วิกฤติศตวรรษที่ 21 : รัสเซียกับการเคลื่อนไหวให้เศรษฐกิจโลกออกจากฐานดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤติประชาธิปไตย (32)

รัสเซียกับการเคลื่อนไหวให้เศรษฐกิจโลกออกจากฐานดอลลาร์สหรัฐ

การครองความเป็นใหญ่ในโลก พื้นฐานมาจากการครองความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจ การมีทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถจัดการทรัพยากรนั้นอย่างแข็งแรงมั่นคง หรือกล่าวแบบลดทอนก็คือ การครองความเป็นใหญ่ทางการเงิน เมื่อสามารถครองความเป็นใหญ่ทางการเงินแล้ว ก็จะสามารถควบคุมการค้า การผลิต การลงทุนและสร้างกองทัพขนาดใหญ่เพื่อสร้างและรักษาจักรวรรดิได้ยาวนาน

มีนักประวัติศาสตร์บางคนชี้ว่า การที่อังกฤษเรืองอำนาจขึ้นจนสามารถรบชนะฝรั่งเศสได้ในสงครามนโปเลียน (1803-1815) มาจากความเข้มแข็งกว่าทางการเงิน หรือเงินปอนด์ของอังกฤษแข็งแรงกว่าเงินฟรังก์ของฝรั่งเศส ชี้ว่าระหว่างปี 1688-1815 อังกฤษได้กู้เงินเพียงราวหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายทางสงครามทั้งหมด ขณะที่ฝรั่งเศสมีความยุ่งยากกว่า เช่น ต้องขายดินแดนลุยเซียนาให้แก่สหรัฐ ซึ่งก็ยังไม่พอ

อังกฤษเมื่อพิชิตฝรั่งเศสก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ในตะวันตก ขยายอาณานิคมและกองทัพไปทั่วโลก เงินปอนด์อังกฤษเป็นเหมือนเป็นเงินตราของโลก

แต่หลังจากต้องกรำสงครามที่มีค่าใช้จ่ายสูงอีกเป็นร้อยปี โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง จักรวรรดิอังกฤษและเงินปอนด์ก็เสื่อมถอยล่มสลายลง ถูกแทนที่ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐที่ก้าวขึ้นครองความเป็นใหญ่แทน

เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณ ตัวอย่างในสมัยจักรวรรดิโรมันตอนขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปี ค.ศ.117 มีดินแดนแผ่กว้างถึง 1.5 ล้านตารางไมล์ มีประชากรในปกครอง 130 ล้านคน สร้างถนนรวมราว 50,000 ไมล์ และสิ่งสาธารณูปโภคจำนวนมาก เพื่อเชื่อมดินแดนและผู้คนเข้าด้วยกัน กรุงโรมที่เป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิ ขณะนั้นมีประชากรราว 1 ล้านคน ได้มั่งคั่งขึ้นมากจากการค้า นำเข้าตั้งแต่ธัญพืช หินอ่อน โลหะ น้ำมันมะกอก แพรไหม ไม้ สัตว์ป่า และเหล้าองุ่น

ขณะเดียวกันก็พบว่าค่าใช้จ่ายในการธำรงรักษาจักรวรรดิ ได้แก่ การบริหารปกครอง การสร้าง และรักษาระบบโลจิสติกส์และการทหารสูงขึ้นทุกที กับทั้งทรัพยากรแร่เงินและทองที่ใช้ทำเหรียญเงินตราก็ร่อยหรอลง เป็นการกัดกร่อนจักรวรรดิจากภายใน

เพื่อแก้ปัญหานี้ จักรพรรดิและผู้ปกครองใช้วิธีที่ชาญฉลาดเป็นการซื้อเวลา ได้แก่ การค่อยๆ ทำให้เงินดีนาเรียสที่เป็นเหรียญเงินมาตรฐานใช้ทั่วไปมีส่วนผสมโลหะเงินลดลง

