จิตต์สุภา ฉิน : ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กับโซเชียลมีเดียแห่งความกลัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ราวสิบกว่าปีก่อน ซู่ชิงเคยไปใช้ชีวิตเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนทุน AFS อยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ซู่ชิงก็ยังคงติดต่อกับครอบครัวอุปถัมภ์ชาวอเมริกันอย่างสม่ำเสมอ

และในช่วงสามปีให้หลังมานี้เมื่อหน้าที่การงานทำให้ต้องบินไปสหรัฐอยู่เรื่อยๆ ก็ทำให้ได้ไปเยี่ยมเยียนพบหน้ากันบ่อยขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่เพียรพยายามทำเรื่อยมาและเพิ่งมาประสบความสำเร็จเอาตอนนี้ก็คือการชักชวนให้โฮสต์แฟมิลี่มาเที่ยวเมืองไทยค่ะ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซู่ชิงวุ่นอยู่กับการต้อนรับโฮสต์แฟมิลี่และวางแผนพาเที่ยวเพื่อทำให้มีประสบการณ์ในเมืองไทยที่น่าประทับใจที่สุด

พวกเขาทั้ง 6 คนเดินทางมาครั้งนี้เป็นช่วงเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐพอดิบพอดี และเมื่อซู่ชิงตัดสินใจเสียมารยาทถามไปว่าพวกเขาได้ไปเลือกตั้งล่วงหน้าลงคะแนนเสียงให้ใคร และคิดว่าทรัมป์ หรือฮิลลารี จะชนะการเลือกตั้งหนึ่งคืนก่อนประกาศผล

ทุกคนก็เงียบกริบ ไม่มีใครปริปากพูดอะไรสักราย

 

วันถัดมาเมื่อได้เจอกันอีกครั้งหลังมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ โฮสต์แฟมิลี่ของซู่ชิงทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้ม เบิกบาน หัวเราะกันอย่างเริงร่า และพูดออกมาเต็มเสียงด้วยความภาคภูมิใจว่าพวกเขาทุกคนโหวตให้ทรัมป์

เมื่อซู่ชิงถามว่า แล้วทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่พูดอะไรเลย

พวกเขาบอกว่าการประกาศตัวว่าเป็นผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นก็เหมือนแกว่งเท้าหาเสี้ยน โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียที่ใครซึ่งกล้าประกาศตัวออกไปว่าชื่นชอบทรัมป์นั้นก็จะถูกโจมตี ดูหมิ่น เหยียดหยาม ว่าเป็นพวกโง่ไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาเอาเสียเลย

ขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน กลับสามารถโพนทะนาความรักที่มีให้คลินตันยังไงก็ได้ไม่มีใครว่าอะไร (เอ๊ะ สถานการณ์นี้ก็แอบคุ้นๆ อยู่เหมือนกันนะคะ)

ซู่ชิงพบว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้น่าสนใจมาก

เพราะแน่นอนว่าเรื่องราวโฮสต์แฟมิลี่ของซู่ชิงสามารถสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบความคิดของคนอีกจำนวนมากที่ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์

และนี่ก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลสำรวจความนิยมหรือการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งทั้งหลายแหล่ล้วนออกมาเข้าข้างฮิลลารีอยู่เสมอ สื่อทั้งในอเมริกาและสื่อไทย (ที่หยิบข่าวมาจากสื่อเหล่านั้นในอเมริกาอีกที) ต่างโจมตีทรัมป์จนแทบไม่หลงเหลือเรื่องดีๆ

จนคนที่เสพข่าวในชีวิตประจำวันต่างก็คิดไม่ออกว่าจะมีใครยังจะบ้าลงคะแนนให้ทรัมป์อีก

แต่แล้วก็ต้องหน้าหงายเมื่อการนับคะแนนสิ้นสุดลง

 

โฮสต์แฟมิลี่ทุกคนบอกว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปก็จะยังไม่แสดงออกอะไรมากมายบนโซเชียลมีเดียอยู่ดี แต่จะเลือกคุยกับเฉพาะคนที่รู้ว่าเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ด้วยกันเท่านั้น

เพราะกระแสเกลียดทรัมป์แรงเชี่ยวจนพวกเขาก็ไม่อยากจะเอาเรือไปขวางโดยไม่จำเป็น

เรื่องนี้ทำให้ซู่ชิงคิดว่าบางครั้งการมีตัวตน มีอัตลักษณ์ที่พิสูจน์ได้บนโซเชียลมีเดียก็กลับเป็นข้อจำกัดทำให้เราไม่สามารถพูดในสิ่งที่ต้องการได้ เพราะไม่อยากต้องรับผิดชอบผลกระทบของการพูดสิ่งที่คิด

