เกษียร เตชะพีระ l ปัญหาสิทธิเสรีภาพ ในการเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการ

เกษียร เตชะพีระ

การที่บุคคลภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการหรืออัตตาธิปไตย (dictatorship/ autocracy) เป็นปฏิทรรศน์ (paradox) อยู่ในตัว

เพราะหากระบอบเผด็จการเกิดขึ้นจริง สิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลตามหลักเสรีนิยม (liberalism) ภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยก็จะหมดไป

เพราะการกระทำอะไรก็แล้วแต่ของบุคคลภายใต้ระบอบเผด็จการ/อัตตาธิปไตยนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติหรืออนุญาตจากผู้ปกครองเผด็จการ

และดังนั้นก็มิใช่สิทธิเสรีภาพของเขา เพราะอาจถูกยกเลิกเพิกถอนไม่ให้ทำต่อไปโดยผู้ปกครองเผด็จการได้ทุกเมื่อ

หากบุคคลผู้ใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการ เข้าใจความข้อนี้ แต่ก็ยังใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต่อไป ก็ย่อมพอสรุปด้วยเหตุผลตามตรรกะได้ว่า การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวของเขานั้น หาได้มีสิทธิเสรีภาพเป็นเป้าหมาย (end) ไม่ (เพราะถ้าเรียกร้องและสนับสนุนสำเร็จ สิทธิเสรีภาพของเขาและคนทั้งปวงยกเว้นผู้ปกครองเผด็จการก็จะหมดสิ้นสูญสลายไป)

หากสิทธิเสรีภาพสำหรับเขาเป็นแค่เครื่องมือ (means) เพื่อไปบรรลุเป้าหมายอื่นคุณค่าอื่น เช่น ความมั่นคง หรืออำนาจเด็ดขาดรวมศูนย์เหนือรัฐและสังคม เป็นต้น

ธรรมเนียมคิดเสรีนิยมวิวัฒนาการผ่านมาเป็นช่วงชั้น (layers of liberalism) อย่างน้อย 5 ช่วงชั้นในประวัติศาสตร์อุดมการณ์ตะวันตก (อิงงาน Liberalism : A Very Short Introduction ของไมเคิล ฟรีเดน ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม และศาสตราจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ผมเพิ่งแปลเสร็จ) ได้แก่ :

1) ช่วงชั้นเสรีนิยมคลาสสิคที่เน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของตนเองเพื่อที่จะจำกัดอำนาจการปกครอง (limited government) ของรัฐไว้ ไม่ให้ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของปัจเจกเข้ามา ได้แก่ แนวคิดของจอห์น ล็อก เป็นต้น

2) ช่วงชั้นเสรีนิยมสมัยใหม่ที่เน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการพัฒนาศักยภาพของตนเองตามที่ตนเองเห็นชอบภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ทำร้ายก่อภยันตรายแก่ผู้อื่น ได้แก่ แนวคิดของจอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาเสรีนิยมชาวอังกฤษคนสำคัญ (ค.ศ.1806-1873)

3) ช่วงชั้นเสรีนิยมสังคมหรือเสรีนิยมแนวใหม่ (social or new liberalism) ที่เน้นการเชื่อมโยงสิทธิเสรีภาพของบุคคลเข้ากับสวัสดิการของสังคมส่วนรวม ได้แก่ แนวคิดแบบจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เป็นต้น

4) ช่วงชั้นเสรีนิยมที่เน้นการเคารพความแตกต่างหลากหลายหรือพหุนิยม (pluralism) ของเอกลักษณ์กลุ่ม (group identities) ไม่ว่าจะเป็นศาสนา เชื้อชาติ/สีผิว เพศสภาพ ความเชื่อทางการเมือง ฯลฯ ได้แก่ แนวคิดเสรีนิยมที่รองรับการเมืองเรื่องเอกลักษณ์ (identity politics) ในอเมริกาและอังกฤษ เป็นต้น