การลดความบริสุทธิ์ของเหรียญเงิน ทำให้รัฐบาลสามารถผลิตเหรียญได้มากขึ้น โดยมีค่าเงินตามที่ประทับไว้ เมื่อมีเงินตราหมุนเวียนมากขึ้น รัฐบาลก็สามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น สามารถรักษากองทัพขนาดใหญ่ไว้ได้

ตอนตั้งจักรวรรดิโรมันใหม่ (ค.ศ.64-68) เหรียญดีนาเรียสทำจากเงินบริสุทธิ์ 4.5 กรัม (ราวร้อยละ 90 ของเนื้อเหรียญทั้งหมด) เมื่อถึงสมัยพระจักรพรรดิมาร์คัส โอเรอเลียส (ครองอำนาจปี 161-180) เนื้อเงินเหลือเพียงร้อยละ 75

เมื่อถึงสมัยพระเจ้าแกลเลียนัส (ครองอำนาจปี 253-266) มีเนื้อเงินเพียงร้อยละ 5 เหรียญดีนาเรียสทำจากทองบรอนซ์ และเคลือบเงินไว้บางๆ เกิดการสึกกร่อนเสียง่าย

เมื่อถึงปี 265 มีเนื้อเงินเหลือในเหรียญดีนาเรียสเพียงร้อยละ 0.5 เกิดภาวะเงินเฟ้อใหญ่เนื่องจากเงินท่วมตลาด ราคาสินค้าพุ่งพรวด 1,000% ทั่วจักรวรรดิโรมัน มีเพียงทหารจ้างอนารยชนเท่านั้นที่ได้รับค่าจ้างเป็นเหรียญทองคำ ขณะที่ภาษีก็เพิ่มสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อลด และการค้าซบเซา

เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 3 เศรษฐกิจเป็นอัมพาต การค้าเหลือเพียงในระดับท้องถิ่น ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้า ไม่ใช้เงินตรา จักรวรรดิโรมันเสื่อมทรุดอย่างรวดเร็ว และแตกเป็นสามรัฐ ในช่วงวิกฤติของจักรวรรดิโรมัน (ค.ศ.235-284) มีจักรพรรดิขึ้นปกครองกว่า 50 พระองค์ เกือบทั้งหมดถูกฆาตกรรม ลอบสังหาร หรือตายในสนามรบ

พวกอนารยชนโจมตีมาจากทุกทิศทาง โรคระบาดเกิดไปทั่ว

การลดค่าเงินตราและภาวะเงินเฟ้อช่วยนำมาสู่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ.476 (ดูบทความภาพกราฟิกของ Jeff Desjardins ชื่อ Currency and the Collapse of the Roman Empire ใน visualcapitalist.com 19.02.2016 ตัวเลขนี้เป็นโดยประมาณ)

สหรัฐที่เป็นอภิอำนาจโลกขณะนี้ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิโรมัน นั่นคือ อาศัยการมีทรัพยากรธรรมชาติมาก มีการจัดการทรัพยากรนั้นอย่างแข็งแรง เติบโตทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ขยายดินแดนของตนออกไปอย่างกว้างขวาง สร้างแสนยานุภาพมีกองเรือเป็นต้นที่มหาอำนาจใดยากที่จะต้านทาน

จนในที่สุดเข้ามาแทนที่จักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิสหภาพโซเวียต

เกิดสภาพที่ขยายอำนาจทางกองทัพมากเกินไป ทำศึกสงครามทุกมุมโลก ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

แต่สหรัฐยังคงทำเช่นนี้ได้ เพราะยังรักษาความแข็งแกร่งทางเงินตราและการควบคุมการเงินโลกได้

ปูตินผู้นำของรัสเซียได้เล็งเห็นปรากฏการณ์นี้ ตั้งแต่ปี 2007 ได้เริ่มโจมตีสหรัฐที่ใช้ความเหนือกว่าทางการเงินและดอลลาร์ในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองและความเป็นอภิมหาอำนาจของตน

การโจมตียิ่งเพิ่มความรุนแรงตามสถานการณ์ความขัดแย้ง จนถึงเดือนตุลาคม 2018 ปูตินก็ประกาศว่าเขาสนับสนุนแผนการปลีกตัวจากดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ตั้งอยู่บนฐานเงินดอลลาร์อีกต่อไป

