สุรชาติ บำรุงสุข : หกตุลารำลึก l สงครามของจักรวรรดินิยม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (6) สงครามของจักรวรรดินิยม

“สหรัฐถือว่าการรักษาเอกราชและบูรณภาพของประเทศไทยมีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐและต่อสันติภาพของโลก”

ดีน รัสค์

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

หลังจากปี 2523 สงครามปฏิวัติไทยค่อยๆ สงบลง แม้สงครามจะจบ แต่ผมมีคำถามค้างคาใจประการหนึ่งว่า แล้วบทบาทของมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐเป็นอย่างไร

เรากล่าวโจมตี “จักรวรรดินิยมอเมริกา” มาตลอดการเคลื่อนไหว

ถ้าเช่นนั้นแล้วสหรัฐทำอะไรในบ้านเรา แล้วทำไมผู้นำไทยทั้งในทางจิตวิทยาและในทางยุทธศาสตร์จึงผูกพันอยู่กับบทบาทของสหรัฐ

จนรู้สึกว่ารัฐไทยไม่อาจอยู่รอดได้โดยปราศจาก “การคุ้มครอง” ของสหรัฐ…

สหรัฐสำคัญกับความมั่นคงไทยขนาดนั้นจริงหรือ?

อเมริกันอันตราย!

ในการเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ผมเลือกหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ที่เป็นประเด็นเก่าและคุ้นเคยตั้งแต่ครั้งทำการเคลื่อนไหวในขบวนนักศึกษา

คือนโยบายต่างประเทศของสหรัฐกับการปกครองของทหารไทย, 2490-2520 (United States Foreign Policy and Thai Military Rule, 1947-1977) เพราะเป็นหัวข้อที่จะทำให้ผมเห็นภาพกว้างของสถานการณ์การเมืองและสงครามของไทย ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อออกจากสหภาพแรงงานที่อ้อมน้อยและกลับเข้ามาสู่ขบวนนักศึกษา

ผมหันมาสนใจประเด็นทางด้านยุทธศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับหลังจากการเคลื่อนไหวเรื่องฐานทัพสหรัฐในปี 2518 ผมได้กลับเข้ามาช่วยงานที่ศูนย์นิสิต จึงกลายเป็นโอกาสให้ผมได้ทำงานข้อมูลและเดินสายอภิปรายประเด็นนี้

อีกทั้งก่อนหน้านี้ผมเองได้มีส่วนร่วมในการทำหนังสือเรื่อง “อเมริกันอันตราย” ของชมรมรัฐศึกษา จุฬาฯ ด้วย

บทบาทของสหรัฐในเอเชียในยุคสงครามเย็นเป็นสิ่งพูดและเขียนได้ไม่รู้จบ และเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่นักเรียนไม่ว่าจะในวิชายุทธศาสตร์หรือในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเรียนรู้ และทั้งยังเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบทั้งกับไทยและเอเชียโดยรวม

แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงนานพอสมควรแล้ว แต่นัยที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อภูมิภาคนี้ ยังคงทิ้งมรดกสำคัญไว้จวบจนปัจจุบัน

และที่สำคัญบทบาททางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในเอเชียเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ แม้สหรัฐจะมีพันธะผูกพันอย่างมากกับปัญหาความมั่นคงในยุโรปภายใต้ความตกลงขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)

แต่สนามรบจริงของสหรัฐกลับอยู่ในเอเชีย และกองทัพสหรัฐเข้าสู่สงครามใหญ่ในยุทธบริเวณเอเชียถึง 2 ครั้ง คือสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม

สงครามเกาหลีเป็นบททดสอบแรกทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ผู้นำสหรัฐตระหนักดีว่าหลังจากสูญเสียจีนให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์แล้ว สหรัฐไม่อาจปล่อยให้ประเทศในเอเชียต้องเป็นคอมมิวนิสต์อีก

ผลจากการนี้ทำให้สหรัฐจัดทำแผนยุทธศาสตร์ใหม่ แผนนี้รู้จักในชื่อของ “คำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ 68” (The NSC 68) ได้กำหนดเข็มมุ่งอย่างชัดเจน ให้สหรัฐต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการต่างๆ

