โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ/เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงปู่ทวง วัดบ้านยาง พระเกจิดังมหาสารคาม

หลวงปู่ทวง ธัมมโชโต

โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

หลวงปู่ทวง วัดบ้านยาง

พระเกจิดังมหาสารคาม

“หลวงปู่ทวง ธัมมโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านยาง ต.ยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าเรืองวิทยาคม

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมจากคณะศิษย์ คือ ตะกรุดเนื้อฝาบาตรและตะกรุดจารลงไม้ไผ่ ทำแจกผู้ที่มาร่วมทำบุญ

หลังจากมรณภาพครบ 18 ปี ในปี พ.ศ.2512 คณะศิษยานุศิษย์ชาวบ้านยางร่วมกันจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ทวง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดี รายได้สมทบทุนนำไปพัฒนาเสนาสนะภายในวัด

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ยกขอบมีจุดไข่ปลารอบ

เหรียญหลวงปู่ทวง (หน้า)

ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ของหลวงปู่ทวง ที่ใต้รูปเหมือนมีอักษรสองแถว แถวแรกเขียนว่า “หลวงพ่อทวง” แถวที่สองเขียนว่า “บรบือ” จากด้านขวาของเหรียญขึ้นไปด้านบนถึงใต้ห่วงมีอักขระยันต์ เขียนว่า “อะสัง วิสุโร ปุสะพุพะ” เป็นคาถาไตรสรณคมน์ ส่วนซีกซ้ายเริ่มจากใต้ห่วงโค้งลงมามีอักขระยันต์ อ่านว่า “ทะโร เน ปะ วิ ขุ สะ อะ เม อุ” เป็นคาถาหัวใจปาฏิโมกข์

ด้านหลังเหรียญ เริ่มจากด้านขวาเป็นอักขระยันต์โค้งขึ้นไปตามขอบเหรียญด้านบน วกลงไปทางด้านซ้ายเป็นอักขระยันต์เหมือนกับด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ แต่ใช้มือปิดหน้า ใต้ฐานพระพุทธรูปมีตัวอักษรเขียนว่า “หลวงพ่อกกกอก ๒๕๑๒” เป็นปีพุทธศักราชที่สร้าง

สำหรับพระพุทธรูปหลวงพ่อกกกอก เป็นพระพุทธรูปในตำนานที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเลื่อมใส เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณ

เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างสองเนื้อ คือ ทองแดงรมดำ สร้างไม่เกิน 3,000 เหรียญ และกะไหล่เงินอีกจำนวนหนึ่งแจกคณะกรรมการจัดสร้าง

ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ ปะรำพิธีวัดบ้านยาง นิมนต์พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังของมหาสารคามในยุคนั้นหลายรูปมาร่วมพิธีอธิษฐานจิต

แม้จะเป็นเหรียญตาย สร้างภายหลังจากหลวงปู่ทวงมรณภาพแล้ว แต่ด้วยเจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ ทำให้เหรียญมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านหลากหลาย

จัดเป็นเหรียญหนึ่งที่นักสะสมนิยมพระเครื่องต่างเสาะแสวงหามาบูชาไว้ในครอบครอง

เหรียญหลวงปู่ทวง (หลัง)

 

เกิดในสกุลรักษาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2421 ณ บ้านยาง ต.ยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเด็ก ช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง ครั้นอายุได้ 19 ปี เข้าพิธีบรรพชาที่วัดในหมู่บ้าน

จนอายุครบบวช 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดบ้านแดง อ.บรบือ มีหลวงพ่ออุทา วัดบ้านแดง เป็นพระอุปัชฌาย์

เดินทางไปจำพรรษาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย เรียนมูลกัจจายน์ ณ สำนักเรียนวัดบ้านหนองหว้า อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม กว่า 5 พรรษา และให้ความสนใจด้านวิทยาคม ในยุคนั้นชื่อเสียงของ “สำเร็จลุน” พระเกจิชื่อดังแขวงเมืองจำปาสัก ประเทศลาว โด่งดังไปทั่ว 2 ฝั่งแม่น้ำโขง

เดินธุดงค์ข้ามไปขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิทยาคมกับสำเร็จลุน ควบคู่กับการศึกษาบาลี อักษรขอม ไทยน้อย อักษรลาว ทำให้หลวงปู่ทวงมีความรู้ทางด้านอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่ง

หลังจากนั้นเดินทางกลับมาจำพรรษา เรียนปริยัติธรรมและเรียนภาษาไทยอยู่สำนักเรียนวัดมหาชัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม ช่วงนั้นวัดบ้านยาง ขาดแคลนพระผู้ใหญ่ บรรดาญาติโยมจึงนิมนต์ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด

หลังกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านยาง ด้วยความที่ท่านต้องการพัฒนาการศึกษาสงฆ์ รวมทั้งพัฒนาการศึกษาให้กับชุมชนท้องถิ่น ท่านทราบดีว่าพระภิกษุ-สามเณรที่มาบวชเรียนล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน

ท่านจึงได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดบ้านยาง โดยหลวงปู่รับหน้าที่เป็นครูสอนทั้งปริยัติธรรมและวิชาสามัญ หลวงปู่ให้การสนับสนุนการเรียนของพระภิกษุ-สามเณร หากรูปใดเรียนเก่งตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจะมอบทุนการศึกษาให้ทุกปี

ยุคนั้นสำนักเรียนวัดบ้านยางมีชื่อเสียงโด่งดังมาก แต่ละปีมีพระภิกษุ สามเณรสอบได้นักธรรมบาลีเป็นจำนวนมาก

 

ด้วยความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้หลวงปู่ทวงมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับหลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม วัดบ้านเหล่า

ทำให้ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม และประพรมน้ำพุทธมนต์ รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลตะกรุดที่เข้มขลังอย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ หลวงปู่ยังมีความรู้ด้านสมุนไพร ชาวบ้านในชนบท หากเกิดเจ็บป่วย จะพากันเดินทางมาขอรับยาสมุนไพรจากหลวงปู่กันเนืองแน่น โดยหลวงปู่ไม่ได้คิดค่ารักษาแต่อย่างใด

ด้านงานปกครองคณะสงฆ์ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านยาง และเป็นพระอุปัชฌาย์

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลวงปู่อาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคชรา สุดท้ายถึงแก่มรณภาพอย่างสงบใน พ.ศ.2494 สิริอายุ 73 ปี พรรษา 53