ทั้งที่รู้ว่าเป็นงานที่ยากลำบากและต้องใช้เวลายาวนาน แต่รัสเซียก็ไม่มีทางเลือกอื่น

เพราะตราบเท่าสหรัฐสามารถพิมพ์ธนบัตรได้ตามใจและควบคุมการเงินโลก ไม่ว่ารัสเซียจะพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงแม่นยำเพียงใด ก็ยากมากที่จะต่อสู้เป็นอิสระจากสหรัฐได้

รัสเซียมีความพร้อมบางประการในการทำหน้าที่นี้ ได้แก่ การเป็นประเทศใหญ่ มีทรัพยากรมาก เลี้ยงตัวเองได้ และที่สำคัญคือ การมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ใหญ่

ประเทศเล็กอื่นๆ เช่น อิรักและลิเบีย ที่เคลื่อนไหวปลีกตัวจากดอลลาร์สหรัฐล้วนประสบชะตากรรมที่เลวร้าย ผู้นำถูกสังหาร บ้านเมืองแหลกลาญ

รัสเซียยังมีความพร้อมที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ-การเมือง และความเชี่ยวชาญในการแสดงบนเวทีการเมืองโลก (ส่วนหนึ่งสืบทอดมาจากการเคยแสดงบทบาทอภิมหาอำนาจสมัยสหภาพโซเวียต)

อาศัยจังหวะและจุดอ่อนของสหรัฐในการรุกคืบจนสามารถสร้างกระแสการปลีกตัวจากเงินดอลลาร์ได้

จุดอ่อนสหรัฐในเรื่องนี้เกิดจากจุดแข็งของเงินดอลลาร์และการได้ควบคุมการเงินโลก นั่นคือ การที่สหรัฐมีเงินดอลลาร์ของตนเป็นสกุลเงินหลักในการเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ การทำธุรกรรมของโลกเป็นจุดแข็งที่ทำให้สหรัฐสามารถพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาใช้จ่ายสบายมือตามประสงค์ (โดยเฉพาะหลังจากยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำในปี 1971) และสามารถชักใยเศรษฐกิจโลก และแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอื่นๆ ได้ตามต้องการ

แต่จุดแข็งนี้เมื่อปฏิบัตินานเข้า กลายเป็นความเคยชินและเป็นจุดอ่อนไป ได้แก่

ก) กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวตั้งแต่ภาครัฐจนถึงภาคครัวเรือน

ข) เกิดการใช้จ่ายที่ผิด เช่น รัฐบาลใช้จ่ายในการทหารและการสงครามมากไป บรรษัทใช้ในการเก็งกำไร ควบรวมกิจการ ครัวเรือนใช้จ่ายในการบริโภคที่ไม่จำเป็น

ค) เกิดความโน้มเอียงในการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธมากเกินไป เนื่องจากเห็นว่าใช้ง่ายและได้ผล การใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธประสานกับการใช้อาวุธจริงนี้ได้แข็งตัวจนกลายเป็นกรอบความคิดของชนชั้นนำสหรัฐ เป็นเครื่องมือนโยบายต่างประเทศสหรัฐแบบคิดอย่างอื่นไม่ออก ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล และยิ่งปฏิบัติหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากรัฐบาลทรัมป์ปัจจุบัน สถานการณ์เช่นนี้เปิดโอกาสให้ปูตินเคลื่อนไหวอย่างสะดวกว่าถึงเวลาแล้วที่โลกจะก้าวออกจากฐานเงินดอลลาร์สหรัฐ

ความจริงสิ่งที่ปูตินทำไม่ได้เป็นของใหม่ ครุสซอฟผู้นำสหภาพโซเวียตเคยทำแล้วในอดีตปี 1957 หลังจากเห็นตัวอย่างที่สหรัฐใช้เงินดอลลาร์และการควบคุมการเงินโลกเป็นอาวุธบีบให้อังกฤษจำต้องถอนตัวจากการยึดคลองสุเอซ (ปี 1956) ได้ถอนเงินฝากดอลลาร์ออกจากธนาคารในสหรัฐไปฝากไว้ที่ธนาคารยุโรปเป็นการสร้างตลาดเงินดอลลาร์ในยุโรปขึ้น (ปี 1957) ซึ่งจะอยู่นอกการควบคุมของธนาคารกลางสหรัฐ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยด้วย

