ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เทศกาลลอยกระทง ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่พิธีขอขมาพระแม่คงคา แต่เป็นพิธีเลี้ยงผีบรรพชน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถึงแม้ว่าประเพณีลอยกระทงไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นที่กรุงสุโขทัย เพราะมีหลักฐานเป็นภาพสลักหิน รูปนางในราชสำนักกำลังต่อแถวกันลอยกระทง ที่ปราสาทบายน เมืองนครธม ประเทศกัมพูชา ที่เก่าแก่กว่าการสถาปนากรุงสุโขทัยร่วมๆ ร้อยปีเศษ

แถมเจ้ากระทงหลงทางใบน้อย ก็ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นด้วยพุทธิไอเดียอันบรรเจิดของ “นางนพมาศ” ตามที่พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้เคยสันนิษฐานเอาไว้ในลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ที่มีต่อพระยาอนุมานราชธน ฉบับลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2479

ดังมีใจความตอนหนึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือหนังสือนางนพมาศนั้น เป็นพระราชนิพนธ์ที่รัชกาลที่ 3 พระราชนิพนธ์ขึ้น ดังนั้น เรื่องนางนพมาศประดิษฐ์กระทง จึงเป็นเพียงนิยายประโลมโลกเรื่องหนึ่ง เมื่อสมัยต้นกรุงเทพฯ เท่านั้น

แต่สยามประเทศ ก็รู้จักการ “ลอยกระทง” มาแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในช่วงปลายของสมัยอยุธยา

ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของลา ลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส ที่เข้ามาในอยุธยาเมื่อครั้งแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อเรือน พ.ศ.2230

น่าสนใจที่ประเพณีการลอยกระทงที่มงซิเออร์ ลา ลูแบร์ ได้พรรณนาเอาไว้ในจดหมายเหตุของท่าน ชาวอยุธยาเขาไม่ได้จัดเป็นงานอีเวนต์ให้มีเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง ที่น้ำก็นองเต็มตลิ่งเท่านั้นนะครับ

เพราะมงซิเออร์ท่านนี้ได้เล่าเอาไว้ว่า เขามองเห็นแม่น้ำที่เต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำอยู่หลายคืน ไม่ใช่แค่คืนเดียวเหมือนอย่างปัจจุบัน

แปลง่ายๆ ว่า ลอยกระทงกันในช่วงนี้นั่นแหละ ก่อนจะค่อยเลิกกันไปเอง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงวันเพ็ญเดือนสิบสองเหมือนในปัจจุบันนี้ (แต่ต้องอยู่ในช่วงน้ำขึ้นปลายปีเก่า ต้นปีใหม่อย่างนี้เท่านั้น ถ้าไปลอยช่วงอื่นก็จะไม่ได้บรรยากาศ รวมถึงความขลังและศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด)

 

แต่การลอยกระทงในสมัยอยุธยา ไม่ได้ต่างจากประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย ทุกวันนี้ เฉพาะเพียงแค่จำนวนวันที่จัดให้มีพิธีเท่านั้นนะครับ

เพราะแม้แต่คำอธิบายในปัจจุบันที่ว่า การลอยกระทงนั้นกระทำไปเพื่อขอขมาแด่พระแม่คงคา ก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก สำหรับการลอยกระทงในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงพระราชพิธีของราชสำนัก ที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลดังกล่าว

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เพิ่งจะตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในข้อเขียนที่ชื่อ “ลอยกระทง “นาฏกรรมแห่งรัฐ” เริ่มกรุงเทพฯ ส่งเชียงใหม่” ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ว่า ในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยานั้นแสดงให้เห็นว่า พิธีลอยกระทงไม่ใช่เป็นเพียงพิธีขอขมาผีน้ำ (และผีดิน) เท่านั้น แต่ยังเป็นพิธีขอขมาผีบรรพชนอีกด้วยต่างหาก

กฎมณเฑียรบาลที่ว่าก็คือ กฎที่ใช้ภายในวัง ซึ่งตราขึ้นอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา (และจะถูกรวบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวงในภายหลัง) โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุถึงธรรมเนียมพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์อยุธยา ในพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ คือ พิธีขอขมาน้ำและดิน ที่กลายรูปเป็นประเพณี “ลอยกระทง” ในปัจจุบันเอาไว้ว่า

