ฉัตรสุมาลย์ : การอบรมพระวินัย

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเริ่มคณะสงฆ์นั้น 5 ปีแรกเป็นพระภิกษุสงฆ์ล้วน พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น ออกจากบ้านเรือนเป็นอนาคาริก (ผู้ออกจากเรือน) ด้วยความตั้งใจที่จะแสวงหาทางพ้นทุกข์ หลายรูป เมื่อออกบวชแล้วไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล

ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ในสมัยแรกจึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีพระวินัยเข้ามากำกับ เพราะทุกรูปมุ่งหวังพระนิพพานเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว

แม้เมื่อพระสารีบุตรยกประเด็นนี้ขึ้นมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ยังไม่ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องวางพระวินัย

พระวินัยเกิดขึ้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เมื่อมีพระที่ทำผิด เช่นกรณีแรก คือพระสุทิน ที่บวชแล้ว กลับไปเยี่ยมครอบครัว มารดาบิดาขอให้หลับนอนกับภรรยาของท่าน เพื่อให้ได้หลานไว้เชยชม ครั้นหลับนอนกับอดีตภรรยาไปแล้ว ก็รู้สึกว่าทำผิด ความสงสัยในการกระทำของตนนั้น ทำให้ทุกข์จนตรอมใจผ่ายผอม เพื่อนพระรูปอื่นก็ทักทายว่า เป็นอะไร ท่านจึงเล่าให้เพื่อนฟัง พระภิกษุก็พากันตำหนิ

เมื่อความทราบถึงพระพุทธองค์ ทรงไต่ถามได้ความเป็นสัตย์แล้วจึงวางพระวินัย ว่า ห้ามมิให้พระภิกษุเสพเมถุน กลายเป็นปฐมบัญญัติในปาราชิก คืออาบัติหมวดที่หนักที่สุดนั่นเอง

การวางกฎเกณฑ์เพื่อการปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีของสมณะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนเป็นปาฏิโมกข์ คือข้อห้ามในฝ่ายของภิกษุมี 227 สิกขาบท และ 311 สิกขาบทที่เราท่านคุ้นเคยแล้วนั่นเอง

ทีนี้ ก็ยังมีข้อพึงปฏิบัติอื่นๆ ที่มีรายละเอียดอยู่ในพระวินัย พระที่บวชใหม่ไม่ได้ศึกษาก็นึกว่า มีข้อห้ามเพียง 227 ข้อ มีพระภิกษุหนุ่มๆ บวชในสายมหายานมาเยี่ยม ท่านไว้เล็บยาว เห็นได้ชัดว่าท่านจงใจไว้ เป็นค่านิยมในหมู่คนจีนสมัยหนึ่งที่นิยมไว้เล็บยาว เพราะแสดงว่ามีสุขภาพดี แต่นั่นเป็นค่านิยมที่ยอมรับได้ตามกระแสชาวโลก แต่หากเป็นพระแล้วทำไม่ได้

ท่านธัมมนันทาออกปากทักท่านว่า ไว้เล็บไม่งาม ท่านเถียงว่า ไม่มีในข้อห้ามของพระภิกษุ 227 ข้อ

จริงๆ ด้วย แต่มีในพระวินัยค่ะ เรื่องการศึกษาข้อควรและไม่ควรจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างรอบคอบ

แม่ชีบางคนที่บวชเป็นสามเณรีและภิกษุณีก็เช่นกัน ยังอยู่ในกรอบความคิดว่า แม่ชีก็เหมือนสามเณรีนั่นแหละ เพราะตอนเป็นแม่ชีก็ถือศีล 10 เหมือนกัน

ก็ไม่ใช่อีกค่ะ เพราะแม่ชีไม่ได้ผ่านพิธีบรรพชา แม้จะถือศีล 10 ก็ยังนับว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถือศีล 10 ไม่ใช่สามเณรี ส่วนสามเณรีนั้น นับรวมในภิกษุณีสงฆ์