สอดคล้องกันพอดีกับตอนนี้ที่มีข่าวออกมาว่า ซีเคร็ต (Secret) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีคอนเซ็ปต์ให้ใครก็ได้เข้าไปเขียนระบายความในใจ สิ่งที่คิด หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องระบุชื่อ นามสกุล ที่ปิดตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วกำลังจะกลับมาอีกครั้งในเวอร์ชั่นสอง เนื่องจาก เดวิด บิตโทรว์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบอกว่าเหตุการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้นี่แหละค่ะที่ทำให้เขาต้องรีบออกมาประกาศการกลับมาของซีเคร็ต

บิตโทรว์บอกว่าคนบนโซเชียลมีเดียไม่มีพื้นที่ให้สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เพื่อนๆ ที่รู้จักหน้าค่าตากันในชีวิตจริง อันเนื่องมาจากความกลัวว่าคนอื่นจะมองตัวเองยังไง

ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะว่าซีเคร็ตในเวอร์ชั่นสองจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หรือไม่

และจะต้องใช้โมเดลไหนถึงจะทำให้แพลตฟอร์มนี้สามารถสร้างรายได้และยืนด้วยตัวเองได้

 

กลับมาที่เรื่องโซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้งอีกครั้ง กระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ยังยกเครดิตของชัยชนะครั้งนี้ให้กับการใช้โซเชียลมีเดียของเขาในการ “ต่อสู้กลับ” และรันแคมเปญหาเสียง เนื่องจากทรัมป์มีผู้ติดตามมากกว่า 28 ล้านคนบนแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

เขาบอกว่าการใช้โซเชียลมีเดียนั้นทำให้เขาลดต้นทุนในการหาเสียงไปได้เยอะมาก และเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพมากเลยทีเดียว

ขณะที่หลังเลือกตั้งเสร็จ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ซีอีโอเฟซบุ๊ก ก็รีบออกโรงมาประกาศว่าต่อไปนี้จะมุ่งมั่นในการหามาตรการป้องกันบรรดาข่าวลวงทั้งหลายที่แพร่กระจายอยู่บนเฟซบุ๊ก ซึ่งบิตโทรว์เชื่อว่าข่าวลวง ข่าวเท็จ หรือข่าวลำเอียงเหล่านี้แหละค่ะที่เป็นต้นเหตุทำให้ผลการเลือกตั้งแกว่งไปทางใดทางหนึ่ง

เรื่องนี้ก็ทำให้เราทุกคนฉุกคิดได้อีกว่าทุกวันนี้เราใช้เฟซบุ๊กเป็นแหล่งในการอัพเดตข่าวสารต่างๆ จนแทบจะเป็นประตูเดียวที่เราใช้เข้าถึงข่าวสารประจำวัน

บ่อยครั้งที่เราใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีในการกวาดสายตาอ่านพาดหัวข่าว โดยที่เราไม่ได้ตรวจสอบให้ดีด้วยซ้ำว่าข่าวเหล่านั้นมาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือหรือไม่

ทำให้ใครก็ได้สามารถตั้งเว็บไซต์ง่ายๆ ขึ้นมา เขียนข่าวอะไรก็ได้ แล้วก็เอามาแปะแชร์ไว้บนเฟซบุ๊ก

พาดหัวเรียกแขกสักหน่อยก็พร้อมจะถูกแชร์ต่อไปเป็นพันเป็นหมื่นแล้ว

 

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้ทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการโซเชียลมีเดียหลายรายต้องเก็บไว้เป็นกรณีศึกษาว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร

พร้อมๆ กับการช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยพอที่จะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ในยุคที่โซเชียลมีเดียทุกแห่งพยายามทำให้แพลตฟอร์มของตัวเองมีบรรยากาศที่โปร่งใสที่สุดด้วยการขอให้ทุกคนเปิดเผยตัวตนของตัวเอง

แต่การเผยอัตลักษณ์นั้นก็กลับทำให้พื้นที่สำหรับความจริงถูกจำกัดลงไปด้วย

ปิดท้ายสำหรับคนที่สงสัยนะคะ โฮสต์แฟมิลี่ของซู่ชิงให้เหตุผลว่าที่เลือกทรัมป์ก็เพราะเชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจพอที่น่าจะสามารถจัดการบริหารประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

และการมีเงินทุนส่วนตัวที่หนาเพียงพอก็คงทำให้ไม่จำเป็นต้องไปรับความช่วยเหลือจากใครให้ไปเป็นบุญคุณที่ต้องตอบแทนกันภายหลังเมื่อได้นั่งในทำเนียบขาว

ส่วนคนทางนี้ก็ได้แต่ทำตาปริบๆ และเฝ้าฝันถึงวันที่เราจะได้ใช้เหตุผล “ของเรา” ในการเลือกคนที่เราชอบให้ไปเป็นตัวแทนบริหารประเทศค่ะ