ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ / 22 July

ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ

 

22 July

 

เธอจ๊ะ

22 July เป็นหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ Norway Attack หรือการโจมตีนอร์เวย์ เมื่อปี ค.ศ.2011 โดยนายอันเดิร์ส เบห์ริง เบรวิก นั่นก็คือการก่อเหตุระเบิดที่ใจกลางกรุงออสโล และสังหารหมู่ที่เกาะอูโทยา ที่ผู้ตายเป็นเหล่านักศึกษาที่ไปเข้าแคมป์ ถูกยิงตายไป 67 คน วิ่งหนีตายจนตกหน้าผาไป 1 คน และจมน้ำจากการว่ายน้ำหนีตายอีก 1 คน

Paul Greengrass ผู้กำกับการแสดงขวัญใจของพวกเรา มาเขียนบท กำกับการแสดง และดำเนินการผลิต ใช้เรื่องราวจากหนังสือ One of Us : The Story of a Massacre in Norway – and Its Aftermath by ?sne Seierstad

ฉันชอบหนังของพี่เขา ตั้งแต่ The Bourne Supremacy (2004), The Bourne Ultimatum (2007) และ Jason Bourne (2016) ทุกวันนี้ช่องเคเบิลก็เอามารีรันสม่ำเสมอ ดูซ้ำดูซากไม่เบื่อหน่าย

อย่างฉันเป็นโรคชอบเปิดทีวีทิ้งไว้ ให้มีเสียงเป็นเพื่อน ถ้าเจอหนังกลุ่มเจสัน บอร์น ต่างๆ ทีไร ฉันก็เปิดช่องนั้นไว้ทุกที

ดูบ้างไม่ดูบ้าง แต่รู้เรื่องทุกฉากทุกตอน, หรืออย่างเรื่อง United 93 (2006) ที่เป็นหนังเล่าเรื่องเหตุการณ์บนเครื่องบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ไฟลต์ 93 ที่เครื่องบินถูกจี้ เป็นเครื่องบินลำหนึ่งที่ผู้ก่อการร้ายหมายจะให้ไปพุ่งชนตึกรัฐสภา ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่เหล่าบรรดาผู้โดยสารร่วมมือร่วมใจต่อสู้ จนเครื่องบินตก ไม่มีผู้โดยสารรอดชีวิต แต่ป้องกันเหตุร้ายได้

เรื่องนี้ดูแล้วไม่กล้าดูซ้ำอีก มันรู้สึกหดหู่บอกไม่ถูกเลย

 

และเรื่องนี้ 22 July ก็ไม่ต่างกัน เรื่องนี้เขาใช้นักแสดงชาวนอร์เวย์แสดงล้วนๆ เลย แต่พูดภาษาอังกฤษ

ซึ่งในความเป็นจริงต้องพูดภาษานอร์เวย์ แต่ก็เข้าใจได้ว่า เพื่อให้การนำเสนอมีประสิทธิภาพ ก็ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร ให้ผู้ชมไม่ต้องรับภาระในการอ่านคำบรรยาย

พี่พอลผู้กำกับฯ เขานำเสนอหนังโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน สถานที่แต่ละแห่งก็จะมีบุคคลหลักๆ ให้เราติดตาม อันได้แก่ มีนายกรัฐมนตรี แยนส์ สตูลเทนแบร์ก, นายอันเดิร์ส เบห์ริง เบรวิก- ผู้ก่อการร้าย และวิลย่าร์ ฮานเซ่น หนึ่งในเหล่านักศึกษาเข้าแคมป์ แล้วเขาก็ตัดสลับไปมาให้เราได้ร่วมทุกสถานการณ์

เรื่องก็เริ่มที่นายเบรวิก ผู้ก่อการร้าย ผลิตระเบิดเองที่ไร่ของแก มันง่ายขนาดนี้นะ ระเบิดนี้ทำเองได้ที่บ้าน จากปุ๋ยที่ใส่พืชผ่านกรรมวิธี กลายเป็นระเบิดได้

