เพ็ญสุภา สุขคตะ : Free Write Award ครั้งที่ 3 ประเทศนี้ไม่มีเส้นแบ่ง ไม่มีภูมิภาคแห่งความขมขื่น

เพ็ญสุภา สุขคตะ

นี่คือตอนสุดท้ายว่าด้วยรางวัลฟรีไรต์อวอร์ดครั้งที่ 3

จะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งได้นำบทกวีของเขาตีพิมพ์เมื่อฉบับที่แล้ว

จากนั้นจะตบท้ายด้วยผลงานและบทสัมภาษณ์ของผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

 

กว่า 20 รางวัลการันตีคุณภาพ

นนทพัทธ์ หิรัญเรือง หรือนามปากกา “คมคำ สัตยาคม” (ใช้นามนี้เขียนส่งเวที Free Write Award เป็นที่แรก) อายุ 22 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีปีสุดท้าย สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยมีภูมิลำเนาเป็นชาวอำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

เริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกเมื่อปลายปี 2558 จากการชักชวนและส่งเสริมของครูกวีนาม “อนุวัฒน์ แก้วลอย”

ส่วนกวีที่ชื่นชอบและเป็นไอดอลให้แก่เขาคือ ไพบูลย์ วงษ์เทศ โชคชัย บัณฑิต” และศิวกานท์ ปทุมสูติ

ยอมรับว่าคนสุดท้ายนี้สำคัญมาก เพราะคมคำเติบโตทางโลกทัศน์มาจากการอ่าน “ทางจักรา” ปรัชญนิยายเล่มสำคัญของศิวกานท์ ปทุมสูติ

ผลงานตีพิมพ์ชิ้นแรกชื่อ “ตะปู” ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ปี 2559 จากนั้นบทกวี “ระยะห่างบนโต๊ะกินข้าวของแม่” ชนะเลิศรางวัลเปลื้อง วรรณศรี 2559, บทกวี “มิ่งมิตร” รางวัลชมเชยวรรณศิลป์อุชเชนีปี 2560, บทกวี “ก้าวที่กล้าเพื่อประชาธิปไตย” รางวัลชมเชยพานแว่นฟ้า ปี 2561, ผลงานรวมกวีนิพนธ์ (หนังสือทำมือ) “แท้ธารมิอาจกั้น” รองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2561

นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัล “กวีปากกาทอง” ของศูนย์สังคีตศิลป์ รางวัลคนเก่งภาษาไทย รางวัลลายลักษณ์วรรณศิลป์ รางวัล “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” รางวัลเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น รางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น รางวัลช่อมะกอก ฯลฯ

ถือว่าเป็นกวีรุ่นใหม่ที่กวาดรางวัลมากที่สุดในยุคสมัย เมื่อเทียบกับเพื่อนกวีที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะกวาดรางวัลมาแล้วตั้งแต่ระดับประชันกลอนสดวันภาษาไทย วันสุนทรภู่ของชมรมวรรณศิลป์ตามสถานศึกษาต่างๆ ไปจนถึงรางวัลระดับชาติ

 

มุมมองที่มีต่อบทกวีประชาชน Free Write Award

“เป็นรางวัลที่มีอุดมการณ์ชัดเจนมากที่สุด คือเพื่อ “ประชาชน” โดยตรง สำหรับผมโจทย์นี้ท้าทายไม่น้อย เพราะยุคปัจจุบันงานกวีนิพนธ์ลักษณะนี้ที่ผ่านหูผ่านตาผมนั้นมีน้อยมากๆ บทกวียุคหลังมักถูกนิยามให้เป็นเรื่องของการแสดงอารมณ์ความรู้สึกอันลึกซึ้งงดงาม หรือไม่ก็เป็นเรื่องประเทืองปัญญาที่ให้แง่คิดในระดับปรัชญา (ซึ่งเนื้อสารมักออกมาลักษณะที่อ่านยากและเป็นปัจเจกสูง) เสมือนว่าเป็น “เทรนด์” หลักของการเขียนกวีนิพนธ์ในทศวรรษล่าสุดนี้เลยก็ว่าได้

การที่รางวัลหนึ่งกล้า “ทวนกระแส” ด้วยการนำแนวคิดแบบ “เพื่อชีวิต” หรือ “ปากกาทวงธรรม” ที่บางคนมองว่า “เชย” ตกสมัยเสียแล้ว มาเป็นโจทย์หลักนับว่าเป็นความกล้าที่น่าชื่นชม”

