รู้จัก”บ้านฮอลันดา” และเรื่องราวสัมพันธไมตรีกว่า414ปี สยาม-เนเธอร์แลนด์ : คุยกับทูต ‘เคส ราเดอ’

คุยกับทูต เคส ราเดอ สัมพันธไมตรีกว่าสี่ร้อยปีสยาม-เนเธอร์แลนด์ (1)

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ กรุงเทพฯ ให้การต้อนรับนายเคส พิเทอร์ ราเดอ (His Excellency Mr. Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนล่าสุด มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชาและลาว

ท่านทูตราเดอจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจาก University of Amsterdam เริ่มต้นทำงานที่กระทรวงต่างประเทศปี ค.ศ.1979 ได้ไปปฏิบัติงานในหลายภูมิภาคทั้งอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา มีตำแหน่งเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาประจำประเทศไนโรบี อุปทูตประจำประเทศนิการากัว และซูรีนาม เอกอัครราชทูตประจำประเทศนิการากัว และประเทศบราซิล ตามลำดับ

ก่อนมารับหน้าที่ในประเทศไทย

“เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากในความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน และปีนี้ครบ 414 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าประเทศโปรตุเกสจะมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยก่อนเราคือในปี ค.ศ.1511 แต่นับว่าไม่นานมากนัก เพราะเนเธอร์แลนด์ก็เกือบจะเป็นชาติแรกที่เข้ามาเมืองไทยก่อนฝรั่งชาติอื่นๆ”

นายเคส พิเทอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ชาวฮอลันดานั้นเข้ามาเป็นชาติที่สอง รองจากชาติโปรตุเกส ที่เข้ามาค้าขายในเมืองปัตตานีในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในสมัยอยุธยา ชาวสยามใช้คำว่า “วิลันดา” (Wilanda) หมายถึง เนเธอร์แลนด์หรือชาวดัตช์ มาจากคำภาษามลายูว่า “โอรังเบอลันดา” (Orang Belanda) หมายถึง ชาวดัตช์ในชวาและที่อื่นๆ ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) คำว่า “เบอลันดา” (Belanda) อาจมาจากคำภาษาโปรตุเกสว่า “ฮอลันดา” (Hollanda) หรือฮอลแลนด์

“เราเห็นชาวอเมริกันภาคภูมิใจในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศไทยมากว่า 200 ปี แต่เราชาวดัตช์มีความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศไทยมายาวนานกว่า 400 ปีแล้ว และสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ (Queen Beatrix) ก็ได้เสด็จฯ เยือนไทย เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปีแห่งความสัมพันธ์ของเราด้วย”

ท่านทูตราเดอเล่าอย่างปลาบปลื้ม

ไทยกับเนเธอร์แลนด์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1604 ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ กรุงศรีอยุธยา ดังนั้น เมื่อปี ค.ศ.2004 จึงครบรอบ 400 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ ได้เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ (HRH The Prince of Orange) มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ เจ้าฟ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ บ้านฮอลันดา

ในการนี้สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ และเจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เยือนที่ตั้งของหมู่บ้านฮอลันดา ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นและขุดแต่งส่วนที่เหลืออยู่ และครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือเรียกว่า เฟโอเซ (Verenigde Oost-Indische Compagnie – VOC) อันเป็นชุมชนที่ประกอบด้วยชาวฮอลันดาและผู้คนหลายเชื้อชาติ

สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลและจัดแสดงนิทรรศการ เป็นอนุสรณ์แสดงสัมพันธภาพอันยั่งยืนระหว่างสองประเทศ

ปัจจุบัน บ้านฮอลันดาได้ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ บอกเล่าความเป็นมาเมื่อครั้งอดีตของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานการทำการค้าของพ่อค้าดัตช์ และวิถีความเป็นอยู่ในประเทศไทย

รวมถึงความสัมพันธ์กับสังคมสยามหรือราชสำนัก อันเป็นจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และมีหลักฐานให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยาช่วงนั้นเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งจากเอเชียและยุโรป

“ใช่ครับ ผมได้ไปที่นั่นครั้งหนึ่ง และโชคดีที่ได้พบผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา เราไปเยือนบ้านฮอลันดาด้วยกันและยินดีมากเมื่อได้ทราบว่า บ้านฮอลันดาในปัจจุบัน อยู่ในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม และผมก็ได้มีโอกาสพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก”

บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VOC) ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1602 นับได้ว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทการค้าสมัยใหม่ในยุคนั้นที่เข้ามาดำเนินกิจการในเอเชีย รัฐบาลดัตช์ให้อำนาจแก่เฟโอเซ (VOC) ในการทำการค้า การสร้างป้อมปราการ การควบคุมกองกำลังทหาร การแต่งตั้งผู้ว่าการ การทำสงคราม และการเจรจาสนธิสัญญาต่างๆ ในนามของรัฐบาล ครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่แหลมกู๊ดโฮป จรดญี่ปุ่น

VOC เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1604 ถือได้ว่า VOC เป็นบริษัทคู่ค้าชาวตะวันตกที่สำคัญรายหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม

VOC ซื้อดีบุก หนังกวาง หนังปลากระเบน ไม้ฝาง ข้าว และสินค้าอื่นๆ อีกมากมายจากสยาม

และยังได้สิทธิผูกขาดในการค้าขายหนังสัตว์ให้ญี่ปุ่น ทำให้ VOC สามารถสร้างรายได้มหาศาล

นอกจากการเป็นผู้ส่งออกแล้ว ดัตช์ยังนำเข้าสินค้ามีค่า แปลกใหม่ และสวยงามมาสู่สยามอีกด้วย เช่น ผ้าพิมพ์ลายจากอินเดีย เงินจากญี่ปุ่น

การติดต่อระหว่างชาวดัตช์กับชาวไทยครั้งแรก เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1601 เมื่อเรือของ VOC เดินทางมาถึงปัตตานีที่อยู่ทางใต้ของไทย และตั้งสถานีการค้าขึ้นหลายแห่งที่นั่น

ต่อมาในปี ค.ศ.1604 บริษัท VOC อาศัยข้อมูลจากพ่อค้าปัตตานีว่าอยุธยามีสินค้าจากเมืองจีนมาขายในพระนครเช่นเดียวกับปัตตานี จึงได้ส่งแลมเบิร์ต จาคอบซ์ เฮอิน (Lambert Jacobsz Heijn) และคอร์เนลีส สเปกซ์ (Cornelis Specx) มายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนเรศวร และสำรวจตลาด

นับเป็นปีแรกที่เริ่มความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ซึ่งทำให้เกิดการตั้งสถานีการค้าแห่งแรกที่อยุธยาในปี ค.ศ.1608

ในปีเดียวกันนี้ คณะผู้แทนกลุ่มแรกจากสยามได้ออกเดินทางไปเนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรก เพื่อมอบพระราชสาส์นจากกษัตริย์อยุธยาให้ Prince Maurits ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหรืออุปราชของเนเธอร์แลนด์ในสมัยนั้น

หลังจากอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เกือบ 2 ปี คณะผู้แทนจึงเดินทางกลับสยามประเทศในปี ค.ศ.1610

หลายศตวรรษต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้พัฒนาขึ้นโดยมุ่งเฉพาะด้านการค้าเป็นหลัก ชนชาวดัตช์ที่เป็นพ่อค้า ช่าง วิศวกร ที่ปรึกษา และอีกหลากหลายอาชีพ เริ่มทยอยเดินทางมาเมืองไทย

จนกระทั่งปี ค.ศ.1858 ความสัมพันธ์เริ่มขยับขยายจากการค้าไปสู่เรื่องอื่นๆ จึงมีการก่อตั้งสถานกงสุลเนเธอร์แลนด์ขึ้นในกรุงเทพฯ เหตุผลที่สำคัญคือ มีเรือของดัตช์เข้ามาเทียบท่าหลายลำ

กงสุลกิตติมศักดิ์คนแรกเป็นชาวเยอรมันที่พูดไทยและดัตช์ได้ จากนั้นในปี ค.ศ.1875 เนเธอร์แลนด์จึงส่งนักการทูตคนแรกมาดูแล และยกระดับเป็นสถานกงสุลใหญ่ในปี ค.ศ.1881

ต่อมาปี ค.ศ.1903 นายเฟอร์ดิแนนด์ โดเมล่า นิวเวนฮูส (Ferdinand Domela Nieuwenhuis) เป็นนักการทูตคนแรกของเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงเทพฯ โดยเป็นกงสุลฝึกหัดระหว่างปี ค.ศ.1890-1899 จนถึงปี ค.ศ.1919 จึงได้กลายเป็นนักการทูตดัตช์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ นานที่สุดถึง 16 ปี มีตำแหน่งเป็นอุปทูตและอัครราชทูตตามลำดับ

ในที่สุด สถานกงสุลใหญ่ก็ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นสถานอัครราชทูต มีผู้แทนทางการทูตมาประจำเมืองไทย 24 คน และตำแหน่งราชทูตก็ได้รับการยกระดับเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มเมื่อปี ค.ศ.1957

นายเคส พิเทอร์ ราเดอ (H.E. Mr. Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ท่านทูตราเดอจากเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า

“ประชาชนและเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ พากันไปเยี่ยมชมบ้านฮอลันดา เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ประเทศของตน และชาวดัตช์ก็เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย การศึกษาประวัติศาสตร์จึงช่วยสร้างความเข้าใจในวิวัฒนาการความสัมพันธ์ทวิภาคีทางการค้าระหว่างกัน”

ทั้งนี้ เพราะชาวเนเธอร์แลนด์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการค้ามาช้านาน ทั้งการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และการค้ากับประเทศในภูมิภาคอื่น

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กว่า 400 ปี ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ และ “บ้านฮอลันดา” ของขวัญพระราชทาน ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งในความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ราบรื่นและแนบแน่นระหว่างกัน