สุจิตต์ วงษ์เทศ/ เปิดโปง เสียดสีสังคม อารมณ์ขัน วรรณกรรมล้อเลียน

"ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์" สมัยต้นกรุงเทพฯ เป็นย่านกลางเมือง มีตลาดชาวบ้านค้าขายขวักไขว่อยู่หน้าวัดสุทัศน์ มีเสาชิงช้า และโบสถ์พราหมณ์ (อยู่ทางขวา ไม่มีในภาพ)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

เปิดโปง เสียดสีสังคม

อารมณ์ขัน วรรณกรรมล้อเลียน

 

ระเด่นลันได เป็นวรรณกรรมเสียดสีสังคมด้วยอารมณ์ขัน เยาะเย้ย ถากถาง ล้อเลียน เสียดสี นับเป็นเล่มแรกๆ ของไทย ราว 200 ปีมาแล้ว สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดิน ร.3 (พ.ศ. 2367-2394)

โดยใช้ฉันทลักษณ์แบบกลอนบทละคร แต่ไม่เจตนาจะให้เล่นละคร หากแต่งล้อเลียนบทละครยอดนิยมอย่างสูงยิ่งขณะนั้น คือพระราชนิพนธ์ ร.2 เรื่อง อิเหนา

 

กวีอารมณ์ขันแสบๆ สมัย ร.3

 

พระมหามนตรี (ทรัพย์) ขุนนางกระฎุมพี กวี ร.3 ผู้แต่งระเด่นลันได ชื่อตัวว่า ทรัพย์ เป็นต้นสกุล “สถานุวัติ” (น่าจะเป็นรุ่นไล่เลี่ยกับสุนทรภู่)

รับราชการตำแหน่ง “เจ้ากรมพระตำรวจในขวา” มีบรรดาศักดิ์ว่า “พระมหามนตรีศรีองครักษ์” (ถือศักดินา 2,000 ไร่) เป็นขุนนางกระฎุมพี และเป็นกวีสมัย ร.3 มีงานแต่งกลอนในจารึกวัดโพธิ์ และกลอนเพลงยาวอื่นๆ

แต่ที่สำคัญมากเป็นเพลงยาวบัตรสนเท่ห์ แต่งเยาะเย้ย เสียดสี และเปิดโปงขุนนางผู้มีอิทธิพลฉ้อฉลชื่อ “จมื่นราชามาตย์” หรือ พระมหาเทพ (ทองปาน) ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย (ศักดินา 800) [ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยามหาเทพเสพกษัตริย์ เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย (ศักดินา 2000)] จะยกบางตอนมาดังนี้

 

มิเสียทีที่เขามีวาสนา

แต่เห็นเห็นที่เขาเป็นขุนนางมา                  ไม่เหมือนราชามาตย์ในชาตินี้

ประกอบหมดยศศักดิ์และทรัพย์สิน            เจ๊กจีนกลัวกว่าราชาเศรษฐี

เมื่อชาติก่อนได้พรของหลวงชี                   จึงมั่งมีดูอัศจรรย์ครัน

เขาชมบุญเรียกเจ้าคุณราชามาตย์                แต่ร้ายกาจเกือบยักษ์มักกะสัน

ลงนั่งยังนาวาเหมือนชาละวัน                   ขึ้นบกตกมันเหมือนสิงห์ทอง

จะเข้าวัดตั้งโห่เสียสามหน                        ตรวจพลอึกทึกกึกก้อง

ห่อผ้ากาน้ำมีพานรอง                              หอกสมุดชุดกล้องร่มค้างคาว

นุ่งปูมเขมรใหม่วิไลเหลือ                         สวมเสื้อได้ประทานห่มส่านขาว

ลงจากหอกลางหางหงส์ยาว                      เมียชมว่างามราวกับนายโรง

ช่างหมดจดงดงามถึงสามอย่าง                  จะไว้วางกิริยาก็อ่าโถง

แต่ใจโตกว่าตับคับซี่โครง             เมื่อเดินโคลงโยกย้ายหลายทำนอง

ถนนกว้างสี่วามาไม่ได้                             กีดหัวไหล่ไกว่แขนให้ขัดข้อง

พวกหัวไม้เห็นกลัวหนังหัวพอง                 ยกสองมือกราบอกราบดิน

ฯลฯ

 

เหลิงอำนาจของขุนนางใหญ่

 

จมื่นราชมาตย์ เมื่อได้เป็นพระยามหาเทพ (ทองปาน) พระราชพงศาวดาร ร.3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีพรรณนาลักษณะเหลิงอำนาจโดยตั้งหัวข้อว่า “ความอัศจรรย์ของพระยามหาเทพ” “เจ้าคุณนั้นก็ทำยศเหมือนอย่างในหลวง” ทำศพพี่สาวกับลูกสาว เกณฑ์ผ้าขาวทำงานศพนับไม่ถ้วนแทบหมดเมือง ครั้นตัวเองตายไปไม่มีแม้แต่หีบใส่ศพตนเอง ดังนี้

“ครั้นทีตัวตายลงบ้าง ก็ไม่มีผู้ใดไปช่วย ได้ผ้าขาวไม่ถึงร้อยพับ แต่ชั้นหีบก็ไม่มีผู้ใดคิดต่อให้ บุตรภรรยาก็มัวแต่วิวาทะจะชิงสมบัติกัน หลวงเสนาวานิชไปอยู่ที่นั่น เห็นว่าไม่มีผู้ใดทำหีบ ก็ไปเรียกบ่าวไพร่ของตัวมาช่วยต่อหีบขึ้น จึงได้ไว้ศพ

