แมลงวันในไร่ส้ม /ข่าวร้อนท้ายปี ’61 ช่อง 3 ให้ พนง.เกษียณ ทุกค่ายปรับตัวรับปี ’62

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวร้อนท้ายปี ’61

ช่อง 3 ให้ พนง.เกษียณ

ทุกค่ายปรับตัวรับปี ’62

 

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2561 สถานการณ์ของสื่อไทยในปีนี้ยังคงอยู่ระหว่างปรับตัว ทั้งประคองสื่อสิ่งพิมพ์เดิม พร้อมกับขยับไปทำสื่อออนไลน์กันมากขึ้น

หนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ตีพิมพ์หลายกรอบ หดตัวลงมาพิมพ์ 2 กรอบ หรือ 3 กรอบ เพื่อลดต้นทุน

กองบรรณาธิการต้องปรับกำลังคน เน้นความกะทัดรัดเพื่อต้นทุนที่สอดคล้องกับสภาพของธุรกิจ

ปัญหาใหญ่ของสื่อในขณะนี้ นอกเหนือจากผู้อ่านหันไปอ่านข่าวออนไลน์ ทำให้ยอดหนังสือลดลง อีกปัญหาได้แก่ แผงหนังสือต่างๆ ร้านหนังสือ และเอเย่นต์จำหน่ายในจังหวัดต่างๆ ทยอยปิดตัว

เพราะราคาหนังสือพิมพ์ต่ำมาก ทำให้เหลือส่วนต่างน้อย เกิดสภาพไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มกับการเสียเวลามานั่งแกะห่อหนังสือพิมพ์แต่เช้าเพื่อเตรียมบริการนักอ่านในตอนเช้าๆ

ทำให้การกระจายหนังสือพิมพ์ไปสู่ผู้อ่านมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่สภาพการเมืองที่อยู่ในห้วงของรัฐบาลไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ที่เริ่มต้นจากพฤษภาคม 2557 มีระเบียบข้อห้ามต่างๆ มากมาย ทำให้การนำเสนอข่าว บทวิจารณ์มีปัญหา

เป็นข้อจำกัดทำให้สื่อหนังสือพิมพ์หมดบทบาททางสังคมไปมาก

ดังนั้น แม้จะยังมีผู้อ่านที่ยังติดใจกับการอ่านหนังสือพิมพ์เป็นเล่มๆ แต่ปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยก็มากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งเมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์ที่เปิดอ่านจากโทรศัพท์และอุปกรณ์ต่างๆ ยิ่งเห็นความแตกต่าง

 

ไม่เฉพาะหนังสือพิมพ์ แต่โทรทัศน์ก็อยู่ในสภาพต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

และเช่นเดียวกับสื่อกระดาษ ปัจจัยที่มีผลอย่างมาก ต่อสื่อทีวี ซึ่งมีการจัดระบบใหม่ๆ กลายเป็นทีวีดิจิตอลมาตั้งแต่ปี 2557 ก็คือ การเมือง

หลังจากผ่านขั้นตอนการประมูลในปี 2556 ทีวีดิจิตอลเริ่มลงมือออกอากาศในปี 2557 ตรงกับเวลาที่เกิดรัฐประหารพอดี

ถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สวยงาม เพราะกว่าทีวีเหล่านี้จะได้ออกอากาศปกติ เวลาก็ผ่านไปนับเดือน

บางช่องยอมจอดำ เพื่อตัดวงจรของต้นทุนที่งอกเงยทุกวันๆ

ที่เหลืออยู่จนปัจจุบัน หลายช่องล้มลุกคลุกคลาน ที่ยืนได้จริงๆ ไม่กี่ช่อง แต่ก็ผ่านการปรับทัพ ปฏิรูปตัวเองหลายรอบ

ช่องยักษ์ใหญ่ระดับช่อง 3 ช่อง 7 ก็ยังต้องปรับตัว

และต้นเดือนธันวาคมนี้เอง ก็มีการเผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

เช้าวันจันทร์ (3 ธันวาคม 2561) ดูช่างไม่สดใสสำหรับวงการสื่อ

เพราะเป็นวันที่พนักงานช่อง 3 เกือบร้อยคน ต้องลงชื่อพ้นสภาพ-ถูกเลิกจ้างออกจากงาน หลังจากเมื่อวันพฤหัสฯ (29 พฤศจิกายน) ผู้บริหารช่อง 3 ได้ประชุมมีมติให้มีการเลิกจ้างพนักงาน พอวันศุกร์แจ้งให้หัวหน้าแต่ละสายงานทราบเพื่อให้แจ้งไปยังพนักงานที่ถูกเลิกจ้างให้มาเซ็นชื่อในวันจันทร์

