จัตวา กลิ่นสุนทร : เทศกาล “ศิลปะร่วมสมัย” นานาชาติ ใน “กรุงเทพฯ” บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่

ช่วงระยะเวลา 2 เดือนสุดท้ายปลายปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยจะอบอวลไปด้วยเรื่องราวของ “ศิลปะร่วมสมัย” โดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ เมืองหลวง ซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยศิลปวัฒนธรรม

กรุงเทพฯ กำลังมีศิลปินจากต่างชาติ และศิลปินไทยร่วม 100 ชีวิตมาช่วยกันเนรมิตให้เป็น “เมืองศิลปะ”

โดยตั้งชื่อมหกรรมศิลปะครั้งใหญ่นี้ว่า “Bangkok Art Biennale” (BAB 2018) หรือ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ” พร้อมคอนเซ็ปต์ “สุขสะพรั่งพลังอาร์ต” (Beyond Bliss)

ศิลปินต่างชาติ อาทิจาก สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และ “ยาโยอิ คุซามะ” (Yayoi Kusama) จากญี่ปุ่น “มารินา อบราโมวิช” (Marina Abramovic) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ อาร์ต/ศิลปินร่วมสมัยจากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย, “อิบุล” (Lee Bul) ศิลปินจัดวาง กับ “ชเว จองฮวา” (Choi Jeong Hwa) จากเกาหลีใต้, “มาร์กาเร็ต ฮอลล์” (Magaret Hall) จากออสเตรเลีย เป็นศิลปินภาพถ่าย-ประติมากรรม และ ฯลฯ

สำหรับศิลปินร่วมสมัยของประเทศไทยประกอบด้วย วิสุทธิ์ พรนิมิต, พิเชษฐ กลั่นชื่น, ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, ธวัชชัย พันสวัสดิ์, กวิตา วัฒนะชยังกูร, ปานพรรณ ยอดมณี, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, จุมพล อภิสุข, มณเฑียร บุญมา

และอีกมากหลายศิลปิน

 

สถานที่จัดแสดงงาน จัดวางงานศิลปะร่วมสมัย ใน “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ” (Bangkok Art Biennale 2018) ครั้งนี้ฟังดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายพอสมควรกับ “ศิลปะร่วมสมัย” ซึ่งไปจัดอยู่ตามสถานที่ เช่น “วัดโพธิ์-วัดพระเชตุพน, วัดแจ้ง-วัดอรุณ, วัดประยูร”

เนื่องจากว่าภายในวัดต่างๆ ที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่สมบูรณ์ไปด้วยศิลปะ ทั้งจิตรกรรม (ฝาผนัง) ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ที่สูงส่งงดงามตามรูปแบบของไทย โดยศิลปินไทยจากอดีต ในประวัติศาสตร์ เปิดแสดงอยู่ตลอดมาชั่วนาตาปี หลายร้อยปี เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหาเวลาไปเยี่ยมเยือนให้ได้เสียแล้วสำหรับคอศิลปะทั้งหลาย

แต่สำหรับสถานที่อื่นๆ ไม่น่าจะแปลกใจอะไรกับงานศิลปะร่วมสมัยจะสอดแทรกเข้าไปจัดวาง ติดตั้ง อย่างเช่น ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย “Bang of Thailand Learning Center” (BOT), The Jam Factory, The Peninsula Bangkok Hotel, The East Asiatic Company (อาคาร บริษัท อีสต์เอเชียติก) Mandarin Oriental Bangkok (แมนดารินโอเรียนเต็ล)

Bangkok Art and Culture Centre (หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร) Siam Discovery, Skywalk, Siam Paragon, Central World, Central Embassy, Nai lert Park Heritage Home (บ้านปาร์คนายเลิศ), Lumpini Park Alliance Francaise de Bangkok (สมาคมฝรั่งเศส), One Bangkok, The Emquoatier (ดิ เอ็มควอเทียร์)

ผลงานภาพวาด ภาพถ่าย กราฟฟิตี้ งานศิลปะจัดวาง แอนิเมชั่น บนสถานที่สำคัญๆ ดังที่กล่าวมานั้นกว่า 20 แห่ง ไม่ทราบว่าท่านที่สนใจ คอศิลปะร่วมสมัยขนานแท้ นักศึกษาศิลปะ อาจารย์ผู้สอนศิลปะ ศิลปินอิสระทั้งหลาย และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เดินทางเข้ากลางเมืองมาชื่นชมกันบ้างหรือยัง

แต่ยังมีเวลาอีกมากเพราะงานเหล่านี้จะติดตั้งอยู่ถึง 3 เดือน

 

เท่าที่แจ้งข่าวบอกกล่าวมานี้งานศิลปะก็ได้เรียงรายเต็มกลางเมือง เรียกว่าตลอดแนวรถไฟฟ้า กลายเป็นเมืองศิลปะจริงๆ ขณะนี้มหกรรมศิลปะร่วมสมัยดังกล่าวนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดเอาตรงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ข้ามปีไปโน่นทีเดียว

ไม่ทราบว่าประชาชนทั่วไปซึ่งเดินทางผ่านไปมาได้สังเกตกันบ้างหรือไม่ อาจเป็นด้วยเหตุว่าศิลปินคงจะสอดแทรกลงไปตามสถานที่ต่างๆ สำคัญๆ อันเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ซึ่งมีการประดับประดาตกแต่งอยู่พอสมควรแล้วจะดูกลมกลืน หรือเพิ่มพูนความเป็นศิลปะสมัยใหม่ขึ้นจนแปลกหูแปลกตาก็ย่อมได้

