ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | เงาตะวันออก |
เผยแพร่ |
รัฐปฐมกาลกับองค์ประกอบ (ต่อ)
องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เห็นความเป็นรัฐจากที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในยุคต้นประวัติศาสตร์จีน อันเป็นยุคที่กล่าวได้ว่าจีนได้หลุดจากสังคมผู้ปกครองแล้ว ซึ่งกว่าจะถึงจุดที่รัฐได้ถือกำเนิดขึ้นก็ใช้เวลานานนับพันปี และเมื่อถือกำเนิดขึ้นแล้วก็ยังใช้เวลาอีกนับพันปีในการวิวัฒน์จนค่อยๆ ชัดเจนขึ้น
แต่กระนั้น รัฐในยุคดังกล่าวก็มีทั้งช่วงที่รุ่งโรจน์และช่วงที่เสื่อมถอย โดยในช่วงที่เสื่อมถอยอย่างถึงที่สุดนั้น รัฐที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจการนำของราชวงศ์ก็ล่วงเข้าสู่ภาวะที่แตกกระจัดพลัดกระจาย จนทำให้การดำรงอยู่ของราชวงศ์ไร้ความหมาย
ภาวะนี้ทำให้ระเบียบแบบแผนที่เคยใช้ในช่วงที่รุ่งโรจน์ถึงคราวล่มสลาย แล้วก็นำพาให้รัฐทั้งหลายเข้าสู่การศึกยาวนานหลายร้อยปีในยุควสันตสารทและรัฐศึก พร้อมทั้งผลักดันให้ชนชั้นนำของรัฐต่างๆ (โดยเฉพาะรัฐทรงอิทธิพล) จำต้องหาระเบียบแบบแผนใหม่ขึ้นมา
แต่ก่อนที่ระเบียบแบบแผนใหม่จะเกิดขึ้นนั้นสิ่งที่รัฐเหล่านี้จักต้องทำให้ได้ก่อนก็คือ ทำอย่างไรให้รัฐของตนอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในขณะที่การศึกกำลังคุกรุ่น
พ้นไปจากนี้แล้วแต่ละรัฐมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง
ทางหนึ่ง รักษาความมั่นคงของตนให้ได้ตลอดฝั่งในฐานะรัฐอาณาจักร
อีกทางหนึ่ง ขยายดินแดนด้วยการตีรัฐอื่นเพื่อควบรวมกับตนในฐานะรัฐจักรวรรดิ
จากเหตุนี้ ในขณะที่แต่ละรัฐกำลังตกอยู่ในสองทางเลือกนี้โดยที่ระเบียบแบบแผนใหม่ยังไม่เกิดนั้น สิ่งที่ทุกรัฐเริ่มกระทำมาอย่างยาวนานในการรักษาตัวให้รอดในเบื้องต้นก็คือ การสร้างกำแพงล้อมรอบรัฐของตนในฐานะหลักประกันความมั่นคงในเบื้องต้น
กำแพงที่ว่านี้มิได้เกิดพร้อมกันทุกรัฐ แต่ถูกริเริ่มโดยบางรัฐเท่านั้น จากนั้นรัฐอื่นๆ จึงเอาอย่างตาม ซึ่งโดยรวมแล้วมันจะถูกสร้างขึ้นล้อมรอบรัฐเป็นกรอบทรงเหลี่ยม แต่จะเป็นกรอบกี่เหลี่ยมนั้นย่อมขึ้นอยู่กับอาณาเขตของรัฐ กำแพงนี้จึงถูกเรียกว่ากำแพงเหลี่ยม
ครั้นเวลาผ่านไปกำแพงที่ว่านี้ก็เปลี่ยนรูปไป คือไม่เพียงจะมีขนาดใหญ่และยาวไกลขึ้นตามขนาดของรัฐ (บางรัฐ) ที่สามารถขยายดินแดนของตนได้เท่านั้น หากแต่ขนาดที่ใหญ่และยาวขึ้นนี้ยังทำให้กำแพงถูกคั่นด้วยป้อมเป็นระยะๆ ไป
