ตำนานบรรพชน ‘ชาวอะบอริจิน’ ประวัติศาสตร์เก่าแก่สุดในโลก?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ด้วยหลักฐานในปัจจุบันคงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า “บรรพชน” (แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือว่าสัตว์ชนิดไหนๆ ก็ย่อมสืบเทือกเถาเหล่ากอมาจากทั้งปู่ย่าตายาย ที่มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น จึงดูจะไม่ยุติธรรมนักถ้าจะใช้คำว่า “บรรพบุรุษ” ที่หมายถึง ปู่หรือตา มากกว่าย่าหรือยาย หมายรวมถึงต้นตระกูลทั้งหมด) ของ “มนุษย์สมัยใหม่” (modern man) นั้น ถือกำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริกา ก่อนที่จะเดินเท้ากระจายออกไปตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก

แต่ทราบกันไหมครับว่า ด้วยข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นมนุษย์กลุ่มไหนกันแน่ ที่มีความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมมาจากสมัยที่บรรพชนของพวกเขาก้าวขาออกมาจากกาฬทวีปแห่งนั้น ได้อย่างยาวนานที่สุด?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วารสารทางด้านวิทยาศาสตร์ สัญชาติอเมริกัน ที่ก่อตั้งมายาวนานเฉียดๆ 150 ปี อย่าง Nature (วารสารฉบับนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2412 ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ของสยาม) ซึ่งได้รับการการันตีความน่าเชื่อถือจากการจัดอันดับการอ้างอิงวารสารประจำปี พ.ศ.2553 ว่าเป็นวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการอ้างอิงถึงมากที่สุดในโลก ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “A genomic history of Aboriginal Australia” (ประวัติศาสตร์จีโนมของชาวพื้นเมืองอะบอริจิน แห่งออสเตรเลีย) ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2559 ก็ได้พาดพิงถึงปัญหาที่ว่านี้ พร้อมกับเสนอสมมุติฐานใหม่เอาไว้อย่างน่าสนใจ

(กล่าวโดยสรุป “จีโนม” อยู่ใน DNA ซึ่งในสิ่งมีชีวิตชั้นสูง จีโนมก็คือชุดของ DNA ทั้งหมด ที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียสของทุกๆ เซลล์นั่นเอง)

แน่นอนว่า เมื่อเป็นข้อเขียนที่ว่าด้วยการศึกษาจีโนมของพวกอะบอริจินแล้ว สมมุติฐานใหม่ดังกล่าวก็ย่อมเสนอว่า พวกอะบอริจินนี่แหละ คือผู้ที่มีความสืบเนื่องทางวัฒนธรรมต่อมาจากบรรพชนที่อพยพออกมาจากแอฟริกา มาอย่างยาวนานมากที่สุดนั่นเอง (ส่วนจะจริงหรือเปล่านั่นก็อีกเรื่อง เพราะต้องรอดูหลักฐาน และผลการวิจัยในอนาคตที่อาจจะมาลบสถิติตรงนี้ทิ้งไปอีก)

 

ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่มีศาสตราจารย์เอสเค่ วิลเลอร์สเลฟ (Eske Willerslev) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ นำทีม โดยพวกเขาได้สุ่มตัวอย่างจากชาวอะบอริจินจำนวน 83 คน และชาวปาปัวจากที่ราบสูงนิวกินีอีก 25 คน โดยผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นอย่างที่ผมได้เกริ่นเอาไว้ข้างต้นนั่นแหละนะครับ คือ บรรดาตัวอย่างจำนวนเฉียดร้อย ทั้งที่มาจากออสเตรเลีย คือพวกอะบอริจิน และเครือญาติของพวกเขาคือชาวปาปัวนั้น ต่างก็สามารถสืบย้อนไปจนพบว่า มีบรรพชนที่เคลื่อนย้ายออกมาจากแอฟริกาเหมือนๆ กัน

แต่รายละเอียดที่มากไปกว่านั้นก็คือว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า บรรพชนของมนุษย์ได้อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ออกมาจากแอฟริกาเมื่อ 78,000 ปีที่แล้ว ก่อนที่จำนวนหนึ่งในนั้นจะแยกตัวออกมาอีกทอด แล้วข้ามเข้าไปที่ดินแดนโพ้นทะเลในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เรียกว่า ผืนแผ่นดินซาหุล (Sahul, ซึ่งก็คือพื้นที่ที่หมายรวมถึงทั้งพื้นที่เกาะใหญ่ออสเตรเลีย และเกาะแทสมาเนีย ที่ชาวอะบอริจินอาศัยอยู่ และเกาะนิวกินีของพวกปาปัวด้วย) เมื่อราวๆ 58,000 ปีที่แล้วเลยทีเดียว