“ในมุมมองของผม บทกวีไม่ว่าจะเขียนขึ้นด้วยอุดมการณ์แบบใดมันย่อมมีคุณค่าในตัวมันเอง มิควรเลยที่การเขียนบทกวีแบบใดแบบหนึ่งจะถูกลดทอนคุณค่าด้วยคำกล่าวหาว่าเป็นเรื่องตกยุค สำหรับผม Free Write Award คือรางวัลที่สืบทอดคุณค่าและการดำรงอยู่ของแนวคิด “ศิลปะเพื่อประชาชน” ได้อย่างงดงามและทรงพลัง”

“อีกข้อหนึ่งที่อยากชื่นชมคือในแง่ของการทำงาน เท่าที่ผมรู้ รางวัล Free Write Award เป็นรางวัลเดียวที่ประกาศรายชื่อผลงานเข้ารอบแต่ละรอบอย่างละเอียดที่สุด นับตั้งแต่รอบ 100 ชิ้น 20 ชิ้น จนถึง 5 ชิ้นสุดท้าย ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของผู้จัดและเป็นการให้กำลังใจผู้ส่งผลงานได้เป็นอย่างดี ขณะที่หลายเวทีเลือกประกาศเฉพาะรอบสุดท้าย ซึ่งมักสร้างความคลางแคลงใจให้กับผู้ส่งผลงาน ด้วยไม่มีโอกาสทราบเลยว่าผลงานที่ส่งไปฝ่าฟันนั้นถึงจุดไหนอย่างไรบ้างแล้ว”

“สำหรับบทกวีเรื่อง “ถึงเวลา” เขียนขึ้นจากการที่ผมได้รับฟังข่าวสารรวมถึงเสียงสะท้อนจากคนรอบตัวเกี่ยวกับความลำบากภายใต้การบริหารของรัฐบาลทหาร ขณะเดียวกันข่าวการจับจ่ายซื้อยุทธภัณฑ์มูลค่าสูงของรัฐก็ประโคมมาอยู่มิขาด เมื่อลองคิดว่าตนเองเป็นชาวบ้านผู้ทุกข์ยาก ได้รับฟังข่าวนี้ก็คงปวดใจไม่น้อย ทั้งหมดทั้งมวลนำมาจัดวางผูกเรื่อง ภายใต้แนวคิดที่ว่า เมื่อผู้บริหารประเทศมิมองประชาชนมาก่อน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องปลดเปลื้อง-ผลัดเปลี่ยน”

“สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ปรากฏในบทกวีคือ “ใบไม้” ผมมองแบบง่ายๆ ว่า ใบไม้เมื่อผ่านเวลาไปยังรู้มีการผลิผลัดใบ เมื่อโครงสร้างภายในสิ้นสภาพไปแล้วก็มิอาจฝืนเกาะกิ่งอยู่ได้ ตรงนี้อยากฝากสารถึง “รัฐเขียว” หรือ “รัฐทหาร” (ผู้เข้ามาแบบแหกกรอบกติกา) ว่าจะยังยื้ออยู่ยาวอย่างไร ทุกอย่างเมื่อถึงเวลาก็ย่อมต้องผลัดเปลี่ยน อย่าทำราวกับว่าไม่เข้าใจสัจธรรมข้อนี้”

รางวัลชนะเลิศ Free Write Award ครั้งที่ 3

อคน-ผ่านประเทศในความหมาย-ไร้อนาคต

: เมฆครึ่งฟ้า (ดานุชัช บุญอรัญ)

 

