สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล (7) รัฐบาลเปลี่ยน ยุทธศาสตร์เปลี่ยน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผมเอาแผ่นภาพ หรือลายแทง แนวทางเพื่อปฏิรูปการศึกษายุค พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาฉายซ้ำติดต่อกันจนครบทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ แต่ละยุทธศาสตร์มีแผนงาน โครงการที่ต้องทำรองรับ ปรากฏอยู่ในนั้นด้วย

ยุทธศาสตร์สุดท้ายว่าด้วยการบริหารจัดการ กล่าวถึงเรื่องหลักๆ ได้แก่ การจัดการปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ และปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาซึ่งติดค้างไว้ มาว่ากันต่อสัปดาห์นี้

กฎหมายฉบับใดจะถูกยกร่างขึ้นใหม่ และฉบับใดเป็นการแก้ไขปรับปรุงจากของเดิมที่ใช้อยู่ขณะนี้

 

ฉบับใหม่คงเป็นไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยเฉพาะหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา มาตรา 258 กฎหมายกองทุนการศึกษาเพื่อรองรับการเรียนฟรี 12 ปี อนุบาลถึงมัธยมต้น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา พ.ศ. … พ.ร.บ.กองทุนเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู

ฉบับปรับปรุงของเดิม ซึ่งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เสนอต่อรัฐบาลแล้วคือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยปรับแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553

โดยเสนอแก้หลายประเด็น หลักๆ เช่น ยกเลิกการประเมินโดย สมศ. ทุกห้าปี

ให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมร้องขอและให้เป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง

ให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่วางระบบหลักสูตรและการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษาทุกสังกัด ทุกประเภท และทุกระดับ

ให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ รัฐต้องปฏิรูประบบการเงินและการคลังเพื่อการศึกษาโดยปรับการจัดสรรเงินจากเดิมที่จัดสรรผ่านด้านอุปทานหรือสถานศึกษา เป็นการจัดสรรผ่านด้านอุปสงค์หรือตัวผู้เรียนในสัดส่วนที่เหมาะสม

ภายใน 3 ปีให้รัฐกำหนดกลไกในการบริหารจัดการการศึกษาระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดการวางแผนการศึกษาและการบริหารการศึกษาของจังหวัดที่บูรณาการการศึกษาในทุกระดับ กับศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ให้มีการศึกษาและพัฒนารูปแบบคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท

ข้อเสนอประเด็นหลังนี้น่าสนใจ สะท้อนความเห็นของกรรมาธิการ สปท.ด้านการศึกษา ว่า โครงสร้าง กศจ. ที่ดำเนินมายังไม่บรรลุภารกิจสำคัญที่เป็นหัวใจของการยกระดับคุณภาพ
การศึกษา ซึ่งความหมายกว้างกว่าผลประโยชน์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา แค่นั้น

 

อีกด้านหนึ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นการเฉพาะในหมวดปฏิรูปการศึกษาคือเรื่องปฏิรูปครู

มาตรา 258(3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

กลไกที่จะทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอทั้งในเรื่องปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบซึ่งรวมถึงปฏิรูปครูคือ คณะกรรมการอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

ครับ แนวโน้มของการปฏิรูปการศึกษายุคปฏิรูปต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

โมเดลของหลายรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงดาว์พงษ์ โมเดล กับของคณะกรรมการอิสระจะผสมกลมกลืนกันอย่างไร หรือจะย่ำรอยเดิม เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนยุทธศาสตร์ ผ่าตัด โละทิ้ง เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด หรือสานต่อจากของดีที่ทำมาแล้ว จึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอิสระและรัฐบาลในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใดก็ตาม ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ทั้ง 6 ข้อ มากกว่าหรือน้อยกว่านั้น คำถามในเชิงบริหารจัดการก็ยังเหมือนเดิม คือ การขับเคลื่อนควรเป็นอย่างไร

ระหว่างทำหลายๆ เรื่องกระจัดกระจายไปหมด หาโฟกัสไม่เจอ กับทำทีละเรื่อง หรือเฉพาะบางเรื่องซึ่งเป็นจุดคานงัดให้เห็นผลชัดเจนก่อน

ควรมีการจัดลำดับ ให้ความสำคัญก่อนหลัง หรือไม่ หรือควรให้ความสำคัญเท่ากันหมด ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวแตกต่างกันไป

การจัดลำดับทำให้การระดมพลัง จัดสรรทรัพยากรลงไปในแต่ละยุทธศาสตร์มีความเหมาะสม เกิดผลมากกว่า เร็วกว่า

 

ยุทธศาสตร์ 1-6 อะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง คงต้องพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ต้องการ ผลสัมฤทธิ์การเรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ของครู การเน้นปรับโครงสร้าง กับการปรับความคิดและพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะครูเป็นด่านแรกซึ่งสัมผัสกับนักเรียนโดยตรง ควรให้ความสำคัญทุ่มเทลงไปตรงไหนก่อนหลังมากกว่า

ความเป็นจริงที่ผ่านมาของการบริหารยุทธศาสตร์ ระหว่างเดินหน้าปรับโครงสร้าง กับการปฏิรูปครูทั้งระบบ ทั้งการผลิต พัฒนาและการใช้ครู ดาว์พงษ์ โมเดล วางน้ำหนักมุ่งหน้าไปตรงไหนมากกว่า

คำตอบต้องคุยกันต่อตอนหน้า สะท้อนจากมุมมองของนักวิชาการด้านการศึกษาขาประจำ