ค้นตัวตน “น้องมิลค์-วรรรญา” “เสือยิ้มยาก” แห่งวงการโดรนเรซซิ่ง ติด “ท็อปเท็น” โลก ในวัย 11 ปี!

กลายเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เมื่อ “น้องมิลค์-วรรรญา วรรณผ่อง” เด็กน้อยวัย 11 ขวบ สามารถคว้าแชมป์โดรนโลกประเภทบุคคลหญิง หรือ “World Champion Women” ในงาน DRL Shenzhen ที่เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดว่าเป็นการแข่งขันโดรนเรซซิ่งที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้ รับรองโดยสหพันธ์กีฬาทางอากาศนานาชาติ

จนกลายเป็นแชมป์บินโดรนที่อายุน้อยที่สุดในโลก และก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งมือวางอันดับ 9 ของโลกในขณะนี้

หลังจากนั้นไม่นานน้องมิลค์ก็สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันโดรนเรซซิ่งระดับนานาชาติที่ฮ่องกงได้อีก ในรุ่น “International Challenge” ของงาน “ALISPORTS WESG Hongkong E-sports Festival 2018 International Drone Racing Challenge”

ซึ่งเป็นการเชิญนักบินที่มีฝีมือจาก 9 ประเทศมาเข้าร่วมแข่งขัน

นอกเหนือจากความสามารถและพรสวรรค์ที่สูงเกินวัยจนใครๆ ต่างยอมรับในฝีมือ น้องมิลค์ยังมีเอกลักษณ์ที่หลายๆ คนจะสามารถจดจำเธอได้ทันทีตั้งแต่แรกพบเห็น นั่นคือลักษณะ “หน้านิ่ง” ทั้งระหว่างการการตอบคำถามพี่ๆ นักข่าว และระหว่างการแข่งขัน

จนใครต่อใครต่างยกให้เธอเป็น “เสือยิ้มยาก” แห่งวงการโดรนเรซซิ่ง

น้องมิลค์วิเคราะห์เองว่าจุดแข็งของเธอคือ การทำ “หน้านิ่ง” ดังกล่าว เพราะว่าเวลาลงสนามหรือลงแข่งขันในรายการต่างๆ คู่แข่งจะไม่สามารถจับทางได้ว่าเธอกำลังคิดอะไรอยู่

น้องมิลค์ใช้กลยุทธ์ “หน้านิ่ง” มาตลอด นับแต่เริ่มเล่นโดรน

จนถึงวันนี้ ก็ 28 รายการเข้าให้แล้ว

น้องมิลค์เริ่มเข้าสู่วงการบังคับโดรนเรซซิ่งเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยวัย 8 ขวบเท่านั้น โดยมีคุณพ่อ “อาวุธ วรรณผ่อง” เป็นผู้ชักชวนให้ทดลองบังคับโดรนเล่นๆ กระทั่งลูกสาวเกิดความชอบในกิจกรรมประเภทนี้

พ่อของน้องมิลค์เล่าว่า เดิมทีตนเองชื่นชอบเฮลิคอปเตอร์บังคับ และเวลาออกไปเล่น มักจะพาน้องมิลค์ติดสอยห้อยตามไปด้วยเสมอ

แต่ด้วยต้นทุนที่สูงบวกกับกระแสโดรนบังคับมาแรง จึงทำให้เปลี่ยนความคิด โดยขายเฮลิคอปเตอร์บังคับ แล้วหันมาเล่นโดรนบังคับแทน

กระทั่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเล่นโดรนของน้องมิลค์

“ตอนนั้นก็คือแบบเล่นๆ แล้วก็ไปชมงาน RC (ของเล่นบังคับวิทยุ) ต่างๆ ก็พาน้องไป น้องจะสนใจเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว จะดู จะมอง อะไรพวกนี้

