ต่างประเทศอินโดจีน : ความปลอดภัยทางไซเบอร์

เมื่อ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงความมั่นคงของเวียดนามเผยแพร่ “ร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางไซเบอร์” ฉบับใหม่ออกสู่สาธารณะ หลังจากที่รอคอยกันมานาน

เดิมทีกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติของเวียดนามออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีอยู่ในเวียดนาม, องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิต่างๆ เรื่อยไปจนถึงรัฐบาลของประเทศตะวันตกหลายชาติ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

ทางกระทรวงแถลงยืนยันว่า กฎหมายใหม่ว่าด้วย “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” นี้มีความจำเป็นในการปกป้องประเทศจาก “ภัยคุกคาม” จากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นนับเป็นเรือนแสนเรือนล้านครั้ง สร้างความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และคุกคามต่อความมั่นคงและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม

อย่างแรกไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะประเทศไหนๆ ก็ทำกัน แต่พอถึงเรื่องของความมั่นคงกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม ก็กลายเป็นคำถามขึ้นมา

ถามว่าความมั่นคงของใคร และอย่างไรถึงจะเป็น “ระเบียบเรียบร้อย”?

 

ในรายงานของรอยเตอร์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ระบุเอาไว้ว่า บรรดาบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายบริษัทและกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิหลายกลุ่มเชื่อว่ากฎหมายนี้ไม่เพียง “บ่อนเซาะ” พัฒนาการของประเทศ ยังจะกลายเป็นตัวจำกัดนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย

บริษัทอย่างเฟซบุ๊กกับกูเกิล ดูเหมือนเป็นกังวลกับ “หลายมาตรา” ของกฎหมายนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องเพราะทั้งเฟซบุ๊กและกูเกิลเป็น “แพลตฟอร์ม” หลักที่ฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลเวียดนามนิยมใช้กันมากที่สุด

ในร่างกฎหมายที่ว่านี้ มีบทบัญญัติให้บริษัททั้งหลายที่ให้บริการหลากหลายอย่างภายในเวียดนาม รวมทั้งบริการอีเมลและโซเชียลมีเดียทั้งหลายแหล่ “จำเป็นต้องจัดตั้งสำนักงานบริษัท” ขึ้นในเวียดนาม

ถ้าหาก “บริการเหล่านั้นเก็บรวบรวม หรือวิเคราะห์ข้อมูล, อนุญาตให้ผู้ใช้บริการของบริษัทเหล่านั้นกระทำการอันเป็นการต่อต้านรัฐ หรือถูกใช้เป็นช่องทางในการโจมตีทางไซเบอร์”

หรือ “ไม่สามารถดำเนินการเพื่อนำเนื้อหาซึ่งเชื่อว่าเป็นการต่อต้านรัฐ, เป็นเนื้อหาปลอม, เป็นเนื้อหาอันเป็นการหมิ่นประมาท หรือยุยงให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นออกจากบริการของตัวเองได้”

สำนักงานบริษัทที่จัดตั้งขึ้นดังกล่าวนั้น ไม่เพียงต้องมีพนักงาน เจ้าหน้าที่ประจำเท่านั้น ยังต้องมีส่วนหนึ่งสำหรับการ “จัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นต้องจัดเก็บ” ไว้ที่สำนักงานในเวียดนามด้วย

“ข้อมูลที่จำเป็น” ต้องจัดเก็บนั้น กำหนดไว้เป็นรายละเอียดชัดเจน นอกจากชื่อเสียงเรียงนามของผู้ใช้แล้ว ยังต้องมี “ตำแหน่งงาน” และถิ่นที่อยู่โดยละเอียด “ซึ่งสามารถติดต่อได้”, หมายเลขบัตรเครดิต, ข้อมูลทางชีวภาพ (ลายนิ้วมือ, ม่านตา หรือลักษณะใบหน้า)

และประวัติทางการแพทย์รวมอยู่ด้วย

 

รอยเตอร์สรายงานเอาไว้ว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่สภาผ่านร่างกฎหมายนี้ออกมาจนถึงวันเผยแพร่สู่สาธารณะนั้น รายการ “ข้อมูลที่จำเป็น” นี้ถูกตัดทอนลงส่วนหนึ่งแล้ว

ของเดิมนั้น กำหนดให้เก็บข้อมูลเรื่อง “ชาติพันธุ์” และ “ทัศนะทางการเมือง” เอาไว้ด้วย!

ถึงทางกระทรวงจะย้ำว่าข้อมูลผู้ใช้เหล่านั้นจะไม่มีการเปิดเผย และบริษัทจะถูกขอให้ส่งมอบข้อมูลผู้ใช้ ก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนอย่างเป็นทางการ หรือในกรณีต้องบังคับใช้กฎหมายภายใต้กระบวนการที่เคร่งครัดก็ตามที

บริษัททั้งหลายก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า สำนักงานในเวียดนามที่ว่านี้ มีเอาไว้เพื่อให้มีการจับกุมได้สะดวก และยึดข้อมูลผู้ใช้ไปได้ง่ายๆ เท่านั้น

คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วทำไมต้องเผยแพร่ร่างออกสู่สาธารณะ “อย่างเป็นทางการ” ด้วย

คำตอบก็คือ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการ “หารือต่อสาธารณะ” เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งฟังดูน่ารัก เข้าท่าดี

แต่มีหลายคนเดิมพันว่า หารือไปก็เท่านั้น ไม่มีวันมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว!