คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พิธีไหว้ครูดนตรีและโขนละคร : พระพิฆเนศวร์และเทวีที่หายไป

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
พิธีไหว้ครูดนตรีไทย คณะดุริยประณีต (บ้านบางลำภู) ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒ (พิชชาณัฐ ตู้จินดา : ถ่ายภาพ)

ศาสนาผีบ้านเราแต่เดิมเป็นของผู้หญิงก็จริง แต่เมื่อผสานกับอิทธิพลของศาสนาจากอินเดียคือพุทธและพราหมณ์แล้ว ผู้ชายจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

(ผี) ผู้หญิงจึงถูกเบียดขับออกไปนอกพื้นที่ของผู้ชาย อะไรที่ศักดิ์สิทธิ์จะโดยผี (หลวง) หรือพราหมณ์และพุทธจึงกันผู้หญิงออกไป

ในขณะที่อะไรที่ยังคงเป็นผีพื้นบ้าน ผู้หญิงยังคงมีพื้นที่อยู่แบบไม่เป็นทางการนัก

พิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรี ซึ่งในปัจจุบันล้วนแต่ถูกปรับแต่งให้เป็นอย่างของหลวง จึงให้ผู้ชายเป็นครูผู้ประกอบพิธีเท่านั้น

แต่ในประวัติศาสตร์วงการดนตรี เคยมีกรณียกเว้นอยู่คือท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ทำพิธีรับมอบให้บุตรีของท่านคือ ครูคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ไปประกอบพิธีไหว้ครูได้

แต่ก็ไหว้อย่างมีเงื่อนไขสำคัญ คือว่ากันว่าท่านครูคุณหลวงฯ ป่วยจึงต้องมอบให้เป็นกรณีพิเศษ โดยท่านให้อ่านโองการแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ให้ทำพิธีครอบ

เมื่อท่านครูคุณหญิงชิ้นสิ้นชีวิตลง ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรณีให้สตรีไปทำพิธีไหว้ครูอีกเลย

เหตุใดจึงห้ามสตรีทำพิธีครอบ แต่เดิมผมคิดแบบแขก คือคิดว่า การครอบนั้นคือการ “อภิเษก” ให้ศักดิ์สิทธิ์และรับสิทธิอำนาจอะไรต่างๆ อย่างพิธีพราหมณ์

ดังนั้น ในระบบพราหมณ์ ผู้ชายซึ่งเป็นใหญ่ในศาสนาก็ต้องเป็นคนทำ

หลังจากเข้าใจใหม่ว่า รากฐานของพิธีไหว้ครู คือการเซ่นผีประจำวิชาชีพ ที่รับเอาพิธีกรรมของพราหมณ์เข้ามาผสมผสานอย่างแนบเนียน และอ้างอิงไปถึงพุทธบ้าง

การครอบ ลึกๆ แล้วจึงเท่ากับการ “สืบผี” หรือรับผีไปบูชาเช่นเดียวกับการสืบ “ครูหมอ” อย่างทางปักษ์ใต้หรือสืบเก๊าผีของทางภาคเหนือ

และเมื่อเปลี่ยนมาให้ชายเป็นใหญ่ในการสืบผีเสียแล้ว จะให้ผู้หญิงกลับมามอบผีให้สืบก็ดูจะกระไรอยู่ จะสูญความศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ชายอุตสาห์สั่งสมมา (หรือริบจากผู้หญิงมา)

ผู้หญิงถึงไม่มีสิทธิ์ให้การครอบแก่ผู้อื่น แต่รับครอบไปได้ไม่เป็นไร

นอกจากผู้หญิงที่เป็นมนุษย์แล้ว แม้แต่เทพสตรีเองก็ยังถูกกีดกันออกไปจากพิธีไหว้ครูครับ

ในประเพณีอินเดียและตามหลักศาสนาฮินดู เทพแห่งศิลปวิทยาและความรู้ทั้งหลาย เป็นสตรี คือพระสรัสวตีหรือพระสุรัสวดี

ส่วนพระคเณศเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น จึงต้องได้รับการบูชาไปด้วยในทุกกิจกรรม

