วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การเมืองขึ้นลงยุคเหนือ-ใต้ และพระต๋าม๋อ

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากราชวงศ์ใต้ (ต่อ)

กล่าวคือ ขณะหนึ่งเซียวเอี่ยนได้ถามภิกษุผูถีต๋าม๋อว่า ที่ตนทำบุญไว้นั้นผลบุญจักมากสักเพียงใด ภิกษุตอบว่า ไม่มีเลย เซียวเอี่ยนได้ฟังดังนั้นก็ถามต่อไปในเชิงข่มขู่ว่า ท่านทราบหรือไม่ว่ากำลังสนทนาอยู่กับผู้ใด ภิกษุตอบว่า ไม่ทราบ

ถ้อยสนทนาธรรมนี้สื่อว่า ปฏิสัมพันธ์ที่เซียวเอี่ยนมีกับพุทธศาสนาเป็นไปในทางโลก หาใช่ในทางธรรมไม่ ซึ่งก็เป็นดังที่อาจารย์ของภิกษุรูปนี้เคยเตือนเอาไว้ก่อนที่ผู้เป็นภิกษุจะจาริกมาที่จีนว่า ความเข้าใจต่อศาสนาของกษัตริย์ในดินแดนที่เธอจักไปนั้นล้วนติดอยู่ในปัจจัยทางโลก มิใช่ในทางธรรม

เช่นนี้แล้วศรัทธาในศาสนาของเซียวเอี่ยนจึงยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ข้อจำกัดนี้อาจหมดไปหากเขาเข้าถึงแก่นศาสนาอย่างแท้จริงในกาลข้างหน้า แต่เซียวเอี่ยนกลับไม่มีโอกาสเช่นนั้น

อนึ่ง คำว่า ผูถีต๋าม๋อนี้เป็นคำในภาษาจีนกลาง ภาษาสันสกฤตคือ โพธิธรรม

ภิกษุรูปนี้มีประวัติที่ไม่ชัดเจน ทราบแต่ว่าเป็นภิกษุฝ่ายมหายานชาวอินเดียที่มีตัวตนอยู่จริง ขณะอยู่ในจีนได้สร้างวัดเส้าหลินขึ้น และมีแนวทางคำสอนที่เน้นการเข้าฌาน จนแนวทางนี้ถูกเรียกกันต่อมาว่าฌาน

ซึ่งในภาษาจีนกลางคือ ฉัน (ฉาน) ภาษาญี่ปุ่นคือ เซน

แนวทางนี้ต่อมาได้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวพุทธจีนและญี่ปุ่น ส่วนประเด็นที่ว่ามีประวัติไม่ชัดเจนนั้นเป็นเพราะมีเอกสารกล่าวถึงภิกษุรูปนี้แตกต่างกันไป บางเรื่องก็ติดไปทางอภินิหาร บางเรื่องก็เน้นไปในเรื่องหมัดมวยที่ภิกษุรูปนี้เป็นผู้ริเริ่มให้แก่วัดเส้าหลิน (1) เป็นต้น

 

ส่วนที่ว่าเซียวเอี่ยนไร้โอกาสที่จะเข้าถึงแก่นธรรมก็เพราะว่า ในช่วงปลายชีวิตของเขาได้มีขุนศึกผู้หนึ่งคือ โหวจิ่ง (มรณะ ค.ศ.552) แห่งซีเว่ยซึ่งเป็นหนึ่งในราชวงศ์ในยุคราชวงศ์ใต้เหนือได้เข้ามาสวามิภักดิ์ ฝ่ายเซียวเอี่ยนก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งยังมอบตำแหน่งแม่ทัพให้แก่โหวจิ่งโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของเหล่าเสนามาตย์

เหตุที่เหล่าเสนามาตย์คัดค้านก็ด้วยเห็นว่าโหวจิ่งมิใช่ขุนศึกที่ซื่อสัตย์ กล่าวคือ ครั้งแรกเขาเป็นทหารของราชวงศ์เป่ยเว่ยแล้วมาอยู่กับราชวงศ์ตงเว่ย ครั้นไม่พอใจอำนาจที่ตนมีก็ย้ายมาอยู่ราชวงศ์ซีเว่ย ต่อมาก็เกิดไม่พอใจซีเว่ยขึ้นมาอีกจึงเข้ามาสวามิภักดิ์กับราชวงศ์เหลียงของเซียวเอี่ยน

แต่ละครั้งที่เขาย้ายก็เพราะถูกจับได้ว่ามีความมักใหญ่ใฝ่สูงและคิดก่อกบฏกับราชวงศ์นั้นๆ