“…เรือเอนตั้งแพนแห่ ตัดถมอลอยเรือพระที่นั่งล่องลงไปส่งน้ำ ครั้นถึงพุทไธสวรรคจุดดอกไม้เล่นหนัง เสดจ์ลงเรือสมรรถไชย กับสมเดจ์พระภรรยาเจ้าทั้ง 4 ลูกเธอหลานเธอพระสนมลงเรือประเทียบขึ้นมาข้างเกาะแก้ว…” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ข้อความดังกล่าวสรุปได้ว่า ในช่วงประเพณีลอยกระทง พระเจ้าแผ่นดินของอยุธยา พร้อมด้วยพระชายา เจ้าจอม รวมถึงเชื้อพระวงศ์ต่างๆ ต้องเสด็จไปที่วัดพุทไธสวรรย์ เพื่อทำพิธีบวงสรวงบางอย่าง โดยมีทั้งการจุดดอกไม้ไฟ และเล่นหนังใหญ่

 

ถึงแม้ว่าในกฎมณเฑียรบาลจะไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าเป็นพระราชพิธีอันใดเป็นพิเศษ แต่ก็น่าสนใจว่า ตามข้อมูลในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้น พื้นที่บริเวณวัดพุทไธสวรรย์ ก็คือ ตำหนักเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง ก่อนที่พระองค์จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 หมายความว่า วัดพุทไธสวรรย์เปรียบได้กับถิ่นฐานดั้งเดิมของเชื้อสายพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

น่าสังเกตอีกด้วยนะครับว่า ชาวอยุธยาเคยนับถือเทวรูปองค์หนึ่งบนซุ้มคูหามุขของพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ว่าเป็น “พระเทพบิดร” และเรียกกันโดยทั่วไปว่าคือ “พระเจ้าอู่ทอง” ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็คือพระเทพบิดรแห่งกรุงศรีอยุธยาไปด้วยนั่นเอง

เล่ากันว่า พระเจ้าอู่ทององค์นี้ศักดิ์สิทธิ์นัก ผู้คนจึงชอบมาบนบานเซ่นสรวงไม่ขาด แต่อยู่มาพระเจ้าอู่ทองนั้นเกิดดุร้ายจนผู้คนหวาดหวั่นครั่นคร้ามไปทั่ว พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมช้างเสด็จขึ้นบัญชาการซ่อมแซมเพนียดทรงทราบเข้า ก็โปรดให้ปั้นแปลงรูปพระเจ้าอู่ทองให้เป็นพระพุทธรูป ซึ่งก็ว่ากันว่าแต่นั้นพระเจ้าอู่ทองก็หายดุร้ายลง แต่ชาวบ้านก็ยังนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์กันอยู่

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า พระราชพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยาต้องไปประกอบที่วัดพุทไธสวรรย์ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของทุกปีนั้น ก็คือ การไปบูชา “พระเทพบิดร” คือ “พระเจ้าอู่ทอง” ผู้ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ หรือผีบรรพชนของกษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์นั่นเอง

 

การลอยกระทงลงบนสายน้ำเพื่อเลี้ยงผี หรือขอขมาผี ไม่ได้มีร่องรอยอยู่เฉพาะในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นนะครับ

ในพิธีสารทจีน ซึ่งชาวจีนถือว่าคือ วันปล่อยผี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพญายมบาลนั้น ก็มีการลอยกระทงลงบนแม่น้ำ คล้ายๆ กับลอยกระทงของบ้านเรา

แต่พวกพี่จีนเขาลอยเพื่อไหลนำทางพวกผีทั้งหลายไปสู่แดนสุขาวดี ถือเป็นการโปรดผีทั้งปวงให้พ้นจากนรกภูมิ คือ เป็นการลอยกระทงเพื่อเลี้ยงผีเนื่องในวันเกิดของพญายมบาลนี่แหละ