ในอินเดีย เมื่อจะทำคุรุปูชา ก็บูชาเทพยเจ้าสององค์นี้เป็นหลัก

แต่ในบ้านเรา ไม่ว่าจะแท่นสักการะของพิธีไหว้ครูโขนละครหรือดนตรีไทย ก็ไม่มีพระสุรัสวดีหรือเทพเจ้าสตรีประดิษฐาน ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม

ไม่มีแม้แต่คำกล่าวอัญเชิญ ไม่มีคำบูชา

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือแม้จะมีรูปหน้าโขนและเทวรูป “พระพิฆเนศ” ประดิษฐานอยู่ และเราก็รักนับถือท่านเป็นครู (ในคติอย่างไทย) แต่ก็ไม่มีคำอัญเชิญให้เสด็จมาหรือมีคำบูชาแต่อย่างใดเช่นกัน

เหมือนเอาหน้าโขนและเทวรูปมาตั้งไว้บูชาเฉยๆ

พระเป็นเจ้าใหญ่ๆ ของพราหมณ์ อย่างพระอีศวรและพระนารายณ์ รวมทั้งดุริยเทพอื่นๆ กลับมีคำอัญเชิญและมีเพลงหน้าพาทย์เชิญเสด็จอย่างเต็มที่

ผมคิดว่าในกรณีพระคเณศนั้น แต่เดิมเราไม่เคยนับถือว่าเป็นครูทางศิลปวิทยา แต่เป็นครูเกี่ยวกับคชกรรมหรืองานเกี่ยวกับช้าง จึงไม่ได้เชิญมาในพิธีไหว้ครูนาฏดนตรีและไม่มีคำอัญเชิญ

เพลงหน้าพาทย์ประจำองค์ คณาจารย์ก็เลือกใช้คุกพาทย์ (บางครั้งก็เรียก ตระพระพิฆเนศวร์ซึ่งเป็นชื่อแผลง)

คุกพาทย์เป็นหน้าพาทย์สูงทั่วไป ใช้ในเมื่อตัวละครจะแสดงมหิทธานุภาพ เพลงคุกพาทย์นี้ยักษ์มารก็ใช้ได้ ไม่มีเพลงอย่างตระนารายณ์บรรทมศิลป์ ตระพระปรคนธรรพ์ (พระประโคนทับ) ซึ่งเป็นเพลงเฉพาะองค์

ใน “พระตำราครอบโขนละคร ฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ 4” ซึ่งน่าจะเป็นตำราไหว้ครูฉบับหลวงเก่าแก่ที่สุดที่ยังสืบค้นได้ ไม่มีการระบุถึงหน้าโขนพระคเณศสำหรับประกอบพิธี และเทวรูป “พระไสยศาสตร์” ที่อัญเชิญมาลงสรง ก็มีเพียงพระเป็นเจ้าทั้งสาม (พรหมาวิษณุมเหศ) ไม่มีพระคเณศแต่อย่างใด

ทั้งนี้ มีพระนามโผล่มานิดเดียวในโองการไหว้ครู คือ “พระพุทธขิเนก” (พระวิฆเนศ) “พระพุทธขินาย” (พระวิฆนายก)

ซึ่งแสดงให้เห็นความสับสนว่ามีเทพสององค์ ทั้งๆ ที่เป็นสองพระนามของเทพองค์เดียวกัน

นอกจากนี้ ในโองการไหว้ครูยังกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดเท่าที่จะกล่าวได้ ซึ่งมีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระเถระอรหันต์ เทวดาและเทวีฮินดู ตัวละครในวรรณคดีและผีพื้นเมือง รวมกันกับสองพระนามนั้น

แปลว่า เป็นการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ “ครู” แบบรวมๆ ไม่ได้เจาะจงอะไร ไม่ได้มีบทบาทใดพิเศษ

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ใน “พระราชพิธีไหว้ครูและครอบครูโขนละคอนและปี่พาทย์ครั้งใหญ่” ซึ่งจมื่นสิริวังรัตน์ (เฉลิม คชาชีวะ) คัดหมายรับสั่งมา มีการกล่าวถึง “ศีรษะหน้าโขนพระวิฆเนศ” แล้ว จึงได้มีศีรษะหน้าโขนพระพิฆเนศวร์ในพิธีไหว้ครูมาตั้งแต่บัดนั้น

