด้วยการรัฐประหารแล้วประเทศต้องล้าหลัง การเมืองต้องสะดุด วนอยู่ในอ่าง จะทำไปเพื่ออะไร

เพราะการแก้นักการเมืองคอร์รัปชั่นที่ดีที่สุดคือ ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบ ถ้าเอาผิดไม่ได้ก็สามารถทำให้ประชาชนเห็นข้อเท็จจริงได้ แล้วคนพวกนี้ก็จะถูกลงโทษทางการเมืองได้ ด้วยการพ่ายแพ้เลือกตั้งในสมัยต่อไป

ไม่ใช่ด้วยรถถัง ซึ่งออกมาวิ่งแต่ละครั้งสะเทือนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนอย่างมากมาย

แถมประเด็นนักการเมืองซื้อเสียงในการเลือกตั้ง นับเป็นข้อมูลที่ล้าหลังไปแล้ว หลังจากใช้รัฐธรรมนญปี 2540 เป็นต้นมา

ได้ทำให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองด้วยนโยบายที่ตอบสนองความเป็นอยู่ได้อย่างแท้จริง มากกว่าจะไปรับเงินแค่ไม่กี่ร้อยบาทอีกต่อไปแล้ว!

มีงานวิจัยของนักวิชาการมากมายที่ยืนยันได้ว่า นับจากมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เป็นต้นมา ทำให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็งมากขึ้น จุดสำคัญคือพรรคการเมืองแนวคิดใหม่ มีนโยบายที่พลิกโฉมหน้าสังคม เข้าถึงผลประโยชน์ของประชาชนในทุกด้าน

จึงทำให้ชาวบ้านในชนบท ตื่นตัวทางการเมือง เพราะเป็นยุคที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยกินได้อย่างแท้จริง

คะแนนเลือกตั้งจึงเทมายังพรรคการเมืองที่สร้างนโยบายตอบสนองผลประโยชน์ชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม ด้านรายได้ ด้านเงินทุน ด้านสาธารณสุข

นักวิชาการพบว่า การซื้อเสียงยังคงมีอยู่ แต่ลดน้อยลงไป และไม่ได้เป็นปัจจัยส่งผลต่อการแพ้-ชนะในการเลือกตั้งอีกแล้ว

“เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้เลือกตั้งด้วยมองผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไป แต่มองถึงนโยบายพรรคการเมืองเป็นสำคัญมากกว่า!”

แต่เรื่องเหล่านี้คนในเมืองหลวงอาจจะยังไม่เข้าใจ ยังคงมองคนชนบทด้วยความเชื่อเดิมๆ ว่า ไปเลือกตั้งเพราะโดนซื้อเสียง

ในการชุมนุมชัตดาวน์ น่าสังเกตว่า คนเมืองหลวงชนชั้นกลาง ดารา-ศิลปินก็ยังเชื่อกันว่าไม่ควรมีการเลือกตั้งต่อไป เพราะชาวบ้านจะถูกพวกนักการเมืองซื้อเสียง แล้วก็เฮกันไปล้มการเลือกตั้ง ล้มประชาธิปไตย

“ทั้งที่การซื้อเสียงลดน้อยถดถอยไปนานแล้ว หรือถ้ายังมี ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไป”

แม้แต่ในพรรคการเมืองเก่าแก่ประชาธิปัตย์ ซึ่งพ่ายแพ้ในสนามการเลือกตั้งระยะหลังโดยตลอด ก็ยังปลอบใจกันเองว่า เราแพ้เพราะเขาซื้อเสียง

จนกระทั่งนายอลงกรณ์ พลบุตร ต้องออกมาเรียกร้องเป็นข่าวฮือฮาเมื่อปี 2556 ขอให้มีการปฏิรูปพรรค

“โดยให้เลิกเชื่อได้แล้วว่า แพ้เพราะเพื่อไทยซื้อเสียง แต่แพ้เพราะนโยบายที่เข้าถึงประชาชนได้มากกว่า!”

