แพทย์ พิจิตร : “ชัยอนันต์ สมุทรวณิช” กับ ศรีธนญไชยภายใต้กรีกโบราณ

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

ประเด็นคราวที่แล้วคือ อาจารย์นิธิไม่เห็นด้วยกับการใช้กรอบคิดเรื่องการขัดกันระหว่าง “ขนบจารีตประเพณีและธรรมชาติ” มาตีความวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองในเรื่องศรีธนญชัยและศรีปราชญ์

ซึ่งกรอบคิดดังกล่าวปรากฏชัดในการศึกษาความคิดทางการเมืองกรีกโบราณภายใต้คำว่า “Nomos และ Physis” ซึ่งผมได้ขยายความไปบ้างแล้วว่ามันคืออะไร

คราวนี้จะขยายความต่อ และเมื่อขยายความจบแล้ว ก็จะมาพิจารณาว่า ตกลงแล้ว กรอบคิดดังกล่าวนี้มันใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไรในการวิเคราะห์ตีความความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัย

 

และในคราวที่แล้ว ผมได้กล่าวไปว่า ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดกันระหว่าง “Nomos-Physis” ในบริบทความคิดกรีกโบราณนั้น จำต้องเข้าใจเรื่องราวของโซฟิสต์ (sophist) โดยอธิบายถึงภาพของธรรมชาติสำหรับพวกโซฟิสต์โดยเฉพาะความคิดที่สะท้อนในบทสนทนาของ Plato

คือ โดยธรรมชาติ มนุษย์ย่อมต้องการตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของตัวเอง การทำผิดสามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของตนได้ย่อมดีกว่าการทำผิดที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของตนเอง

การที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติแม้จะกระทำด้วยวิถีทางต่างๆ แม้ว่าจะเป็นวิถีทางที่ผิดก็ตามนั้น น่าจะเกิดจากสาเหตุที่มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาต่อต้านความเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะการทำอะไรก็ตามไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แต่สามารถนำมาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาย่อมไม่ใช่สิ่งผิด

แต่สิ่งที่ผิดหรือผิดธรรมชาติคือการที่มนุษย์ยอมรับผิดมากกว่าที่จะหลีกเลี่ยงต่างหาก

กฎเกณฑ์ที่สวนทางกับธรรมชาติที่มักจะกำหนดให้มนุษย์หลีกเลี่ยงที่จะใช้วิธีการใดๆ ในการที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองนี้ พวกโซฟิสต์เห็นว่าเป็นกฎ (nomos) ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง มิใช่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ

และที่สำคัญคือ มนุษย์ที่กำหนดกฎในลักษณะนี้คือมนุษย์พวกที่อ่อนแอ ซึ่งมักจะได้แก่คนส่วนใหญ่ของสังคม

มนุษย์พวกนี้หาทางปกป้องตัวเองจากผู้ที่แข็งแรงกว่าโดยการสร้างกฎที่สวนทางกับธรรมชาติ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ผู้ที่แข็งแรงกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ก็น่าที่จะเป็นผู้ปกครองหรืออยู่เหนือคนที่ด้อยกว่า

สังเกตได้ว่า จากประเด็นข้อถกเถียงเรื่องธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเอง (phusis-nomos debate) ของพวกโซฟิสต์นี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อที่น่าวิเคราะห์ในโอกาสต่อไปอันได้แก่ ประเด็นที่เชื่อว่า มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วเหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมต้องอยู่เหนือผู้ที่อ่อนแอกว่า เป็นต้น

และในคราวนี้ ผมจะกล่าวถึง “ฟิลโลโซเฟอร์” เพราะในการเข้าใจข้อถกเถียงเรื่อง “Nomos-Physis” นั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับ “philosopher” ด้วย

 

คําว่า “philosopher” ในรูปของคำกริยาได้ถูกใช้ใน The Histories ของ Herodotus ซึ่งคาดว่าเขียนขึ้นในราวกลางศตวรรษที่ห้า

โดย Herodotus กล่าวถึงการเดินทางออกจากเอเธนส์ของ Solon เป็นเวลาสิบปี

โดย Herodotus อธิบายว่า Solon ใช้ความรักในการแสวงหาความรู้เป็นข้ออ้างในการออกไปจากเอเธนส์ (Histories, 1.30)

และคำดังกล่าวได้ปรากฏอีกครั้งในศตวรรษที่สี่ในงานของ Thucydides ที่เขาได้บรรยายว่า Pericles ได้กล่าวว่า ความรักในความรู้นั้นเป็นเอกลักษณ์ของมหาชนชาวเอเธนส์ (Peloponnesian War., 2.40) แม้ว่าจะมีการใช้คำที่ใกล้เคียงหรือมีความหมายตรงกับคำว่า “philosopher” มาก่อนหน้า Plato แต่คำว่า “philosopher” ในความหมายที่ Plato ใช้เรียกคนบางคน บางกลุ่มและรวมถึงตัวของเขาเองนั้น ถือกำเนิดขึ้นในมาสมัยของเขา

