สุจิตต์ วงษ์เทศ / พระกฤษณะ เฟื่องฟูก่อนพระราม วรรณกรรมในไทย

พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ เรือน พ.ศ.1800 สืบเนื่องความเชื่อจากบ้านเมืองยุคก่อนๆ ปูนปั้นบนทับหลังศิลาแลงมุขด้านทิศใต้ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี [ภาพและคำอธิบาย โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล มหาวิทยาลัยรามคำแหง]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

พระกฤษณะ เฟื่องฟูก่อนพระราม

วรรณกรรมในไทย

 

พระกฤษณะ รุ่งเรืองเฟื่องฟูในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ตั้งแต่สมัยแรกๆ รับวัฒนธรรมจากอินเดีย

เป็นอวตารของพระนารายณ์ (พระวิษณุ) ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู แล้วเป็นมรดกตกทอดถึงดินแดนไทยสมัยการค้าโลก ราว พ.ศ.1000

[พระรามก็เป็นอวตารของพระนารายณ์ แต่สมัยแรกยังไม่เฟื่องฟูเท่าพระกฤษณะ สมัยหลังต่อไปพระรามจะเฟื่องฟูแทนที่พระกฤษณะ]

บ้านเมืองยุคแรกเมื่อรับรู้เรื่องพระกฤษณะ เชื่อว่าเป็นผู้บันดาลความมั่งคั่งและมั่นคง ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยา ข้าวปลาอาหาร การค้าทางไกล และปกป้องคุ้มครองความอยู่รอดปลอดภัยจากผีร้ายทั้งปวง

จึงมีตำนานเล่าความเป็นมาอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่

พระกฤษณะ ราว พ.ศ.1100-1200 (ประติมากรรมจากเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ชูพระกรข้างซ้ายแสดงปางกฤษณะโควรรธนะ หรือพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ แสดงให้เห็นว่าคนชั้นนำในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป รู้จักคุ้นเคยแล้วกับเรื่องราวของพระกฤษณะมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการรับวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาจากอินเดีย (ภาพและคำอธิบายโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ)
  1. พระกฤษณะ เป็นจอมพลังปราบปรามผีร้ายทั้งปวง (มีผู้รู้อธิบายว่ารับแนวคิดจากเทพเฮอร์คิวลิสของกรีกและโรมัน)
  2. พระกฤษณะ เป็นกษัตริย์ของพวกยาฑพในมหากาพย์มหาภารตะ แล้วครองเมืองทวารวดี มีความมั่งคั่งจากการค้าทางไกลทุกทิศทาง เป็นต้นทางอุดมการณ์ “นคราธิษฐาน” เมืองศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมชื่อทวารวดี

 

พระกฤษณะ ลุ่มน้ำมูล

 

ภาพสลักปางกฤษณะโควรรธนะ พบมากทางลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช และที่ราบลุ่มโตนเลสาบ กัมพูชา ราวเรือน พ.ศ.1500 มีตำนานบอกเล่า ดังนี้

“พระกฤษณะผ่านไปทางภูเขาโควรรธนะ พบคนเลี้ยงวัวกำลังทำพิธีบูชายัญวัวถวายพระอินทร์

เมื่อเห็นดังนั้น พระกฤษณะจึงห้ามไว้ แล้วชักจูงคนเลี้ยงวัวเหล่านั้นหันมาบูชาภูเขาโควรรธนะดีกว่า ซึ่งเป็นแหล่งให้หญ้า ให้น้ำ ให้ความอุดมสมบูรณ์กับฝูงวัวและคนเลี้ยงวัว

พระอินทร์รู้เห็นก็พิโรธ แล้วบันดาลความเดือดร้อนเป็นพายุฝนห่าใหญ่ตกต่อเนื่องไม่หยุด

พระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะขึ้นบังฝนห่าใหญ่ให้ฝูงวัวกับคนเลี้ยงวัวทั้งหลายนาน 7 วัน 7 คืน จนพระอินทร์ต้องยอมแพ้ แล้วยอมให้คนเลี้ยงวัวหันไปนับถือภูเขาโควรรธนะตามคำชี้ชวนของพระกฤษณะ”

พระกฤษณะต่อสู้กับสิงห์ โดยใช้พระหัตถ์ทั้งสองจับขาสิงห์ข้างละขา ภาพสลักทับหลัง ราวหลัง พ.ศ.1600 จากปราสาทนารายณ์เจงเวง อ.เมือง จ.สกลนคร
พระกฤษณะทรงยกภูเขาโควรรธนะ ภาพสลักทับหลัง ราว พ.ศ.1600 ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
พระกฤษณะสู้กับคชสีห์ ภาพสลักทับหลัง ราว พ.ศ.1600 ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ (อยู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์) [ทั้ง 3 ภาพจากหนังสือ รากเหง้าแห่งศิลปะไทย ของ พิริยะ ไกรฤกษ์ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553]

ทวารวดี “นคราธิษฐาน” ของทุกบ้านเมือง

 

บ้านเมืองที่เติบโตหลังรับวัฒนธรรมอินเดีย ต่างจำลองความศักดิ์สิทธิ์เมืองทวารวดีของพระกฤษณะให้คุ้มครองบ้านเมืองของตนและเครือข่ายเครือญาติ

โดยสลักข้อความศุภมงคล (เช่น “ศรี ทวารวดี”) ลงบนเหรียญโลหะ หรือจารึกไว้บนแท่งหิน แล้วมีพิธีกรรมภาวนาสมโภชเสมือนกรุงทวารวดีเมืองพระกฤษณะลอยสวรรค์ลงประดิษฐานสรวมสู่สวัสดิมงคลบ้านเมืองนั้นๆ [แต่ในความจริงเมืองนั้นไม่ชื่อทวารวดี เพียงสมมุติ “นคราธิษฐาน” ว่าเป็นเมืองทวารวดี]

มีตัวอย่างในวรรณกรรมสมัยอยุธยาเรื่องอนิรุทธคำฉันท์ เริ่มด้วยสดุดีพระกฤษณะครองเมืองทวารวดี ดังนี้

 

๏ ปางพระจักรีแปรเปน                กฤษณราญรอนเข็ญ

อรินทรเสี้ยนสยบนา

๏ เสด็จแสดงเนาในเมืองทวา-       รพดีสมญา

คือวิษณุโลกบปาน

พระกฤษณะปราบช้างและสิงห์ ภาพสลักทับหลัง ราว พ.ศ.1650 ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

 

 

ตำราวรรณคดีไทยเคยเข้าใจว่าอนิรุทธคำฉันท์ แต่งโดยศรีปราชญ์ กวีสมัยพระนารายณ์

แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี ศรีปราชญ์เป็นนิทาน ไม่มีตัวตนจริง จึงไม่เป็นผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์ แต่เป็นงานของนักปราชญ์ประจำราชสำนักสมัยต้นอยุธยา