เคน นครินทร์ : โลกใหม่ของอิโมจิ

ถึงทุกวันนี้ผมคิดว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยใช้ “อิโมจิ” กันแล้วนะครับ

เพราะเจ้าอิโมจิหรือสัญลักษณ์ภาพที่อยู่บนแป้นพิมพ์ของสมาร์ตโฟนแทบทุกรุ่นได้กลายเป็นหนึ่งในภาษาใหม่ที่นิยมใช้กันอย่างมากบนโลกออนไลน์

ตลอดหลายปีที่ผมเฝ้าสังเกต “วิวัฒนาการ” ของอิโมจินี้ ผมพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจหลายแง่มุมให้พูดถึง

จากแค่เป็นรูปแป๊ะยิ้ม หรือมือสองนิ้ว ปัจจุบันอิโมจิมีความหลากหลายของรูปลักษณ์มาก บางอิโมจิก็มีสีผิวให้เลือกถึง 5 สีเพื่อให้สอดคล้องกับคนทั่วโลก

ที่สำคัญ ตอนนี้อิโมจิไม่ได้เป็นแค่ภาษาใหม่ๆ ที่ใช้สื่อสารกันอย่างเดียว แต่มันยังกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดใหม่

เป็นการแสดงออกถึงความเท่าเทียมทางเพศและผิวสี

ไปจนถึงกลายเป็นศิลปะที่ได้รับการติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ระดับโลก

ความหมายของอิโมจิขยายขอบเขตไปมากเหลือเกิน

 

ข่าวใหญ่ที่สุดของอิโมจิคือ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Apple ได้ปล่อยระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นทดลอง (beta) iOS 10.2 สำหรับ iPhone ,iPad และ iPod touch ให้เราเข้าไปโหลดใช้กันได้ หลังจากก่อนหน้านี้ถูกจำกัดสิทธิ์ดาวน์โหลดสำหรับนักพัฒนาที่ได้ลงทะเบียนไว้เท่านั้น

นอกจากวอลล์เปเปอร์ใหม่ และลูกเล่นการใช้งานกล้องเวอร์ชั่นอัพเกรดแล้ว “อิโมจิ” ก็เป็นอีกหนึ่งในจุดชูโรงของ iOS เวอร์ชั่นนี้

ความพิเศษของอิโมจิบน Unicode 9.0 ใน iOS 10.2 คือการเพิ่มอิโมจิใหม่ๆ เข้าไปมากกว่า 72 ตัว!

ทันทีที่ทราบข่าว ผมจึงมอบหมายให้ ปณชัย อารีเพิ่มพร นักเขียนประจำ TheMomentum.co เขียนบทความเกี่ยวกับอิโมจิตัวใหม่ๆ นี้ ซึ่งเขาก็เขียนออกมาเป็นบทความชื่อ “Apple เพิ่มอิโมจิชุดใหม่เกือบ 100 ตัว : หรือนี่คือภาษาใหม่ของมนุษย์?”

ในบทความได้ให้รายละเอียดว่า จำนวนอิโมจิที่เพิ่มมานั้นมีตัวใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย

ทั้งอิโมจิยักไหล่, facepalm (เอามือปิดหน้าข้างหนึ่งด้วยความเบื่อหน่าย), ไขว้นิ้ว, กอริลลา (เชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก Harembe)

หรือแม้แต่อิโมจิชายหญิงเพนต์หน้าสายฟ้าฟาดคล้ายศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับอย่าง เดวิด โบวี ในอัลบั้มชุดที่ 6 Aladdin Sane (1973)

ยิ่งไปกว่านั้นอิโมจิชุดใหม่ยังมีตัวละครอาชีพต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย ทั้งนักดับเพลิง นักบิน นักอวกาศ คุณครู ผู้พิพากษา

ความสดใหม่ของมันอยู่ที่มีตัวละครหลากหลายทางเพศ (ทุกอาชีพมีให้เลือกทั้งชายและหญิง) ไปจนถึงสีผิวโทนต่างๆ (ที่มีมาตั้ง iOS 8.3 ในปี 2015)