ประเทศนี้ไม่มีชั้น ไม่มีคนบนสวรรค์ในสยาม

ประเทศนี้ไม่มีพระราม ไม่จำเป็นต้องมีพราหมณ์ประเพณี

ประเทศนี้ไม่มีกบฏ ไม่มีกฎเกณฑ์ให้ใครกดขี่

ประเทศนี้ไม่มีอั้งยี่ ไม่จำเป็นต้องมีกระบอกปืน

ประเทศนี้ไม่มีเส้นแบ่ง ไม่มีภูมิภาคแห่งความขมขื่น

ประเทศนี้ไม่มีชาติถูกกวาดกลืน ไม่จำเป็นต้องมีผืนปริมณฑล

จนรถถังแหกคูประตูค่าย มาค้าขายนาฏกรรมความฉ้อฉล

ประเทศในความหมายเหมือนร่ายมนตร์ ประชาชนก็ฉิบหายแต่นั้นมา

มีแต่คนสิ้นหวังคนคลั่งแค้น คลอนแคลนหวั่นสะดุดหัวหลุดบ่า

มีแต่คนถูกปิดหู, ปิดตา และบรรดา “อคน” ให้อลเวง

อาละวาดวางเท่เป็นเทวดา ใช้อำนาจอาชญาเข้ากุมเหง

กำแหงเหี้ยนไม่เอียนอายน้ำลายตัวเอง เอาลิ้นโง่เขลาละเลงแผ่นดินราน

สิทธิเสรีภาพถูกปราบเรียบ สงบเงียบงกงัน, ปีผันผ่าน

ห้าปี มันสนุกสุขสำราญ เสมือนปานโลกันตร์กัปสำหรับเรา

เปลี่ยนเมืองเคยเห็นเป็นป่าช้า พลเมืองเปลี่ยนมาเป็นแมงเม่า

คนทุกข์คนยากมากลำเนา ล้วนบินเข้ากองไฟ, มันไม่แล

จวบรถถังจอดทำเนียบรัฐบาล อคน, พลสามานย์ยังแหนแห่

ประเทศนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปร ประเทศนี้ไม่มีแน่อนาคต

ประเทศนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปร ประเทศนี้ไม่มีแน่อนาคต

ประเทศนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปร ประเทศนี้ไม่มีแน่อนาคต!

 

ส่วนผม Free Write คือรางวัลชิ้นแรก

ดานุชัช บุญอรัญ หรือนามปากกา “เมฆ”ครึ่งฟ้า” อายุ 22 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี เกิดริมฝั่งแม่น้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ ใช้ชีวิตที่จังหวัดมหาสารคาม

“ในวัยเด็กช่วงที่หัดแต่งกลอนใหม่ๆ ยังไม่รู้จักคำว่า “บทกวี” รู้แต่ว่าถูกครูภาษาไทยบังคับให้ท่องจำตัวละครต่างๆ ที่นำมายัดไว้ในหนังสือเรียนมากมาย ขึ้นต้นประมาณว่า บัดนั้น… เมื่อนี้… ก็ลอกพล็อตเขามา เปลี่ยนตัวละครมาเขียนล้อเป็นชื่อพ่อแม่เพื่อนในห้อง จนหลังๆ พบว่ามันน่าเบื่อ จำเจ ตัวละครพระเอกมันก็ซื่อเกินไป ไอ้ตัวร้ายก็ร้ายอยู่นั่นแหละ”

“เริ่มมารู้จักบทกวีจริงๆ ก็ช่วงเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ปี 2553 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ช่วงนั้นได้มีโอกาสติดตามข่าวการปราบปรามการชุมนุมจากทีวีดาวเทียมจานดำ ในขณะที่ข่าวโทรทัศน์ช่องหลักๆ มีแต่การบิดเบือน ผมเห็นคลิปภาพป้าแก่ๆ คนหนึ่งถือธงยืนขวางแถวทหารถือปืนอยู่ รู้สึกเศร้าใจมาก จนนั่งร้องไห้ น้าก็นึกว่าผมอกหัก ผมเขียนกวีบทหนึ่งขึ้นต้นว่า “บัดนั้น นายพันสั่งให้ไล่กวด เลือดคั่งคลุ้งคาวร้าวรวด หญิงชราทิ่มพรวดหกคะเมน…” เขียนแล้วก็ร้องไห้อีก ไม่รู้จะทำยังไง”

“จากนั้นก็ติดตามเรื่องการเมืองตลอดมา กับฝั่ง นปช. ฝั่งพรรคเพื่อไทย ก็เห็นด้วยบ้าง ด่าบ้าง แต่โดยหลักการยังเชื่อว่าเป็นฝั่งที่อยู่ข้างประชาชนมากที่สุด เพราะพอเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น เดินทางมากขึ้น คุยกับคนมากขึ้น ทำให้มองเห็นที่มาที่ไปของอำนาจเชิงโครงสร้างที่เป็นขวากหนามสำคัญของระบอบประชาธิปไตย”

“พูดง่ายๆ ก็คือ รู้แล้วว่าตัวการมันคืออะไร เครื่องมือของคนพวกนั้นทรงพลังแค่ไหน คำเฉลยนี้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิทางวัฒนธรรม การกดขี่ ปกครองและวิธีปิดบังการกระทำนั้นผ่านขั้นตอนล้างสมอง-สร้างตำนาน-สร้างมายาคติ พูดง่ายๆ อีกทีก็คือ ตอบคำถามเรื่องราวของคนเดือนตุลาที่ผมเจอตอนค้นประวัติ “วิสา คัญทัพ” ได้ว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้ครูไม่เคยสอน ก็เพราะระบบมันไม่ให้สอน มันปกป้องคนบางกลุ่มอยู่”

