ปริศนาโบราณคดี : ประเพณี “ลอยหะมด” ของมอญหริภุญไชย คือต้นกำเนิด “ลอยกระทง” ในสยาม?

ลําพังข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาข้อที่ว่า ประเพณี “ลอยกระทง” มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยจริงหรือ ก็ยังคงค้างคาใจผู้สนใจประวัติศาสตร์มากพอแรงอยู่แล้ว

นับแต่สำนักพิมพ์ค่ายศิลปวัฒนธรรม ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย” เนื้อหาใจความโดยย่อต้องการบอกให้ชาวไทยทั้งประเทศรับทราบว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี่เอง

ส่วนคำว่า “มาดูท่านผาเทียนแลเล่นไฟ” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลัก 1 ของพ่อขุนรามคำแหง หลายท่านตีความว่า อาจเป็นการเผาเทียนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาก็ได้ มิได้หมายถึงประเพณีลอยกระทงแต่อย่างใด

บทความชิ้นนี้ มิได้มีจุดประสงค์ที่จะมาชวนท่านผู้อ่านถกเถียงกันต่อถึงประเด็นเรื่อง ลอยกระทงกับนางนพมาศว่าตกลงแล้วมีหรือไม่มีตั้งแต่ยุคสุโขทัยกันแน่ แม้ลึกๆ แล้วดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้ยังคงน่าสนใจควรหยิบมาวิวาทะอีกหลายรอบก็ตาม หากแต่ท่านสามารถหาหนังสือเล่มดังกล่าวอ่านได้ไม่ยาก

ดิฉันจึงขอเปิดประเด็นใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนัก

ท่านเชื่อหรือไม่ว่าประเพณีลอยกระทงของสยาม ไม่ว่าจะมีขึ้นครั้งแรกในยุคสมัยใด สุโขทัย อยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ แต่ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณี “ลอยหะมด” ของชาวมอญหริภุญไชย?

เชื่อว่าคำถามนี้ คงยิ่งทำให้คิ้วที่ท่านขมวดเกลียวตั้งแต่ขบคิดงุนงงเรื่องนางนพมาศในย่อหน้าแรกแล้ว ยิ่งเพิ่มปมหนักข้อขึ้นไปอีก

หลายท่านคงบ่นว่า โถ! แม้แต่ชื่อ “ลอยหะมด” เกิดมาก็เพิ่งจะได้ยินเป็นครั้งแรก ช่างไม่คุ้นหูคุ้นตาเอาเสียเลย แล้วมันจะมาเป็นต้นแบบของลอยกระทงอันลือลั่นได้อย่างไร?

543161_10151246917718851_28016589_n

คําว่า “ลอยหะมด” หรืออ่านให้ถูกแบบชาวมอญต้องลากเสียงยาวเป็น “ลอยหะโม้ด” ก็คือคำคำเดียวกันกับ “โขมด” ในภาษาขอม ที่แปลว่า “ดวงไฟ” ดังนั้น คำว่า “หะมด” หรือ “หะโม้ด” จึงหมายถึงการจุดไฟประทีป

จะเห็นว่าภาษามอญกับขอมอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาเดียวกัน มอญเน้นตัว “ห” ขอมใช้ “ข” ยกตัวอย่างอีกคำคือ “ขนม” ในภาษาไทย มอญใช้ “หะนอม” (อ่าน “หะ-น่อม) ขอมใช้ “ขะนอม”

พิธีลอยหะมดคืออะไร เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ เกี่ยวกับลอยกระทงอย่างไร ก่อนที่จะเฉลยปริศนาทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องพาผู้อ่านย้อนกลับไปสู่อดีตยุคพุทธศตวรรษที่ 15 เสียก่อน

โอ้โห! ย้อนไกลเกินกว่าสุโขทัยตั้งหลายศตวรรษ สุโขทัยยังแค่ 700 ปี แต่นี่ให้ย้อนไกลไปตั้งหนึ่งพันปี โม้หรือเปล่า?

โม้หรือไม่โม้ ไม่ทราบ จะถูกหรือผิด ก็ต้องโทษตำนานโบราณกันล่ะ

เพราะเรื่องนี้มีการกล่าวไว้ในตำนานหลายเล่ม ทั้งชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตำนานที่นักวิชาการให้การยอมรับว่ามีเค้าโครงประวัติศาสตร์ที่แท้จริงอยู่มาก

72149_10151246917588851_2112917326_n

ขอย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ราว พ.ศ.1490 (จุลศักราช 309) ตรงกับสมัยพระเจ้ากมลราช (บ้างก็ว่าพระเจ้าจุเลระราช) อาณาจักรหริภุญไชยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ลำพูนนั้น ได้เกิดโรคห่า (บางเล่มระบุโรคห่าตรงๆ บางเล่มเขียนว่า โรคอหิวาต์) ระบาดชนิดที่ต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองลำพูน มุ่งหน้าลงเรือล่องแม่ปิงเข้าแม่ระมาดสู่สาละวิน ไปขออาศัยอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธรรมวดีในฐานะที่เป็นชาวมอญเหมือนกัน

บังเอิญว่าครั้งกระนั้นสะเทิมตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่าแห่งอาณาจักรพุกาม ลำพังชาวสะเทิมเองก็ถูกกดขี่ทารุณแทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ขืนยังมานั่งแบกรับภาระผู้อพยพแบบเทครัวหลายหมื่นชีวิต คงไม่ต่างอะไรไปจาก “เตี้ยอุ้มค่อม”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อชาวหริภุญไชยจึงอพยพเดินทางต่อไปขอพึ่งใบบุญของชาวมอญเมืองหงสาวดี (พะโค) แทนเพราะเป็นเขตปลอดอำนาจจากพม่า