กระนั้นก็ยังไม่มีคำไหว้เป็นพิเศษ เพราะคำไหว้ครูในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นการสืบคติธรรมเนียมมาแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่ปรับปรุงโดยท่านพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูโขนผู้ใหญ่

ผมเข้าใจว่า เหตุที่มีหัวโขนพระพิฆเนศวร์ปรากฏในพิธีไหว้ครูสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะความรู้เกี่ยวกับภารตวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยทรงพบว่าทางอินเดียเคารพพระคเณศเป็นเทพแห่งการเริ่มต้น ไม่ใช่ครูช้างอย่างประเพณีไทย มักกล่าวประณามพจน์ไว้ในหัวหนังสือ จึงทรงถือเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาเป็นพระราชนิยมสืบมาจนปัจจุบัน

จึงควรมีศีรษะโขน “พระคเณศร์” เทพที่ทรงโปรด ไว้ในการพระราชพิธีด้วย

ทรงยกย่องและโปรดพระคเณศมาก ดังมีบทโขนละครตอน “พระคเณศเสียงา” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ (แต่เดิมไม่เคยมีเล่น) รวมไปถึงทรงสถาปนาเทวรูปไว้ที่พระราชวังสนามจันทร์ และใช้เป็นตราวรรณคดีสโมสร

ส่วนเทวีทั้งหลายนั้น ในหนังสือเก่าอย่างจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คำไหว้ครูหนังสือยังมีกล่าวถึงพระสุรัสวดี “นบนมัสการ พระสุรัศวดี คำภีรญาณพันลึก อธึกโชดิปัญญา ข้อยข้าจะขอเขียนอาทิ…”

แสดงว่าในสมัยอยุธยา ความรู้ว่าพระสุรัสวดีเป็นเทพแห่งอักษรศาสตร์และศิลปวิทยายังดีอยู่ ถึงได้มีคำนมัสการไว้ในตำราเรียน

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 ใน “พระตำราครอบโขนละครฯ” ยังมีมนตร์สันสกฤต เป็นคำนมัสการพระสุรัสวดีอยู่ แยกออกมาจากคำบูชารวมว่า “โอม สุรัสสะวะติเย ปะนะมานะทริตติยัม โส ภควา … แล้วครูกับศิษย์กราบลงสามหน บอกปี่พาทย์ตีสาธุการที่ 1”

สมัยรัชกาลที่ 6 พระเทวีสุรัสวดีและเทวีอื่นๆ ก็หายไปจากคำไหว้ครูและแท่นพิธี และพระคเณศกลายเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาแทน

เทวีทั้งหลายหายจากแท่นพิธีมาช้านาน จนกระทั่งผมได้ข่าวว่า สถาบันราชภัฏแห่งหนึ่ง ได้ประดิษฐ์ทั้งหน้าโขนเทวีทั้งหลาย รวมทั้งแต่งเพลงหน้าพาทย์ใหม่สำหรับเทพเจ้าเหล่านี้

แต่ก็เป็นเพียงสำนักเดียวที่ปฏิบัติ

ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้เอง ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งเล่าว่า เขาไปไหว้ครูโขนละครของหลวง คือในกรมศิลปากร ท่านครูที่ทำพิธีในวันนั้นอ่านโองการเอ่ยพระนามเทวีทั้งหลายในคำไหว้ครูด้วย

ผมฟังแล้วก็ตื่นเต้นว่า เทพเจ้าสตรีจะได้เสด็จกลับมาในพิธีไหว้ครูทางโขนละครของหลวงอีกครั้งกระมัง

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ย่อมเป็นสิทธิ์ขาดของครูผู้ประกอบพิธีที่จะปรับปรุงแก้ไข ดังเช่นท่านครูมนตรี ตราโมท เคยปรับตำราไหว้ครูของพระยาประสานดุริยศัพท์และของครูหลวงประดิษฐไพเราะ ที่ท่านรับมอบมาเป็นแบบของท่านเอง

ความรู้ที่เปลี่ยนไปในทางภารตวิทยา กำลังนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของพิธีกรรมและความเชื่อในสังคมไทย โดยเฉพาะที่มี “พราหมณ์” ผสมอยู่มาก

รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงบทบาทและพื้นที่ของผู้หญิงด้วย