แต่เมื่อคราวที่บรรพชนของชาวอะบอริจินและปาปัวได้เดินทางจากแผ่นดินใหญ่ ผ่านหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งก็คือประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน เข้าไปในออสเตรเลียนั้น มนุษย์ดึกดำบรรพ์พวกนี้ต้องข้ามพื้นที่บริเวณที่เรียกว่า “เส้นวอลเลซ” (Wallace line) ด้วย ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่อะไรที่จะทำกันได้ง่ายๆ เลยนะครับ

เพราะเจ้าเส้นวอลเลซที่ว่านี้ ไม่ใช่ลักษณะที่มีอยู่จริงทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นเส้นสมมุติที่เจ้าพ่อแห่งวงการธรรมชาติวิทยา ยุคอาณานิคมอย่าง อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russell Wallace, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2366-2456) ได้เสนอขึ้นโดยอ้างอิงจากผลการสำรวจของเขา

วอลเลซเสนอว่า เส้นวอลเลซของเขานั้นคือ แนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ที่ผ่านระหว่างเกาะบอร์เนียว กับเกาะสุลาเวสี (บางทีก็เรียกว่า เกาะเซเลเบส, Celebes) ทางตอนเหนือ และแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ที่ผ่านระหว่างเกาะบาหลี กับเกาะลอมบอก (Lombok) ทางตอนใต้ จึงทำให้เส้นที่ว่านี้แบ่งหมู่เกาะมาเลย์ออกเป็นสองฟากข้าง

ที่สำคัญก็คือ ทั้งสองฟากข้างของเจ้าเส้นวอลเลซที่ว่านี้ จะมีลักษณะของพืชพรรณ และสัตว์ทั้งหลายแตกต่างออกจากกันอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

 

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ สัตว์ที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเส้นวอลเลซนั้น เป็นพวกที่อยู่ในอันดับ (Order) Marsupial คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ตัวเมียมีกระเป๋าสำหรับเลี้ยงลูกอ่อนอย่างจิงโจ้ กับพวกอันดับ Monotremata คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ ได้แก่ อิคิดนา (Echidna, ตัวกินมดหนาม) และตุ่นปากเป็ด ซึ่งสัตว์เหล่านี้มีอยู่เฉพาะทางซีกตะวันออกของเส้นวอลเลซนี้เท่านั้น ในขณะที่สัตว์ที่อยู่ทางฟากตะวันตกของเส้นวอลเลซนั้น จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดที่มีรกในครรภ์

และสิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดในข้อเสนอของวอลเลซก็คือ หมู่เกาะที่อยู่ทางฟากตะวันตกของเส้นวอลเลซทั้งหมดนั้น เคยเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่ทวีปเอเชีย

ในขณะที่แผ่นดินทางซีกตะวันออกของเส้นวอลเลซ ซึ่งหมายรวมถึงออสเตรเลียด้วยนั้น อยู่อย่างโดดเดี่ยว เป็นเอกเทศมาแต่เดิม

ดังนั้น จึงมีสิ่งมีชีวิตที่แปลกแยกไปจากสัตว์ในผืนแผ่นดินใหญ่อย่างเห็นได้ชัดเจน

และก็เป็นบรรพชนของพวกอะบอริจินและปาปัวนี่เอง ที่สามารถข้ามเส้นวอลเลซนี้ไปได้ ในขณะที่สัตว์อื่นๆ ข้ามไม่ได้

เราจึงไม่พบสิ่งมีชีวิตที่มีกระเป๋าหน้าท้องนอกพื้นแผ่นดินซาหุล ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเดินทางข้ามมหาสมุทรของบรรพชนมนุษย์เมื่อครึ่งแสนปีก่อน

แต่นอกเหนือไปจากเรื่องน่าทึ่งที่ว่า มนุษย์โบราณพวกนี้สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรไปได้อย่างไรแล้ว สิ่งที่น่าทึ่งไม่แพ้กันอีกเรื่องก็คือ การที่พวกเขายังคงเก็บ “ความทรงจำ” ในการเดินทางข้ามมหาสมุทรครั้งนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันในรูปของ “ตำนาน” หรือ “ปกรณัม” อีกด้วยต่างหาก

 

พวกอะบอริจินเรียกปกรณัมเกี่ยวกับความทรงจำในการเดินทางข้ามมายังดินแดนโพ้นทะเลอย่างนี้รวมๆ กันว่า “Dreamtime” ซึ่งในที่นี้ผมขออนุญาตแปลออกมาด้วยสำนวนยี่เกว่า “ห้วงความฝัน”

