ความเชื่อคนบูชาศาสนาผี กับ “ต้นไม้” ที่(ไม่)ควรปลูก

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เก๊าไม้ในล้านนา”

คนล้านนาหรือคนไทยเจ้าของวัฒนธรรมหลักทางภาคเหนือในปัจจุบันมีความเชื่อหลายด้าน

ความเชื่อทางพุทธศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นระดับความสำคัญที่สุด รองลงมาเป็นความเชื่อด้านสิ่งที่เป็นมงคลและอัปมงคลในการดำรงชีวิต

รูปธรรมทางความเชื่อสะท้อนออกมาเชิงสัญลักษณ์ที่เห็นได้ง่าย

เช่น สถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้าง สิ่งประดิษฐ์ และการจัดพื้นที่และสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยหรือชุมชนพื้นฐานวัฒนธรรมล้านนาเดิมมีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมไทเดิม (ไทเหนือ) ตั้งแต่ยุคตั้งแคว้นสุวรรณโคมคำ จนพัฒนามาเป็นอาณาจักรโยนกและอาณาจักรหิรัญนครเงินยางศรีเชียงแสน

การตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวลัวะ (ละว้า) ชนพื้นเมืองเดิม ทำให้มีการผสมผสานวัฒนธรรมกันขึ้นเป็นวัฒนธรรมไทยวนและพัฒนาต่อเนื่องเป็นวัฒนธรรมล้านนาเมื่อเข้าสู่ยุคที่พญามังรายมหาราชตั้งอาณาจักรล้านนา

“ไม้” ของชาวล้านนาหมายถึง “ต้นไม้” เป็นรูปธรรมธรรมชาติที่สัมพันธ์กับความเชื่อหลายระดับ

ไม้ที่ชาวล้านนาโบราณให้ความสำคัญสูงสุดก่อนมีความเจริญทางพุทธศาสนา ได้แก่ ต้นไม้ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของอารักษ์และวิญญาณบรรพบุรุษ

โบราณกาลนั้นชาวไทและชาวลัวะนับถือ (ลัทธิหรือศาสนา) ผี (Animism) ต้นไม้ดังกล่าวได้แก่ต้นไม้ใหญ่ โดยให้ความสำคัญของชนิดไม้ไปที่ ไม้ลุง (ต้นกร่าง) ไม้เดื่อ (ต้นมะเดื่อ) และไม้ยาง (ต้นยางนา)

ซึ่งไม้เหล่านี้ถือเป็น ไม้เสื้อบ้านเสื้อเมือง (ต้นไม้ที่สิงสถิตของผีบ้านผีเมือง) และถือได้ว่าเป็นไม้หมายเมืองของวัฒนธรรมชุมชน

ภายหลังพระพุทธศาสนาได้เริ่มประดิษฐานขึ้นในดินแดนล้านนา ไม้สรี (ต้นโพธิ์) กลายเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ชนิดใหม่ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า

ยังมีไม้นิโคธ (ต้นไทร) ต้นขะยอม (พะยอม) ไม้สาละ (ต้นสาละ) ก๊ำก่อ (บุนนาค) ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า

ด้วยไม้ทั้งห้าชนิดนี้เกี่ยวโยงกับพุทธประวัติ จึงทำให้ชาวล้านนาสักการบูชามากขึ้น

จนเริ่มหลงลืมไม้ศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิผีดั้งเดิม ไม้ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่มีการบูชาอีก ได้แก่ ไม้ส้มป่อย (ต้นส้มป่อย) ที่นิยมนำฝักมาผสมน้ำมนต์ในพิธีกรรมมงคลและทำน้ำมนต์ไล่ผีร้าย

คนล้านนามีการจัดกลุ่มไม้มงคลและไม่เป็นมงคล ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง

ไม้มงคลที่นิยมนำต้นหรือดอกไปประกอบพิธีกรรม หรือนิยมปลูก เช่น บัว พิกุล จำปี จำปา ขนุน ต้นไม้บางกลุ่มจัดว่าเป็นมงคลอาจเนื่องด้วยความงาม กลิ่นหอม ความเชื่อบางอย่างหรือเกี่ยวกับชื่อของต้นไม้ เช่น มะยม สะบันงา (กระดังงา)กาลสะลอง (ปีบ) มะม่วง มะขาม กล้วย จำป๋าลาว (ลีลาวดี) สะหลีจั๋นตา (ราชาวดี) จี๋หุบ (ยี่หุบ) ซอมพอ (หางนกยูง) เอื้อง แก้ว (พิกุล) มะลิ เก็ตถะหวา (พุดซ้อน) ด้าย (หงอนไก่) เข็ม ไผ่ โกศล คำปู้จู้ (ดาวเรือง) ตะหล้อม (บานไม่รู้โรย) หมาก และต้นว่านทั้งหลาย เป็นต้น

ต้นไม้กลุ่มที่จัดว่าไม่เป็นมงคล เช่น ต้นงิ้ว ป่านเถื่อน (ดอกรัก) มะกอก เป็นต้น

ดังนั้น การเลือกปลูกต้นไม้ในบริเวณที่พักอาศัยจึงเป็นเรื่องของความเชื่อของคนล้านนาที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนถึงปัจจุบันนี้