วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ /กูเต็นแบร์กเชิงเปรียบเปรย (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

กูเต็นแบร์กเชิงเปรียบเปรย (จบ)

 

การเปรียบเทียบยุคของเรากับกูเต็นแบร์ก เริ่มจาก The Gutenberg Galaxy (1962) ของมาร์แชล แม็กลูแฮน และ Orality and Literacy ของวอลเตอร์ ออง หนังสือที่ออกมาในช่วง 1960s

อันเป็นยุคทองของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีทั้งภาพและเสียง ทั้งสองมองว่า สื่อเก่าหรือหนังสือกำลังจะสิ้นสุดลง ในขณะที่สื่อใหม่หรือโทรทัศน์กำลังพาสังคมกลับไปสู่โลกของการอ่านออกเสียง

งานของแม็กลูแฮนนั้น โด่งดังเพราะริเริ่มใช้คำว่า global village หรือ information age แต่รู้กันว่าออกมาเพื่อตอบโต้ข้อวิจารณ์โทรทัศน์ในแง่ไม่ดี โดยยืนยันว่าสื่อนี้มีไวยากรณ์ใหม่ ซึ่งจะเอาหลักการของสิ่งพิมพ์ไปจับไม่ได้ (ดูบทความ Gutenberg Galaxy : ตัวพิมพ์กับการอ่าน (1-4) มติชนสุดสัปดาห์ พฤศจิกายน 2560)

สิ่งพิมพ์ไม่ใช่แค่พาหนะของการบันทึกหรือแสดงออก แต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก เพราะมีความแน่นอน (fixity) เป็นเอกรูปและทำซํ้าได้อย่างไม่จำกัด แท่นพิมพ์หมายถึงจุดสิ้นสุดของการ “อ่านออกเสียง” ทำให้การอ่านเงียบๆ คนเดียว (silent reading) หรือ “อ่านในใจ” แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่ตามมาคือการอ่านด้วยสายตา หรือยุคที่อักษรไม่ทำหน้าที่ “ถ่ายเสียง” อีกต่อไป

แต่วัฒนธรรมลายมือและการอ่านออกเสียง ทั้งช่วงก่อนและหลังการพิมพ์ จะถูกกำหนดด้วยความไม่แน่นอน เลื่อนไหล และความจำกัด ทั้งสองคนมองว่า การพิมพ์เป็นสื่อที่มีการควบคุมระเบียบการสื่อสารมาก และเข้าข้างการสื่อสารที่ฉับพลันกว่านั้น

ที่สำคัญ การพิมพ์เป็นสิ่งที่ผ่านมาชั่วคราว ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถาวร อองซึ่งเป็นลูกศิษย์ของแม็กลูแฮนจึงบอกว่าการพิมพ์เป็น “ช่วงผ่านระหว่างการอ่านออกเสียงยุคแรกกับยุคที่สอง” เท่านั้น

แน่นอน สั่นสะเทือนความคิดเรื่องสื่อและการเบ่งบานของสังคมมวลชน และมีผลต่องานวิชาการสาขาอื่นๆ อีกหลายเล่ม เช่น The Printing Press as an Agent of Change ของเอลิซาเบธ ไอเซนสไตน์ หนังสือเหล่านี้ใช้แนวคิดที่ว่าหนังสือและการพิมพ์เป็นตัวการสร้างจิตสำนึกใหม่ และให้กำเนิดคำว่าวัฒนธรรมสิ่งพิมพ์ (Print Culture)

ใน “ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์” ผู้เขียนคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดถึงการอ่านในใจ ซึ่งเข้ามาแทนที่การอ่านออกเสียง และชี้ว่าเกิดขึ้นเมื่อสังคมไทยรับเอาการพิมพ์เข้ามาในสมัยรัชกาลที่สาม หรือปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

ก่อนหน้านั้น แม้จะมีอักษรที่เขียนด้วยมือแล้ว เราก็ยัง “อ่านด้วยหู” หรือรับรู้สารจากภายนอกโดยอาศัยอายตนะส่วนอื่นๆ เช่น ฟัง, ดู, ดม, ชิม และรู้สึกพร้อมกัน ไม่ได้แยกใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงอย่างเดียว เมื่อมาถึงยุคการพิมพ์ เรา “อ่านด้วยตา” หรือแยกอายตนะในการรับสารออกจากกัน ซึ่งเป็นยุคที่อักษรไม่ได้มีบทบาทถ่ายเสียงมากเท่าเดิม

ในการเปรียบเปรยนี้ การอ่านในใจเพิ่งจะเฟื่องฟูในยุคของการพิมพ์ และสำหรับสยามก็คือ เมื่อเริ่มยุคบรัดเลนั่นเอง

 

แต่วัฒนธรรมสิ่งพิมพ์เป็นการมองแท่นพิมพ์เป็นเทคนิคการผลิตชนิดหนึ่ง และถูกถือว่าเป็นแบบ “เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด” (technology determinism)

ในขณะที่บางคน เช่น เรย์มอนด์ วิลเลียมส์, เอเดียน จอห์นส์ และไมเคิล วอร์เนอร์ ไม่ถึงกับคิดว่าวัฒนธรรมสิ่งพิมพ์นั้นไม่มีจริง แต่ต่อต้านแนวคิดเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดเต็มที่ เขาบอกว่าปัจจัยอื่นต่างหาก ที่มีอำนาจในการกำหนดว่าหนังสือจะมีสถานะอย่างไร

ปัจจัยที่ว่าอาจจะเป็นวิธีการเขียนและอ่านหนังสือแบบใหม่ อันได้แก่ เนื้อหาของงาน และการรวมกลุ่มของนักเขียน นักอ่าน เครือข่ายของร้านค้าและสายส่ง รวมทั้งอิทธิพลของการศึกษาและการเมือง

ใน The Nature of the Book เอเดียน จอห์นส์ ศึกษาบทบาทของหนังสือในชุมชนของนักวิทยาศาสตร์ ผู้ปกครอง กษัตริย์ หรือนักการเมืองในศตวรรษที่ 17 และพบว่าไม่ได้มีมากเท่าที่คิด เทคโนโลยีการพิมพ์อาจจะมีบทบาทสูง แต่ไม่ใช่ในขั้นชี้ขาด หรือพูดอีกอย่าง วัฒนธรรมการอ่านมีบทบาทสูงหรือเป็นตัวกำหนดที่สำคัญกว่า

แท่นพิมพ์เป็นเพียงอุปลักษณ์ของเทคโนโลยี และถ้าวัฒนธรรมสิ่งพิมพ์มีความหมายมากกว่าแท่นพิมพ์ หนังสือและการพิมพ์จึงจะมีฐานะที่สูงส่งตามมา

 

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเปรยนี้ยังมีประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ ทำให้ยุคก่อนการพิมพ์แลดูเป็นธรรมชาติและทันสมัยขึ้น เพราะการพิมพ์เป็นแค่ยุคที่มา “คั่นจังหวะ” ซึ่งหมายความว่า จะเข้าใจอนาคต ที่ต่อจากยุคสิ่งพิมพ์

ต้องเข้าใจวัฒนธรรมลายมือหรือการอ่านออกเสียงให้มากขึ้นเสียก่อน และสิ่งพิมพ์ที่มาพร้อมกับความเป็นปัจเจกชนและสื่อมวลชน จะเจริญในยุคเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม และจะเสื่อมถอยลงไปในปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อพูดถึงหนังสือหรืออัลบั้มรูปถ่ายของศตวรรษที่ 18 และ 19 ไม่ว่าจะในวงการวิชาการหรือหนังสือทั่วไป เราจะใช้คำว่ากูเต็นแบร์ก บรัดเล สื่อใหม่ และสื่อสังคมอย่างหลวมๆ และทำให้เรามองอะไรเป็นวงจรที่ย้อนกลับมาที่เดิม แทนที่จะเข้าใจอนาคต กลับวนเวียนอยู่กับอดีต หรือภาวะที่เก่ากว่าและยาวนานกว่า

อดีตที่ว่ามักจะมาจากอาการโหยหาอดีต (nostalgia) จึงเป็นของปลอม เรารู้ว่าใน “หมู่บ้านโลก” ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยของแม็กลูแฮนมีความไพรเวซี่หรือเป็นส่วนตัวต่างกัน ระหว่างหมู่บ้านไม่กี่ร้อยคน กับหมู่บ้านโลกที่มีมากกว่า 7 พันล้านคน

 

เป็นความจริงที่ว่า หนังสือกำลังลดความเสถียรหรือมั่นคง วงการพิมพ์กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต หนังสือพิมพ์ต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ส่วนวงวิชาการ ก็กำลังปั่นป่วนและมีการพูดถึง Digital Humanities มากขึ้น

แต่การแก้ความปั่นป่วนนี้ ถ้าเริ่มด้วยอดีตหรือมีความกลัวต่ออนาคตเป็นแรงขับดัน การใช้กูเต็นแบร์กเชิงเปรียบเปรย ย่อมช่วยสร้างอำนาจของนักวิชาการหรือนักสะสมหนังสือเก่า เพราะอุปลักษณ์ดังกล่าวสร้างอำนาจให้คนเหล่านี้

เช่น ทำให้อ้างได้ว่าตนและผลงานของตนกำลังอยู่ในยุคเดียวกับเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไวรัล รวมทั้งสื่ออื่นๆ ที่กำลังแพร่หลาย

ทางแก้ไม่ใช่หวนกลับไปหาสิ่งเก่า การมุ่งไปสู่อนาคต ต้องเริ่มจากการทำให้ตัวบทเป็นอิสระมากขึ้น และความเป็นอิสระนั้น แม้จะมีความเสถียรน้อยลง แต่เคลื่อนที่ได้มากขึ้น