และหากจำเป็นก็ให้ใช้กำลัง สงครามเกาหลีในปี 2493 จึงเป็นโอกาสอย่างดีให้ทำเนียบขาวดำเนินการภายใต้คำสั่งที่ 68 และสงครามเกาหลีจบลงด้วยการหยุดยิงในปี 2496…จบแบบไม่จบ

ต่อมาสหรัฐตัดสินใจแบกรับสงครามอีกชุดในเวียดนาม คำอธิบายไม่แตกต่างกันคือ สหรัฐต้องปกป้องรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์

จากข้อมูลข่าวกรอง กลุ่มเวียดมินห์ได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต และหลังจากชัยชนะของประธานเหมาในจีนในปี 2492 แล้ว สหรัฐยิ่งมองเห็นขบวนการเรียกร้องเอกราชเวียดนามว่าเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์

และยิ่งประกอบกับความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูในปี 2497 ก็ยิ่งทำให้เกิดความเชื่อในแบบ “ทฤษฎีโดมิโน” ว่า การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่สำคัญ และสหรัฐจะต้องเข้ามาปกป้องรัฐในเอเชีย

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงต้นของการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาลายาคือจุดกำเนิดของสงครามชุดใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์มาลายาตัดสินใจในการเปิดการโจมตีอย่างไม่มีใครคาดคิดในปี 2491

และรัฐบาลอังกฤษสามารถรับมือได้อย่างดี จนสงครามสงบลงในปี 2503

ทำให้คำถามตามมาว่า แล้วสหรัฐจะรับมือกับสงครามเวียดนามอย่างไร

เพราะทั้งสองสงครามมีลักษณะร่วมกันในการเป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งท้าทายผู้นำทหารอย่างมากว่า แล้วจะรบอย่างไร

ไต่บันไดสงคราม

ดังนั้น การตัดสินใจของสหรัฐที่จะเข้าไปมีบทบาทแทนเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่พ่ายแพ้สงครามในสนามรบที่เดียนเบียนฟูในปี 2497 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และเป็นดังการ “ไต่บันไดสงคราม” โดยในปี 2493 สหรัฐเริ่มสนับสนุน “รัฐบาลหุ่น” ที่ฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหาร และบทบาทของสหรัฐมีมากขึ้นในการสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้ในปี 2498

ต่อมาในปี 2504 ทำเนียบขาวได้เพิ่มที่ปรึกษาทางทหารมีจำนวนถึง 18,000 นาย

พร้อมกันนั้นในปี 2506 สหรัฐได้เริ่มเปิดการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายบางแห่งในเวียดนามใต้

จนเมื่อเกิดวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ยขึ้นในปี 2507 การโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในเวียดนามเหนือได้เริ่มขึ้น

และนาวิกโยธินอเมริกันได้ยกพลขึ้นบกที่ดานังด้วย

และสงครามในเวียดนามก็ยกระดับขึ้น โดยสหรัฐเข้าไปมีบทบาทในการรบอย่างเต็มที่

ตัวเลขสูงสุดของกำลังพลของสหรัฐในเวียดนามคือ 540,000 นายในปี 2512

ความรุนแรงของสงครามนั้น เห็นได้ว่าสหรัฐเปิดการโจมตีทางอากาศสูงถึง 5.25 ล้านเที่ยวบินต่อเป้าหมายในเวียดนามทั้งเหนือและใต้ ในลาว และในกัมพูชา และตลอดการสงครามมีเครื่องบินที่สูญเสียจากปฏิบัติการทางอากาศถึงราว 8,588 ลำ (ทั้งอากาศยานและเฮลิคอปเตอร์) ซึ่งมีมูลค่าความสูญเสียมากกว่า 7 พันล้านเหรียญอเมริกัน

อีกทั้งยังมีเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าร่วมถึง 21 ลำในตลอดช่วงของสงคราม (เรือบรรทุกเครื่องบินออกปฏิบัติการในทะเลนานถึง 9,178 วัน)

โดยเรือบรรทุกเครื่องบินเหล่านี้จำนวน 4-5 ลำจะลอยลำห่างจากชายฝั่งของเวียดนามเหนือออกไปราว 200 ไมล์ และเรียกกันว่า “สถานีแยงกี้” (Yankee Station)

แม้กำลังรบทางบกของสหรัฐจะถอนออกจากเวียดนามใต้ในช่วงปี 2515 แต่ปฏิบัติการทางอากาศจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อสนับสนุนกองทัพเวียดนามใต้

