แพทย์ พิจิตร : ความคิด-ความรู้ในศรีปราชญ์และศรีธนญชัย

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520

และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน

และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

 

ประเด็นคราวที่แล้วคือ อาจารย์นิธิไม่เห็นด้วยกับการใช้กรอบคิดเรื่องการขัดกันระหว่าง “ขนบจารีตประเพณีและธรรมชาติ” มาตีความวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองในเรื่องศรีธนญชัยและศรีปราชญ์ ซึ่งกรอบคิดดังกล่าวปรากฏชัดในการศึกษาความคิดทางการเมืองกรีกโบราณภายใต้คำว่า “Nomos และ Physis” ซึ่งผมได้ขยายความไปบ้างแล้วว่ามันคืออะไร คราวนี้จะขยายความต่อ

และเมื่อขยายความจบแล้ว ก็จะมาพิจารณาว่า ตกลงแล้ว กรอบคิดดังกล่าวนี้มันใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไรในการวิเคราะห์ตีความความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัย

กล่าวได้ว่า ความพยายามในการอธิบายและคาดคะเนเหตุการณ์และปรากฏการณ์ของมนุษย์ในสังคมกรีกโบราณนั้น โดยแรกเริ่ม คำอธิบายอิงอยู่กับอำนาจของเทพเจ้าและคำอธิบายเชิงปกรณัม อันเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลในทัศนะของคนรุ่นต่อมา และได้ผันแปรมาเป็นการอธิบายโดยตัดเรื่องปกรณัมออกไป และพยายามอิงอยู่กับวิธีคิดแบบเหตุผล

ซึ่งในช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงการเริ่มต้นวิธีคิดแบบมนุษยนิยม (humanism) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตกก็ว่าได้

และปรากฏการณ์ของโซฟิสต์ (sophists) ในฐานะที่เป็นปรากฏทางสังคมในเอเธนส์ก็กล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการมนุษยนิยม (the humanistic movement) ที่แสดงถึงความเชื่อมั่นในพลังความสามารถของมนุษย์ที่จะรู้และเข้าใจถึงศิลปะวิทยาการต่างๆ ได้ด้วยการเรียนรู้ของมนุษย์เอง และใช้ความรู้ดังกล่าวนั้นสนองตอบความต้องการของชีวิตมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องรอความกรุณาจากสวรรค์เบื้องบนโชคชะตาหรือเทพเจ้า หรือผู้ปกครองเหนือหัว

และจากบริบทดังกล่าวนี้เองที่นำไปสู่การถกเถียงในประเด็น “Nomos-Physis”

 

หลายคนคงสงสัยว่า “โซฟิสต์” คืออะไร? ความหมายของคำว่า “sophist” สัมพันธ์กับคำว่า “sophos” และ “sophia” ซึ่งโดยทั่วไป หมายความถึง “ฉลาด” และ “ปัญญา” (wise and wisdom) แรกเริ่ม คำว่า “sophia” มีความสัมพันธ์กับ กวี (poet) โหราจารย์ (seer) และผู้รู้ (sage) ซึ่งคนเหล่านี้คือผู้ที่ถูกเข้าใจว่า มีความรู้หรือวิสัยทัศน์ที่มนุษย์ธรรมดาไม่มี

ความรู้ที่พวกเขามีมิได้เป็นเรื่องเทคนิค แต่เป็นความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้า มนุษย์และสังคม ซึ่งเฉพาะ “ผู้รู้” (wise man) เท่านั้นที่สามารถกล่าวอ้างถึงอภิสิทธิ์เฉพาะที่จะเข้าถึงความรู้พิเศษนี้ได้

แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา คำว่า “sophistes” นั้นถูกใช้หมายถึง กลุ่มคนแรกๆ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้รู้” (wise men) อันได้แก่ กวี ซึ่งรวมถึง Homer และ Hesiod หมายถึงนักดนตรีและนักขับขาน (musicians and rhapsodes) หมายถึง คนทรงหรือผู้สื่อความหมายของเทพ และโหราจารย์ (diviners and seers)

และยังหมายถึง ผู้รู้ทั้งเจ็ด (the Seven Wise Men) และรวมถึงกลุ่มนักคิดที่รู้จักกันในนามของ “Presocratic philosophers” และนัยของคำดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏในแง่ลบแต่ประการใด