และถ้าพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่จะพบว่า Plato น่าจะเป็นผู้ให้ความหมายใหม่ที่มีนัยสำคัญทางสังคมที่พิเศษแตกต่างจากความหมายที่เคยมีอยู่ก่อน

ความหมายใหม่ของคำว่า “philosopher” ที่มีผลกระทบทางสังคมยิ่งต่อเอเธนส์จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีปรากฏการณ์ทางสังคมของพวกโซฟิสต์ เกิดขึ้นมาก่อน

การเกิด “philosophy-philosopher” ในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีอิทธิพลสำคัญต่อสังคมเอเธนส์และต่อพัฒนาการของประวัติศาสตร์ปัญญาความรู้ (intellectual history) ในโลกตะวันตกถือเป็นปรากฏการณ์แห่งปฏิกิริยาที่มีต่อปรากฏการณ์ของพวกโซฟิสต์

และถ้ากระแสของพวกโซฟิสต์ คือสิ่งที่ดำรงอยู่มาก่อน กระแสปฏิกิริยาของ “philosopher” ก็เป็นสิ่งอื่นใดไม่ได้นอกจาก กระแสใหม่ที่ขึ้นมาท้าทายกระแสรูปแบบและวิถีของกลุ่มนักคิดที่ดำรงอยู่

 

ลักษณะที่บ่งบอกความเป็นโซฟิสต์ คือ

หนึ่ง การขายวิชาความรู้ในลักษณะของสินค้า โดยไม่เลือกปฏิบัติตราบเท่าที่ผู้ที่ต้องการได้ความรู้นั้นมีเงินค่าเล่าเรียน

สอง การอ้างว่าสิ่งที่ตนรู้นั้นคือ ปัญญาอันยิ่งใหญ่และเป็นความรู้คุณธรรมอันประเสริฐที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จและความสุขในชีวิต โดยเฉพาะการประสบความสำเร็จในทางการเมืองในสังคมเอเธนส์

และสาม การส่งผลกระทบต่อการเกิดความเชื่อในสัมพัทธนิยมทางจริยธรรมและความดีในสังคม

ประเด็นทั้งสามนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่ง

คนสำคัญในกลุ่มนี้ คือ Plato ผู้ที่สูญเสียผู้อาวุโสที่เป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ของเขา นั่นคือ Socrates เนื่องจากกระแสโซฟิสต์ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่มหาชนชาวเอเธนส์เป็นอย่างมาก

และในที่สุด มหาชนเข้าใจว่า Socrates คือหนึ่งในพวกโซฟิสต์ จึงตั้งข้อกล่าวหาว่า Socrates และชักนำเยาวชนเอเธนส์ไปในทางที่ผิดโดยการหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่เทพเจ้าของชาวเอเธนส์ และนับถือเทพเจ้าที่ไม่มีใครรู้จัก

ซึ่งข้อกล่าวหาหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้านั้น กล่าวได้ว่า เป็นข้อหาปรกติที่บรรดาโซฟิสต์ได้รับและมักจะถูกลงโทษ ขับไล่ออกไปจากเอเธนส์

แต่ที่สำคัญคือ สาระของข้อกล่าวหานั้นมีนัยว่าการกระทำของ Socrates นั้นเทียบเท่าการบ่อนทำลายรัฐ

 

ในสายตาของมหาชนทั่วไป ความแตกต่างระหว่างโซฟิสต์กับฟิลโลโซเฟอร์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้ง่ายนัก ดังที่มหาชนไม่สามารถแยก Socrates ออกจากโซฟิสต์ได้

ความยากลำบากในการชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่ Plato ในฐานะที่เป็นผู้นำคนสำคัญของ philosopher ตระหนักดี

และเขาได้พยายามที่จะอธิบายวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างโซฟิสต์และฟิลโลโซเฟอร์

และในการอธิบายดังกล่าวนี้ ประเด็นเรื่องความขัดกันระหว่าง “Nomos-Physis” ก็มีความสำคัญยิ่ง

และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เพราะการทำอะไรก็ตามไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แต่สามารถนำมาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาย่อมไม่ใช่สิ่งผิด

แต่สิ่งที่ผิดหรือผิดธรรมชาติคือการที่มนุษย์ยอมรับผิดมากกว่าที่จะหลีกเลี่ยงต่างหาก

กฎเกณฑ์ที่สวนทางกับธรรมชาติที่มักจะกำหนดให้มนุษย์หลีกเลี่ยงที่จะใช้วิธีการใดๆ ในการที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองนี้

พวกโซฟิสต์เห็นว่าเป็นกฎ (nomos) ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง มิใช่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ

และที่สำคัญคือ มนุษย์ที่กำหนดกฎในลักษณะนี้คือมนุษย์พวกที่อ่อนแอ ซึ่งมักจะได้แก่คนส่วนใหญ่ของสังคม

และถ้าเรานำความคิดและพฤติกรรมของศรีธนญไชยมาวางไว้ในบริบทความคิดดังกล่าวนี้ เราจะเห็นอะไร?

ซึ่งผมจะได้กล่าวในครั้งต่อไป