เรียกได้ว่าด่วนจี๋ ใครหยุดเสาร์-อาทิตย์ รู้ตัวอีกทีวันจันทร์ต้องออกจากงานแล้ว

และระบุว่า ผู้ที่ต้องออกจากงานครั้งนี้ เป็นพนักงานฝ่ายข่าวราว 80 คน ที่เหลือเป็นฝ่ายอื่นๆ แม้ทางช่อง 3 จะจ่ายเงินให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือค่าชดเชย 10 เดือน ค่าตกใจ (ไม่แจ้งล่วงหน้า) 2 เดือน แต่การเลิกจ้างอย่างกะทันหันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย

ข่าวเดียวกันยังระบุว่า ผู้ถูกเลิกจ้างยังอยู่ในวัยกำลังแรงงาน อายุช่วง 40-55 ปี แม้พวกเขาได้รับค่าชดเชยเป็นเงินก้อน แต่คุ้มหรือไม่กับการที่ต้องออกจากงานในวัยนี้

เชื่อว่าสาเหตุที่ช่อง 3 ต้องเลิกจ้างครั้งใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่ตกต่ำ

ก่อนหน้าไม่กี่วันสำนักข่าวรอยเตอร์ประจำประเทศไทยก็ได้เลิกจ้างนักข่าวไป 6 คนจนแทบเหี้ยน เหลือไว้เพียงแค่ 3 คน

ขณะที่ยังมีข่าวแว่วมาอีกว่ายังมีสื่อบางสำนักกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ เตรียมที่จะโละนักข่าวออกอีกชุดใหญ่ เอวังจริงครับอาชีพสื่อมวลชนไทยยามนี้

 

บ่ายวันเดียวกัน ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การปรับปรุงองค์กรด้วยการให้พนักงานที่อายุเกิน 60 ปีได้เกษียณอายุ

โดยชี้แจงว่า

  1. ในช่วงที่ผ่านมาไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยพิจารณาถึงจำนวนพนักงานและการตอบแทนพนักงานหลังเกษียณอายุ เนื่องจากไทยทีวีสีช่อง 3 มีจำนวนพนักงานจำนวนหนึ่งที่อายุเกินกว่า 60 ปี ดังนั้น โครงการเกษียณอายุจึงถือเป็นทางเลือกให้กับพนักงานกลุ่มนี้

ซึ่งจำนวนผลตอบแทนที่มอบให้ในโครงการเกษียณก็สูงกว่าสิ่งที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งยังมีการมอบประกันสุขภาพให้พนักงานที่เข้าโครงการต่อไป เพื่อให้พนักงานยังสามารถมีประกันสุขภาพดูแลตนเองต่อไปแม้จะเกษียณอายุไปแล้ว

  1. กรณีที่พนักงานรับเงินตามโครงสร้างการเกษียณแล้ว แต่บริษัทยังเล็งเห็นศักยภาพว่ายังสามารถปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งงานนั้นได้ต่อไปอย่างเต็มที่ พนักงานผู้นั้นก็จะได้รับการว่าจ้างต่อไปตามความเหมาะสม
  2. ตามที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ทางไทยทีวีสีช่อง 3 มีการปลดพนักงานกว่า 80 คนนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นความจริง เพราะขณะนี้บริษัทยังอยู่ในการพิจารณาอัตรากำลังที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของทีวีดิจิตอล ซึ่งยังไม่ได้มีเป้าหมายหรือตัวเลขที่ชัดเจนแต่อย่างใด
  3. อีกทั้งกรณีที่มีการเสนอข่าวว่า มีการปลดพนักงานอายุระหว่าง 40-55 ปีนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่จริงแล้วพนักงานในวัยนี้ถือเป็นกำลังสำคัญต่อการผลิตผลงานคุณภาพของไทยทีวีสีช่อง 3

ไทยทีวีสีช่อง 3 ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรอยู่เสมอ เพราะพวกเขาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและผลิตผลงานคุณภาพเพื่อผู้ชม สำหรับโครงการนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อปรับองค์กรให้เข้ากับสภาวะตลาด และเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสเลือกแผนในการดำเนินชีวิตของเขาต่อไป

 

นั่นคือข้อเท็จจริงจากช่อง 3 ส่วนในภาพรวม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวของสื่อ ซึ่งเน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก

เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นิวมีเดียเข้ามา disrupt สื่อเก่า ก็เรื่องหนึ่ง

โดยมีสภาพเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีปัญหา อันเป็นผลจากรัฐประหาร 2557 เป็นอีกตัวเร่ง

ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่า สื่อเองก็มีส่วนร่วม เชื้อเชิญและเรียกร้องให้เกิดขึ้น

เวลาผ่านไป 4 ปีเศษ และกำลังจะเกิดการคืนอำนาจ ด้วยการเลือกตั้งในปี 2562

น่าสนใจว่า การเลือกตั้ง การกลับสู่การเมืองปกติ จะช่วยให้สื่อได้ฟื้นตัวเองมากน้อยแค่ไหน