หลังเลนส์ในดงลึก : “ควาย”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

“ควายไม่มีโรคเป็นลาบอันประเสริฐ” ช่วงเวลาที่ร่วมงานกับทีมสื่อความหมาย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ประโยคข้างต้นgป็นประโยคที่ โก๋หนึ่งในทีมชอบพูดบ่อยๆ จนติด ได้ยินเขาพูดเราจะขำๆ กัน

แต่ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า “ควาย” ผมไม่ได้นึกถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมลำตัวอ้วนๆ สีดำ กำลังลากคันไถ หรือยืนเคี้ยวเอื้องใต้ถุนบ้าน

ไม่ได้คิดถึงว่าเป็นคำด่าหรืออยากว่าคนอื่นไม่ฉลาด

และไม่ได้นึกถึงลาบ

เมื่อได้ยินคำว่าควาย สิ่งที่นึกถึงคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ น้ำหนักร่วมหนึ่งตัน เขาโง้ง ล่ำสัน

สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ถูกเรียกว่า “ควายป่า”

 

ก่อนขึ้นไปทำงานบนดอยอินทนนท์ ผืนป่าซึ่งอยู่สูงที่สุดในประเทศไทย ผมใช้เวลาหลายปีในป่าทางตอนใต้ ของลำน้ำขาแข้ง ด้วยจุดประสงค์หลักๆ อย่างหนึ่งคือตามหาควายป่า

เวลาผ่านไปเป็นปีๆ ผมพบเพียงรอยตีนขนาดใหญ่ประทับไว้บนผืนทราย บางครั้งตามรอยไปอย่างใกล้ชิด โคลนซึ่งติดอยู่ตามใบไม้จากที่ควายป่าเดินผ่านไป ยังเปียกๆ 2-3 ครั้งผมพบซากที่ตายมาหลายวัน หลายครั้งเช่นกันได้ยินแต่เสียงวิ่งโครมๆ อยู่เบื้องหน้า

จนกระทั่งวันหนึ่ง หลังจากใช้เวลากว่าเดือนในแคมป์ใต้ดงไผ่ริมลำห้วย เช้าๆ เดินย้อนขึ้นไปตามริมฝั่งห้วย ราวๆ 3 กิโลเมตร ตรงโค้งลำห้วยอยู่บนตลิ่งค่อนข้างสูง มองไปข้างหน้ามีแนวหาดทรายขยายกว้าง อันเป็นสิ่งปกติของปลายฤดูแล้ง ฝนตกพรำๆ อากาศมัวซัว

ควายป่าฝูงหนึ่งเดินมาตามโค้งลำห้วย พวกมันหยุดชะงัก จมูกเชิด สูดกลิ่น ควายตัวโตๆ ดันๆ ให้ควายตัวเล็กๆ เข้ามาอยู่ตรงกลาง อีกส่วนยืนเป็นแถวป้องกันไว้อีกชั้น

ฝูงควายจำนวนกว่า 18 ตัวทำท่าทางเช่นนั้นอยู่กว่าครึ่งชั่วโมง

ผมหายสงสัยเมื่อเสือโคร่งตัวหนึ่งโผล่ออกมา เสือเห็นการเตรียมพร้อมรับมือเช่นนั้น ก็เดินเลี่ยงออกไป

วันนั้นเป็นวันที่ผมพบควายป่าครั้งแรก พบครั้งแรกก็ทำให้รู้ว่า คำเล่าขานต่อๆ กันมาว่าควายป่า เป็นสัตว์ห้าวหาญ ไม่กลัวสัตว์ผู้ล่าพร้อมรับมือ

ผมเห็นคำเล่าขานเป็นภาพจริง

 

“สําหรับห้วยขาแข้งตอนปลายเป็นถิ่นอาศัยของควายป่าที่แทบสูญพันธุ์ไปแล้วจากในประเทศไทยเพราะสูญเสียถิ่นอาศัย”

เป็นข้อความหนึ่งที่ กฤษกร วงศ์กรวุฒิ เขียนไว้ในหนังสือ “50 ปีห้วยขาแข้ง ประวัติศาสตร์สู่อนาคต” ซึ่งกำลังเตรียมจัดพิมพ์ เขาสืบค้นข้อมูลตั้งแต่ยุคโบราณ ความเป็นมาของผืนป่าด้านตะวันตกแห่งนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของควายป่า สัตว์ป่าอันเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการประกาศพื้นที่กว่าล้านไร่แห่งนี้ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กฤษกร ค้นหาหลักฐานรวมถึงสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ

รศ.ดร.รัตนวิวัฒน์ ไชยรัตน์ จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำวิจัยเรื่องนิเวศวิทยา และถิ่นอาศัยของควายป่า ในลำขาแข้งในปี พ.ศ.2540 อธิบายกับเขาว่า

