หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘สัตว์หายาก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
แรดนอเดียว - แรดเป็นสัตว์หายาก ที่สูญพันธุ์ไปจากหลายๆ พื้นที่ในโลก รวมทั้งในประเทศไทย แต่ในบางส่วนของโลกยังมีพวกมันอยู่ และพบเจอได้ไม่ยาก

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘สัตว์หายาก’

 

สัตว์ป่าที่หายากสำหรับผมคือ พะยูน

ชีวิตเลี้ยงลูกด้วยนม อาศัยอยู่ในน้ำ

ในฐานะคนใช้กล้องเป็นเครื่องมือ เวลาที่ผ่านมาไม่ว่าจะใช้ความพยายามสักเท่าไหร่ ก็ยังไม่เคยได้รูปซึ่งนำมาใช้เผยแพร่ได้

กระทั่งถึงวันนี้ พะยูนยังไม่อนุญาตให้ผมได้สบตา

 

ผมบอกเสมอๆ ว่า

ในงานถ่ายภาพสัตว์ป่า ผมเริ่มหาตัวสัตว์ป่าโดยการตระเวนไปทั่ว ตั้งแต่บึงน้ำ, เกาะแก่งกลางทะเล ป่าดิบ ไปกระทั่งถึงยอดเขา

ด้วยการทำเช่นนี้ ทำให้ผมมีรูปสัตว์ป่า และมีโอกาสทำความรู้จักกับชีวิตที่บันทึกภาพไว้บ้าง

ผ่านไปสักระยะ ผมเปลี่ยนวิธีการ ไม่เดินทางไปทั่ว แต่เลือกอยู่ ณ ป่าแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นเวลานาน ในความตั้งใจ เพื่อทำความรู้จักกับสัตว์ป่าแต่ละตัวอย่างจริงจัง เช่นนี้ ไม่เพียงทำให้มีโอกาสใกล้ชิดสิ่งที่อยากพบมากขึ้น แต่มันทำให้ผมกลายเป็นครอบครัวเดียวกับคนในป่า

คล้ายกับคนในครอบครัว ร่วมกิน นอน ขึ้นเขาลงห้วย แบ่งปันทุกข์สุข อยู่ในวินาทีระทึก และผ่านไปด้วยกัน

อยู่ในป่า ภาพที่เห็นคือ ผู้ชายขะมุกขะมอม เสื้อผ้าเหม็นอับชื้น ความแตกต่างอยู่ที่หลายคนสะพายปืนไว้บนบ่า และบางคนถือกล้องอยู่ในมือ

ผมบอกบ่อยๆ เช่นกันว่า ความยากลำบากเกิดขึ้นเมื่อผมต้องลาจากป่าหลายป่าที่ใช้ชีวิตอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 ปี

ก่อนเคลื่อนรถออกจากป่า มีคำถามเสมอ

บางที ถามด้วยสำเนียงเหน่อๆ บางครั้งเป็นภาษายาวี บางทีเป็นคำเมือง

คำถามซึ่งมีใจความคล้ายๆ กันว่า “เมื่อไหร่จะกลับมา”

ผมทำได้แค่ยิ้ม ไม่มีคำตอบ แต่รู้สึกได้ถึงมิตรภาพอันเพิ่มพูน

 

กระนั้นก็เถอะ การปักหลักอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ กับพะยูน ผมยังคงล้มเหลว

ผมสนใจพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คล้ายพวกวาฬ เริ่มวิวัฒนาการจากบกมาอยู่ในทะเล ราว 60 ล้านปีก่อน ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นใหม่ๆ

“ผมว่า พะยูนเหมือนช้างมากกว่านะครับ” บังแอ พิทักษ์ป่าเขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบง ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้ศึกษาพะยูนอย่างใกล้ชิด ให้ข้อสังเกต

“ลองดูดีๆ สิครับ เต้านมพะยูนน่ะอยู่แถวรักแร้ เหมือนช้าง ส่วนของโลมาอยู่มาทางด้านหลัง แบบวัว”

พะยูนถูกเรียกหลายชื่อ แถวภาคตะวันออกเรียกว่า หมูคุด หรือปลาหมู

คนแถบชายฝั่งทะเลภาคใต้ เรียกพวกมันว่า ดุหยง เช่นเดียวกับคนในมาเลเซีย

รูปร่างพะยูน แปลกในสายตาคน พวกมันเคยถูกจับมาบริโภคเช่นเดียวกับปลา

แต่สิ่งพิเศษอันทำให้พะยูน “มีราคา” และชีวิตต้องตกอยู่ในความยากลำบากคือ เขี้ยวและน้ำตา

“เขี้ยวพะยูนเอามาทำเครื่องรางของขลัง ส่วนน้ำตา เขาเอามาทำยาเสน่ห์” บังแอเล่า

ในตลาดชื้อขายอวัยวะสัตว์ป่า เขี้ยวพะยูนหนึ่งคู่ เคยมีมูลค่ากว่า 3 แสนบาท

“น้ำตาพะยูน เอามาไม่ยาก แค่จับพะยูนได้ก็เอาไม้เรียวเฆี่ยนไปเรื่อยๆ พะยูนมันเจ็บ น้ำตาไหล ขณะเฆี่ยนก็ว่าคาถาไปเรื่อย ว่ากันว่าใช้หยดเดียวเท่านั้น ผู้หญิงสวยขนาดนางเอกโนรายังหอบผ้าตาม” บังแอเล่าถึงความเชื่อที่มีมาตั้งแต่เดิม

ผมหันไปยิ้มกับเดช ชายหนุ่มหน้าเข้ม เขาหัวเราะ พลางเอียงหน้ามากระซิบ

“สมัยนี้มอเตอร์ไซค์ได้ผลกว่าครับ”

 

