วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนกับการเจรจาปัญหาทะเลจีนใต้

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
AFP PHOTO / US NAVY/MC1 JOHN PEARL

ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับจีนและอาเซียนบ่อยๆ แล้ว น่าจะต้องมีสักหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อยที่จะพบข่าวที่ว่า จีนกับชาติสมาชิกอาเซียนบางชาติมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ บางชาติในอาเซียนที่ว่านี้ประกอบด้วย มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และฟิลิปปินส์

การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้นี้มีอยู่ 2 นัยที่พึงเข้าใจร่วมกันคือ

นัยแรก หมายถึงเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ทั้งหมด ถ้าเป็นตามนัยนี้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือ จีนอ้างว่าน่านน้ำในทะเลจีนใต้เป็นของตนทั้งหมด

ส่วนสี่ชาติอาเซียนตามที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นจะอ้างบางส่วนของเขตน่านน้ำดังกล่าว ที่โดยรวมแล้วแต่ละชาติมักจะอ้างผ่านกฎหมายทางทะเล นั่นก็คือ อ้างสิทธิ์จากชายฝั่งประเทศของตนออกไปไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล หรือที่เรียกกันว่า “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ”

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า การอ้างของทั้งสี่ชาติสมาชิกอาเซียนดังกล่าวยังทับซ้อนกันเองอีกด้วย

จากเหตุนี้ การอ้างตามนัยแรกจึงใช่แต่เพียงสี่ชาติอาเซียนจะขัดแย้งกับการอ้างของจีน (ที่อ้างน่านน้ำทั้งหมดเป็นของตน) เท่านั้น

หากบางชาติในสี่ชาติอาเซียนก็ยังขัดแย้งกันเองอีกด้วย

นัยต่อมา หมายถึงหมู่เกาะต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ หมู่เกาะในทะเลจีนใต้นั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 หมู่เกาะ แต่หมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทมีอยู่ 2 หมู่เกาะคือ หมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์

ตามนัยที่สองนี้ หากจีนอ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นของตนทั้งหมดก็หมายความว่าทั้งสี่หมู่เกาะย่อมเป็นของจีน แต่เนื่องจากหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทมีอยู่ 2 หมู่เกาะตามที่กล่าวไป ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสี่ชาติอาเซียนจึงอยู่ตรง 2 หมู่เกาะนี้

แต่ที่ต่างจากนัยแรกก็คือ แม้สี่ชาติอาเซียนที่อ้างเขตน่านน้ำที่ทับซ้อนกันจนมีความขัดแย้งกันเองดังที่กล่าวข้างต้นก็ตาม แต่กับกรณี 2 หมู่เกาะที่เป็นปัญหาแล้วกลับกลายเป็นว่า มีผู้อ้างว่าตนเป็นเจ้าของทั้งสองหมู่เกาะคือเวียดนามเพียงชาติเดียว

ส่วนอีก 3 ชาติที่เหลือจะอ้างเฉพาะบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์เท่านั้น

ดังนั้น สำหรับสี่ชาติอาเซียนที่ขัดแย้งกันในการอ้างเขตน่านน้ำในทะเลจีนใต้ตามนัยแรกนั้น ในนัยที่สองยังหมายถึงความขัดแย้งกันในการอ้างสิทธิ์บางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ตามไปด้วย แต่หากกล่าวตามนัยทั้งสองโดยรวมแล้วก็จะเห็นได้ว่า การที่แต่ละชาติต่างอ้างสิทธิ์ของตนนั้น ย่อมอ้างโดยอิงกับประวัติศาสตร์และ/หรือกฎหมายระหว่างประเทศเคียงคู่กันไป และต่างมีความชอบธรรมที่จะอ้าง

แต่เนื่องจากการอ้างดังกล่าวมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป และควรกล่าวเป็นการเฉพาะต่างหากออกไป บทความนี้จึงขอละที่จะกล่าวถึงประเด็นที่ว่า