อันนี้ก็เป็นความน่าสังเวชอย่างหนึ่งเมื่อมีชีวิตอยู่ผู้คนบ่าวไพร่ทั้งชายทั้งหญิงมีใช้อยู่ในบ้านกว่าพัน กล่าวไว้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายสืบไปภายหน้ารู้ไว้ว่าการที่เบียดเบียนข่มเหงคนดีทั้งปวงให้ได้ความเดือดร้อน มีชีวิตอยู่ก็พอเป็นสุขสบายไปได้ [สิ้นชีวิตไปแล้ว] ทรัพย์สินเงินทองเครื่องใช้บ่าวทาสก็ผันแปรเป็นอย่างอื่นไป บุตรก็ไม่ได้สืบตระกูล และบ้านเรือนโตใหญ่ก็เป็นป่าหญ้าไปทั้งสิ้น”

 

ตัวละครมีตัวตนจริงกับแต่งเติม

 

ระเด่นลันได แต่งขึ้นจากเรื่องจริงในกรุงเทพฯ สมัย ร.2, ร.3 (คำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ลันได เป็นแขกฮินดู สีซอขอทานอยู่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ วัดสุทัศน์ คนรู้จักทั่วไป (ขอทานผอมโซเห็นซี่โครงบานเหมือนผีเปรต เป็นที่มาของเปรตวัดสุทัศน์)

ประดู่ เป็นแขกเลี้ยงวัว (คู่อาฆาตของลันได) อยู่ริมคลองเมือง ใกล้ศาลอาญา (อนุสาวรีย์แม่พระธรณีฯ) สนามหลวง

ประแดะ เป็นแขกมลายู (ปัตตานี) เป็นเมีย “ทาสเชลย” ของนายประดู่ ต่อมาลันไดกับประดู่ทะเลาะกันเรื่องแย่งนางประแดะ เป็นที่ขบขันรู้กันทั่วไป

นางกระแอ (ตัวละครแต่งเติม) ชาวทวาย แม่ค้าข้าวเหนียวหน้ากุ้ง เป็นชู้รักของระเด่นลันได

ตัวประกอบ มี 3-4 คน เป็น “พวกหัวไม้กระดูกผีขี้ข้า”

 

วรรณกรรมล้อเลียนอิเหนา

 

ระเด่นลันได แต่งเพื่ออ่าน เป็นวรรณกรรมเพื่ออ่าน ไม่แต่งให้เล่นละครเพื่อดูและฟัง แต่สมัยหลังๆ มักมีผู้ยกไปเล่นละครตลก ด้วยลีลาละครชาตรี (ละครชาวบ้าน) ที่มีเสรีอย่างยิ่ง

ละครนอกสมัยอยุธยา หมายถึงละครชาวบ้านอยู่นอกวัง ปัจจุบันคือละครชาตรี

ส่วนละครนอกสมัยปัจจุบันต่างจากสมัยอยุธยา เพราะเป็นละครรัดเครื่องแบบละครใน แต่เล่นเรื่องชาวบ้าน จึงไม่ใช่ละครชาวบ้าน

 

สถานที่ (ฉาก)

 

บริเวณตลาดเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ และริมคลองเมืองใกล้อนุสาวรีย์แม่พระธรณีบีบมวยผม สะพานผ่านพิภพลีลา (เชิงสะพานปิ่นเกล้า ฝั่งกรุงเทพฯ) เป็นต้นเหตุให้ต่อไปมีชื่อ สี่แยกคอกวัว

เปิดตัวเอกระเด่นลันได เป็นขอทานสีซอขอข้าวสารอยู่ตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์ พราหมณ์ เป็นกลอนบทละครล้อเลียนจักรๆ วงศ์ๆ ด้วยลีลากวีสุดยอด

 

๏ มาจะกล่าวบทไป                      ถึงระเด่นลันไดอนาถา

เสวยราชย์องค์เดียวเที่ยวรำภา                   ตามตลาดเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์

อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน                     กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม

มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม                      คอยปราบปรามประจามิตรที่คิดร้าย

 

[รำภา หมายถึง ขอทาน น่าจะกลายมาจากคำลาว ว่า ลำพา มีชื่อเพลงพื้นบ้านว่า ลำพาข้าวสาร (แต่มักเขียน รำภาข้าวสาร) ลำ แปลว่า ทำนองลีลาร้อง, พา แปลว่า นำ ไป, ขอ]

คำมลายู แพร่หลายในราชสำนักกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากชาวมลายูตั้งแต่ดั้งเดิม แต่มีมากขึ้นหลังกวาดต้อนคนจากเมืองปัตตานีให้ตั้งบ้านเรือนที่บางลำพู (ถนนตานี)

ระเด่น (ชวา-มลายู) หมายถึง เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ เป็นคำนำหน้าพระนามแสดงพระยศ ว่าเป็นโอรส หรือธิดาของกษัตริย์เมืองใหญ่ เช่น ระเด่นมนตรี (อิเหนา) ระตู (ชวา-มลายู) หมายถึง เจ้าเมืองเล็กๆ ที่ไม่ใช่เมืองเอก