ฉัตรสุมาลย์ : BCD 2018

BCD 2018 เป็นโลโก้ของงานประชุมที่ไต้หวันค่ะ

เต็มๆ ว่า Buddhist &Christian Nuns in Dialogue เป็นการสนทนากันระหว่างนักบวชสตรีชาวพุทธและคริสต์

พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันสนใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของนักบวชสตรี และครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่หน่วยงานของวาติกันเองเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม โดยโฝวกวางซันเป็นเจ้าภาพสถานที่ และการดูแลอื่นๆ

ตอนแรกนึกว่าจะจัดที่วาติกัน แต่คงจะเป็นการลองเชิงว่าจะได้รับการตอบรับมากน้อยเพียงใด

บังเอิญหลวงพ่อซิงหยุน เจ้าอาวาสวัดโฝวกวางซันนั้น เคยมีสัมพันธภาพที่ดีกับบิชอปในไต้หวัน และได้เคยเข้าพบสันตะปาปาด้วยตัวเอง

ท่านจึงรับเป็นเจ้าภาพจัดร่วม เราทำความเข้าใจได้นะคะ ว่าคนที่มีความพร้อมและเปิดกว้างทางความคิด จะไม่กลัวว่า เอ๊ะ เดี๋ยวศาสนาคริสต์จะเข้ามาควบคุม เรารู้ชัดในความเชื่อของเรา การเผชิญหน้ากัน การพูดคุยกัน นอกจากจะทำให้เราเข้าใจเขาได้มากขึ้นแล้ว บางที เราก็เข้าใจศาสนาของเราได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนเคยไปสอนนักเรียนชาวคริสต์ที่สามเณราลัยของคาทอลิกที่สามพราน ลูกศิษย์รุ่นนั้น คือผู้ที่กำลังจะบวชเป็นพระ หลังจากจบปริญญาโท เขาก็บวชเป็นพระคาทอลิก

ตรงนี้ ผู้เขียนก็ชอบอีก เพราะทางคาทอลิกจะเรียนแล้วถึงจะบวช เพราะฉะนั้น เมื่อบวช ได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าแล้ว ก็เป็นพระที่มีความรู้สามารถจัดการรับใช้งานพระศาสนาได้เต็มที่ อย่างน้อยที่สุด ก็ระดับปริญาโท

ต่างจากศาสนาพุทธที่บวชแล้วเรียน จะได้เรียนหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ นี่ก็เป็นประเด็นที่เราจะพูดคุยกันได้อีก ในโอกาสหน้า

 

คุณพ่อคนหนึ่งที่เคยเรียนกับผู้เขียน ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นบิชอปค่ะ น่าปลื้มเหลือเกิน ท่านเป็นคนแนะนำคุณพ่อที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานของวาติกันให้นิมนต์ท่านธัมมนันทาเป็นตัวแทนนักบวชสตรีในพุทธศาสนาจากประเทศไทย

ทางฝั่งศาสนาคริสต์ จากเมืองไทยก็มีซิสเตอร์กัลยา ตกลงจากเมืองไทยมีสองรูป พุทธกับคริสต์

เขาตั้งเป้าว่า ผู้เข้าร่วมจะเป็นนักบวชสตรีจาก 25 ประเทศ ประเทศละสองคน

แต่ในความเป็นจริง มากัน 70 คน จาก 16 ประเทศ

ทางฝั่งพุทธทางเถรวาทมีเพียงแม่ชี 2 คน พระภิกษุณี 2 รูป นอกนั้นเป็นพระภิกษุณีสายมหายานจากฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น และจากไต้หวันเอง

เห็นภาพแล้วงานเข้าเลยค่ะ

ฝั่งพุทธเถรวาทน้อยมาก เสียงส่วนใหญ่ก็จะเป็นท่านธัมมนันทานั่นแหละ

 

คําว่า nuns เป็นปัญหาค่ะ เพราะหมายถึงแม่ชี sister ที่จะทำพิธีไม่ได้ คนที่จะทำพิธีให้ศีลได้จำกัดเฉพาะ priest เท่านั้น

ในส่วนของศาสนาพุทธ nun ก็จะมีความหมายเพียงแม่ชี ของเราก็มีไป 2 รูป แม่ชีขาวจากสิงคโปร์ที่กำลังฝึกอยู่กับภิกษุณีที่ศรีลังกา อีกรูปหนึ่งเป็นแม่ชีของพม่าใส่สีชมพู

ภิกษุณีสองรูปของเราที่ไปประชุม ควรจะเรียกว่า female monks มากกว่าที่จะเป็น nuns หรือมิฉะนั้น ก็ต้องยืนยันทับศัพท์ว่า bhikkhuni ก็จะต้องแยกอีกว่า ถ้าเป็นเถรวาท สะกดว่า bhikkhuni ถ้าเป็นสายมหายาน เรียกว่า bhikshuni

