ศัลยา ประชาชาติ : ภารกิจเพื่อชาติ “ซีพี-บีทีเอส” ตบเท้าชิงไฮสปีดอีอีซี 2 แสนล้าน

“ซีพี-บีทีเอส” ทุนใหญ่จับมือร่วมทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้

เผยโฉมเรียบร้อยแล้วสำหรับยักษ์ใหญ่ภาคเอกชนที่สวมหัวใจสิงห์ชิงประมูลก่อสร้างโครงการเพื่อชาติ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่า 224,544 ล้านบาท

ไม่เหนือความคาดหมายที่ 2 ยักษ์ใหญ่ใต้ร่มเงาอาณาจักรธุรกิจ 2 มหาเศรษฐีเมืองไทย “ธนินท์ เจียรวนนท์” และ “คีรี กาญจนพาสน์” ที่มีศักยภาพ “ทั้งทุน-คอนเน็กชั่น” จะตบเท้าเข้าชิงดำโปรเจ็กต์นี้ เพราะเป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนมหาศาล ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่เคยมีการลงทุนก้อนโตเท่านี้มาก่อนในรอบ 2 ทศวรรษ หนีไม่พ้นต้องพึ่งมหาเศรษฐีแสนล้านช่วยขับเคลื่อนการลงทุน

เป็นโปรเจ็กต์ที่ “รัฐบาล คสช.” หมายมั่นปั้นมือให้เป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาปักหมุดปลุกพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่กำลังจุดพลุให้สำเร็จ ยกขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และทรานส์ฟอร์มเศรษฐกิจไทยเชื่อมหัวเมืองใหญ่ทั่วภูมิภาคอาเซียน

เพราะแม้ทั้ง “ซีพี-บีทีเอส” จะไม่มีประสบการณ์รถไฟความเร็วสูงมาก่อน แต่ด้วย “ศักดิ์ศรีและชื่อชั้น” บวกกับความคาดหวังของรัฐบาล ทำให้สองเจ้าสัวยอมทุ่มทุนสร้าง อย่างไรก็ตาม หากโครงการสำเร็จจะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ ในฐานะแกนหลักในการผลักดันให้โครงการได้แจ้งเกิด

ไม่แปลกที่ทั้ง 2 ยักษ์ไม่มีใครสับเกียร์ถอย

 

ก้าวย่าง “ซีพี-บีทีเอส” กว่าถึงจุดนี้ 

ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา “ซีพี-บีทีเอส” จึงทุ่มทั้งเงินและเวลาศึกษาความเป็นไปได้โครงการ เจียระไนรายละเอียดทีโออาร์ ซึ่งมีเป็นหมื่นหน้าอย่างหนัก เพื่อรีเช็กความชัวร์ ควบคู่กับเดินสายเจรจาหาพันธมิตรทั้งไทยและนานาชาติ ร่วมขบวนขับเคลื่อนไฮสปีดเทรนสายนี้

จนมาสะเด็ดน้ำในวันยื่นซองประมูลวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มซีพี ว่ากันว่าแม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ทุนหนา ก็ชั่งน้ำหนักลงทุนอยู่หลายครั้ง กว่าจะกล่อมต่างชาติมาร่วมลงขัน จัดเซ็ตทีมฟอร์มใหญ่ในนามกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ถือหุ้น 70% บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถือหุ้น 5%, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) จากประเทศจีน ถือหุ้น 10%, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือหุ้น 15%

ส่วนกลุ่มบีทีเอสชัดเจนนับแต่วินาทีแรก ผนึกพันธมิตรเดิมยื่นในนามกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 60% บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน ถือหุ้น 20% และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือหุ้น 20% มี 5 แบงก์สัญชาติไทยสนับสนุนเงินกู้

วันนั้นนอกจากจะเป็นเวทีช้างชนช้างแล้ว ยังเป็นการประจันหน้าของ 2 ทายาทเจ้าสัว ระหว่าง “กวิน กาญจนพาสน์” บิ๊กบอสบีทีเอสกรุ๊ป และ “ศุภชัย เจียรวนนท์” บิ๊กบอสซีพี ที่นำทีมยื่นซองประมูลด้วยตัวเอง โดยถือฤกษ์งามยามดียื่นซองประมูล

 

“บีทีเอส” ถือฤกษ์ 11.11 น. ส่วนซีพีมายื่นเวลา 14.03 น. โดยบิ๊กบอส “ศุภชัย” เอาฤกษ์เอาชัย นำทีมคณะผู้บริหารกราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟ เพื่อสานต่อพระราชปณิธานในการพัฒนาการรถไฟให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรและเศรษฐกิจให้กับคนไทยทั้งชาติ

“ศุภชัย” กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่สร้างความมั่นใจและสนับสนุนโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเชื่อมโยงนโยบายอีอีซีที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ เปิดให้ต่างประเทศมาลงทุนในไทย

“ซีพีจะเป็นแกนนำหลักในการลงทุนร่วมกับ 4 พันธมิตร มี ช.การช่าง BEM CRCC และอิตาเลียนไทย ยังมีพันธมิตรที่แสดงความจำนงจะร่วมลงทุนอีก มาเติมเต็มให้โครงการสำเร็จ ต้องรอให้เราชนะประมูลก่อน แต่ซีพียังเป็นแกนหลักถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 25%”

