ประชา สุวีรานนท์ : ‘เดวิด คิง’ หลักฐานกับรีทัช (2)

ตอน 1

เดวิด คิง เริ่มสะสมงานดีไซน์ของรัสเซียในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทั้งที่เป็นภาพถ่าย ภาพวาด และโปสเตอร์ หนังสือ และนิตยสาร ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซียและโซเวียตในยุคแรก

จุดเริ่มต้นคือปี 1970 ขณะที่ทำงานที่ซันเดย์ไทมส์ ได้ไปดูภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุในมอสโก เขาถามหารูปของทรอตสกี้ ซึ่งได้รับคำตอบว่า : “สตาลินเท่านั้นที่สำคัญต่อการปฏิวัติ ทรอตสกี้ไม่สำคัญเลย!”

ทุกอย่างที่เกี่ยวกับทรอตสกี้ถูกลบทิ้งหมด

ยุคสตาลินเป็นยุคแรกๆ ของการใช้รูปถ่ายและรีทัชเพื่อสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) และกำจัดศัตรูของรัฐ

เมื่อรูปนั้นถูกเผยแพร่ออกไปก็จะกลายเป็นภาพที่ติดตาตรึงใจผู้คนในสังคม

ประวัติศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่สร้างกันได้ง่ายๆ และมีบทบาทมากในช่วงหลัง the Great Purge หรือการกวาดล้างครั้งใหญ่ของสตาลิน (1936-1938) ซึ่งคนนับพันถูกกำจัดด้วยการจับกุมคุมขังและฆ่าทิ้ง

เมื่อกลับมาจากโซเวียต เขาเริ่มสะสมศิลปะของรัสเซียในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ทั้งที่เป็นรูปถ่าย รูปวาด โปสเตอร์ หนังสือ และนิตยสาร ที่เกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซีย

เขาใช้เวลากว่าห้าปีในการค้นหาชื่อและเรื่องของคนถูกคัดทิ้ง และเปิดโปง

“ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ที่เกิดขึ้นด้วยพลังของรูปถ่าย สิ่งนี้เป็นเรื่องยากเพราะเมื่อรัฐเซ็นเซอร์ สิ่งที่ตามมาคือ ใครมีรูปของ “ศัตรู” ก็จะมีความผิด ชาวบ้านจึงต้องกำจัดมันด้วย

รูปถ่ายที่ถูกตัดปะเป็นธีมของคิง งานสะสมของเขาชี้ว่าดีไซน์นั้นแนบแน่นกับโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งหมายความว่ามีการบิดเบือนอย่างมหาศาล อาศัยเทคนิคใหม่ๆ ของวงการ ดีไซน์มุ่งไปสู่ทิศทางของลัทธิบูชาตัวบุคคล และการสดุดีรัฐแบบด้านเดียว เช่น โฟโต้คอลลาจ ซึ่งกำเนิดขึ้นในช่วงเดียวกัน ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่

ส่วนการรีทัชภาพถ่ายซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้น ก็ถูกนำมาใช้เพื่อลบรูปบุคคลสำคัญที่เขาไม่ชอบออกไป และเอารูปตัวเองไปใส่ไว้

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-05trotsky

ในแง่ดีไซน์ คิงชอบใช้ตัวพิมพ์และรูปภาพของสิ่งพิมพ์ยุคนั้น

เขาเป็นผู้ออกแบบหนังสือแค็ตตาล็อกงานแสดงของรอดเชนโก้ (1979) และ มายาคอฟสกี้ (1982)

ในงานนี้ เขาเริ่มใช้เส้นหนาทึบเพื่อเน้นข้อความ และต่อมาจึงเอาไปใช้กับ Blood and Laughter (1983), The Great Purges (1984) และ Trotsky (1986) แน่นอน เขาเอามาจาก El Lissitzky ดีไซเนอร์รัสเซียในสมัยปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม สไตล์นี้จะเป็นต้นแบบของ british editorial ในยุค 1970s

ในแง่รูปถ่าย คิงบอกว่าเขา “มองแบบภาพยนตร์” ซึ่งหมายถึงการเอาช็อตต่างๆ (เช่น ภาพระยะใกล้ ภาพระยะไกล ภาพหลายเฟรมพร้อมกัน และภาพที่ใหญ่จนล้นจอ) มาตัดสลับกัน การคร็อปก็สำคัญ เขาบอกว่า “คร็อปให้แรงกว่าที่ใครๆ เคยทำ และสร้างคอนทราสต์ให้มากด้วยการใช้สี ตัวพิมพ์ เทคนิคพิมพ์สองสี”