การบวชในพุทธศาสนานั้นมีสองระดับ คือ บรรพชา บวชเป็นเณร ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นสามเณรีนั่นเอง ระดับสูงขึ้นไป คือ เมื่ออายุครบ 20 แล้ว อุปสมบทเป็นภิกษุ หรือภิกษุณี

มีความซับซ้อนอีกนิดหนึ่งสำหรับผู้หญิง ข้อนี้ รักษาการสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันท่านย้ำ เมื่อพบกับท่านธัมมนันทาปลายปี 2557 ว่า การอุปสมบทภิกษุณีนั้น ผู้ขอบวชต้องมาจากสิกขมานา คือสามเณรีเข้มข้น ที่นอกจากรักษาศีล 10 แล้ว อนุธรรม 6 คือ 6 ข้อแรกนั้น ต้องเคร่งครัด รักษาไว้มิให้ขาดตลอด 2 ปี จึงจะได้อุปสมบทเป็นภิกษุณี

รายละเอียดเช่นนี้ มิใช่องค์ความรู้ที่จะติดตามหาอ่านได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการปลูกฝัง ลงมือทำ การอยู่ในสังฆะ ก็มีสังฆกรรมที่ต้องศึกษาและปฏิบัติตามอีกมากมาย

ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี โดยเครือข่ายภิกษุณีสายเถรวาทเอเชียร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการอบรมนานาชาติขึ้น จุดประสงค์เพื่อการอบรมบ่มเพาะเรื่องราวที่ว่านี้โดยเฉพาะ การอบรมนี้ตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี

ในปีที่ผ่านมา (2558) ที่วัตรจัดการอบรมตลอดพรรษา มีความยุ่งยากมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการต่อวีซ่า ภิกษุณีจากอินเดียได้วีซ่า 3 เดือน แต่ในความเป็นจริงต้องรอรับกฐิน ก็เลย 3 เดือน ต่อวีซ่าได้เพียง 7 วัน หลังจากนั้น อีก 5 วันก็โดนปรับ รูปละ 500 บาท รายหัว รายวัน ฮือ ฮือ หนักหนาอยู่

แม้อุปสรรคเช่นนี้ แต่ทางวัตรก็ยังไม่ละความพยายาม เพราะงานปลูกฝังพระวินัยเป็นเรื่องสำคัญ ปีนี้จัดอบรม 1 เดือน เลือกเอาเดือนมิถุนายน เพราะหลังจากนั้น ท่านก็จะได้แยกย้ายกันกลับไปจำพรรษาในประเทศของท่าน

ปีนี้ ท่านภิกษุณี ดร.หลิวฟับ ประธานของเครือข่ายภิกษุณีเถรวาทเอเชียเองส่งลูกศิษย์เป็นสามเณรีเวียดนาม 11 รูปมาเข้าหลักสูตร เงื่อนไขอย่างเดียวที่ทางผู้จัดเรียกร้อง คือส่งมากี่รูปรับได้หมด แต่ต้องมีคนแปลจากอังกฤษเป็นภาษาญวน เพราะปีก่อนมากัน 5 รูป แต่คนแปลไม่เก่ง แปลได้จากอังกฤษเป็นญวน แต่พอกลับจากญวนเป็นภาษาอังกฤษทำไม่ได้

น่าสนใจพระภิกษุณีที่เป็นล่ามรูปนี้อยู่ออสเตรเลียมา 25 ปี แต่ท่านทำงานเป็นคนคัดจดหมายที่ไปรษณีย์ ไม่มีโอกาสได้พูดคุยมากนัก และไม่ได้ไปจากฐานคนที่สนใจจะอ่านเขียน ไปอยู่นานก็เพียงแต่ได้ภาษาพูดโต้ตอบระดับชาวบ้าน