แกกับแม่อยู่กันสองคนที่อพาร์ตเมนต์ แม่ดูจะไม่มีรู้เรื่องลูกมากนัก แม่เห็นลูกขนของขึ้นรถตู้ แต่ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ทันทีที่ระเบิดพร้อม นายเบรวิกแกก็ส่งอีเมล แนบประกาศเจตนารมณ์ชื่อ “2083 – A European Declaration of Independence” ไปด้วย จากนั้นก็ขับรถเข้าไปในใจกลางเมืองออสโล

ในขณะเดียวกันเหล่านักศึกษาก็เดินทางไปถึงเกาะอูโตยา แคมป์กิจกรรมอันนี้ เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการเมือง สนับสนุนโดย Workers’ Youth League (AUF) และพรรคแรงงาน

เป็นงานใหญ่ขนาดนายกรัฐมนตรีจะมาเยือนและโอภาปราศัยกับเด็กๆ ที่เข้าแคมป์ด้วย

 

กิจกรรมแรกหลังจากที่กางเต็นท์และเก็บข้าวของสัมภาระกันเรียบร้อย “If I Were Prime Minister.” ถ้าฉันเป็นนายกรัฐมนตรี มีวิลย่าร์ หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ก็ขึ้นแสดงทัศนะไปเป็นคนแรก

So, in Svalbard, where I come from,

everyone is welcome, regardless of nationality.

We’ve got Norwegians, Russians, Chinese, Croatians,

all living and working together.

เมืองสวาลบาร์ดที่ผมอยู่

ยินดีต้อนรับทุกคน ไม่จำกัดเชื้อชาติ

เรามีทั้งชาวนอร์เวย์ รัสเซีย จีน โครเอเชีย

ทุกคนอยู่และทำงานด้วยกัน

วิลย่าร์บอกความตั้งใจมาด้วยถ้อยคำง่ายๆ และจริงใจ แต่เพื่อนสงสัย

How do you translate that

to the rest of Europe?

แล้วจะเปลี่ยนไปใช้กับยุโรปได้อย่างไร?

translate ที่ใช้กันบ่อยๆ หมายถึง เปลี่ยนคำจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง หรือเรียกว่าแปล

ในที่นี้ translate หมายถึง เปลี่ยนสิ่งหนึ่งให้ไปอยู่ในรูปแบบใหม่และเป็นจริงขึ้นมา อย่างเช่น translate theory into policy เป็นต้น

วิลย่าร์ยังไม่รู้หนทาง รู้แต่ว่ามันเป็นหลักการ มันต้องมี

It’s the principle,

and that’s what’s important.

มันเป็นหลักการและมันสำคัญ

เด็กๆ คิดได้แบบนี้ ดูประเทศชาติมีความหวัง มีการคิดเป็นระบบ เห็นความสำคัญของหลักการ เมื่อมีหลักการแล้วมันจะแปรเปลี่ยนไปหรือปรับให้เข้ากับความจริงในชีวิต ก็จะได้รู้ว่าจะต้องผ่อนปรนในจุดไหนบ้างอย่างไรบ้างก็ช่างเถิด ค่อยๆ เรียนรู้ไป แต่หลักการยังคงอยู่ให้ยึดให้เกาะ จะได้ไม่กลายเป็นไม้หลักปักเลนกัน

นายเบรวิกปลอมเป็นตำรวจ วางระเบิดที่ใจกลางกรุงออสโลได้สำเร็จ แล้วรีบขับรถบึ่งมาที่เกาะอูโตยา

I’ve been sent to secure the island.

