ใต้ร่มพระบารมี “ในหลวง” ปราโมทย์ ไม้กลัด นายช่างชลประทาน ผู้เดินตามรอย-รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

ที่มา : http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p322.html

“901 เรียก ธารทิพย์ 10…” รหัสเรียกขานพระนามส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านวิทยุสื่อสารถึง “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตนายช่างชลประทาน กรมชลประทาน ขณะเสด็จฯ ทรงงานในพื้นที่ซ่อนเร้นแร้นแค้น ทุรกันดาร ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี

จากจุดเริ่มต้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลแก่ “ปราโมทย์ ไม้กลัด” นายช่างชลประทานในวันนั้น

ทำให้มี “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตช่าง นายช่าง กรมชลประทาน อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ปี 2543 วุฒิสมาชิกที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในวันนี้ วันที่ได้รับโอกาสอันสูงสุด รับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

payslip_20111023153830

“ปราโมทย์ ไม้กลัด” ผู้เดินตามรอยพระยุคลบาท สนองงานตามพระราชดำรัสมากว่า 30 ปี หวนรำลึกถึงจุดเริ่มต้นของพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อตัวเองอันหาที่สุดไม่ได้ ว่า

“ผมได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านชลประทานโดยเฉพาะ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นความพัวพันที่พระองค์ท่านพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ทันทีที่กลับมาก็เข้าสู่ระบบราชการ ทำงานที่กรมชลประทาน อยู่กองวิชาการ ทำงานที่กรุงเทพฯ ทำโครงการขนาดใหญ่ ออกแบบ วางโครงการขนาดใหญ่ ประมาณ 7-8 ปี”

ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านช่างของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้อธิบดี-รองอธิบดีในกรมชลประทานไม่สามารถรับมือพระปรีชาสามารถด้านเทคนิคของพระองค์ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปราโมทย์ในการเดินตามเสด็จไปยังพื้นที่ซ่อนเร้นแร้นแค้น ทุรกันดาร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาท

“ประมาณ พ.ศ.2520 พระองค์ท่านทรงงานด้านน้ำมาก ผู้ใหญ่ อธิบดี รองอธิบดี ในกรมชลประทาน รับมือทางด้านเทคนิคไม่ไหว พูดกันง่ายๆ รับมือทางด้านเทคนิคของพระองค์ท่านไม่ไหว จึงนำตัวผมเข้าไปช่วย บอกว่า เออ อั๊วจะเอาลื้อเดินตามไปนะ ไปรับฟังพระองค์ท่านรับสั่ง ไม่ใช่ไปฟังพระองค์รับสั่งเฉยๆ นะ ฟังรับสั่งแล้วต้องมาคิดว่า ทรงรับสั่งแบบนี้ จากแผนที่ เนี่ย จะทำออกมาเป็นงานลักษณะไหน คิดงานตามพระราชกระแสรับสั่ง”

“ผมก็เข้าไป พื้นที่ที่เข้าไปครั้งแรก ส่วนใหญ่คือ พื้นที่ภาคอีสาน ภาคใต้มีบ้าง ภาคเหนือมีบ้าง”

9d

“เริ่มแรกเข้าไปตั้งแต่ พ.ศ.2519 ตามหลังผู้ใหญ่อย่างเดียว พอผู้ใหญ่ อธิบดี รองอธิบดี เขาก็รับเจรจากับพระองค์ท่าน ผมก็รับฟังและมีหน้าที่วางโครงการเบื้องต้น คิดโครงการเบื้องต้น ตามพระราชกระแส ว่า ทำอย่างไรและจัดทำรายงานครบชุด เสด็จไปแต่ละภาค ขากลับก่อนเสด็จกรุงเทพฯ ผมต้องถวายรายงานทั้งหมดที่ทรงรับสั่ง จะมีรูปร่าง หน้าตา โครงการ ทำงานเป็นแบบไหน และจะมีกำหนดการที่กรมชลประทานจะทำในเวลาปีอะไร ถวายพระองค์ท่านก่อนพระองค์เสด็จกลับ 1 วัน นี่คือหน้าที่ของผม ผมไม่ใช่เป็นคนถวายรายงาน ผู้ใหญ่เป็นคนถวาย ผมมีหน้าที่คิดงานทางด้านเทคนิคทั้งหมด”