“ศุภชัย” ไล่เรียงพันธมิตรใหม่ที่เข้าคิวรอร่วมงาน เป็นทั้งพันธมิตรร่วมค้าและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากทั่วโลก โดยฝั่งญี่ปุ่นมีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และกองทุน JOIN จากประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนทางการเงิน ส่วนประเทศจีนมีซิติกกรุ๊ป, ไชน่า รีสอร์ซ และ CRRC-Sifang สนใจร่วมลงทุน

ขณะที่อิตาลีมีบริษัท Ferrovie dello Stato Italiane สนใจการเดินรถและงานบำรุงรักษา ด้านฮุนไดจากเกาหลีและซีเมนส์จากเยอรมนีจะร่วมจัดหาระบบขบวนรถ รวมถึง ปตท. ที่ต้องการชวนมาร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากโครงการนี้มีการลงทุนหลายส่วน นอกจากงานโยธา งานระบบ ยังมีงานพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสันและศรีราชา

การพัฒนาเชิงพาณิชย์จะพัฒนาสถานีมักกะสัน 150 ไร่ให้เต็มประสิทธิภาพ ให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวม โดยได้ยื่นซองที่ 4 เป็นข้อเสนอเพิ่มเติม จะทำงานร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน ในแนวเส้นทาง พัฒนาโครงการให้เกิดความยั่งยืน และเสนอให้ผู้พิการเดินทางฟรีตลอดชีวิต

“การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ผลตอบแทนไม่สูง แต่ระยะยาวจะมีความมั่นคง อีกทั้งเป็นการลงทุนแบบ PPP คิดว่าการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐในภาพรวมโดยมีอีอีซีเป็นฐาน จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับโครงการต่างๆ เช่น สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงสายเหนือและอีสาน โครงการต่างๆ จะมีความมั่นคงไปด้วย”

นายศุภชัยย้ำ

 

ฝั่งบีทีเอสถึงจะมีแค่ 2 รายเป็นพันธมิตร แต่พกความมั่นใจมาเต็มร้อยเช่นเดียวกัน โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ กล่าวว่า กลุ่ม BSR จะเป็นแกนหลักลงทุนโครงการ สำหรับระบบรถอาจจะใช้ระบบของทวีปยุโรป

“เราใช้เวลา 4-5 เดือนศึกษาโครงการ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลงทุน แต่ต้องมีรายได้อื่นมาเสริม เช่น พัฒนาเชิงพาณิชย์ เราได้ยื่นเป็นข้อเสนอซองที่ 4 ด้วย เหมือนสายสีชมพูกับสายสีเหลือง โครงการนี้เรามีความมั่นใจจึงร่วมยื่นประมูล เพราะมีพาร์ตเนอร์เป็นผู้รับเหมาระดับประเทศ และยักษ์ธุรกิจด้านพลังงาน บีทีเอสเองก็มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้ามา 19 ปี แม้ครั้งนี้จะเป็นรถไฟความเร็วสูง ในหลักการไม่ต่างกันมาก ส่วนที่ซีพีมีพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศไม่ได้สร้างความหนักใจ หากเราได้งานจะกระจายงานให้ผู้รับเหมารายอื่นๆ ด้วย เพราะเป็นโครงการใหญ่มาก”

ขณะที่วงการผู้รับเหมาก็เฝ้าจับตาโปรเจ็กต์นี้ไม่กะพริบ ประเมินว่ากลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้งานคือกลุ่มซีพี เพราะแม้จะไม่มีประสบการณ์รถไฟฟ้า แต่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองแนบแน่น เงินทุนหนา และมีพันธมิตรร่วมลงทุนเป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ทั้งอิตาเลียนไทย ช.การช่าง มีประสบการณ์สร้างรถไฟฟ้าหลายสาย

นอกจากนี้ยังได้ CRCC ผู้ผลิตระบบและยักษ์ก่อสร้างจากจีนมาร่วมลงทุนด้วย คาดว่าซีพีจะใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน และมีบริษัทยุโรปอย่างอิตาลีและฝรั่งเศสเป็นพี่เลี้ยง ส่วน BEM จะรับช่วงบริหารโครงการต่อในระยะยาว ขณะที่ซีพีจะมุ่งพัฒนาที่ดินที่มีอยู่หลายแปลงในแนวเส้นทาง เพื่อต่อยอดรถไฟความเร็วสูง เช่น สถานีฉะเชิงเทรา ที่มีแผนจะพัฒนาเมืองใหม่ 10,000 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมที่ระยองอีกกว่า 3,000 ไร่

“บีทีเอสก็มีความตั้งใจจริง เคยบริหารรถไฟฟ้ามาก่อน รู้ว่าจะลดต้นทุนโครงการได้จากไหน จึงขึ้นอยู่กับราคาที่แต่ละรายเสนอ ใครที่ให้รัฐอุดหนุนค่าก่อสร้างไม่เกิน 119,425 ล้านบาท จะเป็นผู้ชนะ”

ผลประมูลอย่างเป็นทางการ จะปรากฏภายในเดือนมกราคม 2562

เพื่อชี้ขาดว่า ระหว่าง “ซีพี” ที่ตีตราจองไฮสปีดเทรนสายนี้มาตั้งแต่ปี 2558 และมีชื่อเต็งจ๋ามาตลอด กับ “บีทีเอส” ผู้บุกเบิกรถไฟฟ้าสายแรกของเมืองไทย ใครจะเข้าวิน