เขาส่งผมมาคุ้มกันเกาะ

ใส่ชุดตำรวจมาขนาดนี้ พนักงานก็เชื่อและพาขึ้นเรือเฟอร์รี่ไปส่งที่เกาะ กว่าหัวหน้าแคมป์จะเอะใจ ว่าต้องขอเช็กบัตรแสดงตน ก็สายไปเสียแล้ว

ฉากยิงยาวนาน 15 นาที น่ากลัวมาก คนเราเดินยิงไป คนตายไปเรื่อยๆ ทั้งใกล้และไกล คนโดนไล่ล่าก็วิ่งหนีตายกระเจิดกระเจิง มีบางคนรู้ว่าหนีไม่ทันก็แกล้งตาย

Play dead. Play dead.

แกล้งตายสิ แกล้งตาย

ขนาดคนที่ตายแล้วจริงๆ เมื่อนายเบรวิกเดินไปใกล้ๆ ยังลงมือยิงซ้ำแล้วซ้ำอีก

วิลย่าร์กับน้องชายและเพื่อนหนีไปซ่อนใต้หน้าผา นึกว่าจะมองไม่เห็น แต่ก็เห็นจนได้ วิลย่าร์ถูกยิงอาการสาหัส แต่ทหารตำรวจมาถึงเกาะทันเวลาพาส่งโรงพยาบาล

นายเบรวิกวางปืนและมอบตัว ให้จับกุมแบบไม่ขัดขืนใดๆ

 

นายเบรวิกให้การว่าจะมีการก่อการ 3 ครั้ง ไม่ยอมบอกว่าครั้งที่ 3 นั้นจะเกิดที่ไหน แต่สุดท้ายก็บอก

I have to finish what I’ve started,

and standing up in that court…

that’s the third attack.

เมื่อเริ่มแล้วผมก็ต้องทำให้สำเร็จ

การไปยืนให้การในศาล

นั่นไงการโจมตีครั้งที่สาม

ประมาณครึ่งเรื่อง จะเป็นฉากในศาล, ความหวาดกลัวที่ยังหลอกหลอนของผู้รอดชีวิตอย่างวิลย่าร์และเพื่อนๆ และนายกรัฐมนตรีที่ต้องพิจารณาประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองต่อไป

So, he buys 900 kilos of fertilizer

and aluminium nitrate,

and there were no red flags?

เขาซื้อปุ๋ย 900 กิโลและอะลูมินั่มไนเตรต

แล้วไม่มีใครส่งสัญญาณเตือนเลยหรือไร?

red flag หมายถึง สัญญญาณอันตราย หรือสัญญาณว่าจะมีปัญหา

เพราะมีอย่างที่ไหนเรื่องใหญ่แต่ไม่ระแคะระคายสักนิดเลย จึงต้องรับผิดชอบกันไป และแสดงจุดยืน

We must strengthen our values

and fight this terror with the rule of law…

not the barrel of the gun.

เราจะสร้างคุณค่าให้แข็งแรง

สู้เหตุร้ายนี้ด้วยหลักนิติธรรม

ไม่ใช่ด้วยปืน

เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง มันก็อาจมีครั้งต่อๆ ไป แต่เราต้องอยู่ให้ได้ ไม่กลัว และหาทางป้องกัน ต้องมีความสุขให้ได้ด้วยซ้ำไป

แล้วคนร้ายทำขนาดนี้แต่ไม่โดนประหาร โทษเพียงขังคุก แล้วคุกของประเทศเจริญแล้วมันน่าโกรธ เป็นห้องเล็กๆ ดูสะอาดสะอ้าน มีหน้าต่าง มีโต๊ะ มีเก้าอี้เขียนหนังสือด้วยอีกแน่ะ

และสุดท้าย เราต้องหยุดใช้อาวุธมาข่มขู่ประหัตประหารกันได้แล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ปืนก็คืออาวุธ จะมีเหตุผลร้อยข้อพันข้อ มันก็คืออาวุธ เอามาใช้ข่มขู่ฆ่าฟันกันมันไม่ใช่เรื่องดี

ไม่มีทางสร้างความสงบ

ฉันเอง