แต่ร่วมสิบปีหลังจากนั้น คิงทำงานดีไซน์น้อยลง เหตุหนึ่งเพราะลมการเมืองกำลังเปลี่ยนทิศ อีกเหตุหนึ่งเพราะเขาไม่ยอมหัดใช้คอมพิวเตอร์ แต่เหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เขาหันมาเป็นนักสะสมคือ กอร์บาชอฟและนโยบายกลาสนอสต์ ซึ่งทำให้ของสะสมที่เพื่อนๆ มักจะบอกว่าเสียเงินและเวลาไปเปล่าๆ กลายเป็นที่ต้องการในทันที

สื่อมวลชนจากทั่วโลก ถ้าต้องการภาพของเลนิน ทรอตสกี้ สตาลิน หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับโซเวียตรัสเซีย เขาเป็นแหล่งภาพที่สื่อทุกค่ายจะต้องถามหา เพราะเป็นผู้ที่เก็บรูปพวกนี้ไว้มากที่สุดในโลก

การรักษาคลังภาพนี้จึงกลายเป็นงานอาชีพขึ้นมา

ก่อนจะยกให้ Tate Modern คิงเก็บสมบัติไว้ที่บ้านในอิสลิงตัน ลอนดอน ซึ่งถูกแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว รูปทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสไลด์ ฟิล์ม หรือสิ่งพิมพ์ ถูกเก็บในตู้สีแดง 16 ใบ ในลิ้นชักตู้มีรูปของบุคคลสำคัญของโซเวียตมากมาย บางคนน่าสนใจสำหรับนักวิจัย แต่อีกหลายคนก็ยัง บางอันจัดเป็นหัวข้อเช่น : “industrialisation”, “famine 1932-3”, “literacy and education”, “women”, “health and children” และ “show trials”

กว่าสามสิบปีที่ผ่าน งานของเขาคือการเสาะหาของมาใส่คลังนี้ บางทีต้องใช้เวลานับสิบปี บางทีก็โชคดีเพราะวิ่งเข้ามาหาเขาเอง

เช่น วันหนึ่งในช่วงหลังกลาสนอสต์ เขาได้รับพัสดุไปรษณีย์เป็นกล่องที่บรรจุรูปกว่า 1,500 รูปจากรัสเซีย

และอีกครั้ง หลังจากที่เขากลับจากรัสเซียและได้ยินเรื่องหนังสือภาพเล่มหนึ่งเกี่ยวกับประวัติพรรคบอลเชวิก ซึ่งพิมพ์ในปี 1928

เมื่อกลับมา ก็เจอหนังสือเล่มนั้นในร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-04sunday

คิงไม่ได้เก็บแบบนักสะสมทั่วไป ถ้าถามถึงของที่มีค่าควรแก่การสะสม คิงบอกว่าเขามีเป็นพัน

แต่ที่เขาสนใจคือมูลค่าในฐานะ หลักฐาน

เขาไม่สนใจว่าใครเป็นช่างภาพหรือเดิมเป็นสีซีเปียหรือเปล่า

รูปถ่ายเหล่านี้อาจจะเป็นรูปที่อัดใหม่ก็ได้ และยิ่งคมชัดและมีรายละเอียดมากก็ยิ่งดี

และต่างกับดีไซเนอร์หลายคน เขาเคยกล่าวว่า สไตล์นั้นเหมือนลายมือ ถึงไม่ตั้งใจก็พัฒนาไปได้ แต่เนื้อหาเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งใจ

ในเรื่องรีทัช เราอาจจะพูดถึงรูปถ่าย ทั้งในแง่สวยงามและกระบวนการ แต่ก็เหมือนช่างที่รีทัชรูปเหล่านี้ เราอาจจะลืมไปว่ามันนำไปสู่ความตายของมุนษย์

ผลงานของคิงชี้ว่า ถ้าดีไซน์เป็นเพียงเทคนิค จุดมุ่งหมายของมันอาจจะเป็นการบิดเบือน และนำไปสู่ความพินาศในขนาดที่คาดไม่ถึง

ภาระของดีไซเนอร์น่าจะหมายถึงการทำให้ผู้อ่านตาสว่าง

นี่เป็นภาระที่ต้องแบกรับไว้ตลอดชีวิต และไม่มีใครเหมาะสมเท่า เดวิด คิง