สมเด็จพระเทพรัตนฯ กับบ่อเกลือ โดย เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง

ชื่อของ “บ่อเกลือ” เป็นชื่อที่นักเดินทางที่ชอบเที่ยวธรรมชาติคุ้นเคยพอๆ กับคีรีวง เป็นที่ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ซึมซับวิถีชีวิตเรียบง่ายเชื่องช้า ผู้คนมีเวลานั่งคุยกับผู้มาเยี่ยมเยือน มีทิวทัศน์สวยงามบนที่สูง มองไปทางไหนก็เห็นทิวเขามีหมอกยามเช้าเรี่ยรายอยู่งดงาม

เป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่นักเดินทางที่ไปจังหวัดน่านต้องไปเยี่ยมเยือน

แต่สำหรับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเสด็จไปบ่อเกลือคือการเสด็จไปทรงงาน เช่นเดียวกับพระราชบิดา พระองค์ทรงงานเป็นลมหายใจเข้าออกของชีวิต พระองค์เสด็จฯ จังหวัดน่านอย่างสม่ำเสมอ เพราะทรงตระหนักว่าจังหวัดที่งดงาม ร่ำรวยด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่แห่งนี้แท้จริงขาดปัจจัยในการดำรงชีวิตตามมาตรฐานที่ดี มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่พระองค์ต้องยื่นพระหัตถ์เข้าให้การชี้แนะเพื่อแก้ไข

จังหวัดน่านมีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเรื่องหนึ่งคือมีงานวิจัยเป็นจำนวนมาก มีกลุ่มประชาสังคมที่ช่วยกันพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมประเพณีก็มาก

รวมทั้งมีบุคคลภายนอกที่หลงรักจังหวัดนี้และมีความห่วงใยเข้าไปทำกิจกรรมช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านวัฒนธรรมประเพณีหรือสิ่งแวดล้อมก็มีไม่ขาดสาย

ppi0

สําหรับพื้นที่บ่อเกลือมีงานวิจัยจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เพียงมีทิวทัศน์สวยงาม แต่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่แปลกออกไปคือมีเกลือทะเลอยู่บนที่สูง ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับชุมชนบ่อเกลือ ได้บอกว่าเดิมที่นี่เรียกว่า “เมืองบ่อ” เดิมเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีความสำคัญตั้งแต่ครั้งอดีตกาลปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารเมืองน่าน ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชได้แต่งรวบรวมขึ้นไว้ มีข้อความกล่าวถึงแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญที่เป็นสาเหตุให้พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ยกทัพมายึดเมืองน่านเมื่อปี 1993

ปัจจุบันคนบ่อเกลือโดยเฉลี่ยถือว่ามีฐานะยากจน ซึ่งความยากจนนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่เนื่องจากมีเนื้อที่น้อย และมีฐานะยากจนจึงไม่สามารถซื้อเครื่องมือทุ่นแรง รวมทั้งไม่มีเงินพอซื้อสารเคมี จึงทำให้บ่อเกลือมีมลภาวะน้อยมาก แม้แต่ชาวเขาก็หวาดกลัวสารเคมี ชาวบ่อเกลือใช้วิธีพ่นเกลือเพื่อฆ่าวัชพืช

ผลผลิตเป็นไปเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ชีวิตพออยู่พอกิน ไม่มีเงินเก็บ ที่นี่เป็นสังคมปลอดยาเสพติด

ถือว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีวิถีชีวิตสุขสงบ แต่มีระดับการศึกษาโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

 

ชาวบ่อเกลือมีสินค้าที่ผลิตออกมาในชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากเกลือแล้วก็มีเครื่องจักสาน บ่อเกลือได้รับการสนับสนุนจากโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากการที่พระองค์ท่านเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรอำเภอบ่อเกลือเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 ได้ทอดพระเนตรตะกร้าหวายที่ราษฎรในพื้นที่นำมาถวาย มีความสวยงาม แสดงถึงฝีมือและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ตะกร้าหวายนี้ใช้วัสดุในพื้นที่คือ หวาย ก้านตอง หญ้าสามเหลี่ยม และไม้ไผ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์หาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ่อเกลือ ประสานงานในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จนกระทั่งชาวบ้านนาขามสนใจ จัดตั้งกลุ่มจักสานตะกร้าหวายขึ้นในปีเดียวกัน จนในปัจจุบันมีสมาชิก 250 คน

มีการจัดตั้งกรรมการ มีการขยายการผลิตไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้และมีการพัฒนาต่อเนื่อง

มีตลาดที่รับซื้อผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอคือสยามจัสโก้

 

ผู้เขียนเดินทางไปตามชนบท ได้พบว่าแต่ละท้องถิ่นนั้นมีพืชพรรณที่นำมาแปรรูปโดยการใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงนักเข้าช่วย

เช่น ของบ่อเกลือก็จะมีต๋าวในน้ำเชื่อม หรือลูกชิด ที่นำมาบรรจุขวดขาย และหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็มีงานหัตถกรรมประเภทเครื่องจักสานและการทอผ้า ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในสมัยโบราณคนทำก็จะใช้วิธีทำเสร็จก็ไปเดินเร่ขาย แต่ปัจจุบันต้องใช้วิธีการตลาดสมัยใหม่เข้าช่วยคือการรวมกลุ่มและติดต่อผู้ซื้อ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะว่าไปพระองค์ท่านเป็นนักการตลาดที่เข้าใจกลไกตลาดเป็นอย่างดี และทรงส่งเสริมอาชีพของราษฎรอย่างถูกจุด ทำให้คนที่บ่อเกลือมีอาชีพเสริมและมีรายได้ดีขี้น

ผู้เขียนเห็นงานฝีมือสวยงามแบบนี้ อดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ทำไมจะไปไกลถึงต่างประเทศไม่ได้

น่าคิดนะคะ