โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/เหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หลวงพ่อรุ่ง คังคสุวัณโณ วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี

หลวงพ่อรุ่ง คังคสุวัณโณ

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ [email protected]

เหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

หลวงพ่อรุ่ง คังคสุวัณโณ

วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี

 

“หลวงพ่อรุ่ง คังคสุวัณโณ” เจ้าอาวาสรูปแรกวัดหนองสีนวล ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเคียงคู่กับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เป็นญาติทางมารดา มีศักดิ์เป็นน้อง แต่หลวงพ่อรุ่งอ่อนพรรษากว่า และเป็นหลวงลุงของพระครูนิสัยจริยคุณ (หลวงพ่อโอด) วัดจันเสน

ในปี พ.ศ.2489 หลวงพ่อรุ่งจัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญพุ่มข้าวบิณฑ์” เป็นเหรียญรุ่น 2 เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง

ยังไม่ทันได้ปลุกเสก เมื่อสร้างเหรียญเสร็จ ก็ละสังขารลงเสียก่อน

หลวงพ่อเดิมจึงตั้งจิตอธิษฐานปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ด้วยตนเอง เพื่อไว้แจกในงานศพหลวงพ่อรุ่ง

ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีหูห่วง

ด้านหน้า มีขอบลายไทยล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปนูน หลวงพ่อรุ่ง ครึ่งองค์ และมีอักษรไทย เขียนว่า “ที่ระลึกหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล นครสวรรค์ ๒๔๘๙”

ส่วนด้านหลัง มีขอบลายไทยรอบเหรียญ เช่นกัน ตรงกลางเป็นยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า บรรจุอักขระขอม อิ ติ ปิ โส วิ เส เส อิ, อิ เส เส พุท ธะนา เม อิ, อิ เม นา พุทธะ ตัง โส อิ, อิ โส ตังพุทธะ ปิ ติ อิ กำกับด้วยอักขระขอม บน-ล่าง ปะ ถุ กา รัง

นับเป็นเหรียญหายากที่ทรงคุณค่า สมควรมีไว้ในครอบครองยิ่งนัก

.เหรียญหลวงพ่อรุ่ง (หน้า)

 

เกิดในสกุลแป้นโต เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2412 ที่บ้านหัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม

พ.ศ.2434 อายุ 22 ปี เบื่อหน่ายทางโลก เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มีพระครูพยุหานุศาสน์ (หลวงพ่อเงิน) วัดพระปรางค์เหลือง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อปั้น วัดหาดทะนง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “คังคสุวัณโณ”

อยู่จำพรรษาที่วัดพระปรางค์เหลือง ศึกษาปฏิบัติธรรมโดยตรงกับหลวงพ่อเดิมและหลวงพ่อเงิน ครั้นหลวงพ่อเงินมรณภาพ ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหาดทะนง ศึกษาเรียนปฏิบัติธรรมและวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงพ่อปั้น

จากนั้นออกเดินธุดงค์แสวงหาคสาทวิเวก ต่อมาได้รับนิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหัวหวาย ซึ่งขณะนั้นมีการสร้างทางรถไฟผ่านบ้านหัวหวายโดยชาวต่างชาติเป็นผู้รับเหมา มีการกีดกันไม่ให้ชาวบ้านใช้น้ำในบ่อ ซึ่งมีเพียงบ่อเดียว

ทราบความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงดำริที่จะหาสถานที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้าน

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง (หลัง)

 

เสี่ยงสัตย์อธิษฐานตามพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง จนมาพบพื้นที่หนองตานวลเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ท่านจึงนำชาวบ้านหัวหวายมาอยู่ที่หนองตานวล พร้อมก่อสร้างวัดหนองตานวลขึ้นด้วย

พ.ศ.2453 หลวงพ่อรุ่งนำชาวบ้านและลูกศิษย์ 2 คนเดินทางไปที่เขาชอนเดื่อเวลากลางคืน ขณะที่ท่านนั่งปฏิบัติธรรม ศิษย์ทั้งสองคนที่ท่านใช้ไปตัดใบตองได้ขึ้นไปบนยอดเขาชอนเดื่อ พบ “พระแสงศรกำลังราม” จึงนำมามอบให้หลวงพ่อรุ่ง

ต่อมา หลวงพ่อรุ่งได้นำพระแสงศรกำลังรามดังกล่าว ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากนั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพัดครุฑงานรัชมงคลแด่หลวงพ่อรุ่ง และพระราชทานเงินตราแก่ศิษย์ทั้งสองคนเป็นบำเหน็จตามสมควร

พ.ศ.2475 หลังจากหลวงพ่อรุ่งจัดสร้างวัดและชุมชนชาวบ้านจนเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ท่านดำเนินการสร้างอุโบสถ โดยมีหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และหลวงพ่ออิน วัดหางน้ำหนองแขม ช่วยเหลือด้านปัจจัย พร้อมทั้งนำคณะสงฆ์ช่วยสร้างจนแล้วเสร็จ ซึ่งในเวลาต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนชื่อวัดหนองตานวล เป็น “วัดหนองสีนวล” สืบมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากสร้างอุโบสถเสร็จแล้ว หลวงพ่อรุ่งยังจัดสร้างพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตัก 6 ศอก สูง 5 ศอก, กุฏิและห้องน้ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ ท่านยังจัดสร้างหุ่นด้วยปูนซีเมนต์ เป็นหุ่นรูปทหารอากาศล้อมรอบอุโบสถ ซึ่งต่อมาภายหลังทางราชการได้มาจัดสร้างสนามบินทหารอากาศ กองบิน 4 ขึ้นในพื้นที่บ้านหนองสีนวล

 

ด้านวัตถุมงคล หลวงพ่อรุ่งจัดสร้างขึ้นตามโอกาสวาระสำคัญ เพื่อให้คณะศิษย์ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาที่มีความประสงค์ต้องการไว้ครอบครองบูชาเป็นสิริมงคลของตนเองและครอบครัว ส่วนปัจจัยจะนำไปสมทบทุนก่อสร้างเสนาสนะให้กับวัด

หลวงพ่อรุ่งได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็น “ปูชนียบุคคล” ของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพราะท่านมีความเป็นอยู่ด้วยความสงบ ตามสมณวิสัย ซึ่งหาได้อย่างยากยิ่งในปัจจุบัน

ทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั่วไป รวมทั้งคณะสงฆ์ให้ความเคารพรักและศรัทธาอย่างจริงใจ

ชั่วชีวิตของหลวงพ่อรุ่ง ทุ่มเททำงานปฏิบัติงานทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนามากมายนานัปการ และทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชิงท่ามาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั่วไป

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้จีรัง บ่ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2489 หลวงพ่อรุ่งมรณภาพด้วยอาการสงบ

สิริอายุ 77 ปี พรรษา 55