บทวิเคราะห์ : สำรวจธุรกิจใหญ่ริมฝั่งเจ้าพระยายุคเริ่มแรก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

การเปิดตัวไอคอนสยามเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมา เป็นอีกภาคสำคัญสังคมธุรกิจไทย เชื่อมโยงกับร่องรอยประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื่อมโยงกับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงปลายทางก่อนจะสู่อ่าวไทย ในอาณาบริเวณเมืองหลวง-กรุงเทพฯ

เรื่องราวนั้น กระตุ้นจินตนาการจากสิ่งก่อสร้างที่ยังคงปรากฏอยู่ ทั้งร่องรอยดั้งเดิม การต่อเติม และปรับเปลี่ยนใหม่หมด เป็นวัฏจักร ว่าด้วยการปรับโฉมฉากสำคัญอันตื่นตา ณ ริมน้ำเจ้าพระยา อย่างไม่ขาดสาย จากปัจจุบัน สู่ภาคสำคัญก่อนหน้านั้น

 

โรงแรมโอเรียนเต็ล

ผมเคยยิงคำถามกับเคิร์ต วาชไฟต์ กรรมการผู้จัดการโรงแรมโอเรียนเต็ล (ในขณะนั้น) โรงแรมที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่งว่า โรงแรมแห่งนี้มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างไร

เขาตอบทันทีว่า

“นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก ทุกครั้งที่แขกของเราตื่นนอนขึ้นมา เขาจะต้องรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เมื่อเขามองออกไปนอกหน้าต่าง เขาจะต้องรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน ไม่ว่าคุณจะไปพักที่ไหน จะเป็นบาหลี ฮ่องกง กรุงเทพฯ สหรัฐอเมริกา หรือแอฟริกา โรงแรมที่ดีจะต้องแทรกให้เห็นวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เพราะเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ แขกจากสหรัฐอเมริกาจะไม่เดินทางมาที่นี่ หากที่นี่เหมือนกับชิคาโก หรือซานดิเอโก เพราะพวกเขาต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ” (ข้อความบางตอน “จากโต๊ะบรรณาธิการ” โดยวิรัตน์ แสงทองคำ นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2544)

ในประวัติศาสตร์กว่า 100 ปีของโรงแรมโอเรียนเต็ล มีความสัมพันธ์กับบทบาทแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมิพักสงสัย มีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของประวัติศาสตร์ โรงแรมโอเรียนเต็ลมีการเปลี่ยนเจ้าของจากฝรั่งคนนั้นมาสู่คนนี้หลายครั้งหลายหน พร้อมกับเปลี่ยนผู้จัดการโรงแรมจากฝรั่งคนนั้นมาคนนี้ด้วยเช่นกัน

ตำนานโรงแรมแห่งนี้ มักอ้างอิงมาจากหนังสือ “The Oriental Bangkok” โดย Andreas Augustin และ Andrew Williamson เป็นหนังสือที่มีการค้นคว้าประวัติไว้ค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะให้ภาพเชื่อมโยง ให้ภาพสะท้อนเป็นวิวัฒนาการสังคมไทยตั้งแต่ยุคอาณานิคม หลังจากสนธิสัญญาบาวริ่ง ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามเย็น ด้วยเรื่องราวสีสันหลายฉากหลายตอน

จากที่พักลูกเรือสินค้าสู่โรงแรมชั้นหนึ่งของโลก (ค.ศ.1870-1893) มาถึงเรื่องราว แอนนา เลียวโนเวนส์ ตำนานซึ่งมีการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ด้วยเรื่องราวเกี่ยวข้องกับราชสำนักไทย ก่อนจะผ่านยุคผันแปรมากมายในช่วงสงครามโลก จนมาถึงยุคสงครามเวียดนาม

กับเรื่องราว จิม ทอมป์สัน หุ้นส่วนผู้โด่งดังของโรงแรมโอเรียนเต็ล กับฐานะผู้สร้างตำนานไหมไทยเคียงคู่กัน เขาได้หายตัวไปอย่างลึกลับขณะอยู่ที่มาเลเซีย นับเป็นจุดปิดฉากอีกยุคหนึ่งของโรงแรมโอเรียนเต็ล ก่อนจะเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงยุค Globalization

ไม่ว่าสังคมไทยจะมีปัญหาวิกฤตการณ์อย่างไร โรงแรมโอเรียนเต็ลดำเนินไปอย่างคงเส้นคงวาต่อเนื่อง