แต่ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ห้านั้น นัยของคำดังกล่าวนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากความหมายที่ใช้เรียกกลุ่มคนก่อนนี้อย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุที่มีนัยใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นคือ นัยของความเป็นอาชีพของ “โซฟิสต์” ลักษณะสำคัญประการแรกของความเป็นอาชีพของ “โซฟิสต์” คือ หนึ่ง มีการรับเงินค่าสอน ซึ่งเป็นความแตกต่างและแปลกใหม่จากบุคคลที่ได้ชื่อว่า “โซฟิสต์” ในช่วงก่อนๆ

พวกโซฟิสต์เชื่อว่า ธรรมชาติมีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับกฎเกณฑ์หรือกติกา การให้ความหมายที่มนุษย์ในสังคมกำหนดขึ้นมา

 

ประเด็นที่น่าสนใจของโซฟิสต์คนหนึ่งที่อ้างถึงความจริงของธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งหรือปฏิเสธได้

นั่นคือ มนุษย์เรานั้นเหมือนกันโดยธรรมชาติ ดังนั้น การปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างแตกต่างกันมาก จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ แต่การกระทำที่ว่านั้นอาจจะสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางสังคมการเมืองที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง

ความคิดที่ว่า โดยธรรมชาติมนุษย์ไม่ต่างกันนั้น สามารถอธิบายในทำนองเดียวกันกับที่ Democritus อธิบายธรรมชาติของสรรพสิ่งต่างๆ ว่า สิ่งต่างๆ ล้วนประกอบไปด้วยอะตอม (atoms) และความว่างเปล่า (void)

ส่วนการที่เราเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ มีความแตกต่างกัน เช่น บางอย่างหวาน บางอย่างขม เย็น ร้อน สีสัน ดีหรือไม่ดีนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นมาเองทีหลัง (convention, nomos) โดยมนุษย์และสังคม ซึ่งการกำหนดคุณค่าที่ว่านี้เองของมนุษย์ก็คือสิ่งที่ Protagoras หมายถึงนั่นเอง มนุษย์แตกต่างกันและมีคุณค่าต่างกันมิใช่ด้วยจากธรรมชาติ แต่จากการกำหนดขึ้นมาโดยมนุษย์ด้วยกันเองตามสังคมนั้นๆ

ภาพของธรรมชาติสำหรับพวกโซฟิสต์โดยเฉพาะความคิดที่สะท้อนในบทสนทนาของ Plato คือ โดยธรรมชาติ มนุษย์ย่อมต้องการตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของตัวเอง

การทำผิดสามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของตนได้ย่อมดีกว่าการทำผิดที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของตนเอง

การที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติแม้จะกระทำด้วยวิถีทางต่างๆ แม้ว่าจะเป็นวิถีทางที่ผิดก็ตามนั้น น่าจะเกิดจากสาเหตุที่มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาต่อต้านความเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะการทำอะไรก็ตามไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แต่สามารถนำมาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาย่อมไม่ใช่สิ่งผิด

แต่สิ่งที่ผิดหรือผิดธรรมชาติคือการที่มนุษย์ยอมรับผิดมากกว่าที่จะหลีกเลี่ยงต่างหาก

กฎเกณฑ์ที่สวนทางกับธรรมชาติที่มักจะกำหนดให้มนุษย์หลีกเลี่ยงที่จะใช้วิธีการใดๆ ในการที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองนี้ พวกโซฟิสต์เห็นว่าเป็นกฎ (nomos) ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง มิใช่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ

และที่สำคัญคือ มนุษย์ที่กำหนดกฎในลักษณะนี้คือมนุษย์พวกที่อ่อนแอ ซึ่งมักจะได้แก่คนส่วนใหญ่ของสังคม

มนุษย์พวกนี้หาทางปกป้องตัวเองจากผู้ที่แข็งแรงกว่าโดยการสร้างกฎที่สวนทางกับธรรมชาติ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ผู้ที่แข็งแรงกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ก็น่าที่จะเป็นผู้ปกครองหรืออยู่เหนือคนที่ด้อยกว่า

สังเกตได้ว่า จากประเด็นข้อถกเถียงเรื่องธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเอง (phusis-nomos debate) ของพวกโซฟิสต์นี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อที่น่าวิเคราะห์ในโอกาสต่อไปอันได้แก่ ประเด็นที่เชื่อว่า มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วเหมือนกัน

แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมต้องอยู่เหนือผู้ที่อ่อนแอกว่า เป็นต้น