บทวิเคราะห์ : แบร์นาโด แบร์โตลุกชี จากผลงานอื้อฉาวสู่ 9 รางวัลออสการ์

แบร์นาโด แบร์โตลุกชี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอิตาลี ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยวัย 77 ปี ถือเป็นผู้กำกับฯ คนหนึ่งที่สร้างทั้ง “เรื่องอื้อฉาว” และ “ความสำเร็จ” ในช่วงชีวิตการทำงาน

แบร์โตลุกชีสร้างผลงานอื้อฉาวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจาก “ลาสต์ แทงโก อิน ปารีส” ในปี 1972 แต่ก็สร้างผลงานที่ได้รับเสียงชื่นชมจนนำมาซึ่งรางวัลออสการ์ 9 รางวัลจากผลงาน “เดอะ ลาสต์ เอ็มเพอเรอร์” ในปี 1987 เช่นกัน

ผู้กำกับฯ ชาวอิตาลี เกิดในเมืองปาร์มา ตอนกลางของประเทศอิตาลี ได้รับสืบทอดความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวจากพ่อผู้ทำอาชีพกวีและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ “อัตติลิโอ แบร์โตลุกชี”

เริ่มต้นเขียนบทกวีตั้งแต่เด็ก และมีผลงานตีพิมพ์ลงในนิตยสารตั้งแต่อายุยังไม่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ก่อนแบร์โตลุกชีจะได้รับรางวัลบทกวีระดับประเทศตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

แบร์โตลุกชีเริ่มต้นถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังจากยืมกล้องมาสร้างภาพยนตร์ 16 ม.ม. ขนาดสั้นและไม่มีเสียงขึ้นเป็นเรื่องแรก ก่อนที่ในปี 1961 จะดร็อปเรียนระดับอุดมศึกษาเพื่อทำงานในวงการภาพยนตร์เต็มตัว

ในฐานะ “ผู้ช่วยผู้กำกับฯ”

 

หลังจากหันมาเอาดีทางด้านการสร้างภาพยนตร์แทนการเขียนบทกวี ผู้กำกับฯ จากเมืองปาร์มา ก็ออกผลงานภาพยนตร์เขย่าขวัญเรื่องแรก “The Grim Reaper” ในปี 1962 ภาพยนตร์ซึ่งทำรายได้ไม่ดีนัก และต่อด้วยเรื่อง “Before the Revolution” ในปี 1964 เรื่องราวความรักของวัยรุ่นอิตาลีท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเมืองในปาร์มา ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ในเชิงบวกอย่างล้นหลาม

ภาพยนตร์ในช่วงแรกของชีวิตแบร์โตลุกชีบอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายของสังคมที่สะท้อนมุมมองทางการเมืองเอียงซ้ายของผู้กำกับฯ ไฟแรงผู้นี้อย่างมาก

หลังจากออกผลงานภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมาอย่าง “Last Tango in Paris” ในปี 1972 เป็นภาพยนตร์ที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ และยังคงตามหลอกหลอนแบร์โตลุกชี่มาจนถึงช่วงท้ายๆ ของการทำงาน

โดยเฉพาะฉาก “ข่มขืนทาเนย” อันอื้อฉาวที่ส่งผลให้ “Last Tango” ถูกจัดเรตเป็นหนังสำหรับผู้ใหญ่ในหลายประเทศ ขณะที่ในอิตาลี แบร์โตลุกชีต้องถูกศาลตัดสินจำคุก 4 เดือน รอลงอาญา ฐานเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร โดยคำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นหลังภาพยนตร์เข้าฉายได้เพียง 2 สัปดาห์ พร้อมโกยรายได้ทำสถิติ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐใน 6 วัน

เรื่องราวอื้อฉาวยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ เมื่อนักแสดงนำหญิงอย่าง “มาเรีย ชไนเดอร์” ที่ในเวลานั้นมีอายุเพียง 19 ปี ระบุในปี 2006 ว่า ฉากดังกล่าว “ทำลายชีวิตเธอ” และว่า มันคือสิ่งเดียวในชีวิตที่เสียใจ ก่อนที่ชไนเดอร์จะใช้ชีวิตกับการเสพยาเสพติด และเผชิญกับโรคซึมเศร้าก่อนเสียชีวิตลงในปี 2011

บทสัมภาษณ์ดังกล่าว รวมถึงบทสัมภาษณ์เปิดเผยเบื้องหลังฉากดังกล่าวของแบร์โตลุกชีเองที่ระบุว่า ตนไม่ได้บอกเรื่อง “เนย” ให้นักแสดงสาวรู้ก่อนเข้าฉาก ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยและวิจารณ์เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว

 

แม้ “Last Tango” จะเป็นผลงานที่สร้างปัญหา ทว่าแบร์โตลุกชีก็ได้รับเสียงชื่นชมจนนำมาซึ่ง “รางวัลออสการ์” 9 รางวัลจากผลงาน “The Last Emperor” ในปี 1987 ภาพยนตร์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนอย่าง “ผู่อี๋” หรือ “ปูยี” ที่คนไทยรู้จักกันดี

ภาพยนตร์ซึ่งทำให้แบร์โตลุกชีกลายเป็นผู้กำกับฯ ชาวอิตาลีคนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัลออสการ์ ใช้เวลาถ่ายทำถึง 4 ปีหลังจากได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลจีน แบร์โตลุกชีทุ่มทุนสร้างจำนวนมหาศาล ใช้ตัวประกอบถึง 19,000 คน ชุดรายละเอียดเหมือนจริงถึง 9,000 ชุด และนับเป็นภาพยนตร์ตะวันตกเรื่องแรกที่เล่าเรื่องราวในจีน และเป็นเรื่องแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำใน “พระราชวังต้องห้าม” ด้วย

แบร์โตลุกชี ผู้ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ กิตติมศักดิ์จากผลงานที่ทำตลอดช่วงชีวิต ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ เมื่อปี 2011 ยังคงสร้างภาพยนตร์ในปี 2012

แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าเรื่องก่อนหน้านั้นเท่าใดนัก

 

แบร์โตลุกชีเป็นผู้กำกับฯ ผู้ที่ค้นพบนักแสดงหญิงชั้นนำอย่าง “ลิฟ ไทเลอร์” รวมไปถึง “เอวา กรีน” ต้องมีสุขภาพย่ำแย่ ใช้ชีวิตอยู่บนรถวีลแชร์ตั้งแต่ช่วงต้นของปี 2000 เป็นต้นมาเนื่องจากปัญหาจากการผ่าตัดที่หลัง

ก่อนที่จะเสียชีวิตลง แบร์โตลุกชีตอบคำถามที่ว่า “อยากจะให้ผู้คนจดจำอะไรในตัวคุณมากที่สุด”

“ผมไม่สนใจหรอก” ผู้กำกับฯ มากประสบการณ์ระบุ และว่า “ผมคิดว่าหนังของผมก็ยังคงอยู่ ผู้คนสามารถดูพวกมันได้”