5) ช่วงชั้นเสรีนิยมที่เน้นสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคลและกลุ่มทุนธุรกิจเหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง

ซึ่งก็คือแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ของฟรีดริช ฮาเยค, มิลตัน ฟรีดแมน เป็นตัวอย่าง

สิ่งที่เราเรียกว่า “เสรีนิยม” เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติคือช่วงชั้นทั้ง 5 ที่วางซ้อนทับกันมาในประวัติศาสตร์ อุปมาอุปไมยเหมือนกระดาษ 5 แผ่นที่วางซ้อนทับกันอยู่ตามลำดับโดยแต่ละแผ่นก็เจาะรูทะลุเหลื่อมเลื่อนจากกัน ไม่ได้ตรงกัน

เมื่อเราคิดถึงสิทธิเสรีภาพของเสรีนิยม ก็เหมือนหนึ่งเรากำลังมองดูมันจากกองกระดาษที่วางทับซ้อนแต่เจาะรูทะลุเหลื่อมกันทั้ง 5 แผ่นนั้น แล้วเห็นหรือเลือกเอาบางความหมายจากบางแผ่นมาผสมประกอบกันเข้าเป็นนัยของสิทธิเสรีภาพที่เราสมาทาน

ผมคิดว่าผู้ที่เห็นว่าบุคคลควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการ (หรือระบอบอันเป็นที่โต้แย้งอื้อฉาวอื่นๆ เช่น ระบอบเหยียดผิว ระบอบชายเป็นใหญ่ ระบอบอัตตาธิปไตยเทวนิยม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฯลฯ) กำลังเห็นและเน้นเสรีนิยมในช่วงชั้นที่ 2 ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ ที่มุ่งขีดเส้นวงศักดิ์สิทธิ์รอบตัวปัจเจก ให้เขาคิด เชื่อ ทำ พูดแสดงออก เลือกดำเนินวิถีชีวิตอย่างไรก็ได้โดยเสรี ต่อให้รัฐหรือสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของเขาเองตามหนทางที่เขาชมชอบเชื่อถือ

แต่แม้ในนัยช่วงชั้นเสรีนิยมที่ 2 ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ ดังกล่าว ก็หาได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลอย่างไร้ขีดจำกัดไม่

หากมันยังถูกกำกับด้วยหลักที่ต้องไม่ใช้สิทธิเสรีภาพนั้นไปทำอันตรายแก่ผู้อื่น (harm principle)

ดังนั้น สังคมจึงมักมีหลักห้ามผู้คนเที่ยวพกอาวุธปืนของตนเองไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรและต้องมีใบอนุญาต หรือห้ามขับรถด้วยความเร็วไม่จำกัดหรือระหว่างมึนเมา ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่ผู้อื่นอาจสูดควันบุหรี่เข้าไปเป็นภัยต่อสุขภาพ เป็นต้น

แต่หากไม่ถึงแก่ทำอันตราย แค่รบกวนความรู้สึกของตนทำให้เดือดร้อนรำคาญ (offend others) แล้วก็พึงยอมให้บุคคลทำต่อไปได้ และคนอื่นหรือสังคมส่วนรวมพึงต้องอดกลั้นอดทนให้เขาทำ

เช่น เราอาจไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ ไม่เห็นด้วยกับการให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เนื่องจากเหตุผลทางศาสนา รู้สึกรบกวนจิตใจเดือดร้อนรำคาญ

แต่ถ้าการใช้สิทธิเสรีภาพกระทำการดังกล่าวไม่ถึงกับทำอันตรายแก่เราแล้ว เราก็มีหน้าที่ต้องอดกลั้นอดทนให้เขาทำต่อไปได้ ต่อให้เราไม่ชอบก็ตาม

การใช้สิทธิเสรีภาพเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการก็พึงต้องอยู่ภายใต้หลักไม่ทำร้ายคนอื่นนี้เช่นกัน คำถามคือเส้นแบ่งของการทำอันตราย/กับรบกวนให้เดือดร้อนรำคาญ (harm principle/offend others) อยู่ที่ใด