กระทั่งในวันที่ 15 มกราคม 2516 ทำเนียบขาวได้ประกาศหยุดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การยุติสงครามภายใต้คำกล่าวของประธานาธิบดีนิกสันว่า เป็นการสร้าง “สันติภาพอย่างมีเกียรติ” (Peace with Honor)

และเป็นความหวังว่าสงครามจะสงบโดยไม่ทำลายเกียรติภูมิของสหรัฐ

สหรัฐถอนตัวออกจากเวียดนามพร้อมกับการเสียชีวิตของทหารมากกว่า 58,000 นาย

และฉากสุดท้ายของสงครามจบลงด้วยเฮลิคอปเตอร์แบบซีเอช-53 อพยพนาวิกโยธินอเมริกันชุดสุดท้ายซึ่งเป็นชุดคุ้มครองสถานทูตออกจากไซ่ง่อน

สงครามของสหรัฐในเวียดนามจบลงจริงๆ แล้ว และน่าคิดต่ออย่างมากว่า สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐในแบบที่ทำในเวียดนามกลับไม่ขยายตัวเข้ามาในไทย แม้การขยายการโจมตีทางอากาศจะขยับออกมาสู่พื้นที่ของลาวและกัมพูชาในเวลาต่อมา

แต่ปฏิบัติการเช่นนี้ก็ไม่เกิดขึ้นในไทย…

ลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีการโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่เช่นในสงครามเวียดนามเกิดต่อเป้าหมายในไทย และแน่นอนว่าการที่สงครามไม่ขยายมายังพื้นที่ของไทยต้องถือเป็นเรื่องดี เพราะความเสียหายจากการทำลายของสงครามอย่างในเวียดนามรุนแรงมากเกินกว่าที่ชีวิตทางสังคมจะพึงแบกรับได้

มรดกสงครามนี้จึงกลายเป็น “ตราบาป” ของ “จักรวรรดินิยมอเมริกา” ในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และมีผลกระทบเกิดขึ้นกับสังคมอเมริกันอย่างมากเช่นกันด้วย จนเป็น “บาดแผล” สำคัญของสังคม

เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่จม!

ความสัมพันธ์ในโลกสมัยใหม่ของยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างไทยกับสหรัฐนั้น มีสงครามเกาหลีในปี 2493 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

และไทยเป็นหนึ่งประเทศในเอเชียที่ตอบรับต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐในการส่งกำลังทหารเข้าร่วมในสงครามนี้

สงครามเกาหลีจึงเป็นจุดเริ่มต้นในนโยบายความมั่นคงไทยที่รัฐบาลพิบูลสงครามนำประเทศเข้าร่วมในค่ายตะวันตก (หลังจากที่เขาได้พาไทยเข้าร่วมในค่ายอักษะมาแล้วในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2)

และในปีเดียวกันรัฐบาลไทยได้รับรองรัฐบาลหุ่นของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนาม หรือรัฐบาลของกษัตริย์เบ๋าได๋ (Baodai) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของสหรัฐ จนฝรั่งเศสแพ้สงครามเดียนเบียนฟูในปี 2497 และสหรัฐได้จัดตั้งองค์กรสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต้-SEATO) ขึ้นในปีเดียวกันนี้ เพื่อเตรียมรับกับภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย

ผู้นำทหารไทยในยุคซีโต้อย่างจอมพลสฤษดิ์มีความกังวลกับปัญหาความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านเช่นการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในลาวอย่างมาก

จนในปี 2505 สหรัฐต้องให้หลักประกันความมั่นคงด้วยการลงนามความตกลงแบบทวิภาคีในแถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสค์ (The Thanat-Rusk Communique) อันเป็นการยืนยันว่าสหรัฐมีพันธะในการปกป้องไทยจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ และเป็นพันธะที่ไม่ผูกพันในกรอบของซีโต้ พัฒนาการของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเช่นนี้ทำให้ในยุคของจอมพลถนอม สหรัฐได้ยกระดับบทบาทในไทยมากขึ้น

เช่น ในปี 2507 มีการตระเตรียมฐานทัพอากาศในไทยเพื่อรองรับต่อสถานการณ์สงคราม

และขณะเดียวกันได้มีการทำแผนสงครามหรือที่เรียกว่า “แผนเผชิญเหตุ” (The Contingency Plan) ระหว่างผู้นำทหารของทั้งสองประเทศ