มีพะยูนที่คนพบอยู่ 5 ชนิดบนโลกนี้ ทุกชนิดไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก จะใช้ชีวิตในแถบชายฝั่งที่มีหญ้าทะเล

ถึงวันนี้ ชายทะเลฝั่งภาคใต้ แถบจังหวัดตรัง มีประชากรพะยูนอยู่พอสมควร เพราะชายฝั่งทะเลตรังเป็นชายฝั่งที่มีแนวหญ้าทะเลกว้างที่สุด

ถ้ามีโอกาสได้ใช้ชีวิตไปตามปกติ อย่างที่ควรเป็น พะยูนจะมีอายุราว 70 ปี เติบโตเต็มวัยตอนอายุได้ 10 ปี ตอนนั้นจะเริ่มจับคู่ ผสมพันธุ์ ใช้เวลาตั้งท้อง 13 เดือน ออกลูกครั้งละตัว ลูกเกิดใหม่จะว่ายน้ำติดอยู่กับแม่ตลอด

แต่พะยูนไม่ได้มีชีวิตอย่างมีความสุขเช่นนี้หรอก แม้ว่าพวกมันจะเก่งมีวิวัฒนาการ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในน้ำได้ดี ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับสัตว์บนบก

ถูกไล่ล่า แหล่งอาศัยโดนทำลาย เหมือนๆ กัน

 

จากข้อมูลนักวิจัย ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ในถิ่นพะยูน ตอนนั้นยังไม่รู้แน่ชัดว่า ช่วงเวลาน้ำลง พะยูนไปอยู่ที่ไหน

แต่ในช่วงน้ำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน พระจันทร์เต็มดวง หรือคืนข้างแรม ท้องฟ้ามืดมิด พะยูนจะทยอยมาที่ชายฝั่งเพื่อกินหญ้าทะเล

“มันใช้ขาคู่หน้าคลานไปบนพื้น กินไปเรื่อย เหมือนพวกอยู่บนบกแหละครับ” บังแอให้ข้อมูล

“พอน้ำเริ่มลด ก็จะค่อยๆ ถอยไปตามสายน้ำ” เขาบอกต่อ

พวกมันทิ้งรอยกัดกินหญ้าทะเลไว้เป็นรอยวงๆ

“เพราะไม่รู้ว่า ตอนน้ำลดพะยูนไปอยู่ที่ไหน นี่แหละ เลยน่าเป็นห่วง ตอนนี้เราพยายามรักษาที่กินของมัน แต่ที่นอน อยู่ที่ไหนเราไม่รู้”

บังแอพูดในฐานะ “คนที่นี่” เขาเกิดในหมู่บ้านซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของเกาะ เรียนโรงเรียนบนเกาะ จนถึง ป.4 จากนั้นไปเรียนต่อที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ในจังหวัดตรัง จนจบ ม.6 และกลับมาสมัครเป็นลูกจ้างเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

ทะเลที่นี่คือบ้านของเขา

 

บังแอช่วยผมได้มากกับความพยายามบันทึกภาพพะยูน

เขาพาผมไปเฝ้ารอบนจุดสูงๆ พาผมโดยสารไปกับเฮลิคอปเตอร์ที่มีภารกิจสำรวจชายฝั่ง

จากบน ฮ. ช่วยให้เห็นพะยูนบ้าง แต่แรงลมจากใบพัด คืออุปสรรค พะยูนตกใจ ตื่น ดำน้ำหายไป

ผมพบว่า วิธีที่ดีคือ ใช้พารามอเตอร์เป็นเครื่องมือ

การลอยตัวขึ้นที่สูงสู่เบื้องบน ดังเช่นการใช้โดรน ทำให้เห็นพะยูนที่มุ่งหน้ามาที่แนวหญ้าทะเล

พะยูนต้องลอยตัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุกๆ 5 นาที

พารามอเตอร์เสียงดัง แต่ไม่ได้ทำให้เกิดแรงลมกระทั่งพะยูนตกใจ

อีกนั่นแหละ ผมลอยตัวอยู่ในอากาศได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็ตกลงน้ำ เพราะพารามอเตอร์เครื่องยนต์ขัดข้อง

วันนั้นผมพบว่า บรรยากาศแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

ระหว่างขณะล่องลอยอยู่บนฟ้า กับตอนตะเกียกตะกายอยู่ใต้ผืนน้ำ

 

ก่อนตก ผมบันทึกภาพพะยูนแม่กับลูกว่ายน้ำคลอเคลียกันด้วยกล้องฟิล์ม

และฟิล์มนั้นก็เป็นสิ่งที่ตกลงใต้น้ำ พร้อมกับกล้องและเลนส์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ผมเคยเขียนถึงเหตุการณ์วันนั้นหลายครั้ง

ในงานชิ้นหนึ่ง ผมลงท้ายว่า

“การขึ้นสู่เบื้องบนเป็นเรื่องง่ายดาย เมื่อเทียบกับความยุ่งยากที่รออยู่ในตอนลง”

 

วันนี้ผมยังเก็บฟิล์ม สไลด์ชุดนั้นไว้อย่างดี มันเป็นจุดๆ และมีคราบละอองน้ำ

นี่คือภาพพะยูนดีที่สุดที่ผมเคยถ่าย

ภาพทั้งหมดใช้ในงานไม่ได้หรอก เช่นเดียวกับกล้องและเลนส์ชุดนั้น ที่บอบช้ำเกินกว่าการซ่อมแซม

โดยวิถีของอาชีพ ทำให้ผมมีภาพ “สัตว์ป่าหายาก” อยู่พอสมควร

บางภาพดีพอสำหรับการเผยแพร่

บางภาพดียิ่งกว่านั้น

เพราะเป็นภาพที่เอาไว้จำ