นี่เป็นคำถามถาวร (perennial question) ที่ทุกสังคมต่างต้องตอบ และคำตอบของแต่ละสังคม ในแต่ละช่วงเวลา ก็ไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าพื้นภูมิธรรมเนียมประเพณี ประสบการณ์และอำนาจเสียงข้างมากของสังคมนั้นตกลงขีดเส้นแบ่งไว้ที่ไหน ให้ทำได้แค่ไหน

เช่น สังคมไทยไม่อนุญาตให้ทำแท้งตามกฎหมาย แต่สังคมอเมริกันอนุญาต, สังคมไทยเคยให้สูบบุหรี่อย่างเสรี มาบัดนี้เริ่มจำกัดพื้นที่ลงไปเรื่อยๆ ตามลำดับ เป็นต้น

สิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการก็ย่อมถูกขีดเส้นแบ่งเช่นเดียวกัน ว่าตามธรรมเนียมประเพณี ประสบการณ์และอำนาจเสียงข้างมากของสังคมไทย เราตกลงขีดเส้นให้ทำได้แค่ไหน เท่าใดที่แค่รบกวน เท่าใดที่ทำอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม

เส้นนี้อาจเปลี่ยนไปได้แล้วแต่การถกเถียงและหาข้อสรุปตกลงของสังคมในแต่ละช่วงเวลา

ปกติแล้วก็คือมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการ แต่ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติกระทำการเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการ เป็นต้น

สุดท้าย เซอร์ ไอเซยาห์ เบอร์ลิน นักทฤษฎีและปรัชญาการเมืองแนวเสรีนิยมชาวอังกฤษเชื้อสายรัสเซียผู้ทรงอิทธิพลในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ (ค.ศ.1909-1997) เคยเตือนไว้ให้ตระหนักว่า ในสังคมสมัยใหม่ที่หลากหลายซับซ้อนแตกตัวทางความคิดเห็น คุณค่า วัฒนธรรม แนวนิยมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างสังคมไทยเรานั้น เราไม่ได้มีคุณค่าที่พึงประสงค์เพียงอย่างเดียว หากมีหลายอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ

เดิมพันในการตัดสินเรื่องหนึ่งๆ จึงหาได้มีเพียงคุณค่าอันเดียวไม่ แต่มีคุณค่าอื่นๆ ที่ต้องนำมาชั่งดุลถ่วงวัดกันด้วย

การให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพ (แม้ในการเรียกร้องสนับสนุนเผด็จการ) ก็สำคัญ แต่เดิมพันไม่ได้มีแต่สิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ในฐานะสังคมรวมหมู่เรายังต้องการ ความมั่นคง สันติภาพ ความสมานฉันท์ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ ด้วย

การจะวินิจฉัยว่าบุคคลพึงมีสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องและสนับสนุนระบอบเผด็จการหรือไม่ จึงมิพึงคิดแต่เป้าหมายคุณค่าความสำคัญของสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว แต่ควรนำเดิมพันที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาชั่งตรองด้วย ว่าการให้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวจะกระทบความเสมอภาค, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ความสมานฉันท์ปรองดองในสังคมด้วยหรือไม่?

เพราะสังคมใดยึดแต่คุณค่าเป้าหมายเดียวอย่างสุดโต่ง ไม่คำนึงและพร้อมสละโยนทิ้งคุณค่าอื่นทั้งหมดเพื่อเห็นแก่คุณค่าเดียวนั้น ย่อมเป็นสังคมคลั่งลัทธิ (fanaticism) ที่ไม่น่าอยู่

และในที่สุดเมื่อโยนคุณค่าอื่นทั้งหมดทิ้งเพื่อสังเวยคุณค่าหนึ่งเดียวอย่างสุดโต่งนั้นแล้ว ก็จะพบด้วยความเสียใจว่าแม้แต่คุณค่าหนึ่งเดียวนั้นก็ไม่บรรลุและรักษาไว้ไม่ได้เช่นกัน