เชื่อกันว่าการเพิ่มอิโมจิในครั้งนี้ ให้แต่ละสายอาชีพ หรืออิริยาบถแต่ละท่าทางมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเป็นผลพวงต่อเนื่องจากการร่วมรณรงค์แคมเปญอิโมจิกับความหลากหลายทางเพศและสีผิว (#emojiethnici-tyupdate) ของนักร้องสาวอย่าง ไมลีย์ ไซรัส

การเพิ่มอิโมจิ 72 ตัว ในครั้งนี้บน Unicode 9.0 จะทำให้เรามีอิโมจิใช้กว่า 1,800 แคแร็กเตอร์!

และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง

 

ก่อนจะไปดูว่าโลกใหม่ของอิโมจิเป็นอย่างไรบ้าง ผมขออนุญาตพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับจุดกำเนิดของเจ้าอิโมจิกันสักหน่อย

ก่อนจะมาเป็นอิโมจิแบบทุกวันนี้นั้น ในอดีตนั้นเราเคยใช้สิ่งที่เรียกว่าอิโมติคอน (emotion+icon) กันมาก่อน

สัญลักษณ์สื่ออารมณ์ต่างๆ นี้ถูกคิดค้นโดยชาวญี่ปุ่น และเป็นรูปแบบของชุดโค้ดคำสั่งซึ่งถูกฝังลงไปในคีย์บอร์ดในสมาร์ตโฟน

มีหลักฐานว่าอิโมติคอนเคยถูกใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1860 แล้วด้วยซ้ำ บางข้อมูลอ้างว่าในสุนทรพจน์ของ อับราฮัม ลินคอล์น เคยปรากฏสัญลักษณ์อิโมติคอนหน้ายิ้ม

แม้จะมีหลักฐานว่าถูกใช้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนคิดค้นอิโมติคอนคนแรกก็คือ สกอตต์ ฟาห์ลแมน (Scott Fahlman) นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ผู้พิมพ์ข้อความที่ปรากฏอิโมติคอน 🙂 และ 🙁

ในปี 1982 ฟาห์ลแมนได้อธิบายวิธีการใช้อิโมติคอนว่า กรณีที่นักเขียนอยากจะล้อเลียนหรือเสียดเย้ย ปัญหาคือตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด อิโมติคอนเหล่านี้จึงกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ล้อเลียนหรือบอกน้ำเสียงของคนเขียนคล้ายกับเวลาคุยโทรศัพท์แล้วรู้ว่าผู้พูดกำลังพยายามจะเล่น “มุขตลก” จากน้ำเสียง

พูดง่ายๆ ว่าอิโมติคอนเกิดขึ้นเพื่อเป็น “น้ำเสียง” (Tone) และ “ท่าทาง” (Body Language) ของตัวหนังสือ

 

ปี1999 บริษัทโทรศัพท์ญี่ปุ่น NTT DoCoMo ได้คิดค้นอิโมจิชุดแรกขึ้นมาจำนวน 176 ตัว ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยเทคนิคงานสร้างแบบ 12×12 พิกเซล

ซึ่งอิโมจิชุดดังกล่าวค่อนข้างได้รับผลตอบรับและกระแสนิยมเป็นอย่างดีในประเทศญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบในเชิงการใช้งานทั่วโลก มันกลับไม่ได้รับความแพร่หลาย

กระทั่งปี 2011 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ได้เพิ่มอิโมจิเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนในหลายๆ ประเทศก็เริ่มหันมาใช้อิโมจิหน้ายิ้มที่บอกแทนน้ำเสียงดีใจมากขึ้น และอิโมจิก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งภาษาใหม่ของมนุษย์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

มิตช์ สตีเฟนส์ (Mitch Stephens) ศาสตราจารย์การสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วิเคราะห์ความนิยมของอิโมจิไว้ในรายการของสถานีโทรทัศน์ PBS Off Book ว่ามาจากความลื่นไหลของภาษา ความเป็นสากล ความตลกขบขัน และการสื่ออารมณ์ได้มากกว่าตัวหนังสือ