ปีนี้ ได้ท่านนิทาน ยังเป็นสามเณรีอยู่ แต่พื้นฐานมาจากครูสอนภาษาอังกฤษ ท่านแปลได้คล่องทั้งสองภาษา เราจะต้องใช้บริการแปลจากภาษาญวนเป็นภาษาอังกฤษในการฝึกเทศน์ตอนเย็น

ซึ่งแต่ละรูปต้องออกมาเทศน์เป็นภาษาญวน แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ

บรรยากาศในชั้นเรียน เรียนในชั้นกันวันละ 4 ชั่วโมง เช้า 2 ชั่งโมง และบ่าย 2 ชั่วโมง ท่านธัมมนันทาสอนเป็นภาษาอังกฤษ สามเณรีเวียดนามฟังแปลเป็นภาษาญวน และทางไทยก็มีล่ามไทย คือ ดร.กาญจนา มาช่วยแปลเป็นภาษาไทยให้แก่พระเณรไทย ต่างชาติ จากอเมริกา อิตาลี และเกาหลี ร่วมด้วย เป็น 5 ชาติ ชั้นเรียนจึงอบอุ่นและบรรยากาศสนุกสนานพอสมควร

พอลูกศิษย์ตาปรอยในช่วงบ่าย ท่านธัมมนันทาจะเบรก และขอให้หลวงพี่จัดหาสมอและลูกอมมาถวาย เป็นการผ่อนคลาย

นอกจากการเรียนอย่างเข้มข้นในชั้นเรียน ฝึกสามเณรีเวียดนามจะทำได้ง่าย เพราะเป็นสายเถรวาท สวดมนต์ด้วยภาษาบาลีด้วยกัน ท่านธัมมนันทา อยากให้ท่านสวดบทบูชาพระภิกษุณีอรหันต์เถรีได้ จึงต้องมีเครื่องล่อว่า จะถวายพระพุทธรูปกลับไปด้วย สำหรับรูปที่สวดได้ ลูกศิษย์ก็ถามว่า เผื่อสวดได้ทั้งหมดทำอย่างไร ท่านว่า “จะไปทำอย่างไร ก็ถวายท่านทุกรูปนั่นแหละ”

เราจะคอยดูกันค่ะว่า ได้รับพระพุทธรูปกลับไปเวียดนามกันกี่รูป

ที่เวียดนามนั้น สายเถรวาทยังใหม่อยู่ รวมทั้งภิกษุณีและสามเณรีทั้งประเทศไม่น่าจะถึง 50 รูป การสนับสนุนซึ่งกันและกันในระหว่างภิกษุณีเถรวาทจึงเป็นเรื่องจำเป็น

เวียดนามแม้ขณะนี้จะตามหลังประเทศไทย แต่ในอนาคตอาจจะแซงหน้า เพราะเวียดนามมีประเพณีการบวชของผู้หญิงอยู่ในวัฒนธรรมของประเทศอยู่แล้ว อย่าลืมว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีภิกษุณีสงฆ์มากที่สุดในโลก มีถึง 22,000 รูป ขณะที่ภิกษุมีเพียง 12,000 รูป สามเณรีที่มาฝึกในเดือนนี้ก็เป็นเด็กสาวๆ ในวัย 20 ปลาย และ 30 ต้นๆ โอกาสที่จะเติบโตมีมากกว่าไทย เพราะในประเทศไทยนั้น กว่าจะออกบวชได้ก็อายุมากเสียเป็นส่วนมาก พวกที่ยังสาวยังเด็กอยู่ โอกาสที่จะบวชทนก็น้อย

พอถึงตอนหลังสวดมนต์เช้า วันอาทิตย์และวันพระ พระเณรที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีจะออกบิณฑบาต ก็เป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้ออกไปมีประสบการณ์ตรงด้วย ดูจะประทับใจกันทุกรูป ทุกคน ที่วัดที่ท่านอยู่นั้น คือวัดเวียงคอง (สุญญตาราม) เป็นวัดที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน จึงไม่ได้ออกบิณฑบาต

ในตอนเย็นทุกวัน สังฆะจะออกทำงานกลุ่ม ตั้งแต่โกยหญ้า ย้ายโกดังไว้หนังสือ

ท่านธัมมนันทาออกปากว่า อยากมีลูกเณรเวียดนามอยู่เยอะๆ ขยันงานทุกคน ไม่อู้งาน ทุกคนตั้งใจทำงานเต็มที่ ทั้งที่พูดภาษาไม่ได้ หลวงพี่ชาวไทยก็ได้โอกาสส่งภาษาฟุตฟิตและใช้ภาษาใบ้เป็นหลัก แต่ท่านสามารถทำงานกันได้โดยการสังเกต เพียงทำให้ดูครั้งเดียวก็เข้าใจกัน

เป็นการอยู่ร่วมของสังฆะที่น่าประทับใจสำหรับผู้ที่ได้เห็นท่านทำงานด้วยกัน

บางวันท่านธัมมนันทาจัดรถให้พากันออกไปทัศนศึกษา ตั้งแต่พระปฐมเจดีย์ พระราชวังสนามจันทร์ ในนครปฐมเอง

ทริปถัดไปวันที่ 21 ไปชมพระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ และวัดเทพธิดา วัดเทพธิดานั้น ท่านสนใจเป็นพิเศษที่จะไปดูพระภิกษุณี 53 องค์ที่สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ค่ะ ส่วนวัดโพธิ์นั้น ที่วิหารพระนอน ท่านจะไปศึกษาจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นเรื่องราวของภิกษุณีที่เป็นเอตทัคคะ 13 องค์ที่นั่นค่ะ

กะว่าจะแวะพาท่านไปฉันเพลที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 24 พาไปชมประสาทเมืองสิงห์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว และชาวเมืองกาญจน์ให้ข้อมูลว่า มีวัดญวนที่เมืองกาญจน์ด้วย ก็คงจะให้ท่านได้แวะทักทายกันด้วยภาษาของท่านเองสักเล็กน้อย

สำหรับประสาทเมืองสิงห์นั้น ในชั้นเรียนตอนที่เรียนถึงประวัติศาสตร์สมัยที่พระเจ้าชัยวรมันในศตวรรษที่ 7 แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามานั้น เรามีหลักฐานทางโบราณคดีที่พบอโรคยาศาลถึง 42 แห่ง แผ่ขยายบริเวณตอนกลางของประเทศไทย

การไปชมโบราณสถานที่ประสาทเมืองสิงห์จะช่วยให้ท่านเห็นภาพอิทธิพลเขมรที่แผ่ขยายมาในบริเวณนี้ด้วย

โครงการอบรมพระวินัยนี้ เปิดรับทั้งคนไทยและต่างชาติค่ะ คราวนี้ก็มีภิกษุณีที่มาร่วมทั้งจากกาญจนบุรี สุรินทร์ และแม้ท่านที่จำพรรษาที่เวสาลี ประเทศอินเดียก็มาร่วมเข้ารับการอบรมด้วย

ในส่วนที่เป็นของพระ เช่น การสวดพระปาฏิโมกข์ สามเณรีและฆราวาสคนอื่นไม่ได้เข้าร่วม ก็มีงานอ่าน งานเขียนให้ทำ

ทุกเช้าวันเสาร์ อาทิตย์ ก็ได้ทำสมาธิโดยที่ท่านธัมมนันทาจะนำการทำสมาธิให้ นอกนั้น ท่านก็ทำกันเองตามคำแนะนำที่ได้รับ ทั้งช่วงเช้าและค่ำ

เดือนมิถุนายน ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี อบอุ่น สนุกสนานทีเดียว ท่านผู้อ่านแวะไปเยี่ยมเยียนได้ค่ะ