แผนนี้อาจจะไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมไทยมากนัก หากในทางความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศแล้ว แผนดังกล่าวคือภาพสะท้อนของการเตรียมรับสงครามที่จะเกิดขึ้นกับไทย โดยมีสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนหลัก

แผนนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างมาก อันเท่ากับเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมถึงพันธกรณีของสหรัฐต่อปัญหาความมั่นคงไทย และมีผลในทางจิตวิทยาสำหรับผู้นำทหารไทยอย่างสูงที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่า สหรัฐจะไม่ทอดทิ้งประเทศไทยให้ต้องเผชิญกับสงครามคอมมิวนิสต์อย่างโดดเดี่ยว หรือมีนัยโดยตรงว่า สหรัฐจะไม่ปล่อยให้ไทยต้องกลายเป็น “โดมิโน” นั่นเอง

และผลของความสัมพันธ์เช่นนี้เองที่นำไปสู่การอนุญาตให้สหรัฐใช้ฐานทัพอากาศในไทยในการโจมตีเวียดนามเหนือและภาคเหนือของลาวในปี 2508

ฉะนั้น สงครามของสหรัฐในเวียดนามจึงมีนัยที่ผูกพันอยู่กับสถานะความมั่นคงของไทยด้วย เพราะ “เสียงปืนแตก” ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในกลางปี 2508 ถูกตีความว่าเป็นปฏิบัติการทหารเพื่อตอบโต้กับการขยายสงครามของสหรัฐในอินโดจีน

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่สำคัญอันเป็นผลสืบเนื่องจากการนี้ก็คือ การที่ผู้นำทหารของไทยและสหรัฐได้ลงนามร่วมกันในแผนเผชิญเหตุในปี 2509 อันทำให้แผนนี้ที่ทำขึ้นในปี 2507 มีสถานะเป็นพันธะด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการที่สหรัฐจะต้องป้องกันประเทศไทย

หรือแผนนี้ในทางทหารก็คือ “แผนป้องกันประเทศ” ของรัฐบาลจอมพลถนอม

และหากเกิดสถานการณ์สงครามขึ้น แผนนี้อนุญาตให้สหรัฐนำเอากำลังรบเข้ามาในไทยได้ทันที

ผลในทางกลับกันก็คือ ผู้นำรัฐบาลทหารไทยได้นำประเทศเข้าไปผูกมัดกับยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ด้วยความเชื่อว่า สหรัฐจะเป็นผู้ปกป้องไทยให้พ้นจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์

และขณะเดียวกันก็แลกด้วยการอนุญาตให้สหรัฐเข้ามาใช้ฐานทัพในไทยเพื่อภารกิจการสงครามในอินโดจีน

ในการนี้สหรัฐได้ใช้ฐานทัพอากาศในไทยถึง 7 แห่งเพื่อการโจมตีต่อเป้าหมายในอินโดจีน ได้แก่ ดอนเมือง อุดรฯ อุบลฯ โคราช นครพนม ตาคลี และอู่ตะเภา (ดอนเมืองใช้เป็นฐานสำหรับการป้องกันทางอากาศที่สหรัฐมีต่อไทย)

และสร้างต่อมาในภายหลังเป็นแห่งที่ 8 ที่น้ำพอง สภาวะเช่นนี้ทำให้ไทยถูกเปรียบเป็นดัง “เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม” สำหรับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้คือภาพสะท้อนของการแสวงหาความมั่นคงของผู้นำทหารไทย สหรัฐในฐานะ “มหามิตร” จึงเป็นคำตอบหลักและคำตอบเดียวที่ชัดเจน อีกทั้งความผูกพันเช่นนี้เป็นความมั่นใจว่าสหรัฐจะไม่ทอดทิ้งไทย

และตราบเท่าที่สหรัฐไม่ทิ้งไทย… ไทยจะไม่เป็นคอมมิวนิสต์

ดังนั้น การพ่ายแพ้ของสหรัฐในเวียดนาม และการถอนตัวจากพันธะความมั่นคงหลังการสิ้นสงคราม จึงเป็นดังการ “เขย่าประสาท” ของผู้นำไทยเป็นอย่างยิ่ง

เพราะถ้าสหรัฐแพ้ แล้วไทยจะแพ้ด้วยหรือไม่!