“ผมก็เลยเห็นว่า เอ๊ะ! น่าจะจับเขามาเล่น เราซื้อลำเล็กให้เขาเล่นก่อน แต่ก่อนหน้านี้ (ตัวเอง) เล่นเฮลิคอปเตอร์บังคับ แล้วต้นทุนมันสูงมาก เราก็ต้องเลิกไป แล้วก็มีเพื่อนชวนมาให้เล่นโดรน เขาบอกว่าโดรนเนี่ยมันกำลังบูมอยู่ในต่างประเทศ สนใจไหม ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ซื้อลำเล็กๆ มาให้เขา (น้องมิลค์) เล่น” พ่อของน้องมิลค์กล่าว

“โดรนเรซซิ่ง” ถือเป็นกีฬาที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี แข่งขันกันด้วยความเร็ว ความคล่องตัว นักกีฬาต้องบังคับโดรนให้บินไปอยู่ในจุดที่กำหนดไว้โดยเร็วที่สุด และใช้แว่นวีอาร์ในการมองเห็น ซึ่งกล้องที่ติดอยู่บนตัวโดรนจะส่งภาพลงมายังเครื่องรับหรือตัวควบคุม เสมือนว่านักบินกำลังนั่งขับอยู่บนโดรนตัวนั้นจริงๆ

น้องมิลค์ถือเป็นนักกีฬาโดรนเรซซิ่งที่มีพรสวรรค์สูง โดยคุณพ่ออาวุธเล่าว่า ปกติถ้าเป็นคนทั่วไปต้องมาใส่แว่นแล้วบังคับโดรนขึ้นบินครั้งแรก ผลที่ออกมาคงหนีไม่พ้นโดรนตก หรือไม่ก็ลอยขึ้นฟ้าไปเลย แต่น้องมิลค์สามารถบังคับให้โดรนทรงตัวได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือบังคับบินรอบสนามได้

คุณพ่อจึงเริ่มฝึกฝนทักษะด้านนี้ให้น้องมิลค์อย่างจริงจัง โดยหัดเรียนรู้การเป็นโค้ชและจัดรูปแบบสนามซ้อมด้วยตัวเองทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน

“เขาจับโดรนครั้งแรกเนี่ย โดยส่วนใหญ่คนทั่วไปใส่แว่นแล้วจับโดรนบิน ไม่ตกมุดดิน ก็ลอยขึ้นฟ้า แต่น้องเขาสามารถบินสนามได้เป็นรอบ ทรงตัวได้ตั้งแต่วันแรก อันนี้คือแววที่ผมเห็น

“วันต่อมาก็ฝึกจริงจัง คือตั้งอุปกรณ์ให้เขาบินอ้อมหลัก แรกๆ ก่อน อ้อมหลักแค่นี้ แล้วก็อ้อมกลับไปกลับมา จนเขารู้สึกว่าอ้อมจนชำนาญ ก็เพิ่มเป็นเลขแปด บินวนซ้าย วนขวา หนึ่งเดือนผ่านไป ก็ตั้งซุ้มเป็นแบบห่วงให้เขาลอด ไปเรื่อยๆ ตามสเต็ป ตามความสามารถ

“แต่เขาไปได้เร็ว เขาทำได้ก่อนในกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 7-8 คน เขาจะนำไปก่อนทุกที” พ่อน้องมิลค์เล่าถึงพรสวรรค์ของลูกสาว

น้องมิลค์ใช้เวลาฝึกซ้อมเพียง 2 เดือน ก่อนตัดสินใจลงแข่งรายการชิงแชมป์ประเทศไทย ผลปรากฏว่าเธอสามารถคว้าแชมป์ได้ทันที คุณพ่ออาวุธจึงตัดสินใจขายอุปกรณ์เฮลิคอปเตอร์บังคับทั้งหมด เพื่อนำเงินมาลงทุนซื้ออุปกรณ์โดรนเพิ่มให้น้องมิลค์อย่างจริงจัง