จะว่าไปการสร้างสรรค์งานศิลปะในมหกรรมศิลปะครั้งยิ่งใหญ่คราวนี้เรียกได้ว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับประชาชนทั่วๆ ไปในประเทศไทย เป็นเรื่องก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง

จนอาจเรียกได้ว่าผู้บริหารประเทศที่กำลังหน้าดำคร่ำเตรียมแย่งชิงการนำ หรือต้องการสืบทอดอำนาจไปนานๆ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ปรารถนาเพราะลำบากลำบนกับเรื่องปากท้อง “เศรษฐกิจ”

และค่อนข้างจะอึดอัดเรื่อง “เสรีภาพ” อาจจะไม่กระดิกหู ไม่เข้าใจ “ศิลปะร่วมสมัย” ที่กำลังเบ่งบานกันอยู่กลางเมืองขณะนี้

 

สําหรับมหกรรมศิลปะขนาดใหญ่ๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรานั้น ในต่างประเทศได้ดำเนินกันมากว่า 100 ปีแล้ว อย่างเช่น ประเทศอิตาลี (Italy) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเวนิส (Vanice) 2 ปีครั้ง เรียกว่า “Venice Biennale” โดยเชื้อเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียง และผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกเข้าร่วมแสดงผลงาน ที่ผ่านมาตั้งแต่ประเทศไทยได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมงานมหกรรมดังกล่าวนี้ ศิลปินจากประเทศของเราได้เข้าร่วมแสดงในงานนี้กันไปหลายรุ่นหลายท่านแล้ว

Venice Biennale เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในประเทศต่างๆ ไปทั่วโลกรวมทั้ง Berlin Biennale, Copenhagen Ultracon Temporary Biennale, Gwangju Biennale, Austria Biennale, Biennale de Paris, Biennale of Sydney ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด Bangkok Art Biennale (BAB 2018) “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ” ทั้งสิ้น

เชื่อว่าเป็นความแปลกใหม่ของคนไทยทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่คอศิลปะทั้งหลาย เพราะเหตุว่าการก่อเกิดมหกรรมศิลปะซึ่งมีศิลปินจำนวนมากเข้าร่วมงาน ซึ่งไม่เฉพาะศิลปินไทยเท่านั้น ยังเป็นศิลปินมีชื่อเสียงต่างชาติด้วยแล้วย่อมต้องเป็นเรื่องราวและข่าวคราวอาจช่วยดึงช่วยดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งกำลังทำท่าว่ามีปัญหาหดหาย ยกเลิกการเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยได้บ้าง ก็ได้–

เพราะการบริหารจัดการของผู้รับผิดชอบค่อนข้างผิดพลาด เกิดอุบัติเหตุใหญ่ๆ จนนักท่องเที่ยวเสียชีวิตเป็นจำนวนมากๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มหลักๆ ถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องเงินทองผลประโยชน์ แถมผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ ปากไม่ค่อยดีพ่นวาจาแบบคายของเสียออกมา เพิ่มความกระทบกระเทือนเข้าไปอีก ย่อมต้องหาทางแก้เกมกู้ชื่อเสียงกันต่อไปด้วยเวลาพอสมควร

ตั้งแต่ปลายปี 2561 นี้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นอกจากกรุงเทพฯ เมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะมีสิ่งดีๆ มากมายหลายหลากรวมทั้งอาหารการกิน ยังมีจังหวัดชายทะเล ซึ่งสวยสดงดงามด้วยทะเล และธรรมชาติอย่างจังหวัดกระบี่ ก็อบอวลไปด้วย “ศิลปะ”

 

จังหวัดกระบี่กำลังมีงาน “มหกรรมศิลปะนานาชาติ” (Thailand Biennale Krabi 2018) ติดตั้งสอดแทรกจัดวางในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของเมืองดังกล่าว ซึ่งศิลปินต่างชาติที่มีชื่อเสียงเดินทางเข้ามาสร้างงานร่วมกับ “ศิลปินแห่งชาติ” และศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว

ต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังความสามารถเท่าที่มี เพราะศิลปินทั้งหลายช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติบ้านเมืองให้งดงามด้วยความจริงใจ ทำให้ผู้คนสร้างความดี เกิดความรักโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ แม้ประเทศของเราจะยังอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้บริหารได้กุมอำนาจเพราะเชื้อเชิญตัวเองและพวกพ้องเข้ามากันเอง ประชาชนไม่ได้เลือกพวกเขา

ประเทศเรากำลังจะมีการ “เลือกตั้ง” ทั่วไป เพื่อคืนกลับสู่เส้นทาง “ประชาธิปไตย” ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องต้องการ

ปิดฉาก “มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018” และ “Thailand Biennale Krabi 2018” ไปช่วยกันหย่อนบัตร “เลือกตั้ง” เพื่อพาประเทศเดินสู่การปกครองตามระบอบที่ทั่วโลกนิยมกัน

ไม่ควรปล่อย “เผด็จการ” อยู่เหนือ “ประชาชน” ต่อไป?