อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ระลอกสอง เสถียรภาพในอุษาคเนย์

AFP PHOTO / ADEK BERRY

ภาวะย้อนแย้ง

ดุลยภาพอำนาจในอุษาคเนย์เปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต ( Rodrigo Duterte) เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ โดยมีข้อตกลงแบบทวิภาคี (bilateral)

เช่น โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงการร่วมทุนและสัญญาว่าจะมีการเจรจาเรื่องข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ (South China Sea)

อันเท่ากับว่า ประธานาธิบดีดูแตร์เตเชื้อเชิญให้จีนก้าวลึกเข้ามาเกือบสุดภาคพื้นสมุทรอุษาคเนย์

คงเป็นความฉลาดล้ำลึกที่ต้องติดตามดูว่า โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจสาธารณรัฐประชาชนจีนกับเอกชนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ท่าเรือ และเขตเศรษฐกิจพิเศษในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จะสำเร็จหรือคืบหน้าแค่ไหน

แต่เส้นทางของความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนก้าวเข้ามาลึกอย่างชอบธรรม โดยประธานาธิบดีลูกทุ่งที่ไม่พิสมัยความเป็นอเมริกัน แต่ได้เพิ่มดุลอำนาจให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีต่ออุษาคเนย์

ทั้งๆ ที่ฐานะการต่อรองของประเทศในภูมิภาคนี้โดยหลักการอิงอยู่กับการเจรจาพหุภาคี (multilateral) และหรือผ่านองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคคือ อาเซียน (ASEAN) ซึ่งประเทศภายนอกยอมรับ แม้แต่มหาอำนาจทั้งหลาย รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

สิ่งที่ย้อนแย้งคู่กันอยู่ตอนนี้คือ แรงตอบโต้ตรงกันข้ามของพี่ใหญ่สาธารณรัฐอินโดนีเซียต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน

ที่น่าสนใจคือเป็นเรื่องเดียวกันนั่นคือ ปัญหาทะเลจีนใต้

 

ความมั่นคงในพื้นสมุทร

ในทัศนะใหม่ของจาการ์ตา

สาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นมหาอำนาจในอุษาคเนย์ด้วยเหตุผลหลายประการ ในมุมมองของจาการ์ตา ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ความเป็นชวา (Javanese) คือ ความเป็นชวาปกครองชุมชนเล็กๆ หลายชาติพันธุ์ตามหมู่เกาะทั้ง 17,000 เกาะรอบเกาะชวา

คนชวาเป็น หลัก ของเสถียรภาพ ความเป็นหนึ่งเดียวและความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร โดยชนชั้นนำชาวชวาคุ้มครอง ปกป้องหมู่เกาะอื่นๆ ที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีววิทยา (biodiversity) ในสุมาตรา ปาปัวนิวกินี สุลาเวสี (Sulawesi) กาลิมันตัน (Kalimatun) บอร์เนียว (Borneo) โดยไม่อาจปล่อยให้ชนชั้นนำในเกาะใหญ่เหล่านี้อาศัยชาติพันธุ์ของคนกลุ่มน้อยลุกฮือ ต่อต้าน และเป็นอิสระจากสาธารณรัฐไม่ได้เลย

จะเห็นได้ว่า ทั้งในอดีตและปัจจุบันกองทัพบกและกองทัพเรือของชวาเป็นกำลังหลักในการกวาดล้างชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ในการปราบและยึดอาเจะห์ (Aceh) ซึ่งใช้เวลายาวนานนับศตวรรษ ทำสงครามและกวาดล้างคนเชื้อสายจีน โดยอ้างว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่การกวาดล้างเหล่านี้คือ การปล้นและครอบครองสินแร่ ป่าไม้และของป่ามีค่า โดยสุดท้ายเป็นการยึดเมืองใหญ่ของหมู่เกาะและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคนชวา ซึ่งมาทำได้มากในยุคการประกาศเอกราช (Independent) จากการปกครองของดัตช์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ดังนั้น ความเป็นจีน จึงเป็นภัยอย่างหนึ่งต่อความมั่นคงทางอุดมการณ์และชาติพันธุ์ของคนชวา แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์สายโซเวียตรัสเซียกลับไม่ใช่ภัย ดังนั้น ชนชั้นนำจากชวาจึงมีปฏิกิริยาแข็งกร้าวกับบทบาทจีนในอุษาคเนย์ รวมทั้งการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้


กระแสต้านจีน

ในภาคพื้นสมุทรอุษาคเนย์ ไม่เพียงแต่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จะเชิญสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาทั้งเงินทุน การช่วยให้ความเหลือและร่วมเจรจาสองฝ่ายระหว่างสาธารณรัฐฟิลิปปินส์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เท่านั้น รัฐบาลสหพันธรัฐมาเลเซียก็ริเริ่มสั่งซื้อเรือรบ แต่ประธานาธิบดีจาโกวี แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ปราศรัยประจำปีในวันประกาศเอกราช (Independent Day) 16 สิงหาคม ปีนี้ ท่านปฏิเสธว่า

“…หมู่เกาะนาทูน่า (Natuna) ไม่ใช่พื้นที่จับปลาโบราณของจีน… (traditional Chinese grounds)” (1)

ประธานาธิบดี จาโกวี วิโดโด (Jakowi Widodo) กล่าวว่า หมู่เกาะนาทูน่าที่ร่ำรวยก๊าซธรรมชาติเป็นของเรา (อินโดนีเซีย-ขยายความโดยผู้เขียน) มีทหารปกป้องนาทูน่า มีคนอยู่ที่นั่น 169,000 คน

และอินโดนีเซียต้องสร้างอุตสาหกรรมการประมงที่มีอยู่แล้วที่นั่นอีกต่อไป

ประธานาธิบดี จาโกวี วิโดโด (Widodo) เยือนเกาะนาทูน่าหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีที่นั่นและประชุมเรื่องเรือรบ กองทหารมีค่ายที่ตั้งที่นั่น

ท่านประธานาธิบดีต้องการเปลี่ยนประเทศอินโดนีเซีย 17,000 เกาะที่เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล

ต้องพัฒนาและปรับปรุงอุตสาหกรรมประมงในอดีต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและเร่งการป้องกันทางทะเล

ประธานาธบดีจาโกวีให้ความสำคัญทุกตารางนิ้วของเกาะของอินโดนีเซีย (2) ท่านกล่าวในวันประกาศเอกราชของชาติประจำปีนี้ และมีการจมเรือต่างชาติ 71 ลำโดยกองทัพเรืออินโดนีเซีย เพื่อแสดงแสนยานุภาพให้ต่างชาติเห็น เมื่อปี 2014 กองทัพเรืออินโดนีเซียมีการจมเรือต่างชาติจำนวน 170 ลำ

นาง Susi Pudjiastuti รัฐมนตรีหญิงที่มีชื่อเสียงแห่งกระทรวงกิจการทะเลและการประมง (Ministry Maritime Affairs and Fisheries) ต้องการฉลองวันชาติสาธารณรัฐอินโดนีเซียวันที่ 16 สิงหาคม ที่เกาะนาทูน่าและเป็นสักขีพยานการจมเรือต่างชาติ ท่านกล่าวว่า (3)

“…มีคนอินโดนีเซียเท่านั้นที่จับปลาในอินโดนีเซีย…”

 

เชิงอรรถ

(1) Keith Gosman, “Indonesia”s Widodo Tells China No Compromise on Sovereignty” Bloomberg 5 November 2016

(2) Chris Blake, Karlis Salna, “Jakowi vows to Develop “Every Inch of Indonesia” Bloomberg 16 August 2016

(3) Ibid.,