เพียงแต่ปูตินกระทำในระดับที่ใหญ่และลึกซึ้งกว่ามาก

เงินยูโรแกนกลางของการปลีกตัวจากดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มประเทศที่ดำเนินการปลีกตัวจากดอลลาร์สหรัฐเป็นผลสำเร็จได้แก่สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐ กล่าวเป็นความรู้สึกส่วนบุคคลได้ว่า “แสบเข้าไปถึงทรวง” ดังนั้น จึงได้เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาบริภาษสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ตัวอย่างเช่น

“แน่นอน สหภาพยุโรปก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเอาเปรียบสหรัฐ มาโจมตีกระปุกออมสินของเรา (โดยการเอาเปรียบดุลการค้า)”

“จากการคำนวณบางบัญชีพบว่าสหรัฐเป็นผู้จ่ายเงินร้อยละ 90 ของนาโต้ ขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นจำนวนมากยังจ่ายไม่ถึงร้อยละ 2 ของจีดีพีของตน” (หลอกเอากองทัพสหรัฐมารักษาความมั่นคงของยุโรป)

สิ่งที่ทรัมป์พูดมีด้านที่เป็นความจริง และการที่เขาออกมาทวงบุญทวงคุณแก่สหภาพยุโรปก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในความรู้สึกส่วนบุคคล แต่นั่นน่าจะเป็นการเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่ฉลาด เปิดช่องโหว่ที่จะถูกโจมตีกลับ ซึ่งสหภาพยุโรปก็กำลังทำอยู่แบบกล้าๆ กลัวๆ หรืออย่างระมัดระวัง

ความเป็นมาของสหภาพยุโรปและเงินยูโรที่ขึ้นมาเทียบชั้นกับดอลลาร์สหรัฐสรุปได้ดังนี้

1) สหภาพยุโรปก่อตั้งปี 1957 โดยสนธิสัญญากรุงโรม เรียกชื่อว่าประชาคมเศรษฐกิจยุโรป มีสมาชิกเริ่มแรกเพียง 6 ประเทศแกนได้แก่ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน จากนั้นมีสนธิสัญญาหลักอีกฉบับได้แก่สนธิสัญญามาสทริชต์ (1992) ก่อตั้งสหภาพยุโรป และสหภาพการเงินยุโรป (EMU) ซึ่งนำมาสู่การออกเงินยูโรปี 1999 (ใช้ทั่วประเทศสมาชิกปี 2002) มีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญามาสทริชต์อีกหลายฉบับ ล่าสุดได้แก่ สนธิสัญญาลิสบอน (2009) ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิก 28 ประเทศ ที่ใช้เงินยูโรเป็นทางการ 19 ประเทศ อังกฤษได้มีประชามติออกจากสหภาพยุโรป (2016) อยู่ในระหว่างการเจรจาที่วุ่นวาย

2) หลักการและเป้าประสงค์ของสหภาพยุโรปได้แก่

(ก) การเคลื่อนย้ายเสรี 4 ประการ สินค้า บริการ ทุน และผู้คน ซึ่งสามารถทำเป็นจริง จนกลายเป็นประชาคมที่ทรงพลังที่สุดในยุโรป ประชาค ยุโรปรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1957-1973 และยกระดับเป็นสหภาพยุโรปในปี 1992

(ข) ความเป็นเอกภาพและความเป็นตัวเอง ซึ่งก่อความขัดแย้งกับสหรัฐมาตั้งแต่ต้น โดยสหรัฐต้องการเห็นการรวมตัวของยุโรปเป็นแบบ “สหรัฐ แห่งยุโรป” คล้ายกับสหรัฐแห่งอเมริกา แต่แกนนำยุโรปต้องการสร้างยุโรปที่เป็นเอกภาพ เหมือนเป็นประเทศเดียว ไม่ใช่หลายรัฐมารวมกัน