ถึงแม้ว่า พิธีลอยกระทงวันสารทจีนจะมีเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ และไม่มีพิธีดังกล่าวนี้ในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลเลย แต่ก็มีร่องรอยของการลอยกระทงเพื่อเลี้ยงผี หรือขอขมาในทำนองเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วยอยู่ดี

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ ในวัฒนธรรมล้านนา ทางภาคเหนือของประเทศไทยนั้น มีคำเรียกพิธีในเทศกาล “ยี่เป็ง” (แปลตรงตัวว่า วันเพ็ญเดือนสอง ของล้านนา แต่ตรงกันกับวันเพ็ญเดือนสิบสอง คือช่วงวันลอยกระทงของไทยภาคกลาง เพราะความแตกต่างกันตามสภาพดินฟ้าอากาศ จากที่ตั้งภูมิศาสตร์ และลมมรสุม ที่ทำให้ดินแดนล้านนาเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก คือปีใหม่เร็วกว่าภาคกลางราวสองเดือน) ว่า พิธี “ลอยโขมด”

คำว่า “โขมด” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ผี” ในพิธีลอยโขมด ช่วงเทศกาลยี่เป็งของล้านนาโบราณนั้น จะลอยโคมขึ้นไปบนฟ้า (เพิ่งจะมาเพิ่มเติมการลอยกระทงลงในแม่น้ำ ตามอย่างรัฐภาคกลางคือ กรุงเทพฯ ในภายหลัง) จึงทำให้มีการอธิบายกันว่า โคมยี่เป็งที่ลอยไปบนฟ้านั้น มองไกลๆ แล้วคล้ายกับผีกระสือ จึงเรียกกันว่า ลอยโขมด

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องในชั้นหลัง ที่ไม่เข้าใจที่มาที่ไปของประเพณีแต่ดั้งเดิมแล้ว เพราะชาวล้านนาโบราณนอกจากจะเชื่อว่า การลอยโขมด หรือลอยโคมยี่เป็งนั้น นอกจากจะเป็นการลอยเคราะห์ ลอยบาป เอาเสนียดจัญไรออกจากตัวแล้ว ยังเป็นการลอยเพื่อส่งข้าวของบรรณาการให้กับโขมด หรือผีบรรพชนของตนเองอีกด้วย

และเมื่อเป็นการลอยเครื่องบรรณาการไปให้กับผีบรรพชนแล้ว ก็จึงไม่เห็นจะแปลกอะไรที่เรียกว่า ลอยโขมด ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับผีกระสือที่ไหนเลยสักนิด

 

ควรจะสังเกตด้วยว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทงในกรุงศรีอยุธยาเองก็ไม่ได้มีแต่การ “ลอยกระทง” ลงบนแม่น้ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการชักโคมขึ้นเสาประดับประดาตามฝั่งริมน้ำอย่างสวยงาม (โดยเฉพาะในยุคที่ยังไม่มีเสาไฟฟ้าใช้) ในช่วงเทศกาลเดียวกันนี้ด้วย

ถึงแม้ว่า โคมเหล่านี้จะตั้งอยู่อย่างสงบเสงี่ยมบนเสา ไม่ได้ลอยละล่องขึ้นไปบนฟ้าเหมือนการลอยโขมดของล้านนา แต่ก็แน่นอนว่า มันก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างระหว่างกันอย่างไม่ต้องสงสัย

การที่จุดประสงค์การส่งข้าวของเครื่องบรรณาการให้ผี หรือโขมด ในการลอยโขมดของล้านนา ดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการไปบูชาพระเทพบิดร คือการเลี้ยงผีบรรพชน ที่วัดพุทไธสวรรย์ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ของพระเจ้าแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยา จึงทำให้เป็นไปได้ว่า บางทีจุดมุ่งหมายในการลอยกระทง (ไม่ว่าจะทางน้ำ หรือทางฟ้า) ในช่วงเริ่มแรกนั้นก็คือ การเลี้ยงผีบรรพชนนั่นเอง

——————————————————————————————-

คำอธิบายภาพประกอบ : ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดพุทไธสวรรย์ เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี เนื่องในเทศกาลลอยกระทง ของราชสำนักในสมัยอยุธยา (ภาพจาก : https://www.matichon.co.th/columnists/news_217042)