“สำหรับไอดอลที่ทำให้ผมอยากเขียนกวีชื่อ “ยายตุ๋ง” คนบ้านเดียวกัน แกชอบเข็นรถเก็บขยะไปเรื่อยเปื่อย พร้อมกับขับลำไม่ก็ร่ายผญา ขอฟ้าขอฝน ส่วนกวีที่สร้างแรงบันดาลใจด้านกลวิธีฉันทลักษณ์ก็มีหลายคน เคยชื่นชอบเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ดักดานอยู่หลายปี กระทั่งเริ่มมาอ่านงานวิสา คัญทัพ คมทวน คันธนู (ชอบมากเป็นพิเศษคือ นาฏกรรมบนลานกว้าง) วัฒน์ วรรลยางกูร และไม้หนึ่ง ก.กุนที กวี 4 คนนี้ต่างหากที่เป็นแรงบันดาลใจด้านจิตวิญญาณ โดยเฉพาะไม้หนึ่งนี่ เอาไว้เป็นด่านกันกระสุนได้เวลาที่ผมถูกเพื่อนนักศึกษาวรรณกรรมยกเรื่องวรรณศิลป์มาคอยทิ่มแทงถากถาง”

“ผมไม่เคยมีงานตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน ผมเขียนกวีจริงๆ จังๆ ตอนที่สื่อมันกลายพันธุ์เป็นออนไลน์หมดแล้ว ผมจึงเขียนลงเฟซบุ๊กตัวเองนี่แหละ ถือว่าสำคัญทุกชิ้น มีคนกดไลก์ยี่สิบคนก็ภูมิใจมาก ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 เริ่มมาเป็นนักข่าวภาคอีสานให้เดอะอีสานเรคคอร์ด ทำข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ข่าวสิทธิชุมชน เลยได้เป็นเพื่อนทางออนไลน์กับบรรดาแอ็กติวิสต์ นักวิชาการ นักเขียนฝ่ายก้าวหน้าทั้งหลาย จึงพอรู้ว่ามีที่ให้ส่งงาน ก็ลองส่งไปหลายที่ มีที่เดียวที่ยอมรับงานผมไปเผยแพร่คือ “ประชาไท” ที่อื่นไม่เงียบหายไปก็คอมเมนต์กลับมาว่างานของผมไม่มีสุนทรียภาพ (ฮา)”

“ดังนั้น บทกวีประชาชน Free Write Award นี่ถือเป็นรางวัลแรกของชีวิตเลยละครับ ซึ่งผมมองว่ารางวัลนี้เป็นเหมือนรูเล็กๆ เท่าเส้นผมรูหนึ่งบนพื้นผิวของภาชนะที่กักน้ำทั้งมหาสมุทรเอาไว้ ต้องยอมรับว่าวงการวรรณกรรมไทยโดนผูกขาดโดยฝ่ายที่อยู่บนสุดของโครงสร้างรัฐมานานพอสมควร ในขณะที่กวีใหม่ๆ เองก็เกิดขึ้นทุกวัน พวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความพยายามลากถ่วงประชาธิปไตยของพวกที่กล่าวข้างต้น โชคดีที่ปัจจุบันนี้เราไม่จำเป็นต้องไปง้อวรรณกรรมกระแสหลักอีกต่อไปแล้ว FreeWrite ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น ซึ่งแนวโน้มในอนาคตผมเชื่อว่าจะมีความหลากหลายเปิดกว้างมากขึ้น”

“สุดท้ายนี้อยากบอกว่า นามปากกา “เมฆ”ครึ่งฟ้า” ผมไม่ได้ตั้งขึ้นมาให้ดูเท่หรือทำจุ๊ย แต่ผมตั้งไว้เตือนใจตัวเอง ว่าเรามีนักคิดนักเขียนคนหนึ่งชื่อ “อัศนี พลจันทร” ตอนอยู่ในป่าเขาใช้ชื่อว่า “สหายไฟไหม้ฟ้า” ผมก็คิดเล่นๆ เอาเองว่า สงสัยจะไหม้ยังไม่หมดฟ้ากระมัง เราอนุชนคนรุ่นหลังจึงยังตกทุกข์ได้ยากกันเช่นนี้ ความที่ศรัทธาในแนวทางของเขา เลยตั้งชื่อตัวเองอย่างนั้นเพื่อบอกตัวเองว่า…

“ยังคงเหลืออีกครึ่งหนึ่งนะ…ให้ทำงานต่อ”