อยู่ไปอยู่มาผ่านไปนาน 6 ปี ชาวมอญหริภุญไชยหลายคนแต่งงานกับชาวมอญหงสาวดี บ้างก็ปักหลักปักฐานที่นั่น แต่หลายหมื่นชีวิตพาชาวหงสาวดีเดินทางกลับลำพูนด้วยภายหลังจากโรคห่าสงบลง

ตำนานระบุว่า ครั้นถึงฤดูน้ำหลาก ชาวมอญหริภุญไชยและหงสาวดีต่างโหยหาคิดถึงความสัมพันธ์ฉันเครือญาติที่เคยร่วมทุกข์สุขกันมา จึงพากันจุดดวงไฟในกระทงเล็กๆ ใส่ในเรือใหญ่ที่ผูกขึ้นด้วยไม้ไผ่ แล้วนำเอาโภชนียาหารใส่ลงไปในเรือด้วย อธิษฐานจิตขอให้เรือล่องไปตามแม่ระมิงค์ (พิงคนที หรือแม่ปิง) จากลำพูนไปถึงหงสาวดี เพื่อเป็นการรำลึกถึงหมู่ญาติพี่น้องทั้งสองเมือง

เมื่อเรือลอยไปผ่านหมู่บ้านใด ชาวบ้านที่อยู่สองฝั่งแม่ปิงก็จะลากเรือขึ้นมาจุดกระทงประทีปเพิ่มและปล่อยเรือให้ไหลลงไปตามแม่น้ำอีก ทำเช่นนี้ไปจนกว่าจะถึงเมืองหงสาวดี ซึ่งชาวมอญหริภุญไชยเมื่อหนึ่งพันปีก่อนเรียกประเพณีนี้ว่า “ลอยหะมด”

ตราบปัจจุบันชาวมอญที่บ้านหนองดู่-บ้านบ่อคาว (หรือปัจจุบันเรียกว่า “เวียงเกาะกลาง”) ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ก็ยังคงประพฤติปฏิบัติประเพณี “ลอยหะมด” นี้อยู่อย่างสืบเนื่อง ชาวมอญลำพูนกว่า 500 ครัวเรือนยังคงรำลึกนึกถึงพี่น้องสายเลือดเดียวกันที่อยู่เมืองหงสาวดี

เพียงแต่ชื่อของประเพณีถูกเรียกใหม่ว่า “จ้องเกริ้ง” โดยไปรับเอาอิทธิพลของมอญภาคอื่นมาเรียกตามกัน พิธีจ้องเกริ้ง แปลตรงตัวว่า ลอยกระทง แต่รูปแบบ จ้องเกริ้งของมอญป่าซางลำพูน จะไม่เหมือนกับลอยกระทงทั่วไป หากเป็นรูปแบบประเพณี “ลอยหะมด” ของมอญหริภุญไชยเมื่อพันปีก่อน

วัฒนธรรม “ลอยหะมด” ของมอญหริภุญไชย ยังคงตกค้างให้แก่ชาวล้านนาตามเมืองต่างๆ อีกด้วย เช่น ชาวตากยังคงจุดประทีปต่อกันเป็นทิวแถวเรียก “กระทงสาย” ชาวลำปางยังคงจุดดวงไฟใส่ในเรือสำเภาเรียก “ล่องสะเปา”

ปริศนาก็คือ เหตุใดจึงไม่เคยมีการระบุว่า ในแผ่นดินสยามมีประเพณีลอยหะมด มาแล้วก่อนประเพณีลอยกระทงของสุโขทัย นานกว่าสามศตวรรษ (สมมติตามความเชื่อเดิมที่กล่าวว่าสุโขทัยเป็นต้นแบบที่คิดเรื่องประเพณีลอยกระทง) ทำไมไม่เคยมีการให้เครดิตต่อชนชาติมอญ ขอม ละว้า ได้รับเกียรติให้ร่วมสังฆกรรมในฐานะวีรบุรุษของสยามบ้าง

ทั้งๆ ที่นักประวัติศาสตร์ทราบกันดีว่าภายหลังจากอาณาจักรหริภุญไชยล่มสลายราวปี พ.ศ.1824 อันเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัวของสุโขทัยและล้านนาพอดี หริภุญไชยได้ทิ้งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ไว้เป็นมรดกให้แก่ทั้งชาวล้านนาและชาวสุโขทัยอย่างคณานับ ใช่เพียงแต่ประเพณีลอยหะมด เท่านั้น

ตัวอักขระมอญโบราณ เมื่อไปผสมกับตัวอักษรขอม ก็ยังมีบทบาทเป็นต้นแบบให้แก่ตัวอักษรลายสือไทสมัยสุโขทัย

ท่านจะเชื่อความเห็นนี้หรือไม่ก็ตาม พึงสังวรไว้ข้อหนึ่งว่า ประวัติศาสตร์ไทยที่รุ่นเราและลูกหลานเรียนนั้นอย่าคิดว่าถูกต้องสมบูรณ์ 100% ยังแหว่งวิ่นเว้าโหว่อีกมาก

เปิดใจให้กว้าง และช่วยกันเติมเต็ม

อย่าปล่อยให้ผู้มีอำนาจหรือผู้ชนะเท่านั้นมีสิทธิจารึกเรื่องราวเฉพาะวีรกรรมของฝ่ายตนอย่างสวยหรูในหน้าประวัติศาสตร์