ประเทศกูไม่มี l มนัส สัตยารักษ์

ขยะพลาสติกเริ่มเข้ามาเกาะติดชีวิตประจำวันของผมตั้งแต่วันที่คนใช้ชาวกะเหรี่ยงขอลาออก

หล่อนขอลาออกเพราะมีเจ้าของบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งชวนไปทำงานบ้านคล้ายๆ กันนี่แหละ แต่เงินเดือนตกเดือนละ 15,000 บาท ตามนโยบาย “รัฐบาลปู”

ผมรีบตอบเห็นด้วยและอนุญาตทันที ทั้งๆ ที่เสียดายฝีมือทำอาหารปักษ์ใต้ของหล่อน

เงินเดือนหมื่นห้านี่มันเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินบำนาญที่ผมได้รับทีเดียว ประกอบกับเราอยู่กันเพียง 2 คนพ่อ-ลูก (โดยมีผมคนเดียวที่ชอบกินอาหารใต้) อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เด็กกะเหรี่ยงรับปากว่าจะมาช่วยทำความสะอาดที่บ้านของผมอาทิตย์ละครั้ง

อยู่ๆ ไป เด็กกะเหรี่ยงมาบ้านผมยากขึ้นทุกที เพราะงานที่บ้านหลังใหญ่มีมาก คนในบ้านก็หลายคน มีคนแก่ติดเตียงและหมาอีกหลายตัว

นับแต่นั้นมาผมก็เลยได้รู้จักคุ้นเคยกับขยะพลาสติกเพราะต้องซื้ออาหารมื้อเย็นใส่ถุงพลาสติกกลับมากินบ้านบ่อยขึ้น เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องขับรถผจญภัยไปกลางแสงสลัวออกไปกินนอกบ้าน

มีเอกสาร บทความและภาพ รวมทั้งคลิปให้ความรู้เรื่องขยะและขยะพลาสติกมากมายจากหลายสำนักทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนรับรู้ในด้านมืดของพลาสติกที่ “ใช้ง่าย ทำลายยาก” ซึ่งผมใคร่จะนำมาถ่ายทอดบางส่วนในที่นี้อย่างย่นย่อ

สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ทำภาพโปสเตอร์สีสวยเย็นตา หัวข้อน่าสนใจว่า “รู้หรือไม่…อายุขยะมากกว่าอายุคน”

กระป๋องเหล็ก 100 ปี, กระป๋องอะลูมิเนียม 80-100 ปี, ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก 450 ปี, ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 500 ปี, โฟม ไม่ย่อยสลาย, ขวดแก้ว ชั่วกัลปาวสาน

ข้อความตบท้ายชักชวนด้วยอักษรตัวจิ๋วแบบกระซิบอย่างสุภาพว่า “คุณเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะมากน้อยเพียงใด มาปรับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดขยะกันเถอะ”

ผมรับว่าปรับพฤติกรรมได้เพียงแค่ส่วนเสี้ยวน้อยๆ เท่านั้น นั่นคือ ผมสั่งอาหารที่จะนำไปกินที่บ้านใส่ภาชนะซึ่งสามารถเอาเข้าอุ่นในเตาไมโครเวฟได้ มีฝาปิดสนิทกันหกและกันกลิ่นกระจายในรถ แล้วใส่ถุงผ้าหิ้วกลับบ้าน

เหตุที่ปรับพฤติกรรมตรงนี้ได้เพราะเคยอ่านพบว่าโฟมที่ร้านค้านิยมใช้ใส่อาหารนั้นเป็นบ่อเกิดของมะเร็ง!