แต่ละป้อมจะมีระยะห่างไกลกันพอให้ได้เห็นด้วยสายตา และทำหน้าที่ที่สำคัญในเรื่องหนึ่งคือ การเป็นป้อมสัญญาณไฟให้แก่กันและกันในยามมีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งโดยมากแล้วก็คือศึกที่มาประชิด
กำแพงเหล่านี้ก็คือต้นแบบของกำแพงเมืองจีนในเวลาต่อมาดังที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กำแพงอาจจะเป็นหรือไม่เป็นองค์ประกอบของความเป็นรัฐก็ได้ เพราะต่อให้กำแพงนั้นมั่นคงแข็งแรงอย่างไร ความมั่นคงแข็งแรงนี้อาจป้องกันภัยให้แก่รัฐได้ในระดับหนึ่งและระยะหนึ่งเท่านั้น
ผลที่ชี้ขาดว่ารัฐจะอยู่หรือไปในยุคนั้นโดยหลักแล้วจะอยู่ที่ผู้นำ ว่าจะดำรงตนได้เหมาะกับที่เป็นผู้นำหรือไม่ อย่างไร
จากเหตุนี้ รัฐหรือราชวงศ์ที่พังพินาศล่มสลายจึงมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมทรราชของตัวผู้นำเอง
พฤติกรรมทรราชนี้มักจะมาจากการที่ผู้นำไม่ใส่ใจในราชการงานเมือง การไร้สติปัญญาและความสามารถ การมุ่งแต่จะเสพสุขบนราชสมบัติสถานเดียว การแสวงหาโภคทรัพย์อย่างไร้คุณธรรม หรือการลุ่มหลงในกามผ่านสตรีเพศ ฯลฯ
ว่ากันที่จริงแล้วคนที่เป็นผู้นำโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกษัตริย์นั้นย่อมมีชีวิตที่ดีกว่าใครทั้งหมด เพราะในยามที่ความคิดเรื่องโอรสแห่งสวรรค์ได้เกิดขึ้นแล้วนั้น กษัตริย์จะได้รับการดูแลให้สมกับที่เป็นโอรสแห่งสวรรค์จริงๆ แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ต่างกับต้นทุนที่กษัตริย์จะต้องชดใช้ด้วยการปฏิบัติราชกิจให้สำเร็จ
เหตุดังนั้น กษัตริย์ทรราชจึงมุ่งแต่จะเสพสุขเพียงด้านเดียว ด้านที่เป็นหน้าที่และความคาดหวังของรัฐหรือราษฎรกลับไม่ถือปฏิบัติ ความเสื่อมถอยของรัฐหรือราชวงศ์จึงเกิดตามมา
แต่ไม่ว่ากษัตริย์จะประพฤติตนเป็นทรราชอย่างไร หากกษัตริย์ไม่เพิ่มต้นทุนความเป็นทรราชให้มากไปกว่าตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ปัญหาก็อาจบรรเทาเบาบางไปได้โดยขุนนางที่ยังมีความซื่อสัตย์สุจริตและปรีชาชาญ
เหตุฉะนั้น การเป็นทรราชของกษัตริย์ที่มีต้นทุนสูงกว่าเรื่องใดจากที่กล่าวมาก็คือ การทุ่มเททรัพยากรอันมหาศาลในการสร้างปราสาทราชวังให้อลังการเกินความจำเป็น และทั้งหมดนี้เป็นไปเพียงเพื่อสนองตอบต่อชีวิตของโอรสแห่งสวรรค์เท่านั้น