แม้การเล่นโดรนเรซซิ่งจะมีราคาถูกกว่าเฮลิคอปเตอร์บังคับ แต่ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดก็ถือว่ายังสูงอยู่ดีสำหรับมนุษย์เงินเดือนธรรมดา อุปกรณ์แต่ละชนิดต้องซื้อแยกและประกอบเอง เพื่อให้ได้มาตรฐานในการแข่งขัน

ราคารีโมตคอนโทรลตกอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท, แว่นวีอาร์ประมาณ 20,000 บาท, เครื่องโดรนตกอยู่ที่ลำละ 15,000 บาท (ต้องมีโดรนสำรองอย่างน้อย 1 ลำ) และแบตเตอรี่ก้อนละประมาณ 1,500-1,800 บาท (ระหว่างแข่ง น้องมิลค์จะใช้ประมาณ 8 ก้อนแบบสลับกันชาร์จ โดย 1 ก้อนใช้ได้ประมาณ 2-3 นาที)

กว่าน้องมิลค์จะมาถึงจุดนี้ได้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทั้งในเรื่องกำลังทรัพย์และกำลังใจ

พ่ออาวุธบอกว่า การฝึกซ้อมช่วงแรกเป็นไปด้วยความยากลำบากและค่อนข้างเหนื่อย เนื่องด้วยโดรนประเภทที่น้องมิลค์ใช้เป็นแบบดัดแปลง ทำให้ไม่สามารถขอใบอนุญาตได้ ดังนั้น จึงต้องฝึกซ้อมแบบหลบๆ ซ่อนๆ แต่ขณะนี้มีใบอนุญาตถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้การฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาฝีมือดำเนินไปได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ทำให้น้องมิลค์สามารถก้าวมาถึงระดับท็อปของโลกได้อย่างรวดเร็วคือ การหมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวันหลังเลิกเรียน อย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง

คุณพ่อของเธอพูดด้วยความภูมิใจว่า จากวันแรกที่เริ่มเล่นจนถึงตอนนี้ น้องมิลค์ไม่เคยหยุดพัฒนาทักษะของตัวเองเลย มีแต่ดีขึ้นทุกวัน

เมื่อถามถึงความสุขสนุกสนานในชีวิตวัยเด็กของน้องมิลค์ที่อาจขาดหายไป

คุณพ่ออาวุธอธิบายว่า ในแต่ละสัปดาห์ ลูกสาวจะมีเวลาไว้สำหรับพักผ่อนบ้าง โดยจะหากิจกรรมในลักษณะครอบครัวมาทำร่วมกัน และตนเองพยายามเป็นทุกๆ อย่างให้กับเขา

“มันไม่เป็นปัญหาครับ ถ้าเราอยู่กับเขาตรงนี้ เราก็ทำให้เหมือนเขาได้รีแลกซ์ไปในตัว ให้อยู่กับพ่อ เล่นกับพ่อ มาเล่นโดรนกับพ่อ ส่วนเวลาเที่ยวก็มีให้ครับ ไปห้าง ไปว่ายน้ำ ไปเล่นที่โยโย่แลนด์ อะไรก็แล้วแต่ ผมมีเวลาให้เขา” พ่อของน้องมิลค์กล่าว

ปัจจุบันน้องมิลค์และคุณพ่อยังคงมุ่งมั่นในเส้นทางสายที่ทั้งคู่ “เลือกเดิน” ร่วมกัน ทุกวันนี้ เด็กหญิงวัย 11 ปี หมั่นฝึกซ้อมบังคับโดรนอย่างหนัก แม้จะอยู่ในวัยเรียนก็ตาม

เธอมีเป้าหมายว่าจะต้องขึ้นไปรั้งตำแหน่งมือวางอันดับ 4 ของโลกเป็นอย่างน้อย

และไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็น “ด.ญ.วรรรญา วรรณผ่อง” ขึ้นไปครองบัลลังก์อันดับ 1 ของโลกในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้