โรงแรมโอเรียนเต็ลเป็นต้นแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อ้างอิงกับทำเลที่น่าสนใจ เชื่อว่าเป็นโมเดล มีอิทธิพลไม่น้อยกับการเกิดขึ้นตามมาเป็นขบวน บรรดาโรงแรมชั้นนำ เครือข่ายโรงแรมระดับโลกอีกนับสิบแห่ง ณ ริมฝั่งเจ้าพระยา ในช่วงประมาณ 3 ทศวรรษมานี้

 

บุญรอดบริวเวอรี่

“ในปี 2453 พระยาภิรมย์ภักดีเล็งเห็นว่าการข้ามไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ มีปัญหามาก จึงริเริ่มทำธุรกิจเดินเรือ เรียกว่า “เรือเมล์ขาว” โดยตั้งเป็นบริษัท บางหลวง จำกัด กิจการดำเนินไปด้วยดี จนเริ่มมีคู่แข่งมาก และต่อมาเมื่อปี 2471 ทางราชการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าโรงยางเก่าไปฝั่งธนบุรีและตัดถนนใหม่เชื่อมตลาดพลู ประตูน้ำภาษีเจริญ ตามแนวทางที่เรือยนต์เดินอยู่ พระยาภิรมย์ภักดีจึงเบนเข็มหาธุรกิจอื่นในช่วงระยะเวลานั้น พระยาภิรมย์ภักดีได้พบมิสเตอร์ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปักและได้ลิ้มรสเบียร์เยอรมันแล้วถูกใจ และคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ จึงได้ยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทยในปี 2474″ (http://www.boonrawd.co.th/index.php/th/about/history)

เรื่องราวที่น่าสนใจอีกฉากหนึ่งปรากฏขึ้น เมื่อล่องแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเหนือ จากโรงแรมโอเรียนเต็ลมาประมาณ 20 กิโลเมตร จะมาถึงโรงเบียร์แห่งแรกของไทยซึ่งยังคงอยู่ ตั้งอยู่ฝั่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ย่านบางกระบือ

เรื่องราวสามารถย้อนกลับไปในช่วงเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ และเชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง พร้อมๆ กับโอกาสที่พลิกผันทางธุรกิจ

“ปี 2477 การก่อสร้างโรงเบียร์แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม บริษัทบุญรอดฯ เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อโกลเด้นไคท์และสิงห์ในเดือนกรกฎาคม ขายราคาขวดละ 32 สตางค์ด้วยความเพียรพยายามของพระยาภิรมย์ภักดี บริษัทสามารถครองตลาดเบียร์ได้ถึงร้อยละ 40 หลังก่อตั้งบริษัทได้หนึ่งปีครึ่ง”

อีกตอนหนึ่งของเรื่องราวการเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยเรื่องเล่าว่าด้วยปรับตัวทางธุรกิจ

เช่นที่ว่ากันว่า “พระยาภิรมย์ภักดีก็ได้นำเอาเบียร์สดใส่ถังไปเปิดให้ผู้คนดื่มฟรีในงานสโมสรคณะราษฎร ปรากฏว่าเป็นที่พอใจกันยิ่งนัก ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป มีลูกค้าจับจองสินค้าออกสู่ตลาด”

ปัจจุบันบุญรอดบริวเวอรี่กับเบียร์สิงห์ยังคงอยู่ แม้ผ่านช่วงเวลาอันหลากหลาย จากยุคผูกขาดตลอด 60 ปีแรก มาเผชิญสถานการณ์สั่นไหวในช่วงประมาณปี 2535-2536 เมื่อมีการเปิดเสรี ยุคการต่อสู้อันเข้มข้นกับคู่แข่งรายใหม่ เบียร์สิงห์ต้องสูญเสียฐานะผู้นำตลาดไประยะหนึ่ง ก่อนที่จะเรียนรู้และปรับตัวการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องราวสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจเก่าแก่ที่อยู่รอดอย่างบุญรอดบริวเวอรี่ สามารถปรับตัวได้หลายครั้งหลายครา

 

ธนาคารกสิกรไทย
สำนักงานใหญ่ราษฎร์บูรณะ

น่าจะเป็นตึกที่สูงที่สุดริมฝั่งเจ้าพระยา ฝั่งเดียวกันกับ ไอคอนสยาม เชื่อว่าเป็นอาคารสำนักงานธุรกิจใหญ่ของไทยแห่งเดียวอยู่ที่นั่นในเวลานี้ อยู่มาแล้วราวๆ 2 ทศวรรษ

ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ราษฎร์บูรณะ เป็นตึกสูงสำนักงานธนาคาร 42 ชั้น สูงถึง 177 เมตร นอกจากนี้ มีอาคารสูง 5 ชั้นอยู่ข้างเคียงสำหรับศูนย์คอมพิวเตอร์ธนาคาร และมีอาคารจอดรถ 1,000 คัน สูง 7 ชั้นด้วย มีบางเรื่องราวเรื่องเล่าเกี่ยวกับการออกแบบ โดยสำนักงานสถาปนิกใหญ่ของไทย–Design 103 ด้วยความเชื่อผู้บริหารธนาคาร อาคารจึงมีเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ “ปลายดาบ” เพื่อแก้เคล็ดบางอย่าง

ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่แห่งใหม่สร้างเสร็จในช่วงเวลาไม่ดีนัก คาบเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2540 การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2538 กว่าจะเปิดเป็นสำนักงานใหญ่จริงๆ ผ่านมาหลายปี เป็นช่วงเดียวกับธนาคารกสิกรไทยปรับโครงสร้างธุรกิจ

“ในช่วง พ.ศ.2528-2538 เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ อันนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยสามารถฝ่าวิกฤตมาได้ด้วยนโยบายและมาตรการสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม “การรื้อปรับกระบวนการทำงาน” ที่เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 นับว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวจนผ่านพ้นภาวะวิกฤตมาได้ ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารได้กำหนดภารกิจและค่านิยมร่วมที่ธนาคารมุ่งหวัง ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ และเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจใหม่” (https://kasikornbank.com/th/about/Information)

อันที่จริง “ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ราษฎร์บูรณะ” เป็นภาพสะท้อนร่องรอยประวัติศาสตร์ ย้อนไปไกลเช่นเดียวกัน

ย้อนไปไกลเมื่อศตวรรษก่อน เมื่อปี 2444 ต้น ตระกูลล่ำซำ เปิดร้านขายไม้สัก–ชื่อ ก้วงโกหลง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แถวๆ ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน

ช่วงเวลานั้น ในยุคอาณานิคม (2380-2475) สัมปทานไม้สัก กิจการโรงเลื่อย และการส่งออกไม้สัก ควบคุมโดยกิจการบริษัทการค้ายุโรปทั้งสิ้น อาทิ The Bombay Burmah, Borneo, East Asiatic Louis T. Leonowens Anglo-Siam ขณะพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเป็นเพียงรายเล็กๆ อยู่ภายใต้เครือข่ายบริษัทการค้าตะวันตกเหล่านั้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การค้าของ “ล่ำซำ” ในระยะแรกๆ ถือว่าเป็นเครือข่ายของระบบอาณานิคมในการทำสัมปทานป่าไม้

จากนั้นมีความพยายามสร้างโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติม ด้วยเครือข่ายธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเชื่อมโยงกับย่านเอเชียแปซิฟิก ขณะพ่อค้าชาวจีนในไทยสามารถทำธุรกิจกว้างขวางขึ้น ต่อกรกับธุรกิจอาณานิคมได้บ้าง ตระกูลล่ำซำแสวงหาโอกาสธุรกิจกว้างขึ้นเช่นกันด้วยแนวทางของตนเอง เครือข่ายธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกขยายตัวไปมาก โดยไม่ละทิ้งสายสัมพันธ์ดั้งเดิม หากสานต่อจากสัมปทานป่าไม้ ซึ่งไปถึงปลายทางแล้ว สู่ความร่วมมือใหม่กับตะวันตก โดยเฉพาะในกิจการค้าข้าว

ครั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐเข้ามาควบคุมการค้าสินค้าเศรษฐกิจไว้ในมือ ผู้นำในตระกูลล่ำซำจำต้องปรับตัว เข้าร่วมมือ ใช้ความสามารถในการบริหารกิจการค้าให้กับอำนาจรัฐใหม่

เมื่อผ่านสงครามโลกไปแล้ว โอกาสธุรกิจใหม่ครั้งสำคัญเปิดฉากขึ้น ตระกูลล่ำซำสามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจธนาคารสำเร็จ เข้าแทนที่อิทธิพลธนาคารอาณานิคมที่ถอนตัวออกไป นั่นก็คือ จุดกำเนิดธนาคารกสิกรไทย

ข้างต้นสะท้อนเรื่องราว ร่องรอยอดีต มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งอ้างอิง เป็นฉากร่วม และที่สำคัญมีบทเรียนร่วมสมัยอย่างน่าทึ่งอยู่ด้วย บทเรียนธุรกิจใหญ่ผู้อยู่รอด ว่าด้วยโอกาสใหม่ๆ และการปรับตัว