ส่วนที่ว่ามีต้นทุนสูงนั้นหมายความว่า การสร้างปราสาทราชวังที่อลังการเกินตัวนี้ไม่เพียงลิดรอนให้ฐานะการคลังลดลงเท่านั้น หากยังหมายถึงการเกณฑ์แรงงานจำนวนมหาศาลอีกด้วย
อย่างหลังนี้จึงกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคการผลิตไปโดยปริยาย
แต่ถึงตอนนั้นทุกอย่างก็สายเกินแก้ ด้วยไม่ว่ากำแพงจะแข็งแกร่งกว้างไกลใหญ่โตเพียงใด กำแพงนั้นก็มิอาจรักษารัฐหรือราชวงศ์ได้อีกต่อไป ส่วนองค์ประกอบที่ทำให้รัฐเป็นรัฐหรือราชวงศ์เป็นราชวงศ์ขึ้นมาได้นั้น ต่างก็กลายเป็นกลไกที่พิการจนมิอาจช่วยเหลือเยียวยาอะไรให้แก่รัฐได้
พ้นไปจากสาเหตุความเสื่อมของรัฐแล้ว ย้อนกลับมาที่องค์ประกอบที่ทำให้รัฐเป็นรัฐที่มีความมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า ในกรณีจีนจากที่กล่าวมานั้น เมื่อมาถึงจุดที่รัฐศูนย์กลางอย่างราชวงศ์โจวเสื่อมอำนาจจนนำมาสู่วิกฤตการณ์แล้ว
ถึงตอนนั้นรัฐต่างๆ ที่ทำศึกระหว่างกันมายาวนานนับร้อยปีก็หมดทางเลือก ว่าจะดำรงตนเป็นรัฐอาณาจักรหรือรัฐจักรวรรดิ เพราะต่างก็ดูเหมือนจะถูกบีบให้จำต้องเลือกหรือยอมรับเพียงหนทางเดียว
นั่นคือ รัฐจักรวรรดิ
สู่รัฐจักรวรรดิ
อาจกล่าวได้ว่า โจวแม้จะถูกจัดให้อยู่ในยุคต้นประวัติศาสตร์จีนก็จริง แต่จากการสร้างระบบและระเบียบแบบแผนต่างๆ ขึ้นมา และครองแผ่นดินไปตลอดช่วงโจวตะวันตกนั้น ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า รัฐจีนได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว รัฐในลักษณ์นี้ดำรงอยู่นานนับร้อยปี จากนั้นก็เข้าสู่วงจรความอ่อนแอเหมือนกับยุคก่อนหน้านี้ และทำให้โจวจำต้องย้ายศูนย์กลางอำนาจรัฐมายังซีกตะวันออกหรือช่วงโจวตะวันออก
โจวตะวันออกในช่วงต้นนั้นแม้จะมีเสถียรภาพอยู่ก็จริง แต่ก็เป็นไปชั่วระยะหนึ่ง เหตุผลสำคัญมาจากการที่โจวตะวันออกต้องพึ่งใบบุญจากกลุ่มอำนาจรัฐในพื้นที่นี้ อำนาจที่เคยมีอยู่แต่เดิมจึงไม่เต็มเปี่ยมเช่นเคย ดังนั้น พอเวลาผ่านไปผู้นำรัฐในพื้นที่เหล่านี้จึงไม่เห็นความสำคัญของกษัตริย์โจว จนนำมาสู่การตั้งตนเป็นใหญ่ของผู้นำรัฐเหล่านี้
ถึงตอนนั้นระบบและระเบียบแบบแผนต่างๆ ก็ถูกละเลย และสิ่งที่เข้ามาแทนที่อย่างมีนัยสำคัญก็คือ ระบบ ป้า อันเป็นระบบที่ผู้นำรัฐต่างๆ ได้ตั้งตนเป็นอธิราชหรือกษัตริย์ที่เหนือกษัตริย์ขึ้นมา จากนั้นต่างก็แข่งขันกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับตน
ผลคือ โจวตะวันออกอ่อนแอลงจนความเป็นราชวงศ์หมดความหมายลงไป แล้วชักนำให้ประวัติศาสตร์จีนเข้าสู่ยุคสมัยที่อื้อฉาวที่สุดยุคหนึ่ง