ในส่วนอื่นหลายส่วนต้องปล่อยตามเลย กลัวคนขายเขาหงุดหงิดรำคาญ

รัฐและเอกชนร่วมใจกันถือเอาวันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย”

สืบเนื่องมาจากในวันนี้ของปี พ.ศ.2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดาฯ

ใจความตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดของการเริ่มต้นเคลื่อนไหวอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ล่วงมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2534 ครม.จึงมีมติเห็นชอบกำหนดวันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ

หลังจากนั้นก็ไม่มีความเคลื่อนไหวที่น่าจดจำเท่าไรนัก

มีเพียงการ “สร้างภาพ” ที่แสดงถึงให้เห็นถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยในด้านบวก เป็นกิจกรรมของโดยองค์กรต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน

เช่น การรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก สนับสนุนการใช้ถุงผ้าหรือถุงกระดาษที่สามารถนำมารีไซเคิลได้

มีภาพของคนในทำเนียบรัฐบาลแสดงการหิ้วถุงผ้า (ฮา)

แต่ในภาพเชิงลบนั้นกระเทือนใจอย่างมาก เช่น ภาพขยะหลายพันตันกองเป็นภูเขาเลากา เกลื่อนอยู่ในทะเล

ภาพสัตว์ต่างๆ เช่น นก เต่า ปลาทะเลและวาฬครีบสั้น กินขยะพลาสติก หรือภาพศีรษะของสัตว์ติดถุงหรือขวดพลาสติกกินอาหารไม่ได้และหายใจไม่ออก ตายหรือเจ็บปวดอย่างทรมาน

ภาพเชิงบวกที่ดีๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพจากต่างประเทศ เช่น เครื่องรับซื้อพลาสติกของเดนมาร์ก

ถนนขยะพลาสติกบวกยางมะตอยที่อินเดียและสกอตแลนด์

กฎหมายห้ามใช้พลาสติกของเคนยาที่กำหนดอัตราโทษรุนแรงแก่ผู้ฝ่าฝืน เป็นต้น

ภาพเหล่านี้ไม่มีค่อยมีในประเทศไทย

ภาพถนนขยะพลาสติกที่ระยองเมื่อเดือนกันยายน 2561ยังไม่มีข่าวคืบหน้า คงจะรอผลการทดสอบโดยภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือรอคำอนุมัติจาก ครม. หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 4 ธันวาคมปีนี้ เรายังถือเป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” ผมตื่นแต่เช้าไปติดตามข่าวทางทีวี ว่าทางการจะมีมาตรการใหม่ๆ มาคลี่คลายปัญหาขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง แต่รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าทางการยังยึดติดกับการ “สร้างภาพ” แบบเก่า นั่นคือ โปรโมตให้ห้างสรรพสินค้ากับร้านสะดวกซื้องดบริการถุงพลาสติกและรับบริจาคถุงผ้า

ผิดหวังเพราะเห็นว่าการ “รณรงค์” แบบสร้างภาพนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ มันเหมือนเด็กเล่นขายของมากกว่า ประเทศของเรามี “กฎหมาย” ที่กำหนดโทษไว้สารพัดยังแก้ปัญหาไม่ได้ การสร้างภาพจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง?

เห็นกันอย่างง่ายๆ และบ่อยๆ เช่น ในวันก่อนวันสิ่งแวดล้อมไทยหนึ่งวัน มีคลิปข่าว “หนุ่มวิน จยย.หัวร้อนทำร้ายเจ้าหน้าที่เทศกิจ” จากข้อหา “ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร” การทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ เป็นเหตุให้ตำรวจ สน.โชคชัย จับกุมหนุ่ม จยย.ดำเนินคดี แจ้งข้อหาเพิ่มเติมครบถ้วนเป็น 7 ข้อหา

และคงจะด้วยศาลเห็นว่าหนุ่มวิน จยย. เป็นคนไม่รู้จักเคารพกฎหมาย หรือนัยหนึ่งเป็นคนประเภทที่ไม่มี “จิตสำนึก” จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว

อันที่จริง ความผิดฐาน “ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร” กับความผิดฐาน “ใช้ถุงพลาสติกโดยไม่จำเป็น” นี้ ถ้าคนในประเทศเรามี “จิตสำนึก” บ้างสักนิด ก็ไม่น่าจะต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด

แต่บังเอิญว่าบางคนในประเทศของเรา-ไม่มี

ผมล่ะอยากแต่งเพลงแร็พสักเพลงให้ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองฟัง…ประเทศกูไม่มี