แต่จะกล่าวเฉพาะการแก้ปัญหาของคู่พิพาทที่ผ่านการเจรจา ซึ่งก็มีปัญหาไม่แพ้การแก้ปัญหาโดยการอ้างประวัติศาสตร์และ/หรือกฎหมายระหว่างประเทศเช่นกัน

ที่ว่าการเจรจาที่ผ่านมามีปัญหานั้น ขอเริ่มจากท่าทีของแต่ละชาติที่มีปัญหาระหว่างกันก่อน ว่าในเบื้องต้นต่างก็เห็นพ้องต้องกันที่จะใช้การเจรจาเป็นวิธีการแก้ปัญหา ด้วยเป็นวิธีสันติที่ไม่ต้องใช้กำลังเข้าแก้ แต่ทั้งที่มีท่าทีเช่นว่า เหตุใดการแก้ปัญหาโดยการเจรจาจึงไม่ประสบผลสำเร็จมาจนทุกวันนี้?

ปัญหาของการเจรจาอยู่ตรงที่ว่า ในขณะที่สี่ชาติอาเซียนเห็นว่าการเจรจาควรเป็นแบบพหุภาคี คือทั้งจีนและสี่ชาติอาเซียนต้องเจรจาร่วมกัน แต่จีนกลับเห็นว่าควรเป็นการเจรจาแบบทวิภาคี เมื่อเห็นต่างกันเช่นนี้การเจรจาจึงเกิดขึ้นไม่ได้

จากความเห็นต่างในการเจรจาดังกล่าว หากมองอย่างผิวเผินแล้วอาจคิดได้ว่า คงเป็นเพราะจีนเกรงว่าจะแพ้มติให้แก่สี่ชาติอาเซียนหากมีการเจรจาแบบพหุภาคี เพราะยังไงเสียชาติอาเซียนที่แม้จะขัดแย้งกันเองในปัญหานี้ แต่ด้วยความเป็นอาเซียนก็อาจเห็นคล้อยตามกันไปก็เป็นได้

ส่วนข้างจีนที่ยืนยันการเจรจาแบบทวิภาคีก็ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะแต่ละชาติในสี่ชาติอ้างเหตุผลแตกต่างกันไป จีนก็ควรเจรจาไปทีละชาติแบบสองต่อสองหรือทวิภาคี

เมื่อเห็นต่างกันเช่นนั้นการเจรจาอย่างเป็นทางการจึงไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแบบพหุภาคีหรือทวิภาคี และปัญหาการเจรจาก็คงคาอยู่เช่นนี้ต่อไป ถ้าหากในวันหนึ่งไม่ใช่เพราะสหรัฐได้ประกาศเมื่อ ค.ศ.2012 ว่า สหรัฐถือว่าเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์ของตน ที่ไม่ว่าใครก็มาละเมิดไม่ได้ และด้วยเหตุนี้ สหรัฐจะหวนกลับคืนสู่เอเชีย (Pivot to Asia) อีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังการประกาศดังกล่าวไม่นาน จีนก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีว่า ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นปัญหาเชิงทวิภาคีที่จีนกับคู่กรณีสามารถแก้ปัญหาได้ และในเมื่อเป็นทวิภาคีแล้วจึงไม่ควรที่ชาติที่สามจะเข้ามาแทรกแซง ที่สำคัญ ปัญหาเชิงทวิภาคีนี้ยังมิได้กระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่อย่างไร

จากปฏิกิริยาดังกล่าวของจีนทำให้เข้าใจนโยบายของจีนได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นั่นคือ นโยบายที่ไม่ต้องการให้ใครมาแทรกแซงกิจการภายในของตน และตนก็ไม่แทรกแซงกิจการภายในของมิตรประเทศเช่นกัน

แต่การแทรกแซงหรือไม่แทรกแซงนั้นจีนก็มีเงื่อนไขเช่นกัน กล่าวคือ หากปัญหาภายในชาติใดหรือภูมิภาคใดก็ตาม ถ้ายังมิได้กระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคหรือของโลกแล้ว ก็ไม่ควรที่ชาติใดหรือองค์กรใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวเป็นอันขาด หาไม่แล้วจะเท่ากับเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของชาติหรือภูมิภาคนั้นๆ

