ประชา สุวีรานนท์ : ‘เดวิด คิง’ หลักฐานกับรีทัช (1)

เดวิด คิง กราฟิกดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้โด่งดังในช่วงสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้

ในช่วง 1960s เขาเคยเป็นดีไซเนอร์ของนิตยสาร The Sunday Times Magazine ระหว่างนั้น มีผลงานปกหนังสือของ Penguin books หลายเล่ม

ที่เด่นคือที่เกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซีย

ในช่วงต่อมา ออกแบบปกให้กับนิตยสารหลายเล่ม เช่น City Limits และทำงานให้กลุ่มกิจกรรมทางการเมือง เช่น the Anti-Apartheid Movement

ที่สำคัญคือสนใจกราฟิกดีไซน์ของโซเวียตในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รวมทั้งการบิดเบือนประวัติศาสตร์ซึ่งทำกันในสมัยสตาลิน

คิงใช้เวลาหลายสิบปีสะสมรูปภาพ สิ่งพิมพ์ และข้อมูลเรื่องนี้ไว้มากมาย

จนบางคนบอกว่าเป็น “คลัง” หลักฐานเกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซียที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เขาทำหนังสือไว้หลายเล่ม นอกจากนั้น ยังตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวขึ้นในลอนดอน

และกลายเป็นผู้สันทัดกรณีคนหนึ่งของวงการ

ไม่กี่ปีก่อนจะเสียชีวิต คิงเพิ่งจะมอบคลังนั้นให้แก่ Tate Modern พิพิธภัณฑ์ศิลปะซึ่งจัดแสดงงานและพิมพ์หนังสือของเขา เช่น The Commissar Vanishes, Russian Revolutionary Posters, John Heartfield : Laughter is a Devastating Weapon และ Red Star Over Russia

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-2

เดวิด คิง เริ่มสร้างผลงานที่ถือเป็นการปฏิวัติการออกแบบที่ซันเดย์ไทมส์ ซึ่งเป็นนิตยสารชื่อดังและยังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้

ที่นั่น เขาได้คบกับนักเขียนหลายคน เช่น เดวิด ซิลเวสเตอร์ และ บรู๊ซ ชัดวิน รวมทั้งหัดถ่ายรูปกับ ดอน แม็กคัลลัน ช่างภาพชื่อดัง

ผลงานช่วงนั้นมีทั้งหนังสือรวมงานของเพื่อนและตนเอง เช่น I Am King ซึ่งเป็นประวัติของ โมฮัมหมัด อาลี

ผู้เขียนรู้จัก เดวิด คิง ขณะเป็นนักเรียนมัธยมด้วยหนังสือชื่อ 1,000 Makers of the 20th Century ซึ่งเป็นผลงานยุคซันเดย์ไทมส์ หนังสือมีขนาด A4 หนาราวสามร้อยหน้า และเล่าประวัติบุคคลสำคัญของศตวรรษที่ 20 ราวหนึ่งพันคนอย่างสั้นๆ แต่ละชื่อเรียงตามลำดับตัวอักษร

จุดเริ่มคือเป็นคอลัมน์หนึ่งในนิตยสารซึ่งเมื่อตีพิมพ์จนครบแล้วจึงถูกรวมเป็นเล่ม

นั่นคือช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อการทำหนังสือยังเป็นเรื่องเท่และทันสมัย

โรงเรียนนี้เป็นที่บ่มเพาะเด็กหลายคนซึ่งต่างก็ชอบกราฟิกดีไซน์ และอีกหลายปีต่อมา บางคนกลายเป็นผู้กำกับฯ, ครีเอทีฟ หรือดีไซเนอร์

ในตอนนั้น เพื่อให้ถนัดปาก พวกเขาจึงเรียกมันว่า “พันเมกเกอร์” และถือเป็น “คัมภีร์” ในการออกแบบ

ในแง่เนื้อหา หนังสือเล่มนี้คือประวัติศาสตร์ฉบับ MTV เพราะให้ประสบการณ์ที่สับสนอลหม่านพอสมควร ในกลุ่มชื่อตัว M มีทั้งดาราชื่อมอนโร, ประธานาธิบดีชื่อมอนโร, นายพลชื่อมอนต์โกเมอรี่ และศิลปินชื่อ เฮนรี่ มัวร์