กลับมาที่โลกใหม่ของอิโมจิกันต่อ

อย่างที่บอกครับว่าในปัจจุบัน อิโมจิไม่ได้เป็นภาษาที่คนใช้เพื่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ แต่มันยังขยายขอบเขตตัวเองกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดและศิลปะในพิพิธภัณฑ์

ครั้งหนึ่งบริษัทพิซซ่าชื่อดังอย่าง Domino”s Pizza เคยออกแคมเปญ “EMOJI ORDERING” ที่ให้ผู้ใช้งานได้ทดลองสั่งพิซซ่าผ่านอิโมจิรูปพิซซ่าบนทวิตเตอร์มาแล้ว และแคมเปญดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัล Titanium & Integrated ในเทศกาล Cannes Lions ปี 2015 มาแล้วอีกด้วย

บริษัทส่งอาหารในอเมริกาอย่าง Hungry Harvest ก็ได้ใช้อิโมจิผักผลไม้ในอิริยาบถน่ารักๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ที่ผู้บริโภคมองบรรดาผักและผลไม้เหล่านั้นว่าน่าเกลียด และทำให้พวกเขาเหล่านั้นกล้าที่จะรับประทานผักผลไม้กันมากขึ้น

แม้แต่ GoDaddy บริษัทเปิดลงทะเบียนโดเมนเนมเว็บไซต์ ก็เปิดโอกาสให้เราสามารถจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ที่มีอิโมจิเป็นส่วนประกอบอย่าง อิโมจิหัวใจ.ws หรือ อิโมจิแก้วไวน์และเค้ก.ws ได้แล้ว โดยพวกเขาได้ทำการจดทะเบียนโดเมนเนมเว็บไซต์ที่มีอิโมจิเป็นส่วนประกอบครั้งแรกในช่วงปี 1995

เทเรซา แม็กกินเนสส์ เจราห์ตี (Theresa McGinness Geraghty) กรรมการบริษัทแผนกการตลาดผลิตภัณฑ์แสดงทัศนะที่น่าสนใจไว้ว่า

“อิโมจิได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กระทั่งกลายมาเป็นส่วนสำคัญของโลกออนไลน์ในปัจจุบัน”

 

ล่าสุดอิโมจิก็ได้รับเกียรติให้ไปไกลกว่าแค่หน้าจอ แต่กำลังย้ายตัวเองเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ

พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์กอย่าง MoMA จะจัดนิทรรศการโชว์ผลงานคอลเล็กชั่นอิโมจิของ NTT DoCoMo ในช่วงเดือนธันวาคม 2016 โดยภายในงานจะมีการรวบรวมสิ่งพิมพ์ต่างๆ และงานออกแบบแอนิเมชั่นอีกมากมาย

Ms. Antonelli ให้เหตุผลที่ MoMA ตัดสินใจนำอิโมจินี้มาจัดแสดงเพราะมองว่ามันคือแพลตฟอร์มในการสื่อสารรูปแบบใหม่

“มันคือเครื่องมื่อในการสื่อสารแบบใหม่ค่ะ” เธอกล่าว

“ในขณะเดียวกัน อิโมจิก็คือ ideographs (สัญลักษณ์แทนความหมายแบบมนุษย์ถ้ำ) หนึ่งในการสื่อสารที่โบราณที่สุด ฉันชอบที่ศตวรรษในแต่ละยุคกำลังเชื่อมถึงกัน”

มองในมุมของ MoMA ก็คือ พวกเขาเชื่อว่า อิโมจิที่เรากำลังใช้อยู่ทุกวันนี้คือ “ประวัติศาสตร์” หน้าหนึ่งของมนุษย์ ไม่ต่างอะไรที่เราเจอภาพเขียนของมนุษย์ถ้ำ

น่าสนใจนะครับว่า ในอนาคตอิโมจิจะมีวิวัฒนาการไปอย่างไร ขยายไปสู่วงการไหน เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกถึงความเท่าเทียมได้อีกหรือไม่

และหากมนุษย์ในอนาคตอันไกลโพ้นมาขุดเจออิโมจิในโทรศัพท์มือถือ พวกเขาจะตีความมนุษย์ในยุคเราว่าเป็นอย่างไร