ยุคที่ว่าก็คือ ยุควสันตสารทกับยุครัฐศึก ทั้งสองยุคนี้มีความต่อเนื่องกัน โดยยุคแรกจะเป็นยุคที่รัฐต่างๆ ได้ตั้งต้นเป็นอิสระนับร้อยรัฐ และต่างสร้างความแข็งแกร่งให้กับรัฐของตนผ่านแนวทางและนโยบายต่างๆ ทั้งเพื่อป้องกันตนเองจากรัฐอื่น และเพื่อขยายอิทธิพลของรัฐตนให้กว้างไกลออกไปด้วยการเข้าตีรัฐอื่น
จากเหตุนี้ ความขัดแย้งและสงครามจึงปะทุขึ้นในระหว่างรัฐต่างๆ และกลายเป็นสถานการณ์ที่ครอบคลุมแผ่นดินจีนไปนานนับร้อยปี
ยุคต่อมาคือรัฐศึก เป็นยุคที่รัฐต่างๆ นับร้อยรัฐได้ลดน้อยลงเหลือกว่าสิบรัฐ ทั้งนี้ เป็นเพราะการศึกที่มีผู้แพ้ผู้ชนะตามธรรมชาติของสงคราม
ผู้ชนะนอกจากจะได้ผู้แพ้มาขึ้นต่อตนแล้วก็ยังได้ดินแดนของผู้แพ้มาครอบครองด้วย และทำให้รัฐผู้ชนะขยายดินแดนของตนได้กว้างใหญ่ขึ้น ผลเช่นนี้จึงทำให้จำนวนรัฐเหลือน้อยลง
แต่ที่มิได้ลดลงก็คือ การศึกที่ยังดำเนินต่อไปในหมู่รัฐที่เหลือเหล่านี้ ครั้นพอเวลาผ่านไปอีกก็เหลือรัฐทรงอิทธิพลเพียง 7 รัฐ วิกฤตที่ยาวนานนี้ได้ขัดเกลาให้เกิดความคิดเกี่ยวกับรัฐขึ้นมาใหม่ โดยความคิดหนึ่งเห็นว่าแต่ละรัฐควรเป็นอิสระต่อกันและกันหรือต่างคนต่างอยู่ ซึ่งก็คือคิดแบบรัฐอาณาจักร
อีกความคิดหนึ่งเห็นว่ารัฐต่างๆ ควรถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว และอยู่ภายใต้การนำของผู้ปกครองเพียงหนึ่งเดียว ความคิดนี้จึงคิดแบบรัฐจักรวรรดิ
ความคิดดังกล่าวมิได้เฉพาะเจาะจงเป็นจุดยืนของรัฐใดรัฐหนึ่งเสมอไป เพราะยามใดที่ตนอ่อนแอลงก็จะคิดถึงรัฐอาณาจักร ยามใดที่เข้มแข็งขึ้นมาก็จะคิดถึงรัฐจักรวรรดิ โดยสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความคิดทั้งสองนี้อยู่ตลอดเวลาก็คือ การรวมตัวระหว่างรัฐบางรัฐเพื่อเข้าตีรัฐที่เข้มแข็ง ด้วยหมายจะให้รัฐที่ตนตีเกิดความอ่อนแอลง และลดทอนการเป็นภัยคุกคามของรัฐนั้นให้เหลือน้อยที่สุด
การรวมตัวระหว่างรัฐนี้ก็เช่นกันที่ต่างก็ไม่มีจุดยืนที่แน่นอน ว่าเมื่อรวมกับรัฐใดแล้วก็จะมั่นคงตลอดไป ตรงกันข้าม แต่ละรัฐต่างก็สามารถเปลี่ยนจุดยืนของตนได้เสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์และการเอาตัวรอดของตนเป็นหลัก การรวมตัวเช่นนี้จึงมากด้วยเล่ห์กลเพทุบายที่ต่างก็ทุ่มใช้กันอย่างเต็มที่
ตราบจนช่วงปลายรัฐศึก ความคิดเกี่ยวกับรัฐจักรวรรดิจึงกลายเป็นบทสรุป เมื่อรัฐฉินมีชัยเหนือทุกรัฐแล้วสร้างจักรวรรดิขึ้นมาได้สำเร็จ