แต่ถ้าหากกระทบ ก็ควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหานั้นๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “แทรกแซง” ได้นั้นเอง

ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ.2007 ได้มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเมียนมาที่นำโดยภิกษุในศาสนาพุทธ และรัฐบาลได้ปราบปรามกลุ่มผู้เดินขบวนจนมีภิกษุและประชาชนเสียชีวิตไปหลายราย

เหตุการณ์นี้ทำให้สหประชาชาติมีมติที่จะคว่ำบาตรและออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลเมียนมา แต่จีนคัดค้านการคว่ำบาตรและแก้ไขคำประณามให้มีถ้อยคำที่เบาลง

จีนให้เหตุผลว่า สถานการณ์ในพม่ามิได้เป็นภัยต่อสันติภาพ (หรืออีกนัยหนึ่งคือความมั่นคง) ในภูมิภาคและโลก กล่าวอีกอย่าง หากมันเป็นภัยจริงก็เห็นควรที่สหประชาชาติจะเข้าไปแทรกแซง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ปัญหานี้เกิดขึ้นและดำรงมานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะในชั้นหลังๆ นั้น เกาหลีเหนือมักทำการทดลองอาวุธร้ายแรงอย่างขีปนาวุธหรือปรมาณูอยู่เป็นระยะ จนนำไปสู่ความตึงเครียดหรือวิกฤตขึ้นหลายครั้ง และทำให้ชาติที่รู้สึกว่าตนได้รับผลกระทบต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา

ชาติเหล่านี้คือ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และรัสเซีย รวม 6 ชาติ

ตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงหรือสันติภาพของภูมิภาคค่อนข้างแน่นอน และด้วยเหตุนี้ จีนจึงไม่ปฏิเสธที่จะให้ชาติที่เกี่ยวข้องเข้ามา “แทรกแซง” ปัญหานี้

จากตัวอย่างทั้งสองข้างต้นเมื่อนำมาเทียบเคียงกับปัญหาทะเลจีนใต้แล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาจึงคือ ถ้าเช่นนั้นแล้วปัญหาทะเลจีนใต้เป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคหรือไม่? แน่นอนว่า ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้คงใช่แต่จีนและสี่ชาติอาเซียนเท่านั้น แม้ชาติหรือคนอื่นก็ควรที่จะได้ตอบด้วย

ที่สำคัญ ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร แต่สำหรับจีนคำตอบมีอยู่ล่วงหน้าแล้วว่า ไม่กระทบ และที่ไม่กระทบก็เพราะมันเป็นปัญหาระดับ “ทวิ” ที่จีนสามารถแก้ได้แบบสองต่อสอง มิใช้ระดับ “พหุ” ที่มีหลายชาติเข้ามาช่วยกันแก้เพราะมันกระทบต่อความมั่นคง

ใช่หรือไม่ว่า แท้ที่จริงแล้วการที่จีนยืนยันที่จะเจรจาแบบทวิภาคีด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานั้น เป็นเพราะจีนไม่ต้องการให้ชาติที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อ “ชาติที่สาม” นั้นคือสหรัฐ ที่ประกาศปาวๆ ว่าจะหวนกลับคืนสู่เอเชียอีกครั้งหนึ่ง

บทความนี้จะไม่ตอบว่า ถ้าปัญหาการเจรจาเป็นดังที่ว่ามาทั้งหมดแล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่จะขอทิ้งคำถามให้คิดต่อไปว่า

ตกลงแล้วปัญหาทะเลจีนใต้เป็นปัญหาแบบ “พหุ” หรือ “ทวิ” กันแน่?

หากปัญหาทะเลจีนใต้ (ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันจนทุกวันนี้) เกิดปะทุขึ้นมาในวันหนึ่งข้างหน้าแล้ว ปัญหานี้จะกระทบต่อความมั่นคงหรือสันติภาพในภูมิภาคหรือไม่?