วุ่นวายไหมเนี่ยะ อ้าว เน้นความถูกต้องก็ต้องอย่างนี้นะ

แต่ไม่ได้ติงเขาหรอกค่ะ เขาจะว่ามากเรื่อง

ทางฝั่งเถรวาทมีแค่ภิกษุณีสองรูป แต่เวลาถ่ายรูปกินขาดเลย สีเหลืองขมิ้นแจ่มแจ๋วมาก คุณพ่อที่เป็นเจ้าของงานเวลาเต็มยศก็ใส่ชุดสีดำ ผ่ากลาง ขลิบสีชมพูแกมม่วง มีผ้าคาดเอวเป็บแถบกว้างสีช็อกกิ้งพิ้งก์ ก็เด็ดขาดไม่แพ้กัน

เป็นครั้งแรกที่ได้ใกล้ชิดบรรดาซิสเตอร์ที่มาจากประเทศต่างๆ จากไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เขมร ฟิลิปปินส์ บราซิล อิตาลี เยอรมนี นอร์เวย์ และอเมริกา บางคนเปลี่ยนเครื่องแบบให้เรียบง่ายขึ้น

แต่บางรูปบางนิกายก็ยังใส่เต็มยศเป็นชุดดำยาว ส่วนที่ครอบกรอบหน้าเป็นสีขาวปิดลงมาที่หน้าอก

 

การประชุมจัดเป็นรูปแบบการเสนอบทความ ตามหัวข้อที่พระบาทหลวงท่านกำหนดให้พูดคุยกันตั้งแต่การเริ่มต้นนักบวชสตรีในศาสนาพุทธและคริสต์เลยทีเดียว ลงไปจนถึงเรื่องการสวดมนต์ และแม้การสวดลูกประคำ

แต่ที่น่าสังเกตคือ บรรดาซิสเตอร์จะไม่คุ้นเคยกับการจัดงานประชุมแบบนี้ หลายรูปลำบากใจมากที่ต้องเป็นผู้ดำเนินรายการ บอกซื่อๆ ว่า เป็นครั้งแรก บางรูปก็ตื่นเต้นประมาณว่า พูดไปพักใหญ่แล้ว นึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่ได้แนะนำตัวเอง บางรูปก็บอกว่า ก่อนจะขึ้นเวที สวดมนต์ขอพรจากพระเจ้าหลายรอบ

การเสนอผลงาน แทบทั้งหมด ใช้อ่านบทที่เตรียมมา ทั้งที่บางรูป ท่านก็พูดภาษาของท่านเองนั่นแหละ ปัญหานี้ ฝั่งพุทธศาสนาก็ไม่แพ้กัน ทั้งพม่าและศรีลังกาก็ต้องอ่านจากโพย

ท่านธัมมนันทาเป็นรูปเดียวที่พูดกับผู้ฟัง ส่วนการนำเสนอของเจ้าภาพนั้น หลวงพี่ภิกษุณีที่นำเสนอเตรียมการเสนอผ่านสไลด์ท่านทำได้อย่างมืออาชีพทีเดียว แต่ไปเร็วมาก เนื่องจากเนื้อหาอัดแน่น

หลวงพี่รูปนี้ท่านเป็นจีนไต้หวัน แต่ไปโตที่ออสเตรเลีย เรียกว่าเป็นกำลังของโฝวกวางซันทีเดียว ต้องยกนิ้วให้ว่าเป็นการนำเสนอที่สมบูรณ์ที่สุด

ช่วงที่นักบวชสตรีของทั้งสองศาสนาได้อยู่ด้วยกันจริงๆ เป็นช่วงกินอาหาร ทางเจ้าภาพจัดอาหารเจแบบจีนอย่างดี มีไม่น้อยกว่า 10 อย่าง เวลายกออกมาแต่ละครั้ง จะมีเสียง อู อา ตลอดเวลา

บาทหลวงท่านมากำกับว่า อย่านั่งซ้ำที่กัน ให้เปลี่ยนไปคละกับคนอื่นที่ยังไม่รู้จัก ยังไม่ได้พูดคุย แล้วใช้บรรยากาศนี้ทำความรู้จักกัน

อันนี้ใช้ได้ดีมาก ในจำนวนที่เข้าประชุม 70 คนนั้น เรียกว่า ได้รู้จักทุกคนจริงๆ

 

จะเล่าถึงเรื่องท่านธัมมนันทาหน้าแตก คือตอนที่ท่านไปถึงที่วัดโฝวกวางซัน ตรงบริเวณโต๊ะลงทะเบียน บาทหลวงคนหนึ่งก็เข้ามาทักอย่างสนิทสนม ท่านธัมมนันทาก็ว่า “อ้าว ไหนว่าเป็นการประชุมของนักบวชสตรีไม่ใช่เหรอ”

คุณพ่อท่านก็คงขำ ท่านตอบว่า “มีสองสามคนเท่านั้นแหละ”