ในแง่สไตล์ ทุกหน้าให้ความรู้สึกเร้าใจเหมือนดูภาพยนตร์ที่ใช้การตัดต่อแบบมอนทาจ ดีไซน์เป็นแบบอังกฤษยุคนั้น คือแน่นเพราะเน้นกริด ซึ่งทำให้รูปจำนวนนับสิบถูกยึดโยงกันอย่างแข็งแรงและมีจังหวะจะโคน นอกจากนั้นคือใช้คอลัมน์แคบและตัวพิมพ์แบบไม่มีเชิงเป็นพาดหัว

สำคัญที่รูป ซึ่งใช้เทคนิคต่างๆ เช่น สีน้ำ สีน้ำมัน สีเทียน สีไม้ และเศษกระดาษ รวมทั้งแอร์บรัชและการปั้นหุ่น

หนังสือของคิงสอนว่าทุกอย่างเอามาใช้ปะปนกันได้ สไตล์ก็เหมือนกัน

รูปสามารถเอามาดัดแปลงด้วยเทคนิคมากมาย และใบหน้านั้น วาดแค่ตากับปากก็พอแล้ว ฯลฯ ในจำนวนนับพัน จึงไม่มีรูปไหนที่ธรรมดาเลย แม้ส่วนมากจะเป็นรูปถ่าย ซึ่งทั้งเล็กและเป็นขาว-ดำ

แต่ทุกรูปก็ชวนดูด้วยเทคนิคการคร็อปรูปแบบใหม่ นั่นคือเน้นสีหน้าและบุคลิกมากกว่าใบหน้าทั้งหมด

ซึ่งหมายความว่าผมและคางมักจะถูกตัดออกไป

มีงานของศิลปินรูปประกอบชื่อดังหลายคน เช่น จอห์น ฮาร์ตฟิลด์, ริชาร์ด อเวดอน, บางชิ้นมีฐานะปฏิมาไปแล้ว เช่นรูป เช กูวารา ของ พอล เดวิส

นอกจากนั้น ยังมีงานจากกลุ่ม Pushpin สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้ง ควอตซ์, เกลเซอร์, จอยเนอร์, ซาอิด ฯลฯ

ความแปลกใหม่เกิดขึ้นเพราะป๊อปคัลเจอร์และการปฏิวัติกำลังมาแรง ประธานาธิบดีเคนเนดี้กับควีนเอลิซาเบ็ธจึงได้เนื้อที่ไม่ถึงครึ่งหน้า

ในขณะที่ เบคอน การ์โบ มอนโร และ ฮิวจ์ ได้หนึ่งหน้าเต็ม

ฝ่ายซ้าย เช่น เลนิน โฮจิมินห์ และคาสโตร ครอบครองพื้นที่เต็มหน้า

เรียกว่าเป็น “เอ็นไซโคลพีเดียแห่งสไตล์” ก็คงไม่เกินเลย หนังสือของคิงสอนเราว่ารูปบุคคลนั้น นอกจากถ่ายทอดบุคลิก ยังสามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้

ซึ่งหมายความว่าแม้สไตล์จะไปไกลถึงขั้นภาพล้อ มันก็ยังเป็นศิลปะ

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%84%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-3

“พันเมกเกอร์” ที่นักเรียนกลุ่มนี้รู้จักมีเล่มเดียวและอยู่ในห้องสมุดบริติชเคาน์ซิล ซึ่งยืมกลับบ้านได้สามอาทิตย์

ต้องเข้าใจด้วยว่าการละเลียดดูหนังสือเล่มหนึ่งนานๆ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่มีสื่ออื่นให้ดูมากมายนัก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถูกผลัดกันยืม จนแทบไม่เคยได้กลับไปวางบนหิ้ง

หนังสือหมุนเวียนอยู่แต่ในกลุ่มนี้ และหากเจอหน้ากัน

การตั้งคำถามว่า “พันเมกเกอร์อยู่ที่ใครวะ?” เป็นธรรมเนียมการทักทายของทุกคน