เห็นได้ว่า การรัฐประหารในยุคปี 2549 และในปี 2557 ก็ยังเกิดขึ้นภายใต้ข้ออ้างนักการเมืองเลวร้ายทุจริตคดโกง ไปจนถึงการเลือกตั้งมีซื้อเสียง

โดยเฉพาะในปี 2557 ชาวเมืองหลวงที่ออกมาร่วมหยุดประชาธิปไตย ก็ยังเชื่อกันว่าการเลือกตั้งมีการซื้อเสียง

ทั้งที่ไม่เคยสัมผัสหรือรับฟังข้อเท็จจริงจากชาวชนบทว่า เขาไปเลือกตั้งเพราะเงินหรือเพราะนโยบายที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่อย่างเป็นรูปธรรมกันแน่

ถ้ายังมีความหลงใหลในอำนาจรัฐประหาร คงเป็นเรื่องยากที่จะมองออกว่า ก่อนการรัฐประหารทุกครั้งจะต้องมีการสร้างกระแสนักการเมืองคอร์รัปชั่นคดโกงและซื้อเสียง โดยโหมให้เกินจริงให้กลายเป็นกระแสสูง เพื่อให้ทั่วทั้งสังคมเอือมระอาในนักการเมืองและระบบเลือกตั้ง

เมื่อเงื่อนไขสุกงอม เข้าทางขบวนการสมคบคิดล้มประชาธิปไตย ก็จะเกิดการรัฐประหารตามมา

ย้อนไปดูการรัฐประหารโดย รสช.เมื่อปี 2534 ก็เริ่มต้นจากค่อยๆ ปูกระแสรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ว่ากินทั้งตามน้ำและทวนน้ำ เรียกว่าเป็น ครม.บุฟเฟ่ต์คาบิเนต จนทำให้สังคมเริ่มหลงไปกับกระแสนี้ นำไปสู่การรัฐประหารล้มรัฐบาลประชาธิปไตยได้สำเร็จ

“ทั้งที่สาเหตุ เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ในเรื่องคดีลอบสังหาร ไปจนถึงการดึงตัว พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เข้ามาร่วมใน ครม. ทำให้เกิดข่าวกระหึ่มเรื่องการปลดย้ายผู้นำเหล่าทัพ”

จากนั้นรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ก็มาแนวเดียวกัน ก่อกระแสนักการเมืองฉ้อฉลคดโกง แต่เพิ่มพิเศษคือ ปลุกม็อบออกมาต่อต้านรัฐบาล

“แต่แทนที่จะไล่รัฐบาลแล้วให้ประชาชนร่วมตัดสินใจผ่านการเลือกตั้งใหม่ กลับเรียกร้องให้รถถังวิ่งออกมายึดอำนาจ”

แต่ถ้าคนในสังคมเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า การรัฐประหารทุกครั้งจะนำมาซึ่งการถดถอยทุกด้าน ทั้งประชาธิปไตย ทั้งเศรษฐกิจ การค้า

ควรจะแก้ปัญหาการเมืองด้วยการเมือง ไม่ใช่ด้วยการทหาร

แก้ปัญหาโดยทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มคว่ำ ลงโทษนักการเมืองคอร์รัปชั่นเหล่านั้นด้วยมือประชาชนในการเลือกตั้งหนหน้า

“จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ทำให้ชาติถอยหลัง แถมประชาธิปไตยจะได้รับการยกระดับมีคุณภาพมากขึ้น”

เอาเฉพาะการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 หนล่าสุด ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้

เป็นการเมืองที่ผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้มีกฎกติกาควบคุมระบบการเมืองไม่ให้เติบโตเหมือนหลังปี 2540 ตีกรอบไม่ให้พรรคการเมืองมีนโยบายที่พลิกโฉมสังคมได้อีก

“รัฐธรรมนูญนี้แหละ ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยกลับไปเหมือนเมื่อ 40 ปีก่อน สู่ยุคระบบพรรคการเมืองอ่อนเปลี้ย”

เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถสร้างนโยบายเป็นจุดขายให้ประชาชนตัดสินใจได้อีก จะทำให้ถอยหลัง มีแนวโน้มว่าระบบซื้อเสียงรุนแรงอาจจะกลับมาอีก

แล้ววันนี้ก็เริ่มแล้วโดยพรรคการเมืองบางพรรค

พรรคที่ทำอะไรก็ได้ โดยไม่กลัวผิด ไม่กลัวถูกยุบพรรคนั่นแหละ!