“ผมทำอยู่อย่างนี้ 6 ปี ผู้หลักผู้ใหญ่เติบโตกันไปหมด อธิบดีตามเสด็จไปไม่ได้แล้ว เพราะงานที่กรุงเทพฯ เยอะ ผู้ใหญ่รองลงมาก็เติบโตขึ้นเป็นอธิบดี ไปเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) กันหมด จึงเหลือผม อธิบดียุคนั้น พ.ศ.2526 ก็แต่งตั้งผมเป็นผู้แทนกรมชลประทาน มีหน้าที่รับงาน รับสนองพระองค์ท่านแบบเต็มที่ เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่าง ทุกกระบวนการ เพราะฉะนั้น จึงเห็นภาพผม โอ้ย…เยอะแยะมากมายในบริบทต่างๆ”

“ทรงใช้ คือ พระองค์ทรงรู้มาโดยตลอด เห็นหน้าผมมาโดยตลอด ทรงรู้จัก บางครั้งในระหว่างที่ผมยังตามหลังผู้ใหญ่ บางครั้ง อ้าว ชลประทานต้องไปอธิบายให้กับประชาชนนะว่าอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ มันจะส่งน้ำยังไง มันจะเก็บกักน้ำอย่างไร ผมมีหน้าที่ในการบรรยาย พระองค์ท่านทรงประทับอยู่ข้างหลัง อธิบดี รองอธิบดี ก็ยืนอยู่ข้างหลัง ผมมีหน้าที่บรรยายให้ประชาชนฟัง พระองค์ท่านก็ทรงฟังอยู่ข้างหลัง”

“นี่เป็นช่วงระหว่างตามหลังผู้ใหญ่ในบางบริบทต่างๆ เพราะฉะนั้น พระองค์ท่านทรงรู้จักผมดี (หัวเราะ) แต่ว่าจะมีพระราชดำรัสโดยตรงนานๆ ครั้ง ส่วนใหญ่พระองค์ท่านจะทรงรับสั่งกับผู้ใหญ่ ก็เท่านั้น เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่โตขึ้น ก็แต่งตั้งผมให้รับผิดชอบเต็มที่ นี่ล่ะจึงได้เห็นผม โอ้ย ทุกเรื่องทุกราว”

 

จนกระทั่งผมเป็นอธิบดี จึงต้องเพลาลงและแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งให้รับผิดชอบในทำนองเดียวกับผม เมื่อเป็นอธิบดีเสร็จ ตอนนั้นทรงเรียกหาและต้องเข้าไปเฝ้าฯ พระองค์ท่านเป็นระยะๆ โครงการสำคัญๆ สมัยผมเป็นอธิบดีก็ผลิตออกมา เช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็สำเร็จในสมัยนี้ พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าต้องให้เสร็จในปี 2542 ทันแซยิด ก็เสร็จ ขอพระราชทานชื่อ เสด็จไปทรงเปิดเขื่อนขุนด่านปราการชล ตั้งแต่ออกแบบโครงการถึงขั้นตอนการจัดหา ว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง หลังจากนั้นผมก็เกษียณราชการ

หลังจากเกษียณราชการได้พบพระองค์ท่านเป็นครั้งคราว ในบางโอกาส แบบไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ทำงาน เช่น โอกาสเสด็จวางศิลาฤกษ์เขื่อนขุนด่านปราการชล เมื่อปี 2543 ตอนนั้นผมเป็น ส.ว.กทม. แล้ว เมื่อเสด็จผ่านทรงตรัสว่า เป็นอย่างไรบ้าง ไปเป็น ส.ว. สนุกดีไหม อะไรทำนองนั้น (หัวเราะ)

มีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับโอกาสอันสูงสุด รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เขาเปิดใจถึงความรู้สึกอันมิอาจกล่าวมาเป็นคำพูดได้ ว่า

“โอ้โห…ความรู้สึกมีมากมายเกินกว่าที่จะพูดออกมาเป็นคำพูดได้ หนึ่ง พระองค์ท่านทรงใช้ พอผมเป็นผู้แทนกรมชลประทานรับผิดชอบเต็มที่ก็ทรงใช้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงใช้ ไว้วางพระราชหฤทัย เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า มีโอกาสสำคัญในชีวิตที่ได้ทำงานถวายพระองค์ท่านเพราะทรงใช้ ทรงใช้ทุกเรื่องก็แล้วกัน ไม่อยากจะบอกว่าเรื่องอะไรบ้าง ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกรมชลประทาน ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ใด”

เขายอมรับว่าการได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับใช้ใกล้ชิด มิอาจทำให้ตัวเองมีอภิสิทธิ์เหนือบุคคลอื่นได้ ทว่า กลับต้องจัดระเบียบตัวเองให้ถึงพร้อมซึ่งพระจริยวัตรของพระเจ้าแผ่นดิน!

“ไม่มี (เสียงดัง) พระองค์ท่านไม่เคยพระราชทานรางวัลหรือว่าสิ่งใดให้กับใคร ไม่เคยพระราชทานเงินทอง ไม่มี เงินเดือนไม่ได้ขึ้น”

“แต่ผมได้รับพระราชทานสิ่งหนึ่งจากพระองค์ คือ หลวงพ่อจิตรลดา พระสมเด็จจิตรลดา มีอยู่ปีหนึ่ง รองสมุหราชองครักษ์เรียกผมเข้าเฝ้าฯ โทรศัพท์มาว่า โมทย์ เอ๊ย…พระองค์ทรงให้เข้าเฝ้าฯ 2 คน กับรองอธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้น ซึ่งทำงานถวายพระองค์ท่านก่อนผม พอเข้าไปถึงเสด็จลงมา ทรงตรัสว่า ก่อนทำงานเอาพระไปคนละองค์ พระองค์นั้นคือ พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระกำลังแผ่นดิน เป็นพระซึ่งทรงสร้างเอง รับสั่งว่า พระหมดแล้ว ไปค้นในกระเป๋าได้ 2 องค์สุดท้าย หมดแล้ว ก่อนทำงานเอาพระไปคนละองค์ โอ้ ดีใจที่พระองค์ท่านทรงค้นหาพระ 2 องค์สุดท้ายแล้วนึกถึงผม”

“นี่คือความผูกพันที่พระองค์ทรงนึกถึงเรา”

 

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ท่านทรงงาน ผมได้สัมผัสพระองค์ท่าน ได้ประสบการณ์ ได้ตัวอย่าง ได้อะไรต่างๆ จากพระองค์ท่าน เพื่อมาจัดการตัวเอง พระองค์ท่านทรงเป็นนักวิชาการ ทรงเป็นนักเทคนิค ผมก็ต้องจัดการตัวเองให้ถึงพร้อมกับการเป็นนักเทคนิค”

“พระองค์ท่านทรงขยัน ผมก็ต้องจัดการตัวเองให้ขยัน ขี้เกียจไม่ได้นะ พระองค์ท่านทรงขยันที่สุด ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่มี พระองค์ท่านไม่เคยเอ่ยพระโอษฐ์ ว่าเดือดร้อน จะเห็นแต่พระเสโท (เหงื่อ) ชุมโชก เราต้องอดทน พระองค์ท่านไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเหล่านี้ พระองค์ท่านยังทรงทำ เพราะฉะนั้น เราต้องอดทน งานทุกอย่างต้องสู้”

“นี่คือสิ่งที่ได้จากพระองค์ท่าน ทำให้ชีวิตมีความเจริญได้มากทีเดียว”