ควายป่าเป็นความสอดคล้องของวิวัฒนาการระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อม นับตั้งแต่โบราณ ควายป่าพบแพร่กระจายในที่ราบลุ่มริมแม่น้ำของภูมิภาคนี้ ดินเลนทำให้ควายป่ามีวิวัฒนาการแตกต่างไปจากสัตว์กีบคู่ชนิดอื่นๆ กีบของควายป่าจะกลมแป้น ช่วยให้ย่ำในโคลนได้ดีกว่ากระทิงหรือวัวแดงที่กีบยาวเรียวกว่า

ลักษณะของควายป่าในลำขาแข้ง มีขนาดใหญ่ล่ำสันกว่าควายบ้านอย่างเห็นได้ชัด โคนเขาใหญ่ มีถุงเท้าขาว คอเป็นรูปตัววี ฟันยื่น นิสัยค่อนข้างห้าว หงุดหงิดง่าย ตัวผู้ระบายอารมณ์โดยลับเขากับตอไม้ หรือมูลดินแห้งๆ เสียงดัง

ประชากรควายป่าในลำขาแข้งจากมีรายงานผลักดันให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจนเวลาล่วงผ่านมาร่วม 50 ปี ไม่เพิ่มจำนวนสักเท่าไหร่ ไม่เคยมีจำนวนถึง 100 ตัว

เหตุผลสำคัญมาจากถูกจำกัดโดยภูมิประเทศ แบบที่ราบลุ่มริมน้ำซึ่งมีไม่มาก และมีการคุกคามในรูปแบบต่างๆ ในปีที่แล้งมากๆ ไฟป่ารุนแรง ไมยราพยักษ์ขึ้นปกคลุมตลอดแนวหาดทราย

เนิ่นนานมาแล้วที่ชาวไทยแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้อนควายป่ามาเลี้ยงเป็นควายบ้าน หรือไม่ก็ต้อนฝูงควายบ้านตัวเมียของตนเข้าชายป่าริมลำน้ำเพื่อให้ควายป่าตัวผู้ลงมาผสม

ลูกควายที่ได้เรียกกันว่า ควายลูกทอด

 

ธนิศร สุปัญญารักษ์ เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก เดินไปตามหาดทรายริมลำน้ำขาแข้งทางตอนใต้กับเพื่อนอีกสองคน จู่ๆ ควายป่าร่างกำยำตัวหนึ่งโผล่ออกมาพุ่งเข้าใส่

ธนิศร บาดเจ็บสีข้างโดนเขากระแทก เป็นแผลลึก เช่นเดียวกับ สมควร เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่า เดินกลับจากการลาดตระเวน เขาถูกควายป่าตัวหนึ่งวิ่งเข้าใส่เช่นกัน สมควรนอนราบ เป้หนังถูกขวิดกระจุย ก่อนที่ควายป่าตัวนั้นจะผละไป

พลบค่ำผมเดินกลับจากซุ้มบังไพร ควายป่าตัวหนึ่งซึ่งนอนแช่น้ำตื้นๆ ลุกขึ้นวิ่งเข้าหา แต่มันหยุดเมื่อได้ยินเสียงตะโกน หลายคนมีประสบการณ์กับควายป่า บางคนวิ่งหลบพ้น บางคนบาดเจ็บ

เหล่านี้ทำให้เรารู้เพิ่มขึ้นว่าควายป่าโดยเฉพาะตัวผู้พวกมันขี้โมโห และเราก็รู้ดีว่านิสัยขี้โมโหหงุดหงิดง่าย ต่างจากคำว่า “สัตว์ร้าย”

 

“ป่าห้วยขาแข้งที่ตัวแทนความหลากหลายของถิ่นอาศัยในระบบนิเวศที่เอื้อต่อความอยู่รอดของสัตว์ป่า และเป็นถิ่นอาศัยแบบที่ราบริมฝั่งแม่น้ำที่ปราศจากการรบกวนโดยมนุษย์ซึ่งเหลืออยู่แห่งสุดท้ายในประเทศไทย”

ใกล้ถึงบทสรุป กฤษกร เขียนไว้เช่นนี้

สัตว์ป่าอันเป็นตัวแทนของภูมิประเทศที่เป็นที่ลุ่มอย่างแรดชวา เนื้อสมัน สูญพันธุ์ไปพร้อมๆ กับแหล่งอาศัยริมแม่น้ำสายต่างๆ ป่าห้วยขาแข้งจึงไม่เป็นเพียงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่คือพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาที่มีชีวิต โดยมีสัตว์ป่าซึ่งเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยตัวคล้ายเป็นสัญลักษณ์ที่เหลือรอดอยู่

สัตว์ชนิดนั้นเรียกว่า “ควาย”