ผู้ที่แสดงท่าทีนี้ชัดเจนได้แก่ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอโกล แห่งฝรั่งเศส ในปี 1963 เขาวีโต้การเข้ามาเป็นสมาชิกของอังกฤษว่ามีเจตนาแท้จริงประการใด และว่า อังกฤษสนิทสนมกับสหรัฐมากเกินไป อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 1973 หลังจากที่เดอโกลลาออกจากตำแหน่งในปี 1969

(ค) ความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกและตลาดโลก สหภาพยุโรปเผชิญกับปัญหาหลายอย่างในช่วงปี 1973-1985 ซึ่งถือเป็นช่วงชะงักงันหรือเป็นยุคมืด ได้แก่ ระบบเบรตันวูดล่มสลาย ภาวะการเงินปั่นป่วน วิกฤติน้ำมันหลายระลอก การแข่งขันจากญี่ปุ่นและประเทศเสือเศรษฐกิจเอเชียรุนแรงขึ้น ทางออกสำคัญได้แก่ การสร้างระบบการเงินยุโรปที่มีเสถียรภาพขึ้น สร้างระบบการเงินยุโรป (EMS ปี1979) และพัฒนาเป็นสหภาพการเงินยุโรป (ดูเอกสารชื่อ Economiic Effects of the European Single Market ของคณะกรรมการการค้าแห่งชาติ สังกัดกระทรวงต่างประเทศสวีเดน ใน kommers.se พฤษภาคม 2015)

2) สหภาพยุโรปยามต้องยืนโดยลำพังตน สหรัฐในสมัยทรัมป์ได้แสดงชัดเจนว่ายุโรปจำต้องพึ่งตนเอง จะไปอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ-การทหารของสหรัฐเหมือนเดิมไม่ได้ จำต้องยึดมั่นในหลักความเป็นเอกภาพของยุโรปและความแข็งแกร่งของเงินยูโรหากต้องการจะอยู่รอดมีบทบาทต่อไป แต่ก็ไม่ใช่งานง่าย

โดยสถานการณ์ ยุโรปต้องการโลกหลายขั้วอำนาจ ซึ่งปูตินพยายามชักนำอย่างไม่ขาดสาย

Russian President Vladimir Putin speaks during a meetng with scientists from the Russian Academy of Sciences’ Siberian Branch in Novosibirsk on February 8, 2018. / AFP PHOTO / Sputnik / Alexey NIKOLSKY

การปลีกตัวจากดอลลาร์ของรัสเซีย

รัสเซียได้ดำเนินการปลีกตัวจากดอลลาร์สหรัฐหลายเรื่องดังนี้

(1) ทิ้งเงินดอลลาร์ ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไปเกือบหมด จาก 96.1 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม เหลือ 14.9 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม 2018

(2) เสนอแผนการปลีกตัวจากเงินดอลลาร์ (ผู้เสนอแผนได้แก่นายอังเดร โคสติน ซีอีโอธนาคารวีทีบีของรัฐบาล ปูตินสนับสนุนแผนนี้) มีสาระสำคัญให้บริษัททั้งหลายของรัสเซียทำการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้เงินรูเบิลของรัสเซีย เงินยูโร และเงินหยวน ไม่ใช้เงินดอลลาร์ ให้บรรษัทใหญ่ของรัสเซียถอนจากตลาดหุ้นในต่างประเทศ กลับมาอยู่ในตลาดภายในประเทศ เพื่อให้พ้นภัยจากการแซงก์ชั่นของสหรัฐ

(3) สนับสนุนค้ำจุนประเทศตลาดเกิดใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจโลก หลายสกุลเงินที่เด่นได้แก่ การสนับสนุนอิหร่าน ตุรกี อินเดีย เวเนซุเอลา

(4) ปฏิบัติการข่าวสาร-การทูต ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทั้งเปิดเผยและแบบลับ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการรุกทางค่านิยมและวัฒนธรรมของรัสเซียต่อตะวันตก