ตาเถร คุณพ่อท่านนั้นเป็นเจ้าภาพจัดงานค่ะ ท่านธัมมนันทาเคยเจอท่านในการประชุมอื่นมาก่อน บางทีก็จำหน้าได้ ชื่อก็ไม่ค่อยจำ ก็เลยหน้าแตกหมอไม่รับเย็บนี่แหละ ท่านน่าจะเดือดร้อนอยู่บ้าง แต่ท่านว่า “แก่แล้ว ได้แค่นี้ก็เก่งแล้ว”

ท่าทีของคนแก่นี่ก็ดีไปอย่าง

จากการประชุมครั้งนี้ แน่นอนว่า เป็นการสร้างความเข้าใจต่อกัน สร้างมิตรภาพ สร้างสะพานเชื่อมให้ได้ทำงานร่วมกันง่ายขึ้นต่อไป

ทั้งสองฝ่าย เข้าใจความเชื่อ และการปฏิบัติของอีกฝ่ายหนึ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นวิธีการละลายความกลัวอันมาจากความไม่รู้ที่ได้ผลดี

นอกจากนั้น นอกจากเราจะมั่นคงในศาสนาของเรามากขึ้น เราก็ยังเพิ่มพูนทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านวัฒนธรรมและสังคม เรารู้จักความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะได้ทำความรู้จักอีกฝ่ายหนึ่งดีขึ้น การที่เราได้รู้จักกันเช่นนี้ เราย่อมสลายความยึดมั่นในวัฒนธรรมการเสพ อีกทั้งวัตถุนิยม และความเป็นปัจเจกนิยมลงไปได้

และช่วยให้คนอื่นได้พัฒนาบนเส้นทางที่จะเป็นคนดีในสังคม

 

ในการประชุมครั้งนี้ ทางฝ่ายผู้จัดอยากจะเน้นให้เห็นความสำคัญของการภาวนาและทำงานเพื่อสังคม เป็นประเด็นที่ท่านธัมมนันทากลับมาพิจารณาและเข้าใจชัดขึ้นว่า หากการภาวนาไม่มั่นคง การออกมาทำงานเพื่อสังคมจะมีความผิดพลาดได้ง่าย เพราะความยึดมั่นในตนยังคงอยู่ การทำงาน แม้หน้าฉากอาจจะคิดว่าเป็นไปเพื่อสังคม แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีตัวกูของกูอยู่เยอะ

ขณะเดียวกัน ทางวาติกัน ก็อยากจะให้บรรดาซิสเตอร์ที่มักทำงานจำกัดอยู่ในคอนแวนต์ของตนก้าวออกมารับรู้งานของสังคมมากขึ้น

ในขั้นตอนการทำงานทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา หรือการทำงานสังคม ต้องมีพื้นฐานจากความรักความเมตตา

ความเมตตาที่ศาสนาพุทธพูดนั้นลึกซึ้งมากในการปฏิบัติ ในพรหมวิหารสี่ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ชาวพุทธเราก็ท่องได้เป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ในความเป็นจริงที่จะตั้งความปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุขได้นั้น เงื่อนไขที่สำคัญคือ โดยไม่มีเงื่อนไข เรานึกหน้าไอ้บ้าที่มันดูถูกเราเมื่อกี้ แล้วจะปรารถนาให้มันมีสุขนี่ ยากไหม

นัยยะของความเมตตาจึงต้องมาจากฐานจิตที่ได้ปฏิบัติมาแล้วอย่างลึกซึ้งทีเดียว ที่เรียกว่าปฏิบัติก็เช่นกัน ใช้กันเกร่อ และนึกเพียงว่า ไปนั่งหลับตาที่วัด

ปฏิแปลว่า ย้อนทวน ย้อนทวนเข้ามาพิจารณาตนเอง จนธรรมะปรากฏในใจว่า แม้ลมหายใจเข้าออกนี้ ก็เป็นธรรมะได้นะ มันมีเข้าออก มันอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ขาดกันไม่ได้ ก็ลองขาดจากกันซิ มันก็ตายนะ

เออ เราเอง ความตายก็มาจ่ออยู่ที่ปลายจมูกนี่แหละ ไอ้บ้าที่เราโกรธมันอยู่ ความตายก็จ่ออยู่ที่ปลายจมูกเหมือนกัน

ขอให้เรามีสุข และขอให้เขามีสุขด้วย จึงจะเป็นความจริง

เมื่อฐานจิตของเราได้รับการฟูมฟักในพระธรรมแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในตนผ่อนคลายลงแล้วค่อยคิดจะไปทำงานเพื่อคนอื่น เพื่อสังคม เพื่อพระศาสนา

การพูดคุยกันในสองศาสนายังไม่มาถึงตรงนี้ค่ะ เพียงแต่เปิดพื้นที่ให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกเป็นเพื่อนกัน คุยกันได้

ถือว่า เรามาถูกทางละ