แน่นอนว่า “Dreamtime” เป็นคำภาษาอังกฤษ เดิมศัพท์บัญญัติคำนี้จึงเป็นคำที่ฝรั่งแปลมาจากคำว่า “Alcheringa” ในภาษาของพวกอะบอริจิน เผ่าอรันทาเหนือ (Northern Arunta) อีกทอดหนึ่ง

โดยคำคำนี้นอกจากจะมีความหมายถึง “ห้วงความฝัน” ซึ่งก็คือ “ปกรณัม” ที่ว่าด้วยบรรพชนของพวกเขา (เพราะพวกอะบอริจินทุกชนเผ่าไม่นับถือเทพเจ้า มีเพียงจิตวิญญาณของธรรมชาติ และบรรพชนเท่านั้น) แล้ว ก็ยังมีรากมาจากคำว่า “alcheri” หรือ “alchera” ซึ่งหมายถึง “ความฝัน” ในยามที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกเคลิ้มหลับด้วยเช่นกัน

พวกอะบอริจินเผ่าอื่นก็มีศัพท์เรียก “ความฝัน” โดยมีความหมายถึง “ห้วงความฝัน” คู่กันไป ไม่ต่างจากพวกเผ่าอรันทาเหนือ คำว่า “meri” ในภาษาชนเผ่าดิเอริ (Dieri), “djugur” ของเผ่าอะลูริดจา (Aluridja), “bugari” ในเผ่าการาดเจรี (Karadjeri), “Ungud” หรือ “lalun” ของพวกอุนคารินคิน (Ungaringin) ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายแบบเดียวกันนี้ทั้งนั้น

สำหรับชาวอะบอริจินแล้ว ทั้ง “ความฝัน” และ “ปกรณัม” จึงเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางข้ามโพ้นทะเลไกลมายังเกาะที่เต็มไปด้วยจระเข้ หรือสัตว์ดุร้ายอื่นๆ ให้ต้องปราบปรามอย่างสุดแสนจะทุลักทุเล และลำเค็ญเจียนบ้า ก่อนจะลงหลักปักฐานและกลายเป็นเผ่า หรือชุมชนของพวกเขาสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

 

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พวกอะบอริจินคิดว่าความฝันเป็นเรื่องไร้สาระ ตรงกันข้ามสำหรับพวกเขาแล้ว ความฝันคืออีกโลกหนึ่งที่ขนานคู่อยู่กับโลกของความเป็นจริง (แน่นอนว่าสำหรับเหล่าอะบอริจินแล้ว ห้วงความฝันก็เป็น “ความจริง” ไม่แพ้โลกที่คนไม่ใช่อะบอริจินอย่างพวกเราไปยัดเยียดให้พวกเขาเรียกว่าโลกแห่งความจริง)

ห้วงความฝันจึงเป็นสิ่งที่ทั้งคงสภาพ เป็นนิรันดร์ และต่อเนื่องมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกาลเวลาในอดีต ปัจจุบัน และต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต

บางคนเปรียบเปรยว่า สำหรับพวกอะบอริจินแล้ว “ห้วงความฝัน” นั้นเปรียบได้กับ “คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” ในพระศาสนา ไม่ต่างไปจากคัมภีร์โตราห์ของพวกยิว, อัลกุรอ่านของชาวมุสลิม หรือพันธสัญญาใหม่ของคริสเตียน

ดังนั้น หากห้วงความฝันจะเป็นเหมือนกับพระคัมภีร์เล่มหนาเตอะแล้ว ตำนานหรือปกรณัมต่างๆ ที่ถูกรวบรวมอยู่ในนั้นก็คงไม่ต่างไปจาก “บันทึก” ทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้ถูกขีดเขียนเอาไว้ แต่สืบทอดกันผ่านปากต่อปาก อย่างที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” นั่นเอง

น่าประหลาดดีนะครับ ที่บางทีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น อาจจะไม่ได้ถูกขีดเขียนไว้ด้วยตัวอักษรอะไรเลยสักนิด แต่พวกมันกลับถูกจดจำเอาไว้ผ่านอะไรที่เคยถูกนักประวัติศาสตร์ หรือนักโบราณคดีกล่าวหาว่าเลื่อนลอย เหมือนอย่าง ตำนาน หรือปกรณัม ที่เล่ากันปากต่อปาก

แต่ตำนานเหล่านี้ กลับมีข้อมูลที่สอดคล้องกันกับหลักฐานทางโบราณคดี และข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในจีโนมของมนุษย์ อย่างที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรมันเสียอย่างนั้น