คุยกับทูตเนเธอร์แลนด์ ‘เคส ราเดอ’ สะท้อนสัมพันธ์การค้า หลังรัฐประหาร และ มุมมอง”การเลือกตั้งของไทย”

คุยกับทูต เคส ราเดอ สัมพันธไมตรีกว่าสี่ร้อยปีสยาม-เนเธอร์แลนด์ (3)

กรุงเฮก (The Hague) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสันติภาพและความยุติธรรม

เพราะสถาบันระหว่างประเทศจำนวนมากตั้งอยู่ที่นั่น ได้แก่ องค์การห้ามอาวุธเคมี (OPCW) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจสหภาพยุโรป (Europol) สำนักข่าวกรองอาชญากรรมของสหภาพยุโรป สำนักงานความร่วมมือด้านยุติธรรมยุโรป (Eurojust) และสำนักความร่วมมือทางตุลาการ (ECJ)

ทำให้กรุงเฮกได้รับสมญาว่าเมืองหลวงกฎหมายโลก

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.2014 สหภาพยุโรปได้มีมติเรื่องลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทยด้วยการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการในระดับการเมือง

พร้อมไม่ลงนามในกรอบตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกัน (PCA) จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นายเคส พิเทอร์ ราเดอ (His Excellency Mr. Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ให้ความกระจ่างต่อประเด็นคำถามต่างๆ โดยชี้แจงว่า

“เนื่องจากเราเป็นหนึ่งในหกรัฐสมาชิกก่อตั้งของสหภาพยุโรป ซึ่งได้ตัดสินใจร่วมกันในการลดระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยหลังการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.2014 จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง”

สหภาพยุโรปเติบโตขึ้นจากรัฐผู้ก่อตั้งหกรัฐ ได้แก่ ประเทศเบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ได้ผ่านการขยายในเวลาต่อมาเป็น 28 ประเทศในปัจจุบัน

“ดังนั้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างมากเมื่อนายกรัฐมนตรีของไทยประกาศว่าจะมีการเลือกตั้ง เราจึงตกลงกันเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วโดยมีมติฟื้นสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย”

“และระหว่างที่เรากำลังสนทนากันอยู่นี้ วันพรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมทวิภาคีระหว่างผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยจะมีผู้นำเอเชียและยุโรปทั้งหมดไปร่วมประชุม ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เราจึงยินดีมากที่จะมีการประชุมในครั้งนี้”

การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 12 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นกรอบความร่วมมือเดียวระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปในขณะนี้ ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถหารือแลกเปลี่ยนอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ในประเด็นความท้าทายต่างๆ ร่วมกัน โดยส่งเสริมให้มีการกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือที่ครอบคลุม 3 เสาความร่วมมือหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ปัจจุบันมีสมาชิก 51 ประเทศ และ 2 องค์กร คือ สหภาพยุโรปและสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันการก่อตั้ง และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ASEM ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ.1996

“เราซึ่งเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีความแตกต่างกับประเทศไทยเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต (death penalty) ซึ่งในปีหน้านี้ก็จะครบรอบ 1 ทศวรรษแล้วนับตั้งแต่การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศไทย และจะทำให้ประเทศไทยได้เข้าไปอยู่ในรายชื่อร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่พักการใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ อันเป็นสิ่งที่เราได้คาดหวังไว้โดยผ่านการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เพราะเราต่อต้านโทษประหารชีวิตไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดๆ และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก”

การประหารชีวิตนักโทษครั้งแรกในรอบ 9 ปีของไทย จึงนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องยังคงสมควรมีโทษประหารในประเทศไทยหรือไม่ ในขณะที่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเยอรมนีระบุว่า รัฐบาลไทยเพิ่งยืนยันว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางพฤตินัยภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศให้สำเร็จ หลังจากที่ไม่มีการประหารชีวิตมาเกือบ 9 ปีแล้ว การกลับมาประหารชีวิตจึงเป็นการก้าวถอยหลังที่น่าเสียดาย และเป็นสัญญาณที่น่าสะพรึงกลัว

ส่วนผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า การนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่สวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ ระหว่างการทบทวนสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนโดยสมาชิกสหประชาชาติ ตามกลไก Universal Periodic Review เมื่อปี ค.ศ.2016 ซึ่งประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต

แอมเนสตี้ระบุว่า 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ

“โชคดีที่จำนวนประเทศที่ต่อต้านโทษประหารชีวิตได้เพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยแจ้งว่ายังคงพยายามลดจำนวนกฎหมายที่มีโทษประหาร ดังนั้น เราจึงหวังว่าประเทศไทยจะมีความคืบหน้าในกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเรามีการปรึกษาหารือกันแบบทวิภาคีในประเด็นนี้กันอย่างมากมาย”

ท่านทูตเคส ราเดอ กล่าว

“แต่สำหรับด้านการค้า ทั้งไทยและเนเธอร์แลนด์ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับแรงกดดันจากประเทศยักษ์ใหญ่ที่ต้องการส่งเสริมการค้าทวิภาคีแต่เพิ่มมาตรการป้องกัน เราเห็นด้วยอย่างมากกับข้อตกลงการค้าที่เปิดกว้าง ดังนั้น ในความสัมพันธ์ทางการค้า ไทยกับเนเธอร์แลนด์มีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ทันทีที่ประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือน เราก็จะมีการเจรจาอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรี”

“ผมได้อ่านข้อความทั้งหมดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไป และเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ผมก็ได้พบปะหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยกประเด็นเรื่องการเลือกตั้งพร้อมกับยืนยัน โดยที่ผมยังไม่ได้เอ่ยถึง ดังนั้น เราจึงมีความมั่นใจในเรื่องนี้มาก”

“สหภาพยุโรปหวังว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยจะมีความน่าเชื่อถือและครอบคลุมทุกฝ่าย เพราะเมื่อไม่นานมานี้ คุณคงทราบดีว่ามีการเลือกตั้งในประเทศกัมพูชา และเราไม่ประทับใจกับผลของการเลือกตั้ง เพราะเขาทำให้ฝ่ายค้านหลักไม่สามารถเข้าร่วมได้”

“ผมเป็นเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ที่มีความรับผิดชอบครอบคลุมประเทศกัมพูชาด้วย เพราะเนเธอร์แลนด์กับกัมพูชามีความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน เราสนใจทำงานร่วมกัน เรามีธุรกิจร่วมกัน มีชาวดัตช์อาศัยอยู่ที่นั่น ขณะเดียวกันเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในกัมพูชา”

“สำหรับประเทศไทย สถานการณ์นั้นแตกต่างกันมาก เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีความน่าเชื่อถือ และสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ผมพูดได้ว่า เท่าที่ผ่านมาถึงตอนนี้ก็เป็นไปด้วยดี และดูเหมือนว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้าจะเป็นกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนที่สุด และเราก็ขอให้ยึดมั่นตามนั้น”