ดังนั้น เหล่าเสนามาตย์จึงเห็นว่าโหวจิ่งเป็นบุคคลที่ไว้ใจไม่ได้ และความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากอยู่กับเหลียงได้ไม่นานเขาก็ก่อกบฏขึ้นใน ค.ศ.549

คราวนี้เขาทำได้สำเร็จแล้วจับเซียวเอี่ยนไปขังคุกปล่อยให้อดอาหารจนตายอยู่ในคุก

 

จากนั้นก็ตั้งบุคคลในสกุลเซียวขึ้นเป็นจักรพรรดิหุ่น พอถึง ค.ศ.551 จึงตั้งตนเป็นจักรพรรดิแล้วเข่นฆ่าวงศานุวงศ์สกุลเซียว บุกเผาทำลายเมืองต่างๆ และฆ่าราษฎรในเมืองนั้นๆ จนกลายเป็นเมืองร้างที่เต็มไปด้วยศพ จน ค.ศ.552 เสนามาตย์ของเหลียงจึงตอบโต้โหวจิ่งและยึดเจี้ยนคังได้สำเร็จ

ส่วนโหวจิ่งหนีเอาตัวรอดไปได้ไม่นานก็ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาฆ่าตายระหว่างทางหนี แม้เหลียงจะเอาชนะกบฏโหวจิ่งได้ก็ตาม แต่ก็สร้างความเสียหายให้แก่เหลียงอย่างหนักเช่นกัน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหลียงค่อยๆ เสื่อมลงจนล่มสลายไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นอกจากสาเหตุจากกบฏโหวจิ่งแล้ว ความเสื่อมของเหลียงยังมาจากการแย่งชิงอำนาจกันเองในหมู่บุตร-หลานของเซียวเอี่ยนอีกด้วย ซ้ำร้ายบุตรหลานบางคนยังไปอาศัยกำลังจากบางราชวงศ์ที่อยู่ทางเหนือมาช่วยตน

การแย่งชิงอำนาจกันเช่นนี้จึงนำไปสู่ความชุลมุนวุ่นวายจนดูสับสน ด้วยต่างก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามราชวงศ์เดียวกัน จน ค.ศ.557 ขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลนามว่าเฉินป้าเซียน ก็ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มอำนาจเหล่านี้ได้สำเร็จ จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามราชวงศ์เฉิน

ราชวงศ์เหลียงก็ล่มสลายลงโดยมีจักรพรรดิสี่องค์ มีอายุราชวงศ์ 55 ปี 

 

ราชวงศ์เฉิน

ตอนที่เฉินป้าเซียน (ค.ศ.503-559) ตั้งราชวงศ์เฉิน (Chen Dynasty, ค.ศ.557-589) ขึ้นนั้น สถานการณ์จากที่ผ่านมาดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวมาตลอดนั้น ได้บั่นทอนเสถียรภาพด้านต่างๆ ของราชวงศ์ใต้อย่างหนัก ในขณะเดียวกันสถานการณ์ของราชวงศ์เหนือกลับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือการเกิดขึ้นของราชวงศ์สุยที่มีความมั่นคงและได้ปราบปรามราชวงศ์ทางเหนือได้สำเร็จ

เสร็จจากศึกทางเหนือแล้วสุยย่อมต้องมุ่งลงทางใต้เพื่อรวมจีนให้เป็นแผ่นดินเดียวกันอีกครั้ง

เช่นนี้แล้วการเกิดขึ้นของราชวงศ์เฉินจึงมิได้ตั้งอยู่บนฐานที่มั่นคงมากนัก ยิ่งหลังจากที่เฉินป้าเซียนอยู่ในอำนาจได้สามปีก็เสียชีวิต บุตร-หลานที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิต่างก็ไร้ความรู้ความสามารถ

ข้างราษฎรก็เดือดร้อนจากศึกที่มาจากทางเหนือจนมิอาจใช้ชีวิตปกติได้ ตราบจนจักรพรรดิองค์สุดท้ายนั้นเอง การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสุรเ-นารีโดยไม่ใส่ใจในราชกิจก็นำความเสื่อมมายังเฉิน

กล่าวกันว่า ตอนที่ราชวงศ์สุยยกทัพมายึดดินแดนเฉินนั้น จักรพรรดิองค์นี้ได้วิเคราะห์สถานการณ์ให้เหล่าเสนามาตย์ฟังว่า ในอดีตทัพจากบางราชวงศ์ของทางฝ่ายเหนือได้ยกมาตีดินแดนใต้รวมห้าครั้ง และต่างพ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง

เหตุใดทัพสุยที่บุกมาครั้งนี้จึงไม่ใส่ใจบทเรียนจากอดีตเช่นนี้

จากนั้นจักรพรรดิองค์นี้ก็หันไปใส่ใจกับสุรานารีต่อไป จากเหตุนี้ ทัพสุยจึงตีเฉินจนแตกได้ไม่ยาก และจับกุมจักรพรรดิกับนางในอีกสององค์ได้ขณะซ่อนตัวอยู่ในบ่อน้ำร้างแห่งหนึ่งของวังหลวง

ราชวงศ์เฉินจึงล่มสลายลงโดยมีจักรพรรดิสี่องค์ มีอายุราชวงศ์ 56 ปี

 

ภายหลังการล่มสลายลงของราชวงศ์เฉิน ราชวงศ์ใต้ก็สิ้นสุดลง สิ่งที่เห็นได้จากราชวงศ์นี้ในประการหนึ่งก็คือ ความต่อเนื่องของสี่ราชวงศ์แห่งราชวงศ์ใต้ ที่ว่าต่อเนื่องนี้หมายความว่าแต่ละราชวงศ์จะถูกโค่นล้มโดยบุคคลภายใน แล้วบุคคลนั้นก็ตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน จากนั้นก็จะถูกบุคคลภายในโค่นล้มอีกเช่นกัน

สัมพันธภาพทางอำนาจจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปเช่นนี้จนดูเป็นวงจร

ในประการต่อมา เป็นที่น่าสังเกตว่าจักรพรรดิองค์แรกของแต่ละราชวงศ์มักเป็นผู้นำที่ดี มีความสามารถทางการเมืองการปกครอง ถัดจากองค์แรกไปแล้วก็อาจมีหรือไม่มีจักรพรรดิที่ดีอีกหรือไม่ก็ได้

ในประการนี้ชี้ให้เห็นว่า ก่อนที่จักรพรรดิองค์แรกจะตั้งตนเป็นใหญ่นั้น ความเสื่อมทรามที่ราชวงศ์เดิมก่อไว้คงหนักหนาสาหัสอย่างมาก และเป็นเหตุทำให้จักรพรรดิองค์แรกเห็นเป็นบทเรียนที่มิควรเอาเยี่ยงอย่าง การเมืองการปกครองของจักรพรรดิองค์แรกจึงดำเนินไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม หากนับจากที่หลิวอี้ว์เป็นผู้เปิดศักราชให้แก่ราชวงศ์ใต้ใน ค.ศ.420 จนมาจบลงเมื่อราชวงศ์เฉินถูกโค่นล้มลงใน ค.ศ.589 แล้ว ราชวงศ์ใต้จะมีอายุนับได้ 169 ปี

 

เหตุจากราชวงศ์เหนือ

หากกำเนิดของราชวงศ์ใต้มาจากการโค่นล้มราชวงศ์จิ้นแล้ว ราชวงศ์เหนือกลับมีกำเนิดที่แตกต่างออกไป เพราะเป็นราชวงศ์ที่ก่อรูปขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงปลายของยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ ต่อเมื่อยุคที่ว่าล่มสลายลงแล้ว ราชวงศ์เหนือจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเต็มตัว

โดยผู้เปิดศักราชให้แก่ราชวงศ์เหนือเป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นนามว่าทว่อป๋ากุย โดยเขาเริ่มด้วยการตั้งราชวงศ์เป่ยเว่ยขึ้นเป็นราชวงศ์แรกของราชวงศ์เหนือ และเมื่อเป่ยเว่ยล่มสลายลงแล้วก็มีราชวงศ์อื่นสืบต่ออีกสี่ราชวงศ์คือ ตงเว่ย ซีเว่ย ซีฉี และซีโจว ดังนั้น เมื่อรวมกับเป่ยเว่ยแล้วราชวงศ์เหนือจะมีราชวงศ์อยู่ห้าราชวงศ์

ซึ่งการศึกษาในที่นี้จะได้กล่าวถึงแต่ละราชวงศ์เป็นลำดับไป

—————————————————————————————————————————-
(1) อนึ่ง คำว่า ต๋าม๋อ ที่เป็นส่วนหนึ่งของนามของภิกษุรูปนี้ภาษาจีนแต้จิ๋วคือตั๊กม้อ บางที่จึงเรียกภิกษุรูปนี้ว่าภิกษุตโม ภิกษุตั๊กม้อที่รู้จักกันมักเป็นไปในทางหมัดมวยของสำนักเส้าหลิน และรู้จักผ่านทางภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ ซึ่งนับว่าได้รับความนิยมพอสมควร