รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ไฆเม นัวลาร์ต เม็กซิโก ประตูการค้าไทยสู่ภูมิภาคอเมริกา (จบ)

ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายไทยและเม็กซิโกมีแนวทางที่จะจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างกัน การขยายการค้าการลงทุนจึงมีโอกาสอีกมากในอนาคต

มีความพยายามในการหารือถึงกลไกที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนในระยะยาว

มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะผู้แทนนักธุรกิจในสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ข้าว และมันสำปะหลัง เป็นต้น

เม็กซิโกได้เตรียมจัดงานแสดงสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยทั้งสองฝ่ายเชิญนักธุรกิจของไทยและเม็กซิโกเข้าร่วมงาน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรายงานว่า ทั้งไทยและเม็กซิโก มุ่งขยายการค้าการลงทุนสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบัน เม็กซิโกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคอเมริกา รองจากสหรัฐ และบราซิล ตามลำดับ

ในปี ค.ศ.2015 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 3,237.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2014 ร้อยละ 26.29 โดยไทยส่งออกไปเม็กซิโกเป็นมูลค่า 2,687.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.68 จากปีที่ผ่านมา

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ โทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

การนำเข้าจากเม็กซิโกมีมูลค่า 549.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.03 จากปีที่ผ่านมา

สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลวด/สายเคเบิล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น

 

เอกอัครราชทูต ไฆเม นัวลาร์ต กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ของทั้งสองประเทศ

“การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับทุกประเทศ ประเทศไทยมีนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วนเม็กซิโกก็มีนโยบายของตนเองเช่นเดียวกัน เรามีความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและด้านเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งสอดคล้องและเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆ อาทิ แนวความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Development Goals – MDGs) ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Summit) หรือภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO)”

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า คือการพัฒนาที่เน้นให้มนุษย์คำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติบนโลก และให้มีการดำเนินการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยให้เป็นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนทั้งในยุคปัจจุบัน และยุคต่อๆ ไปอย่างเท่าเทียมกัน

“เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในขอบข่ายที่สำคัญที่สุดของความร่วมมือ และจากด้านนี้ทำให้เรามีความสนใจในการแบ่งปันหลักเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economic Principles) และผลกระทบในเป้าหมายสหัสวรรษ”

“วิธีการที่เราสามารถที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของเม็กซิโกในด้านความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ดังที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่”

 

“โครงการที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเราต้องการจะเปิดตัวพร้อมกับประเทศไทย นั่นคือการวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแมลงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงปลอดภัยทางด้านอาหาร คุณจะประหลาดใจว่า ที่เม็กซิโกมีแมลงที่เราสามารถกินได้ถึง 520 ชนิด และแมลงที่กินได้ในประเทศไทย มีประมาณ 320 ชนิด สถาบันที่ดำเนินการวิจัยนี้ คือมหาวิทยาลัยขอนแก่นในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยฮีดัลโก (University of State of Hidalgo) ในประเทศเม็กซิโก”

“และเรากำลังจะไปที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อจะไปทดสอบกินแมลงเหล่านี้ รวมทั้งจิ้งหรีดด้วย”

“เหตุผลเพราะจิ้งหรีด 100 กรัมมีปริมาณโปรตีนเท่ากับ 100 กรัมของเนื้อวัวหรือมากกว่า 100 กรัมของเนื้อไก่”

“เราไม่ได้กินแมลงดังกล่าวโดยตรง แต่เราสามารถทำเป็นแป้ง หลายคนไม่ทราบว่า กินบาร์ธัญพืช (energy bar) หรือเมล็ดธัญพืช (cereal) ที่มีส่วนผสมของแมลงดังกล่าว”

“บาร์ธัญพืช เหล่านี้จะทำจากแป้งที่มีส่วนผสมของแมลง 20% โดยประมาณ เพราะเป็นแหล่งที่มาของโปรตีนราคาถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น คุณกำลังรับประทานอาหารจิ้งหรีดโดยไม่รู้ตัว”

 

ถามถึงการปรับตัวของนักการทูตเมื่อได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปประจำทำงานในประเทศต่างๆ ตามวาระที่กำหนด ท่านทูตนัวลาร์ต ตอบว่า

“ก็มีความทุกข์อยู่บ้างเมื่อจะต้องจากประเทศและมิตรสหายที่รักใคร่คุ้นเคย แต่ก็มีความสุขเมื่อได้มาอยู่ที่แห่งใหม่ ซึ่งก็ต้องปรับตัวเราเองให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ และปรับทัศนคติให้คิดบวก เพราะนี่คือชีวิตของนักการทูต เราเดินทางออกจากประเทศหนึ่งโดยร่างกาย แต่ประเทศที่จากมานั้นยังคงประทับอยู่ในใจ”

“ดังตัวอย่างเช่นอินเดีย ประเทศล่าสุดซึ่งได้ไปประจำทำงานถึง 5 ปีก่อนมาประจำที่ประเทศไทย ซึ่งผมกล่าวได้ว่า อินเดียนั้นอยู่ในหัวใจ มิตรสหายไม่ว่าใกล้หรือไกลจะคงอยู่ในความทรงจำของผมตลอดไป”

กิจวัตรนอกเหนือจากการปฏิบัติงานในหน้าที่

“ผมรักการออกกำลังกายที่โรงยิม รักการว่ายน้ำ จึงพยายามที่จะว่ายน้ำทุกวัน หรืออ่านหนังสือ ดูทีวีซีรี่ส์ที่น่าสนใจ และเมื่อใดก็ตามที่ว่างในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมชอบไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์ ชมนิทรรศการและหอศิลป์ วัดและพิพิธภัณฑ์ ในต่างจังหวัดรวมทั้งชอบค้นหาร้านอาหารแห่งใหม่ที่นำเสนอเมนูอาหารใหม่ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เปรู และเม็กซิกัน”

เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย นายไฆเม นัวลาร์ต ฝากความหวังไว้ว่า

“ผมขอให้เราช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะประเทศเม็กซิโกปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกันในโครงการต่างๆ กับนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ศิลปิน และดำเนินธุรกิจด้วยกันให้มากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย”

“นอกจากนี้ เราอยากเห็นคนไทยไปเยือนประเทศของเราให้มากขึ้น ซึ่งปีที่แล้วมีคนไทยไปเยือนเม็กซิโก 2,000 คน ขณะที่ชาวเม็กซิกันมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิมคือ 25,000 คน ที่สำคัญคือ เราต้องการให้คนไทยได้ทราบถึงความสำเร็จในโครงการต่างๆ ที่เราได้มาดำเนินงานร่วมกับประเทศไทย ทั้งในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร”

 

ในขณะเดียวกันเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ขอให้เม็กซิโกเร่งพิจารณายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้ากุ้งจากไทย ซึ่งเป็นโรคตายด่วน (EMS) ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.2013 เนื่องจากเม็กซิโกได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบฟาร์มกุ้งในไทย เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้เช่นกัน

รวมถึงการส่งออกปลานิลไปยังเม็กซิโก โดยไทยขอให้เม็กซิโกประกาศยกเลิกมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าข้าว (โควต้า) ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกข้าวไปยังเม็กซิโกได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งเม็กซิโกรับที่จะเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งผลให้ไทยทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Interdependence) โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพราะเม็กซิโกเป็นประตูการค้าของไทยไปสู่ภูมิภาคอเมริกา ขณะที่ไทยก็เป็นประตูการค้าสู่อาเซียน