ฐากูร บุนปาน : เลือกตั้งผู้นำสหรัฐอเมริกา

ตื่นขึ้นมาแต่ไก่โห่เมื่อเช้าวันพุธ เพื่อจะติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

สนุกยิ่งกว่าดูม้าแข่งในช่วง 3-4 ชั่วโมงแรกแหละครับ

แต่ว่าหลังจากคะแนนเสียงในรัฐที่ว่ากันว่าเป็น “สวิง สเตต” หรือรัฐที่เสียงแกว่ง กลายเป็นแกว่งเข้าไปหา โดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่า ฮิลลารี คลินตัน

ก็เห็นแนวโน้มตั้งแต่สายๆ ว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาคือ โดนัลด์ ทรัมป์ แน่นอน

จะชอบ-ไม่ชอบ จะกลัว-ไม่กลัว

เขาก็มาแล้ว

ทำไมฮิลลารีถึงแพ้ (หรือทรัมป์ถึงชนะ) คงจะมีท่านผู้รู้ออกมาช่วยกันให้ข้อมูล-ข้อคิดกันต่อไป

เช่นเดียวกับประเด็นที่ว่าเมื่อขึ้นมาเป็นท่านประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว จะดำเนินนโยบายอะไรต่อไป ดี-ร้ายกับโลกแค่ไหน

ก็คงได้วิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มตั้งแต่สหรัฐอเมริกามาถึงไทย

อาศัยความรู้แค่หางอึ่ง ที่ใช้วิชาครูพักลักจำมาจากท่านผู้รู้และมิตรสหายทั้งหลาย เอาประเด็นที่ (คิดว่า) น่าสนใจมาขายต่อสองสามเรื่องดังนี้

 

ชัยชนะของทรัมป์โดยเฉพาะในเขตชนบทหรือรัฐที่ไม่ใช่ “หัวก้าวหน้า” เกิดขึ้นเพราะอะไร

ปัญหาการกระจายรายได้ที่เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ในสหรัฐ จนคนเบื่อ “ระบบ” ที่เป็นอยู่

และหันไปหา “อะไรก็ได้” ที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบ เพื่อมาล้างหรือแก้ไขระบบนั้นจะเป็นจริงแค่ไหน

หรือเอาเข้าจริงสุดท้ายท่านประธานาธิบดีใหม่ก็จะละลายกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเสียเอง

(เพราะเติบโตร่ำรวยมากับระบบที่ว่านั้นเหมือนกัน และไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์หรือแผนการชัดๆ ว่าจะแก้ไขระบบนี้อย่างไร ที่เสนอมาก็มีคนวิจารณ์ว่ายิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำนี้ยิ่งหนักข้อ)

แต่มีมิตรสหายท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ว่า อยากให้คุณทรัมป์เขาชนะเลือกตั้งให้รู้แล้วรู้รอดไป

ทั้ง (ผู้นำใน) พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันจะได้หันกลับมาดูตัวเองอย่างจริงจัง

ว่าอยู่ห่างจากประชาชนแค่ไหน

จะได้ปรับปรุงตัว ปรับปรุงพรรคให้กลับมาใกล้ชิดกับชาวบ้านอีกหน

ก็ถ้าคุณทรัมป์แกทะเลาะกับพรรครีพับลิกันต้นสังกัด แต่ชนะเป็นผู้แทนพรรคได้ แข่งกับเดโมแครตก็ได้เป็นประธานาธิบดี

ขณะที่สื่อ (อเมริกัน) ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาแก

แปลว่าชาวบ้านที่เลือกประธานาธิบดีใหม่ เขาปักใจของเขามาตั้งแต่ต้นแล้ว

 

แต่ที่จะหนักอกหนักใจคนอเมริกันทั่วไป หรือเอาเข้าจริงแล้วคือคนทั่วโลกมากกว่าก็คือ

เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว ไม่สามารถมีใครคาดเดาได้ว่าท่านประธานาธิบดีทรัมป์จะทำอะไรต่อไป

ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ไปจนกระทั่งถึงเรื่องสงคราม

มองโลกในแง่ดี จะบอกว่าเป็นประธานาธิบดีแล้วระบบหรือข้อมูลจะบีบแม่ปูให้เดินตรงทางก็คิดได้

หรือคิดในแง่ร้ายว่า ตำแหน่งที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกจะกระตุ้นสันดานดิบให้ลุกโชนขึ้นกว่าเดิมก็ได้

ความไม่แน่นอนความคาดเดาไม่ได้จึงเป็นได้ทั้งวัฒนะและหายนะ

ทีนี้ถ้าวัฒนะหรือหายนะอยู่แต่ในบ้านเขาก็คงไม่เป็นไร

แต่ทุกครั้งที่อเมริกาจาม โลกก็เป็นหวัดไปด้วย

จากนี้ไป ถ้ายังวางใจไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ใครจะนอนตาหลับบ้าง

 

แต่ทั้งหมดนี้คนอเมริกันเขาตัดสินใจหรือตัดสินปัญหากันด้วยการเลือกตั้ง ด้วยเครื่องมือตามระบอบประชาธิปไตยนะครับ

ไม่ใช่เห็นต่างแล้วต้องทุบกันให้ตาย หรือไปลากอำนาจนอกระบบที่ไหนมาถล่มอีกฝ่ายให้สูญไปจากโลก

แพ้ก็อดทนรอไป 4 หรือ 8 ปี เดี๋ยวก็มีโอกาสกลับมาใหม่

เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้อย่างสันติและยุติธรรม

ยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ปิดปากตัดทางของคนส่วนน้อย

นี่ต่างหากหัวใจของประชาธิปไตย ที่เคารพความเป็นคนของคนเท่ากัน

ที่แสดงตัวว่าเกลียดกลัวหนักหนาประชาธิปไตยน่ะ

แปลว่าในใจลึกๆ เหยียดคนด้วยกันอยู่หรือไม่